เพียงให้หลังการเปิดตัวเพียงหนึ่งสัปดาห์ เราก็มีโอกาสได้รีวิว Mazda CX-8 รถเอสยูวีแท้เบาะ 3 แถว 6-7 ที่นั่ง ซึ่งหลายคนเฝ้ารอคอยรีวิวจากการใช้งานจริง วันนี้เราพร้อมจะนำเสนอแล้ว

Mazda CX-8 เอสยูวีเบาะ 3 แถว รุ่นเรือธงของมาสด้า ประเทศไทย ได้ถูกส่งมาเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดรถอเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง ซึ่งครองตลาดด้วยรถพีพีวีพื้นฐานกระบะ นี่เป็นความอาจหาญของมาสด้าที่เล็งเห็นถึงช่องว่าง ว่ายังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องการรถเบาะ 3 แถว ที่นั่งได้จริง แต่ไม่ชอบความกระด้างกับส่วนสูงที่พีพีวีหลายยี่ห้อมอบให้…

ในวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการ CX-8 ได้เผยราคาจำหน่ายระหว่าง 1.599-2.069 ล้านบาท ทำเอาคนที่รอคอยการมาถึงต่างยินดีปรีดี เพราะก่อนหน้าได้ทำนายกันไว้ว่ายังไงตัวเริ่มต้นต้องมีทะลุ 1.8 ล้านบาท แต่พอรถเปิดออกมาจริงกลับทำราคาได้เป็นมิตรพอจะตีคู่กับรถพีพีวีในตลาดได้

ก่อนอื่นต้องบอกว่ารถที่เรามีโอกาสได้ทดลองขับครั้งนี้ คือ CX-5 2.5 SP รุ่นท็อปเครื่องเบนซินขับเคลื่อนล้อหน้า ราคา 1,699,000 บาท มาพร้อมเบาะ 7 ที่นั่ง ซึ่งใครที่สนใจอยากได้ตัวเบาะ Captain Seat 6 ที่นั่ง ต้องเล่นรุ่นแพงสุด XDL Executive ขับสี่ AWD ราคา 2,069,000 บาท เอาล่ะเพื่อไม่เป็นการเสียเวลาไปดูกันเรื่องน่าสนใจกันดีกว่า

คำถามที่คนที่กำลังสนใจจะซื้อ CX-8 ตั้งโจทย์ไว้กับเอสยูวีลำตัวยาวคันนี้ มีสำคัญจริงๆ อยู่เพียงไม่กี่ประเด็น แน่นอนว่าทางมาสด้าเองทราบข้อนี้ดีจึงได้ทำการบ้านมาแบบหนักหน่วง เคาะออกมาเป็น 3 คุณค่าสำคัญที่ลูกค้าจะได้รับหากซื้อ CX-8 ไปใช้งานในชีวิตประจำวัน

อันดับแรก การออกแบบภายนอกต้องแสดงให้เห็นถึงความสง่างาม ที่จะตีความว่าสวยหรูหรือดูภูมิฐานตามสไตล์รถเอสยูวีแท้ๆ ก็ได้ตามใจลูกค้า แต่จะไม่ออกแนวบึกบึนแข็งแกร่ง เหมือนเช่นที่รถพีพีวีพื้นฐานกระบะทุกคันมอบให้ อีกทั้งเรื่องห้องโดยสารต้องออกแบบให้ดูเรียบง่าย ใช้วัสดุชั้นดีที่ใครขึ้นมานั่งก็รู้สึกชอบทันที

อันดับสอง การขับขี่จะต้องมอบความมั่นใจ เพลิดเพลิน ชนิดที่ว่าพอขับแล้วอยากจะขับไปเรื่อยๆ มุ่งไปยังจุดหมายที่อยู่ไกลออกไปแบบไม่รู้สึกเบื่อ และต้องมอบความสบายไม่ปวดเมื่อยตัวเมื่อขับในระยะทางไกล

อันดับสาม ความสะดวกสบายของผู้โดยสารทั้ง 3 แถว ที่ต้องได้รับความผ่อนคลายสูงสุด อาทิ ตัวเบาะนั่งที่ออกแบบมาอย่างดี ผิวสัมผัสของหนังหุ้มเบาะที่นุ่มให้อารมณ์สุนทรีย์ ตลอดจนพื้นที่ว่างเหนือศีรษะกับที่วางขา ซึ่งมีเหลือเฟือเพียงพอสำหรับการนั่งสามแถวครบทุกเบาะ 6-7 ที่นั่ง รวมถึงความสามารถในการปรับเปลี่ยนตำแหน่งเบาะต่างๆ ทั้งเพื่อขนคนหรือบรรทุกสัมภาระ

ที่กล่าวมาทั้ง 3 ข้อนั้น เราได้ทำการเก็บทุกรายละเอียดที่ผู้อ่านสงสัยใคร่รู้ เพื่อไขคำตอบให้กระจ่างชัดว่ามาสด้าสามารถสร้าง CX-8 ออกมาสมบูรณ์ได้ตามที่พูดจริงหรือไม่

ตอนเราได้นังฟังบรีฟสรุปที่มากว่าจะเป็น CX-8 ในวันนี้ ก็ได้ทราบถึงเกร็ดเล็กน้อยที่จะช่วยเสริมอรรถรสในการอ่านบทความให้สนุกขึ้นไปอีก โดยเจ้าเอสยูวีรุ่นเรือธงของมาสด้าไทยคันนี้ มีเหตุให้กำเนิดเกิดมาก็เพราะทางญี่ปุ่นต้องการนำ Mazda CX-9 เอสยูวีพี่ใหญ่สุดในตระกูลเข้าไปขายในแดนอาทิตย์อุทัย ทว่าด้วยขนาดกว้างลำตัว 1,969 มิลลิเมตร นั่นทำให้มันไม่สามารถลัดเลาะไปตามซอกซอยของญี่ปุ่นที่มีความคับแคบได้สะดวก ทีมวิศวกรมาสด้าจึงต้องประชุมกันเพื่อหาหนทางใหม่

พวกเขารวมหัวกันคิดอยู่ไม่นานจึงค่อยเคาะหาวิธีแก้ไขปัญหาออกมาดังนี้ แรกเลยคือนำโครงสร้างพื้นฐานของ CX-9 มาปรับใช้ผสมรวมกับโครงสร้างของ CX-5 แล้วค่อยเสริมเติมแต่งส่วนใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อ CX-8 โดยเรื่องความกว้างตัวรถของ CX-8 นั้นอยู่ที่ 1,840 มิลลิเมตร เท่ากับ CX-5 ส่วนระยะฐานล้อที่ส่งผลถึงความกว้างขวางและฟีลการขับขี่เท่ากับ CX-9 คืออยู่ที่ 2,930 มิลลิเมตร ในส่วนความยาวรวมมากถึง 4,900 มิลลิเมตร

หลายคนมีคำพูดติดตลกกับ CX-8 ว่า มันคือการนำ CX-5 มาต่อก้นเพิ่มความยาวให้ใส่เบาะเข้าไปได้ 3 แถว ทว่านั่นเป็นความจริงเพียงส่วนหนึ่ง เพราะจริงๆ แล้วต้องบอกว่าเจ้านี่เป็นการนำข้อดีของทั้ง CX-9 กับ CX-5 มาเขย่าแล้วเพิ่มท็อปปิ้งในแบบของตนใส่เข้าไปจนได้รสชาติที่ต้องการออกมา

 

นั่งสบายจริงไม่ได้โม้ แต่ถ้าเพิ่มเติมอีกนิดจะสมบูรณ์แบบ

เมื่อสรุปเรื่องมิติโครงสร้างรถเสร็จสิ้น รอขอลัดไปพูดถึงประเด็นห้องโดยสารภายในที่ทางมาสด้าภูมิใจนักหนา ว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นครอบครัวซึ่งใช้ชีวิตภายในเมือง มองหารถเอสยูวีที่ขับเดินทางไกลได้สบายจริงตามที่ระบุได้จริงหรือเปล่า

เราลองเปิดประตูหลังออกก็พบว่าบานพับสามารถเปิดได้กว้างสุด 80 องศา ช่วยให้ครอบครัวที่มีเด็กเล็กซึ่งต้องใช้คาร์ซีทยกขึ้นหรือถอดออกได้สะดวก หรือว่าจะเป็นผู้สูงอายุก็เข้าไปนั่งเบาะแถว 2 ได้ง่ายเช่นกัน เพราะความสูงของเบาะกับพื้นถนนไม่ได้เยอะมากเหมือนกับพีพีวี การขึ้นไปนั่งจึงไม่จำเป็นต้องโหนตัวหรือปีนยกตัวเองขึ้นไปแต่อย่างใด จุดนี้ขอชมเชยจากใจจริง

ไม่รอช้าเราย้ายก้นเข้าไปนั่งเบาะแถว 2 ก็ได้พบกับหนัง Nappa สี Deep Red ผิวสัมผัสสุดนุ่มมือ เกรดเดียวกับที่ใช้อยู่บนรถหรูแบรนด์ยุโรป พร้อมกับทริมตกแต่ง Real Wood ลายไม้ซึ่งมีสีอ่อนช่วยขับอารมณ์ตัดกับเบาะนั่งให้รู้สึกหรูหรายิ่งขึ้น

แรกเลยนี่ประทับใจหนังหุ้มเบาะไปแล้ว ต่อมาเราก็ชอบความสบายของเบาะนั่งแถว 2 ของ CX-8 เข้าไปอีกหนึ่งดอก คือรู้สึกได้ชัดเจนว่ามันเป็นเบาะที่นั่งสบายแน่ๆ โดยที่ไม่ต้องนั่งพิสูจน์ด้วยระยะทางไกล กล่าวคือตัวฐานเบาะมีความนุ่มแน่นอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ความยาวในการรองรับช่วงต้นขาก็ทำได้ดีเช่นกัน

ส่วนการปรับเอนทำได้ 22 ถึง 30 องศา แต่ไม่ว่าจะองศาใดสรีระเวลานั่งจะอยู่ในตำแหน่งที่มีความสบายแทบไม่ต่างกัน เรากล้าพูดว่ามันนั่งสบายกว่ารถมาสด้าทุกคันที่เคยขาย รวมถึงสบายกว่าพีพีวีทุกคันซึ่งผู้ทดสอบเคยลองนั่งมา ยิ่งไปกว่านั้น ตัวเบาะปรับเลื่อนหน้าหลังได้ 120 มิลลิเมตร ช่วยเรื่องพื้นที่วางขาให้คนนั่งเบาะแถว 3 มีที่ว่างพอสำหรับการนั่งแบบสบายๆ เรียกว่าปรับให้ดีทั้งคนนั่งแถว 2 กับ 3 จะแฮปปี้มีความสุขตลอดการเดินทาง

ต่อมาการเข้าไปนั่งในตำแหน่งเบาะแถว 3 ถ้าเป็นผู้ใหญ่วัยไม่เกิน 40 ปี เราคิดว่ายังทำได้สะดวกอยู่ เพียงดึงคันโยกเหนือพนักพิงแล้วดันเลื่อนเบาะไปทางด้านหน้า จากนั้นจึงปีนพาตัวเองเข้าไปนั่งยังเบาะแถว 3 แล้วค่อยดึงเบาะแถว 2 กลับมาในตำแหน่งใช้งานปกติ กระบวนการที่กล่าวมาใช้เวลาเพียงไม่นานก็เสร็จสิ้น ต่างจากพีพีวีส่วนใหญ่ที่กว่าจะเข้าไปนั่งได้ บางครั้งอาจทำให้ผู้โดยสารที่ปีนไปนั่งมีอาการเคล็ดขัดยอกกันบ้าง

บางคนสงสัยแล้วถ้าเวลาจะออกจากเบาะแถว 3 แล้วคนที่นั่งเบาะแถวสองไม่ช่วยดึงเบาะออกให้จะลำบากไหม? เราตอบได้ว่าไม่ลำบาก การออกเพียงดึงคันโยกเหนือพนักพิงเบาะในที่อยู่ในตำแหน่งติดกับทางออกรถ แล้วค่อยดันเลื่อนเบาะแถว 2 ไปด้านหน้า จากนั้นจึงค่อยเอื้อมมือจับมือเปิดประตูที่ไม่ได้อยู่ไกล พูดง่ายๆ ว่าทั้งการเข้าและออกจากการนั่งเบาะแถว 3 คุณสามารถทำได้ด้วยตนเองแบบไม่ต้องพึ่งพาผู้โดยสารคนอื่น

ความสบายของเบาะแถว 3 นี่ จากที่ได้ลองนั่งก็บอกได้เลยว่า ถ้าคุณมีส่วนสูงไม่เกิน 175 เซนติเมตร พิกัดสัดส่วนน้ำหนักไม่ตุ้ยนุ้ยหรือเกิน 85 กิโลกรัม ก็ยังนั่งได้ค่อนข้างสบาย มีพื้นที่วางขาเหลือพอประมาณ ดีไม่ดีอาจนั่งไกว่ห้างได้อย่างผู้เขียนที่สูง 170 เซนติเมตรก็ได้ แต่กับเรื่องที่ว่างเหนือศีรษะอาจเหลือนิดเดียวเกือบชนหลังคาไปบ้าง ทว่าการใช้งานจริงคนที่จะมานั่งเบาะแถว 3 เชื่อเถอะว่าไม่เป็นเด็กๆ ก็คงเป็นวัยรุ่นหรือใครก็ตามที่มีส่วนสูงไม่มากกับหุ่นปกติ ถ้าจัดสรรตำแหน่งทุกเบาะให้ดีเราเชื่อว่าทุกคนในครอบครัวจะโดยสาร CX-8 เป็นระยะทางเกิน 400 กิโลเมตร ได้สบายทุกคน

นอกเหนือจากความสบายกับพื้นที่นั่งของเบาะแถว 3 เรื่องการนั่งทางไกลบนเส้นทางคดเคี้ยวระหว่างภูเขาของ CX-8 เราสัมผัสได้เลยว่าอาการสะเทือนของช่วงล่างเมื่อนั่งไม่ได้ต่างจากการนั่งเบาะแถว 2 ทั้งเรื่องการโยนตัว การซับแรงกระแทก ที่กล่าวมาทำได้ดีกว่าพีพีวี 7 ที่นั่ง แบบหน้ามือกับหลังมือ ขนาดผู้เขียนเป็นคนที่เมารถง่ายยังมีอาการมึนวิงเวียนศีรษะเพียงนิดหน่อย (ทางภูเขาหักซ้ายโหนขวา ขึ้นลงทางชันตลอดเวลา)

สำหรับมนุษย์ยุค 4.0 เชื่อว่าถ้าไม่ได้ขับก็ต้องหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาเล่นๆ อัพรูป ดูนั่นนี่ตลอดเวลาที่เดินทาง คนนั่งแถวสองจะมีช่องเสียบ USB จำนวน 2 ช่อง อยู่ในฝาปิดพนักพิงเบาะตรงกลาง ส่วนคนนั่งแถว 3 จะต้องหาอะแดปเตอร์ชาร์จไฟที่เสียบช่อง 12V มาใช้เองต่างหาก

นอกจากนี้ มีผู้อ่านบางคนคอมเม้นว่า CX-8 ตัวญี่ปุ่น รุ่นเบาะ 6 ที่นั่ง เขาได้เบาะแบบปรับไฟฟ้าไฮโซหรูหรา แต่ทำไมเวอร์ชั่นไทยได้เบาะแถว 2 แบบปรับมือ แบบนี้ลดต้นทุนเหรอ? เราก็ลองถามทางมาสด้าเขาก็ยอมรับส่วนหนึ่งว่า ใช่ เป็นการลดต้นทุนมิให้ราคารถโดดเกินไปไกล แต่ก็มีเหตุผลเรื่องที่ว่าเบาะแถว 2 ควรปรับหรือเลื่อนได้เร็วสุด เนื่องด้วยประเทศไทยเป็นเมืองร้อน บ้างก็มีฝนตกหนัก การจะรอให้เบาะไฟฟ้าค่อยๆ เลื่อนจนสุดนั้น คนที่จะเข้าไปนั่งเบาะแถว 3 คงหัวร้อนหรือไม่ก็เปียกโชกไปเสียก่อน ข้อนี้ ผู้อ่านจะคิดไปทิศทางไหนเอาเป็นว่าตามสะดวก

หากครอบครัวคุณมีสมาชิก 5-6 คน แล้วมีกิจกรรมต้องออกไปเที่ยวต่างจังหวัดบ่อยๆ คุณคงสงสัยว่าถ้านั่งครบทุกเบาะ ข้าวของกับสัมภาระที่ขนไปจะใส่ได้เยอะขนาดไหน จากการคาดคะเนพร้อมกับทดลองใส่ของจริง บอกได้ว่าใส่กระเป๋าเสื้อผ้าใบกลางๆ วางซ้อนทับกันได้ซัก 3-4 ใบ แต่ถ้ามากกว่านี้จะต้องให้คนนั่งเบาะแถว 3 แค่คนเดียว แล้วพับเบาะอีกครึ่งลงไปเพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระ แต่กรณีนั่งแค่ 5 คน คุณสามารถพับเบาะแถว 3 ลงไป จนได้พื้นที่ราบกว้างใหญ่กว่ารถเอสยูวีทั่วไปในท้องตลาด

เกือบลืมอีกข้อที่คนไทยส่วนใหญ่กังวล คือเรื่องเครื่องปรับอากาศที่นอกจากจะมีการปรับอัตโนมัติแยกส่วนด้านหน้ากับเบาะแถว 2 แล้ว เบาะแถว 3 ล่ะมีให้มาหรือเปล่า คำตอบจากการนั่งเป็นระยะกว่า 77 กิโลเมตร จากตัวเมืองเชียงรายมุ่งสู่ร้านกาแฟแถวๆ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ก็คือมีอยู่ใต้เบาะนั่งแถว 2 ซึ่งลมจะแรงหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความขี้ร้อนขี้หนาวของคนนั่งเบาะแถว 2 ดีไม่ดีถ้าคนนั่งหลังสุดถอดรองเท้า กลิ่นอับอันไม่พึงประสงค์อาจไหลเวียนตลบอบอวนอยู่ในรถกันถ้วนทั่ว ข้อนี้เราได้คอมเม้นไปทางมาสด้าแล้วว่าถ้าเป็นไปได้ขอช่องลมแอร์แถว 3 แยกต่างหาก เพราะเมืองไทยมันร้อนกว่าที่คุณคิดแม้รถจะติดฟิล์มแล้วก็ตาม

เครื่องเบนซิน 2.5 ลิตร ของดีที่คุณคู่ควร

ถ้าบอกว่าดีใจที่ได้ขับเครื่องเบนซิน Skyactiv-G 2.5 ลิตร ของมาสด้าอีกครั้งผู้อ่านจะหมันไส้คนเขียนไหม? ฮ่าๆ คือส่วนตัวตอนที่ CX-5 โฉมแรกออกขายพร้อมรุ่นย่อย 2.5 แล้วได้ลองขับทดสอบ ยังชอบอัตรากำลังกับความรู้สึกที่จับคู่กับเกียร์ไม่เคยลางเลือน ยิ่งพอรู้ว่าจะได้ขับเครื่องบล็อกเดียวกันที่ได้ปรับใหม่ให้กำลังสูงสุด 194 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิด 258 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ขับเคลื่อนด้วยล้อหน้า ผู้เขียนก็ยิ้มในใจว่าสนุกแน่นอนสำหรับทริปทดสอบนี้

ทันทีที่กดคันเร่งจมมิดเพื่อออกตัวไปพร้อมกับคนนั่ง 4 คน กระเป๋าเดินทาง 4 ใบ บวกกับน้ำหนักตัวรถเปล่า 1,781 กิโลกรัม รถพุ่งไปข้างหน้าแบบดึงหลังติดเบาะ ทะยานสู่ความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเวลาราว 10-11 วินาที นี่ถือว่าขุมพลังบล็อกนี้สอบผ่านได้คะแนนเกรด A ไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อเล่นรุ่นเครื่องดีเซล 190 แรงม้าก็ได้ นำเงินส่วนที่เหลือไว้เติมน้ำมันก็ดูเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

สำหรับการเร่งแซง 60-80, 80-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต้องบอกว่าทำได้ดีเช่นเดียวกัน เพียงกันคันเร่งครึ่งหนึ่งเกียร์ก็ตัดเปลี่ยนฉับไวไปในย่านที่มีแรงบิดกับแรงม้าพอกับการแซง ถ้าดูจากกราฟแรงบิดจะเห็นว่าตัวเลข 215 นิวตันเมตร มาตั้งแต่ 1,500 รอบต่อนาที จุดนี้แหละที่ช่วยดึงรถให้พุ่งทันทีโดยไม่รู้สึกว่าหนืดหน่วงตั้งแต่รอบต่ำ ครั้นพอขับช่วงความเร็วเดินทาง 80-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถ้ากดคันเร่งเติมเบาๆ รถก็ไหลขึ้นไวพอควร แต่หากกดเต็มเท้ารอบจะฟาดไปที่ราว 4,000 รอบต่อนาที พอดีกับช่วงแรงบิดสูงสุด 258 นิวตันเมตร ตามที่วิศวกรมาสด้าตั้งใจออกแบบมาเป๊ะ

ส่วนตัวผมไม่ชอบกดเปิดโหมด Sport ใช้งาน เพราะถ้าที่ลองแล้วพบว่ามันลากรอบสูงอยู่ตลอดเพื่อรอการเค้นพลัง กอปรกับอยากจำลองการขับใช้งานตามที่ลูกค้าปกติเขาใช้กัน ก็ได้คำตอบว่าขับแบบเร็ว เนียน และประหยัดจริงๆ นั้น คุณสามารถหาได้จาก CX-8 เครื่องเบนซิน 2.5 ลิตร คันนี้ โดยอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเฉลี่ยโชว์อยู่ 9.7 กิโลเมตรต่อลิตร ด้วยระยะทางกว่า 278 กิโลเมตร กับผู้ขับขี่ 4 คน ที่มีสไตล์ไม่เหมือนกัน ทั้งขับโหดลากโหมดสปอร์ตตลอดช่วงโค้งขึ้นลงเขา หรือลองขับปกติตามแบบที่คนปกติเขาทำกันอย่างผู้เขียน

พวงมาลัยเบาแต่นิ่ง เบรกดี ช่วงล่างสบาย เก็บเสียงเยี่ยม

ถ้าให้สรุปสั้นๆ เกี่ยวกับพวงมาลัยบน CX-8 ก็บอกได้ดังนี้ มันเบามือหมุนง่ายพอกับ CX-5 ในช่วงความเร็วต่ำจนถึงกลาง แต่พอวิ่งด้วยความเร็วเดินทางก็ยังคงเบาอยู่ คาดว่าเอาใจผู้หญิงหรือผู้ใหญ่อายุเยอะที่ไม่ได้ขับรถเร็วๆ ถึงอย่างนั้น ความนิ่งของพวงมาลัยเมื่อวิ่งด้วยความเร็วก็ยังทำได้มั่นใจสไตล์มาสด้า เหตุเพราะได้ระบบ GVC มาช่วยสร้างสเถียรภาพทั้งในการขับทางตรงรวมถึงทางโค้ง

ความเบาที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้ตัวรถรู้สึกน่ากลัวหรือวอกแวก เราลองขับเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงก็ยังสามารถบังคับรถให้ไปตามทิศทางที่คิดได้ง่ายแถมมั่นใจ การเปลี่ยนเลนหักแซงรถคันหน้ามีความคล่องแคล่ว เอาเป็นว่าถ้าจะต้องขับรถทางไกลระยะเวลานานๆ ก็ขอพวงมาลัยแบบ CX-8 นี่แหละ ถ้าเจอทางตรงยาวนี่จับพวงมาลัยแตะไว้เท่านั้น รถก็จะวิ่งตรงโดยไม่ต้องคอยคุมตลอดเวลา

ระบบเบรกของ CX-8 ให้จานเบรกหน้าแบบมีช่องระบายความร้อนขนาด 320 มิลลิเมตร จานเบรกหลังแบบปกติขนาด 325 มิลลิเมตร ซึ่งจากที่ได้ทดลองขับแล้วเบรกในทุกสภาพเส้นทางทั้งตรงหรือขึ้นลงเขาทางชันๆ บอกได้เลยว่าเบรกชุดนี้เอาอยู่ทุกสถานการณ์ น้ำหนักในการกดเกลี่ยแรงเบรกทำได้นุ่มนวล และง่ายต่อการกระยะ เช่น เห็นรถคันหน้าไฟเบรกแดงแล้วเราแตะเบรกเริ่มชะลอ แต่อยู่ดีๆ คันหน้าเบรกจนสุด ยังสามารถเพิ่มน้ำหนักเบรกเพื่อให้รถหยุดได้ทันท่วงที แบบไม่รู้สึกว่าคนขับหรือคนนั่งจะหัวทิ่มตามแต่อย่างใด

ช่วงล่างมีการปรับใหม่เพื่อให้ CX-8 กลายเป็นเอสยูวีสำหรับครอบครัว ที่ต้องทั้งนั่งสบาย และคนขับรู้สึกขับเพลิดเพลินมั่นใจไปพร้อมกัน ในตำแหน่งผู้ขับขี่อาการตอบสนองของช่วงล่างมีความนุ่มแน่นปรากฏการโยนตัวน้อย แต่การซับแรงสะเทือนจากพื้นถนนที่ไม่เรียบนั้นทำได้ดีเมื่อเจอหลุมใหญ่ แต่ถ้าเป็นทางผิวขรุขระถี่ๆ หลุมไม่ลึกมาก อันนี้จะมีการสะท้อนจากถนนสู่พื้นให้รู้สึกบ้างนิดหน่อย

กรณีที่ขับรถแบบราวกับสวมจิตวิญญาณนักแข่ง หรือลืมตัวนึกว่ากำลังขับ Mazda 3 โฉมใหม่อยู่ ช่วงล่างของ CX-8 ก็ยังเอาอยู่สอบผ่านไม่แบบต้องลุ้น มันจะมีความนุ่มสบายแต่ไม่ได้โยนตัวเท่าไหร่เลย ด้วยอาณิสงค์จากระบบ GVC ความเป็นธรรมชาติของรถเมื่อแล่นในโค้งจัดว่าเหนือกว่าพีพีวีอย่างชัดเจน และถ้าให้เทียบกับ CX-5 ต้องบอกว่ารถคันนี้นุ่มสบายกว่า สปอร์ตไม่เท่ารุ่นน้อง แต่ยังมั่นใจได้พอกัน

สิ่งสุดท้ายที่อยากพูดถึงนั่นก็หนีไม่พ้นเรื่องเสียงรบกวน เรากล้าการันตีว่าคุณจะพบกับความเงียบสงบในทุกตำแหน่งบน CX-8 ไม่ว่าจะขับเอง นั่งแถว 2 หรือโดดไปนั่งเบาะแถวหลังสุด เสียงลมกับเสียงถนนจะถูกซีลปิดกั้นไม่ให้ดังลอดเข้ามาภายในห้องโดยสาร ข้อนี้ทำได้ดีกว่า CX-5 อย่างชัดเจน แล้วถ้านำไปเทียบกับพีพีวีในตลาดทุกรุ่น CX-8 ชนะใสแบบทิ้งขาด ถ้าไม่เชื่อคำเราก็ต้องลองไปขับเองแล้วคุณจะรู้สึกอย่างที่เราเขียนมา

เกือบลืมเรื่องระบบความปลอดภัย สำหรับรถรุ่น 2.5 SP จะได้ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน ระบบควบคุมการทรงตัว ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี ระบบเตือนรถในมุมอับสายตา ถุงลมนิรภัยรอบคัน และอื่นๆ ไปจนถึงกล้องมองภาพรอบคัน 360 องศา เหล่านี้มีให้ตามความต้องการของลูกค้ายุคปัจจุบัน

เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับบทความทดลองขับ Mazda CX-8 โฉมไทย เราหวังว่าสิ่งที่ถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้รับทราบ จะเป็นประโยชน์สูงสุดกับผู้ที่กำลังคิดจะซื้อหาเอสยูวีเบาะ 3 แถว 6-7 ที่นั่งมาใช้ เราคิดว่า CX-8 เป็นรถที่เข้ามาเจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการรถใช้งานจริงทั้งในเมืองนอกเมือง และยังแคร์เรื่องภาพลักษณ์ ความสบาย สมรรถนะ ความปลอดภัย รวมถึงความคุ้มค่าที่ได้จากรถยนต์หนึ่งคัน

ราคาจำหน่ายของ Mazda CX-8 มีอยู่ 4 แบบ ได้แก่

Mazda CX-8 SKYACTIV-G 2.5 S 7 ที่นั่ง ราคา 1,599,000 บาท

Mazda CX-8 SKYACTIV-G 2.5 SP 7 ที่นั่ง ราคา 1,699,000 บาท (รุ่นที่เราทดลองขับ)

Mazda CX-8 SKYACTIV-D XDL 7 ที่นั่ง ราคา 1,899,000 บาท

Mazda CX-8 SKYACTIV-D XDL Exclusive AWD 6 ที่นั่ง ราคา 2,069,000 บาท

เรื่องโดย ชรินทร เรืองลายคราม

ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเราทีมงาน Ridebuster.com

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่