หนึ่งในข้อดีของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่หลายคนมักยกขึ้นมาข่มผู้ใช้รถเครื่องยนต์สันดาปภายใน คือเรื่องของการปล่อยมลพิษที่น้อยกว่ามาก แต่มันจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือ ?

จากข้อมูลโดยหน่วยงานด้านวิศวกรรม ณ ประเทศเยอรมัน “VDI Gesellschaft Fahrzeug” นำโดย Dr. Joachim Damasky ระบุว่า ในการทดสอบและเก็บข้อมูลสำหรับงานวิจัยด้วยตนเองของหน่วยงาน พวกเขาพบว่า รถยนต์ไฟฟ้าที่วิ่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 200,000 กิโลกรัมนั้น มีการปลดปล่อยมลพิษในภาพรวมที่น้อยกว่าการใช้รถยนต์ขุมกำลังสันดาปภายในจริง

แต่หากลงรายละเอียดได้ลึกๆให้ดี ก็จะพบว่าความต่างของการปล่อยมลพิษในระยะทางการใช้งานกว่า 200,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นอายุการใช้งานของรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อเทียบกับรถยนต์ขุมกำลังดีเซลที่วิ่งมาแล้วด้วยระยะทางเดียวกัน จะต่างกันแค่เพียง 36% เท่านั้น ด้วยตัวเลขการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 24.2 ตัน และ 33 ตัน ตามลำดับ ไม่ได้เป็น 0 หรือต่างกันเกินกว่าครึ่ง อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ

โดยสาเหตุหลักที่เป็นเช่นนั้น หลักๆแล้วก็เป็นเพราะแม้การทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าจะแทบไม่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเลย แต่กระบวนการสร้างสิ่งต่างๆเพื่อใช้ประกอบเป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ากลับมีการปลดปล่อยมลพิษออกมาในระดับที่สูงกว่าการใช้งานรถยนต์ขุมกำลังสันดาปภายในหลายเท่าตัว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกระบวนการที่ใช้ในการถลุงแร่เพื่อนำมาผลิตแบตเตอรี่ หรือแม้แต่กระบวนการผลิตแบตเตอรี่เอง แถมยังรวมถึงการขนส่งตัวแร่ หรือแบตเตอรี่ จากแหล่งผลิตซึ่งยังมีเพียงไม่กี่แห่งบนโลก และต้องขนส่งผ่านเรือขนส่งขนาดใหญ่ ที่ยังคงใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นแหล่งพลังงานอยู่ ไปยังโรงงานประกอบรถซึ่งอยู่คนละซีกโลก

แม้แต่การผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้งานในรถยนต์ไฟฟ้าเอง ก็ยังมีการปลดปล่อยมลพิษอยู่ดีเช่นกัน โดยเฉพาะกับในหลายท้องที่ซึ่งยังคงใช้พลังงานในการผลิตจากการเผาแร่ถ่านหิน

จากสาเหตุในข้างต้น ทำให้เมื่อลองวิเคราะห์จากกระบวนการปล่อยมลพิษตั้งแต่ขั้นต้นของการผลิตมาจนถึงการใช้งานจริง กว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะสามารถเรียกว่ามันปล่อยมลพิษน้อยกว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายในจริงๆ ก็ต้องถูกใช้งานไปแล้วไม่น้อยกว่า 90,000 กิโลเมตร โดยไม่มีการเปลี่ยนแบตเตอรี่ใดๆทั้งสิ้น

หรือหากตัวพลังงานไฟฟ้าที่นำมาใช้ชาร์จไฟแบตเตอรี่ เป็นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจากการผลิตด้วยพลังงานฟอสซิล เช่นถ่านหิน กว่าที่รถยนต์ไฟฟ้าจะสามารถเรียกว่าปล่อยมลพิษน้อยกว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายในจริงๆ ก็จะต้องถูกวิ่งไปไม่น้อยกว่า 160,000 กิโลเมตร เลยทีเดียว โดยที่จะต้องไม่มีการเปลี่ยนแบตเตอรี่โดยเด็ดขาด

แต่จะเห็นได้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วระยะการรับประกันแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าจากผู้ผลิตทั้งหลาย จะอยู่ในช่วงราวๆ 150,000 – 180,000 กิโลเมตร นั่นจึงเท่ากับว่า ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าต้องลากใช้แบตลูกเดิมไปจนถึงระยะหมดประกัน ถึงจะบอกได้ว่ายานพาหนะของตนเองนั้น มีการปลดปล่อยมลพิษที่น้อยกว่ารถเครื่องยนต์สันดาป

ที่น่าสนใจก็คือ ทางหน่วยงาน DVI เปิดเผยว่าในฝั่งรถยนต์ไฮบริด โดยเฉพาะ Plug-In Hybrid กลับมีการปล่อยมลพิษตลอดอายุการใช้งานกว่า 200,000 กิโลเมตร มากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่วิ่งด้วยระยะทางเท่าๆกันเพียง 0.6 ตัน เท่านั้น ซึ่งต้องไม่ลืมว่าค่าตรงนี้ เป็นการคิดโดยอิงจากการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาด

ดังนั้นหากรถยนต์ไฟฟ้าใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานฟอสซิล ก็มีความเป็นไปได้ที่ความต่างของการปลดปล่อยมลพิษเมื่อเทียบกับการใช้รถยนต์ Plug-In Hybrid จะยิ่งน้อยลงไปอีก ในตลอดอายุการใช้งานกว่า 200,000 กิโลเมตร

อย่างไรก็ดี ทาง DVI ระบุว่า หากกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ถูกปรับเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบที่ควรจะเป็น ทั้งการย้ายฐานการผลิตแบตเตอรี่ ไปอยู่ในที่เดียวกัน หรือใกล้เคียงกับโรงงานผลิตตัวรถ (ลดการปลดปล่อยมลพิษจากการขนส่ง) การออกแบบกริดพลังงาน, การปรับวิธีผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้งานให้เป็นพลังงานสะอาดทั้งหมด ระดับการปลดปล่อยมลพิษของรถยนต์ไฟฟ้า ยังมีสามารถที่จะลดลงไปได้อีกมากโข

แต่ทั้งนี้ ในฝั่งรถเครื่องยนต์สันดาปภายในเอง ก็ยังมีแนวโน้มที่จะสามารถลดการปลดปล่อยมลพิษได้อีกมากด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีการพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิง e-Fuels ประสบผลสำเร็จ และสามารถนำมาใช้งานในระดับ Mass-Production ได้แล้ว ซึ่งก็อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการพัฒนาโครงข่ายกระบวนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้อยู่ในรูปแบบที่ควรจะเป็นดังที่เกริ่นไว้ข้างต้นเช่นกัน

ข้อมูลจาก Praunews.de

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่