“ระบบเกียร์อัตโนมัติ ในรถมอเตอร์ไซค์” อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็น ระบบเกียร์แปรผันอัตราทดอัตโนมัติ หรือ เกียร์ CVT ที่อยู่ในรถสกู๊ตเตอร์มาเนิ่นนาน แต่สำหรับระบบ “Automated Shift Assistant” ของ BMW ที่พึ่งถูกเปิดตัวออกมานั้นต่างออกไป

ระบบ “Automated Shift Assistant” ใหม่ล่าสุดจาก BMW ที่พึ่งเปิดตัวในทวีปยุโรปไปเมื่อไม่กี่วันก่อนนั้น คือระบบ เกียร์อัตโนมัติ แบบใหม่ ซึ่งเป็นคนละรูปแบบกันกับ ระบบเกียร์ CVT ในรถสกู๊ตเตอร์ที่เราคุ้นเคยกันดีแทบจะสิ้นเชิง เพราะสิ่งเดียวที่เหมือนกัน ก็มีแค่เพียงการปรับเปลี่ยนอัตราทดเกียร์ให้ตามสถานการณ์ ความเร็ว และโหมดการขับขี่ก็เท่านั้น

แต่ก่อนที่เราจะไปลงลึกถึงรายละเอียด ทาง BMW ระบุว่า ดั้งเดิมแล้ว พวกเขามีเป้าหมายที่จะยกระดับระบบเกียร์แบบมีควิกชิฟท์เตอร์ขึ้น/ลง ธรรมดาๆ ซึ่งผู้ขี่สามารถต่อเกียร์ขึ้น/ลงได้เลย โดยไม่ต้องกำคลัทช์ในระหว่างขับขี่ แต่ผู้ขี่ยังต้องกำคลัทช์ตอนเข้าเกียร์สำหรับเตรียมออกตัวจากหยุดนิ่ง และตอนจอด ที่กลายเป็นมาตรฐานของรถมอเตอร์ไซค์รุ่นใหญ่ในปัจจุบันไปแล้ว

ให้สามารถทำงานได้อัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบ โดยที่ผู้ขี่ไม่จำเป็นต้องมาเปลี่ยนเกียร์ขึ้น/ลงเองอีกต่อไป (หากไม่ต้องการ) ซึ่งในที่สุด หลังใช้เวลาในการพัฒนากว่า 5 ปี ระบบ ASA นี้ก็ได้พร้อมแล้วจะถูกนำมาใช้ในรถขายจริง

และอย่างที่เราระบุไว้ว่า ระบบ ASA นี้ คือระบบเกียร์ที่จะทำงานแบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ นั่นจึงหมายความว่า ผู้ขี่ก็ไม่ต้องมาสั่งการระบบคลัทช์ ด้วยมือคลัทช์เองอีกต่อไป เพราะตัวระบบจะคอยจัดการควบคุมคลัชท์ให้เองทั้งหมด ไม่ว่าจะตอนจอด ตอนออกตัว หรือตอนเปลี่ยนเกียร์ให้

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ก็จะให้ประโยชน์คล้ายๆกับระบบ e-Clutch ของ Honda ที่พึ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายปีก่อน

แต่จุดที่ต่างจากระบบ Honda e-Clutch ก็คือระบบ ASA ที่ว่านี้ จะไม่มีมือคลัทช์มาให้ และสมองกลยัง จะคอยคุมจังหวะการเปลี่ยนเกียร์ขึ้น/ลงให้เองด้วย ซึ่งอันที่จริง ก็จะทำให้มันสามารถมอบประโยชน์ในการใช้งาน ได้คล้ายๆกับ ระบบเกียร์ Honda DCT มากกว่า

และระบบเกียร์อัตโนมัติของรถมอเตอร์ไซค์ BMW ใหม่นี้ ก็มีลูกเล่นให้ผุ้ขี่สามารถเลือกปรับโหมดการทำงานเช่นกัน ระหว่างจะให้สมองกลจัดการคุมเกียร์ให้ทั้งหมด ซึ่งความฉับไว หรืออัตราการลากรอบก่อนเปลี่ยนเกียร์ ก็จะขึ้นอยู่กับความเร็ว การเปิด/ปิดคันเร่ง และโหมดการขับขี่ หรือผู้ขี่จะอยากเปลี่ยนเกียร์เอง ในโหมดเกียร์แบบ Manual เพื่อความสนุกสนาน ก็ย่อมได้ ซึ่งก็จะคล้ายๆกับระบบเกียร์ DCT ของ Honda อีกเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ในเมื่อวิธีการใช้งาน และประโยชน์ในการใช้งานของระบบเกียร์ BMW ASA ใหม่นี้ เป็นเหมือนกับลูกผสมระหว่าง ระบบเกียร์ของ Honda ที่เรานำมาเปรียบเทียบข้างต้น

จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นมาต่อแทบจะในทันทีว่า แล้วทำไม BMW ถึงไม่ใส่ก้านคลัทช์เข้ามา เผื่อลูกค้าอยากจะเล่น อยากจะเย่อคลัทช์เอง เหมือน ระบบ e-Clutch ของ Honda ที่ยังอนุญาตให้ลูกค้าสามารถเย่อคลัทช์เพื่อกรอรอบออกตัว หรือไม่ก็ยกล้อเล่นได้ ทั้งๆที่การเย่อคลัทช์ในรถลุยเอง ก็มีหลายจังหวะที่ต้องใช้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเย่อเพื่อยกล้อหน้าผ่านอุปสรรค หรือใช้คลัทช์ช่วยกรอรอบสำหรับตะกรุยทางดิน เป็นต้น

หรือในเมื่อลูกค้าไม่จำเป็นต้องขึ้น/ลงเกียร์ด้วยตัวเองอีกต่อไป แล้วทำไมไม่เอาคันเกียร์ออกไปเลย แล้วให้ลูกค้าสั่งการขึ้น/ลงเกียร์ ด้วยแป้นนิ้วบนประกับแฮนด์แทน เหมือนระบบ Honda DCT

ซึ่ง Reiner Fings หัวหน้าโปรเจ็กท์นี้ ก็ได้ระบุว่า “จริงๆก็มีการทำมือคลัทช์ไฟฟ้าไว้เช่นกันตอนเริ่มโปรเจ็กท์พัฒนา, แต่ยิ่งเราขี่รถ(ระหว่างที่พัฒนาระบบเกียร์ใหม่นี้)มากเท่าไหร่, เรายิ่งรู้สึกว่ามันไม่จำเป็นต้องมี(คันคลัทช์)เลย, ก็เลยถอดมันทิ้งดีกว่า”

ส่วนคำถามที่ว่า แล้วทำไมถึงไม่ทำแป้นสั่งการขึ้น/ลงเกียร์ ที่ประกับแฮนด์ไปเลย ไม่ต้องมาเก็บคันเกียร์เอาไว้ที่เท้า นาย Fings ก็ระบุว่า “เราตัดสินใจที่จะคงคันเกียร์เท้าเอาไว้, เพื่อให้คุณยังรู้สึกว่ากำลังขี่รถมอเตอร์ไซค์จริงๆอยู่ (ไม่ใช่ขี่รถสกู๊ตเตอร์, แต่วันนึงเราอาจจะใส่แป้นเปลี่ยนเกียร์ด้วยนิ้วมือมาก็ได้, มันก็ไม่ได้มีเหตุผลทางเทคนิคอะไรที่เราจะทำไม่ได้สักหน่อย”

ทั้งนี้ ระบบเกียร์อัตโนมัติ ASA เมื่อถูกติดตั้งเข้ามาบนตัวรถแล้ว ก็จะทำให้ตัวรถมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกราวๆ 2.1 กิโลกรัม และมีราคาเพิ่มขึ้นอีกราวๆ 39,500 บาท จากตัวรถรุ่นเกียร์ปกติ

และแม้ตัวรถที่ติดตั้งระบบนี้ จะไม่สามารถใช้วิธีการ “กระตุกสตาร์ท” ได้ เมื่อรถเกิดกรณีแบตฯหมด เพราะมันไม่มีคันคลัทช์อีกต่อไป ทว่าทาง BMW ก็ระบุว่าตัวรถมีระบบกันขโมยเสริม นั่นคือ ระบบเกียร์ P ที่จะทำงานทันทีเมื่อรถถูกปิดการทำงาน และจะไม่สามารถเข้าเกียร์ N หรือ เกียร์ว่างได้ หากผู้เข็นไม่มีกุญแจปลดล็อค

นั่นจึงหมายความว่าหัวขโมยจะไม่สามารถเข็นรถไปไหนได้เลย แม้พวกเขาจะสามารถแหกตัวล็อคคอรถไปได้ก็ตาม เว้นเสียแต่ว่า จะหารถกระบะมายกรถซึ่งหนักมากกว่า 235 กิโลกรัมได้หนีไป

อย่างไรก็ดี การเปิดเผยข้อมูลของระบบเกียร์ ASA ครั้งนี้ ยังเป็นเพียงแค่การเปิดเผยรายละเอียดโดยคร่าวๆเท่านั้น เพราะกว่าที่ระบบจะพร้อมติดตั้งลงในตัวรถแบบพร้อมขายจริง ก็คือในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 และเบื้องต้นจะมีแค่เพียงกลุ่มรถมอเตอร์ไซค์ในตระกูล R1300 ซึ่งใช้เครื่องยนต์ 2 สูบนอน ขนาด 1,300cc ของแบรนด์เท่านั้นที่มีตัวเลือกนี้ก่อน ส่วนตัวรถที่ใช้เครื่องยนต์รูปแบบอื่นๆ จะต้องรอการอัพเดทข้อมูลกันต่อไป

หรือหากใครอยากรู้ว่าระบบเกียร์ ASA นี้ มีหลักการ การทำงานในเชิงลึกอย่างไรอีกบ้าง ขอเวลาทีมงาน Ridebuster ศึกษาข้อมูลกันต่ออีกสักนิด แล้วเดี๋ยวเราจะมาเจาะลึกไปพร้อมๆกันครับ

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่