ตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบัน เชื่อเลยว่า เวลาเราพูดถึงแบรนด์รถยนต์   Toyota  จะต้องนึกถึงความทนทานจากผลิตภัณฑ์ รวมถึงเรื่องราวความสำเร็จในอดีต ด้วยการจัดการ การบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ จนนำพามาสู่ฐานะบริษัทรถยนต์อันดับ 1 ของโลก

ความสำเร็จดังกล่าวต่อยอดให้แบรนด์มีชื่อเสียงอย่างมาก และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พวกเขาได้เปลี่ยนความคิดหลายเรื่องในการทำตลาดรถยนต์ทั่วโลก โดยเฉพาะแง่มุมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด ที่มีทั้งต้นทุนสูง และยังมีค่าใช้จ่ายในการวิจัยพัฒนาค่อนข้างมาก นั่นนำมาสู่ กระบวนการใหม่ที่เราเริ่มจะเห็นบ่อยขึ้น ภายใต้คำว่า “พันธมิตรทางธุรกิจ”

ตั้งแต่ช่วงปี 2010 เป็นต้นมา โตโยต้าเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องราวพันธมิตรมากขึ้น หลังจากลุยเดี่ยวฉายมาดพระเอกมาตลอดในหลายเรื่อง ตั้งแต่การพัฒนารถยนต์ไฮบริดเมื่อ 20 กว่าปี ก่อน จนถึงรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน ที่ออกมาตอบโจทย์พลังงานแห่งอนาคต

ทั้งหมดนั้นแม้นว่าจะมีความสำเร็จอยู่บ้างไม่น้อยในการทำตลาดจับใจลูกค้า หากเงินลงทุนมหาศาลต่อเทคโนโลยีใดๆ ที่ท้ายสุดก็ยังคงไม่ตอบโจทย์แก้ผู้บริโภคมากนัก ก็ส่งผลให้แบรนด์ต้องคิดใหม่ ทำใหม่เช่นกัน

ความร่วมมือกับบริษัทรถยนต์หลายรายของ   Toyota  เริ่มประจักษ์ขึ้นมาในหลายปี เริ่มจากปี 2010 เป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดเรื่องราวความร่วมมือในการพัฒนารถยนต์กับบริษัทรถยนต์รายอื่น ทั้งที่โตโยต้าก็เป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่น เมื่อมีการเปิดเผยความร่วมมือพัฒนารถสปอร์ตใหม่  Toyota GT86   กับทาง   Subaru

Toyota 86 Subaru BRZ

การจับมือจากค่ายรถยนต์เมืองกุนมะ ถือเป็นความแปลกใหม่ในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ในญี่ปุ่นในเวลานั้น สำหรับ Toyota   มันประหยัดทั้งต้นทุน และเวลาในการพัฒนารถยนต์สปอร์ตรุ่นใหม่ และเร่งเวลาในการส่งพวกมันออกมาขายเร็วขึ้น โครงการนี้พัฒนาอยู่ประมาณ 3-4 ปี ก็แล้วเสร็จ

แม้นว่าจะถูกสาวกค่อนขอดว่าขาดความเป็นโตโยต้าไปพอสมควร เนื่องจากอดีต 86 เดิม มีความดิบมากกว่านี้ นั่นไม่ได้ทำให้โตโยต้าเลิกล้มความคิดจับมือพันธมิตรใหม่ๆ

ไม่น่าแปลกใจนักที่ต่อไปเราจะเห็น 2 บริษัท อยู่ร่วมกันในรถคันเดียว

ปี 2015 โตโยต้ามาแปลกทำเอาทั่วโลกงง เมื่ออยู่ดี บริษัทประกาศว่า จะแบ่งปันข้อมูลการพัฒนารถยนต์ไฮโดรเจนให้ไปศึกษากันฟรี ซึ่งโตโยต้าเป็นบริษัทรถยนต์รายเดียว ที่มีเทคโนโลยีดังกล่าว หลังจากพัฒนา   Toyota Mirai   สำเร็จ

การแสดงท่าทีดังกล่าว นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ต่างลงความเห็นว่า   Toyota   คงต้องการคนมาร่วมหัวจมท้ายในเทคโนโลยีล้ำสมัยนี้ และต้องการให้ตลาดรถยนต์ไฮโดดรเจนเกิดขึ้น ในระหว่างที่ตลาดกลับให้ความสนใจรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า

แม้นว่าการออกมาประกาศดังกล่าวจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หวัง ทว่า ในที 2017 ,  Toyota   ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญกับ   Mazda   แบรนด์รถยนต์เมืองฮิโรชิม่า พวกเขาร่วมกันพัฒนา 3-4 ประเด็นหลักๆ ได้แก่ การเชื่อมต่อในรถยนต์, การพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าร่วมกัน ,การร่วมมือพัฒนาระบความปลอดภัยขั้นสูง

ที่สำคัญที่สุดการผลิตรถยนต์ร่วมกัน จนเราได้เห็นรถยนต์  Mazda 2  ไปเกิดในแบรนด์โตโยต้าทางฝั่งอเมริกาอย่างงงๆ จนแฟนโตโยต้าถึงกับเกาหัวในความคิดดังกล่าว

และช่วงเวลาเดียวกัน ระหว่างที่หลายแบรนด์แนะนำรถรุ่นใหม่  Toyota   กลับพลิกความคาดหมายด้วยการแนะนำแพลทฟอร์มใหม่  Toyota TNGA  ที่มีความปลอดภัยมากขึ้น และปรับปรุงสมรรถนะการขับขี่รถยนต์   Toyota   จากหน้ามือเป็นหลังมือ

การออกแพลทฟอร์มใหม่ สร้างความประหลาดใจมากขึ้น เมื่อ 2 บริษัท ที่   Toyota   มีหุ้นอยู่ด้วย ได้แก่   Suzuki   และ   Subaru   นั้น ต่างก็ทยอยเข็ญแพลทฟอร์มใหม่ ออกมาในเวลาไล่เลี่ยกัน

เนื้อหาแพลทฟอร์มใหม่ ต่างเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ เพื่อความประหยัด และปลอดภัย รวมถึง พัฒนาสมรรถนะรถในแบบที่ทางบริษัทคิดว่าสมควร

TNGA –   เน้นสมรรนถะการขับขี่ในองค์รวมและความปลอดภัย

Subaru Global  Platform  – เน้นการขับขี่ที่มีความนุ่มนวลมากขึ้นกว่าเดิม และความปลอดภัยตามมาตรฐานการชนใหม่

Suzuki Heartect – เน้นการขับขี่ที่ดีขึ้น และความปลอดภัย รวมถึงให้ความประหยัดมากขึ้น

ถ้ามองจะพบว่าโครงสร้างใหม่ทั้งหมด จากทั้ง 3 บริษัท มีเนื้อหาการออกแบบคล้ายคลึงกัน ในด้านแง่มุมและความคิดทางด้านการออกแบบ เพียงปรับให้ต่างกันตามแต่ละที่บริษัทต้องการเท่านั้น

ความพยายามของโตโยต้าในการเข้าร่วมกับพันธมิตรไม่ได้หยุดแค่บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น ตลอดช่วงเวลาหลายปีหลังจากเปิดขาย  Toyota  GT86   ทางแบรนด์สามห่วงได้จับมือ BMW   ในการพัฒนารถสปอร์ตใหม่  Toyota Supra

การจับมือบริษัทรถยนต์จากเยอรมัน เพื่อผลิตที่สุดสปอร์ตในตำนานของแบรนด์นั้น มีเหตุผลสำคัญทางด้านการลดค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาอย่างชัดเจน เนื่องจากโตโยต้าไม่ได้ผลิตเครื่องยนต์ 6 สูบแถวเรียงมานานมาก และ   BMW   เก่งเรื่องนี้ที่สุด เพราะพวกเขาไม่เคยวางมือจากเครื่องแบบนี้เลย

โตโยต้าเริ่มเจรจากับ   BMW   ตั้งแต่ปี 2014 ทั้งที่ความร่วมมือมีขึ้นตั้งแต่ 2012 โครงการพัฒนา  Toyota  Supra  ทราบว่ามีเรื่องราวมากมาย ไม่ต่างจากภาพยนตร์ดาม่าชั้นเยี่ยมรางวัลออสก้า จนกระทั่งในปี 2018 รถรุ่นนี้ก็โผล่ออกมาเผยโฉม จนเรียกว่าเป็นความสำเร็จของ โตโยต้า ในการทำให้บริษัทรถยนต์เยอรมันยอมร่วมสร้างรถกับพวกเขาได้ในที่สุด

ผลจากการความร่วมมือในการสร้าง   Toyota  Supra  ครั้งนี้ แม้นกระแสจะไม่สู้ดีนัก เนื่องจากมันมีรายละเอียดต่างจากรถรุ่นเก่าพอสมควร ทว่า หลายคนที่ได้ขับขี่ต่างซูฮกว่า รถรุนนี้ขับดีแบบรถยุโรปภายใต้แบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่น ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เนื่องจากมันผลิตโดยค่ายบาวาเรี่ยนนั้นเอง

Toyota GR Supra

ปีเดียวกัน   Toyota- Subaru   ตกเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อทางบริษัท ประกาศความร่มมือระหว่างกันครั้งที่ 2 สืบต่อจากเดิม งวดนี้  Subaru   รับหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนารถยนต์อเนกประสงค์ไฟฟ้าล้วน ให้กลายเป็นจริง ตามแผนงานของโตย้า ที่ต้องรีบจ้ำอ้าวให้ทันคู่แข่ง อย่าง นิสสัน และ ฮอนด้า ที่ออกสตาร์ทไปนานมาก จนมีผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดแล้ว

ความร่วมมือกันนี้ ทำให้ Subaru   จะเข้าถึงโครงสร้างใหม่ที่เรียกว่า  e- TNGA   ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ทั้งตัวเองและแบรนด์พันธมิตร ซึ่งนั่นตรงกับปณิธานของซูบารุ ในการพัฒนารถยนต์   Subaru Forester ไฟฟ้า  ออกวางจำหน่ายในตลาด

และมีกระแสข่าวว่าภายใต้หน้าฉากนี้ ทั้ง 2 บริษัทยังมีแผนสำหรับ   Toyota GT86  Gen 2  ซึ่งจะใช้โครงสร้างของทาง  Toyota   แทนที่จะให้ซูบารุสร้างทั้งหมด เหมือนในรุ่นปัจจุบัน

และล่าสุดในปี 2019 โตโยต้า ประกาศจับมือ แบรนด์รถยนต์จากประเทศจีน BYD   เป็นครั้งแรก ด้วยเหตุผลสำคัญว่า  BYD  เชี่ยวชาญในการสร้างรถยนต์พลังงานใหม่  ประเภทรถยนต์ไฟฟ้า และ รถยนต์ไฮบริด อย่างมาก พวกเขาอยู่ในตลาดนี้มานานนับ 10 ปี

การร่วมมือครั้งนี้ชี้ว่า ภายในครึ่งหลังปีหน้า   Toyota   มีแผนในการเปิดตัวรถยนต์อเนกประสงค์ไฟฟ้าในจีน โดยใช้แบตเตอร์รี่จาก   BYD   ซึ่งมีจุดเด่นสำคัญ คือ แบตเตอร์รี่อยู่ภายในรถ เช่นเดียวกับมีพื้นห้องโดยสารต่ำ รวมถึงยังมีแนวความคิดการพัฒนารถเก๋งไฟฟ้าร่วมกัน ซึ่งรถทั้ง 2 จะขายในแบรนด์โตโยต้า ภายในประเทศจีน

และอัพเดทสุดๆ  Toyota   เพิ่งจับมือกับ   Suzuki  พัฒนาระบบขับอัตโนมัติ ไปหมาดๆ ช่วงนี้  Toyota   ดูเหมือนจะเดินสายจับมือกับบริษัทต่างๆ มากมาย จนหัวบันไดไม่แห้งเลยทีเดียว

 

จากทั้งหมด เราจะเห็นภาพกว้างๆ ว่า   Toyota   ยุคใหม่ หันมาใช้กลยุทธ์การจับมือร่วมกันเป็นพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง นั่นไม่น่าแปลกใจนักที่วันนี้รถยนต์แบรนด์นี้พัฒนาไปไกล มีสินค้าหลากหลายและตรงใจลูกค้ามากขึ้น แถมด้วยความแข็งแกร่งของแบรนด์ มันยิ่งทำให้พวกเขาก้าวไปได้ไกลขึ้นกว่าเดิม

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่
Tags: