ในโลกยุคใหม่การผลิตรถยนต์ขึ้นมาสักคันให้ได้กำไร บริษัทรถยนต์ต้องมีการควบคุมกระบวนการวิจัยและพัฒนาให้มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และนำข้อมูลดังกล่าวไปพัฒนารถยนต์ให้มากที่สุด เพื่อที่จะทำให้เกิดการคุ้มต้นทุนการวิจัยและสร้างกำไรให้กับบริษัทสูงสุด

ตลอดหลายเดือนที่ผ่าน ตั้งแต่เมื่อช่วงปลายปี เราน่าจะได้เห็นรถยนต์รุ่นใหม่ที่มีการพูดถึงในเชิงลึกว่า พวกเขามีการเปลี่ยน “แพลทฟอร์ม” ตัวรถ หรือ   Body Platform  ใหม่  แม้นการออกแบบภายนอกอาจจะยังดูเหมือนกันกับรถรุ่นเก่าอยู่บ้างไม่มากก็น้อย แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปในรถใหม่ๆที่พูดว่า มีการปรับเปลี่ยนแพลทฟอร์มใหม่ มันกลับอยู่ภายใน และคุณจะไม่มีวันรู้จนกว่าจะได้ลองขับขี่ หรือทดลองขับรถคันดังกล่าว และมีโอกาสเปรียบเทียบระหว่างรุ่นเก่าและรุ่นใหม่

เรื่องของ  “แพลทฟอร์ม” ไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกวันนี้ แต่มีการทำสืบต่อกันมายาวนานท่ามกลางการแข่งขันในโลกอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ต้องการสร้างกำไรมากที่สุด และทำให้ลูกค้าประทับใจมากที่

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลักของตัวรถหรือ แชสซี  ( Chassis)  จะเกิดขึ้นทุกๆ 2 รอบการพัฒนารถยนต์ หรือประมาณ 10- 14 ปี แล้วแต่การมองความสามารถทางด้านวิศวกรรมของบริษัทรถยนต์รายนั้น  โดยการเปลี่ยนแปลงแพลทฟอร์ม ส่วนใหญ่ เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพทางด้านวิศวกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะทั้งความปลอดภัย สมรรถนะในการขับขี่

รวมถึง ยังช่วยในการลดค่าใช้จ่ายชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็นในการวิศวกรรมรถ อาทิ ความซับซ้อนของชิ้นส่วนในเชิงโครงสร้าง ช่วยลดต้นทุนให้กับบริษัทรถยนต์ และยังเป็นโอกาสสำคัญในการเลือกวัสดุใหม่ๆ เข้ามาใช้ในดครงสร้างหลัก ซึ่งปัจจุบันโดยมากวิศวกรจะเลือกใช้วัสดุเหล็กยุคใหม่เข้ามาเป็นส่วนประกอบ จำพวกเหล็ก   Ultra High Tensile Steel  มันช่วยให้รถเบาขึ้น และแข็งแกร่งเชิงโครงสร้างขึ้น ยกตัวอย่าง แพลทฟอร์ม   Suzuki Heartect   สามารถลดน้ำหนักเชิงโครงสร้างได้ถึง 80 กิโลกรัม ทำให้แม้ใช้เครื่องยนต์เล็กลงหรือมีกำลังเท่าเดิม แต่กลับขับได้ดีขึ้น  

 นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลง “แพลทฟอร์ม” ในปัจจุบัน ยังสามารถจะช่วยลดการเกิดเสียงของโครงสร้างตัวรถ ช่วยให้รถรุ่นใหม่ที่มาพร้อมแพลทฟอร์มใหม่ มีความสามารถในการเก็บเสียงดีขึ้นด้วย

Volvo CMA Platform

CMA platform side view with textด้วยประเด็นหลักๆ ดังกล่าวทำให้ บริษัทรถยนต์หลายรายต่างเล็งเห็นประโยชน์ของการเปลี่ยนแพลทฟอร์มตัวรถ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้มีความสามารถทัดเทียมกับคู่แข่ง รวมถึงบางบริษัทยังช่วยลดต้นทุนให้กับบริษัทลูกที่อยู่ภายใต้เครือข่ายอีกด้วย

ด้วยเหตุดังกล่าว… บริษัทรถยนต์จึงเริ่มใช้ยุทธศาสตร์แพลทฟอร์มเดียวสร้างรถยนต์หลายรุ่นมายาวนานในตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น ฮอนด้า พัฒนาแพลทฟอร์มรถยนต์นั่งขนาดเล็ก   Honda  Brio   ขึ้นมา และขยายการพัฒนาจนมีรถยนต์มากมายหลายรุ่น อาทิ  Honda  Brio Amaze, Honda  Mobilio, Honda BR-V   เป็นต้น  

ดั้งเดิมการแชร์แพลทฟอร์มของบริษัทรถยนต์ จะกระทำเพียงเปลี่ยนการออกแบบภายนอกและภายในห้องโดยสาร แต่สาระสำคัญของโครงสร้างยังเหมือนเดิม ไม่ว่าจะขนาดตัวรถ , ระบบกันสะเทือนหน้า-หลัง รวมถึงฐานล้อ ตลอดจนจุดยึดเครื่องยนต์ในรถรุ่นนั้น

หากปัจจุบัน ด้วยความต้องการสร้างรถยนต์จากแพลทฟอร์มเดียวหลายรุ่นมากขึ้น และยังทำให้รถมีความแตกต่างกันในแบบฉับบของตนเอง สามารถปรับขนาดฐานล้อ (ระยะความกว้าง ล้อหน้า-หลัง) ,ปรับช่วงกว้างล้อและขนาดตัวรถ ,หากยังใช้ระบบช่วงล่างแบบเดียวกัน ซึ่งแนวทางดังล่าวเรียกว่า    Modular Platform  เป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมจากบริษัทรถยนต์ทั้งหลายอย่างในเวลานี้

หลักการพัฒนาแพลทฟอร์ม 1 ชิ้น ให้สามารถแปรเปลี่ยนได้หลายขนาดตามต้องการ โดยบางจุดของแพลทฟอร์มสามารถขยายหรือย่นระยะได้ตามที่ทางทีมวิศวกรออกแบบรถยนต์ต้องการ แต่จะมีบางจุดในโครงสร้างที่เหมือนกันและไม่สามารถปรับแต่งได้ เช่น ช่วงผนังกั้นระหว่างห้องโดยสารกับห้องเครื่องยนต์ เป็นต้น ทำให้สามารถสร้างรถที่หลากหลายได้มากขึ้น ตั้งแต่รถขนาดเล็กไปจนถึงรถขนาดใหญ่

ด้วยความสามารถในการปรับแต่งดังกล่าว ทำให้โครงสร้างหลัก “แพลทฟอร์ม” ยุคใหม่ ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในการพัฒนาของหลายบริษัทรถยนต์มากขึ้น และใช้พัฒนารถยนต์ได้หลายรุ่นมากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น  Subaru  Global  Platform ใหม่ล่าสุดของซูบารุ ถูกออกแบบให้ใช้กับรถยนต์ทุกรุ่นของซูบารุในยุคต่อไป ตั้งแต่   Subaru  Impreza   ไปจนถึง  Subaru  WRX   รถสปอร์ตของบริษัท และยังสามารถรองรับรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดได้ด้วย

หรือ  Toyota New Global  Architect   แพลทฟอร์ล่าสุดของโตโยต้าที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ และใช้ในรถยนต์  Toyota C-HR  ก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในการพัฒนารถยนต์โตโยต้ารุ่นใหม่ๆ ในอนาคต  และปัจจุบันยังมีรถยนต์อีกมากมายหลายรุ่นนำเสนอตัวเองภายใต้แพลทฟอร์มใหม่ เช่น  Suzuki Swift  ใหม่ และมีอื่นๆ อีกมากที่กำลังตามมาในอนาคต

 Toyota TNGA Platform

ดังนั้นหากกล่าวโดยสรุป “แพลทฟอร์ม” ถือเป็นวิวัฒนาการการวิศวกรรมอีกขั้นของรถยนต์ใหม่ที่จำหน่ายในปัจจุบัน มันได้รับแนวความคิดใหม่เพื่อสรรค์สร้างให้รถขับดีมากขึ้นตั้งแต่ภายใน ด้วยโครงสร้างใหม่ที่แข็งแรงปลอดภัย เบาขึ้น และเสริมให้มีประสิทธิภาพยามขับขี่ดีขึ้น  ทั้งยังช่วยบริษัทรถยนต์ลดต้นทุนการผลิตไปด้วยพร้อมกัน

การเลือกรถรุ่นใหม่ที่มีแพลทฟอร์มใหม่ในรถ เหมือนกับการซื้อระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่บนคอมพิวเตอร์ คุณอาจจะคิดว่ารถก็เป็นเพียงรถ และ “แพลทฟอร์ม” เป็นเพียงคำกล่าวอ้างของบริษัทรถยนต์ในการทำให้รถน่าใช้เท่านั้น แต่ของแบบนี้คุณต้องลองขับแล้วจะรู้ทันทีว่า มันมาพร้อมสัมผัสที่แตกต่าง และคุ้มค่าจะจ่ายเพื่อรถใหม่ แม้นว่ามันอาจจะแพงกว่ารถรุ่นเก่าอยู่บ้างพอสมควร

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่