กลุ่มรถยนต์หลากหลายชนิดเริ่มมีการหันไปคบหาเครื่องไฮบริด ล่าสุดรถ C-Segment อย่าง Toyota Corolla Altis กลายเป็นรายแรกที่นำเสนอสู่ลูกค้าชาวไทย…

รถเครื่องไฮบริดขนาด C-Segment เข้าสู่ตลาดรถยนต์ไทยเป็นเวลานานเกินเกือบ 10 ปี ช่วงแรกมีผู้นำเช่นโตโยต้าที่เปิดโลกให้แก่ชาวสยาม ด้วยการนำ Toyota Prius เจนเนเรชั่นที่ 3 มาเปิดตัวพร้อมประกอบขายด้วยราคาจับต้องได้ ซึ่งทั้งสองคันชูจุดเด่นเรื่องความประหยัดน้ำมันขั้นสุด พร้อมกับอัตราเร่งกระฉับกระเฉงที่เปลี่ยนความคิดของคนส่วนใหญ่ที่มีต่อรถชนิดนี้ไปตลอดกาล

Toyota-Prius-History017

Toyota Prius 2010

ไม่เพียงโตโยต้าเท่านั้นที่รุกตลาดรถไฮบริดอย่างหนักหน่วง บรรดาบริษัทรถร่วมสัญชาติมีหรือจะยอมให้ค่ายใหญ่กินปลาเพียงคนเดียว แน่นอนว่าฮอนด้าค่ายคู่ปรับในตลาดรถยนต์นั่งก็ได้ส่ง Honda Civic Hybrid (FB) โฉมปี 2013 เข้ามาขายในไทย ตอนนั้นพวกเขาหมายมั่นจะส่งซีวิคเครื่องไฮบริด 1.5 ลิตร พ่วงระบบ IMA มาสู้กับ Prius

น่าเสียดายที่กระแสการตอบรับ Civic Hybrid จากลูกค้ามีน้อยมากเมื่อเทียบกับ Prius แม้ว่าราคาเปิดตัวของซีวิคจะถูกกว่าอยู่ระหว่าง 1,035,000-1,095,000 บาท เทียบกับพรีอุสที่ 1,190,000-1,260,000 บาท แต่ตอนนั้นระบบไฮบริดของฮอนด้าเป็นแบบ IMA (Integrated Motor Assist) ที่จะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าช่วยเสริมกำลังให้แก่เครื่องยนต์ในช่วงต่างๆ เท่านั้น ต่างจากระบบ Full Hybrid ของโตโยต้า ที่มอเตอร์ไฟฟ้าจะดึงพลังจากแบตเตอรีมาทำให้รถวิ่งโดยที่เครื่องยนต์ไม่ต้องทำงาน ในช่วงการออกตัวหรือคลานด้วยความเร็วต่ำ และเสริมกำลังขณะเร่งแซงได้ยืดหยุ่นกว่า

ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Civic Hybrid ส่งผลถึงอนาคตระบบไฮบริดของฮอนด้าโดยชัดเจน เพราะพวกเขาไม่ได้สืบทอดรถรุ่นนี้ในแบบขุมพลังไฮบริดต่ออีกเลย แต่ก็มีการพัฒนาระบบฟูลไฮบริดใหม่ในชื่อ i-MMD ติดตั้งลงบน Honda Accord Hybrid เจนฯ แรกที่มีขายในไทยจวบจนถึงโฉมใหม่ตัวปัจจุบัน ส่วนในต่างประเทศก็มี Toyota Insight เจนฯ 2 ซึ่งใช้ระบบไฮบริด i-MMD สองมอเตอร์ไฟฟ้าจับคู่กับเครื่องเบนซิน 1.5 ลิตร มาเพิ่มสมรรถนะการขับขี่ชนิดที่ไม่แพ้ระบบของโตโยต้า

ดูเหมือนว่าฮอนด้าไทยคงไม่นำระบบไฮบริด i-MMD เข้ามาติดตั้งบนรถยนต์คอมแพ็ค หรือ C-Segment ในเร็วๆ นี้ แต่กับรถไซส์เล็กกว่าคาดว่าจะมีแน่นอน อาทิ Honda City กับ Jazz โฉมไฮบริดเครื่อง 1.5 ลิตร พ่วงระบบ i-MMD ในอีก 2 ปีเป็นอย่างช้า…

เครื่องไฮบริดบน C-Segment’ ทางออกผู้ผลิต หรือ ทางเลือกผู้บริโภค?

ทุกคนทราบกันอยู่แล้วว่า Toyota Corolla Altis เจนฯ 12 ที่จำหน่ายในไทยมีรุ่นเครื่องไฮบริดแตกย่อยมากถึง 3 รุ่น จากทั้งหมด 6 รุ่นย่อย นี่แสดงให้เห็นว่าโตโยต้าตั้งใจจะใช้มาตรการช่วยเหลือด้านภาษีจากทางภาครัฐ ที่ออกมาเกื้อหนุนให้บรรดาผู้ผลิตรถยนต์หันมาประกอบรถเครื่องไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด หรือรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นในเวลาต่อจากนี้ไป

การนำเสนอรถไฮบริดแท้ๆ ในราคาเริ่มต้น 939,000 บาท ทำให้ลูกค้าจำนวนมากที่เคยคิดอยากครอบครองรถไฮบริด ที่ยังติดอยู่ที่กำลังทรัพย์ไม่มากพอจะซื้อหารถราคาเกิน 1 ล้านบาท สามารถตัดสินใจลิ้มลองรถยนต์เทคโนโลยีสะอาด ประหยัด และมีกำลังเหมาะสมได้ง่ายขึ้น

หากถามเราว่าผู้ผลิตหรือผู้บริโภค ฝ่ายใดได้ผลประโยชน์จากรถไฮบริดมากกว่ากัน? คำตอบคือ… WIN-WIN ทั้งสองฝ่าย หรือเปรียบได้กับสุภาษิต “น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า” เพราะหากผู้ผลิตไม่เดินเกมนำรถไฮบริดพร้อมด้วยเทคโนโลยีล้นคัน ที่มีการช่วยเหลือทางภาษีจากรัฐฯ มาขายให้แก่ลูกค้าชาวไทย พวกเขาอาจเสียโอกาสในการทำกำไรในระยะยาวไปแบบน่าเสียดาย

นี่ถือเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่สุดในการให้ผู้คนตัดสินใจเป็นเจ้าของรถไฮบริด ซึ่งเคยมีความหวาดกลัวเรื่องราคากับกังวลเรื่องความทนทาน โดยหากลูกค้าหน้าใหม่ได้ใช้รถไฮบริดแล้ว ต่อไปกระแสนิยมที่เกิดจากการบอกกันปากต่อปาก ว่าแท้จริงแล้วรถไฮบริดไม่ได้แตกต่างการใช้รถเครื่องสันดาปปกติ การบำรุงรักษา ค่าใช้จ่ายในการครอบครอง ตลอดจนสมรรถนะ จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ดีกว่าหรือเทียบเท่ารถปกติในระดับราคาใกล้เคียงกัน

นอกจากนี้ ในมุมของผู้บริโภคเองถือว่าได้ประโยชน์จากราคาที่จับต้องได้ มีตัวเลือกมากถึง 3 รุ่น ตั้งแต่ 939,000, 989,000 และ 1,099,000 บาท ต่างจากเมื่อก่อนที่อาจมีให้เพียงหนึ่งโมเดลหรือสองระดับเท่านั้น ครั้งนี้ ผู้บริโภคไม่ต้องกัดฟันจ่ายเงินแพงๆ เพื่อคว้ากุญแจรถไฮบริดมาจอดรถในอีกต่อไป ใครใคร่รถที่มีอุปกรณ์มาตรฐานพอประมาณ ก็สามารถใช้รถรักษ์โลกพลังสะอาดได้เช่นกัน

C-Segment เมืองไทยจะมีคันไหนคบหาเครื่องไฮบริดอีกบ้าง?

จากข้อมูลที่เราพบจะทราบมา ค่ายรถจากเมืองฮิโรชิม่ากำลังพยายามอย่างหนักในการผลักดันให้เครื่องเบนซิน Skyactiv-X ที่มีระบบ Mild Hybrid 24V พ่วงอยู่ เข้ามาทำตลาดในเมืองไทย แต่ก็น่าเสียดายที่มาสด้าประเทศไทยออกมายืนยันว่าจะไม่นำเอา Mazda 3 โฉมใหม่ใส่เครื่องดังกล่าวเข้ามาขายในเร็วๆ นี้ ถ้าให้วิเคราะห์กันตรงๆ ก็คาดว่า มาสด้าไม่สามารถทำให้รัฐบาลไทยเขียนรายชื่อเครื่อง Skyactiv-X ลงในรายการรถไฮบริดที่ได้รับกำแพงภาษีพิเศษได้นั่นเอง

มาถึงคิวของ Nissan กันบ้าง ค่ายนี้บรรดาแฟนพันธุ์แท้หลายคนส่ายหน้าหนีทันทีเมื่อพูดถึงรถโมเดลใหม่ๆ ที่จะเข้ามาทำตลาดเมืองไทย ถึงกับมีวลีเด็ดปนแขวะว่า “สวยเหรอ? ชอบเหรอ? ไม่ขาย!!” เอาล่ะ อยากให้ลืมเรื่องวีรกรรมสุดป่วนของนิสสันที่เคยมีมาไว้ก่อน เพราะจากข้อมูลที่ได้ทราบมาระบุว่า Nissan Sylphy โฉมใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวในจีนไปเมื่อช่วงต้นปี 2019 มีแนวโน้มสูงว่าจะเข้ามาไทยอย่างเร็วตอนปี 2020

All NEW Nissan Sylphy All NEW Nissan Sylphy

เบื้องต้นนิสสันอาจมีหมัดเด็ดไว้สร้างรอยช้ำให้แก่เจ้าตลาดรถ C-Segment ทั้ง Toyota Altis, Honda Civic รวมถึง Mazda 3 ที่เคยกวาดกินส่วนแบ่งลำดับ 1-2-3 มานานหลายปีได้ โดยไม้ตายนั้นอาจเป็นเทคโนโลยี E-Power ที่เคยมีข่าวว่านิสสันได้รับสนับสนุนการลงทุนจาก BOI ไปเมื่อตอนปี 2018 ซึ่งช่วงนั้นมีหลายคนคาดกันว่าโมเดลแรกที่มาพร้อมขุมพลังเบนซินไว้ปั่นสร้างไฟส่งสู่มอเตอร์ไฟฟ้า ก็คือ Nissan Note E-Power แต่ตอนนี้อาจเปลี่ยนแผนเอามาใช้กับ Sylphy โฉมใหม่ก่อน

สำหรับจุดเด่นของเทคโนโลยี E-Power ที่หลายคนพอทราบกันมาบ้างก็คือ การใช้เครื่องยนต์สันดาปปกติมาทำหน้าที่ปั่นสร้างกระแสไฟฟ้าเพื่อป้อนเป็นพลังขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้า ส่วนที่เหลืออาจนำไปกักเก็บในแบตเตอรีขนาดเล็ก ซึ่งระบบนี้อยู่ถูกรัฐบาลจัดให้อยู่ในกลุ่ม รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicle : HEV) เข้าเกณฑ์เสียภาษี 5% แบบเดียวกับที่ Toyota Altis โฉมใหม่ล่าสุดเพิ่งได้รับ

ใครที่คิดมองหารถ C-Segment หัวใจไฮบริดคันใหม่ไว้ใช้งาน หากมีความประสงค์อยากจะได้ใช้งานเทคโนโลยีไฮบริด ขอให้ท่านอดใจรออีกซัก 1-2 ปี รอให้คู่แข่งของ Toyota Altis Hybrid แสดงความชัดเจนหรือเปิดตัวออกมาซะก่อน แต่ถ้าท่านหมายมั่นตั้งใจไว้แล้วว่า ฉันชอบแบรนด์โตโยต้าและเชื่อมั่นในระบบไฮบริดของค่ายนี้ เชิญท่านสั่งจองและรับรถได้ตามสบายครับ 

ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเราทีมงาน Ridebuster.com

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่