โลกเราทุกวันนี้มีรถยนต์จำนวนมหาศาลวิ่งขวักไขว่ไปทั่ว ผลที่ตามมาก็คืออุบัติเหตุซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อนจากความประมาทของมนุษย์ ด้วยประเด็นร้อนดังกล่าวบรรดาผู้ผลิตรถยนต์จึงเริ่มคิดค้นระบบขับขี่อัตโนมัติ ซึ่งจะมาเป็นมาตรฐานใหม่ที่ถูกติดตั้งบนยานยนต์ในอนาคต หรือในบางกรณีก็มีรถที่มาพร้อมระบบขับขี่กึ่งอัตโนมัติแล้วในตอนนี้ อย่างไรก็ตามบทความนี้จะอธิบายคุณว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันมาถึงระดับเท่าไหร่แล้ว

 Mercedes-Benz, Volvo, Tesla และอื่นๆ ต่างพากันเข็นรถยนต์ที่ติดตั้งระบบขับขี่กึ่งอัตโนมัติออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ที่มีทั้งระบบการขับรถเร่งและเบรกเองตั้งแต่หยุดนิ่ง ไปจนถึงการรักษาพวงมาลัยให้แล่นตรงไปตามทางโดยไม่ต้องจับมัน หรือแม้กระทั่งระบบช่วยถอยจอดหลังทั้งในแบบถอยเข้าซองและจอดขนาด อย่างไรก็ตามสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดก็ยังไม่สามารถเรียกได้เต็มปากว่านี่คือ “รถขับขี่อัตโนมัติ” 

 

 

เริ่มต้นด้วย Tesla ที่เรียกระบบของตนเองว่า Autopilot ต่อมารถยนต์สี่ห่วง Audi กล่าวนามว่า Traffic Jam Assist และผู้ผลิตชาวสวีดิสใช้ชื่อ DrivePilot โดยทุกระบบที่กล่าวมาจะควบคุมพวงมาลัยระหว่างการขับขี่บนทางด่วนหรือขณะวิ่งผ่านการจราจรติดขัด อีกทั้งยังเร่งเครื่องพร้อมเบรกเองเมื่อรถคันหน้าชะลอตัว ส่วนรของเบนซ์จะเสริมระบบหักหลบสิ่งกีดขวางอัตโนมัติเมื่อเจอสถานการณ์ฉุกเฉินด้านหน้า ถึงอย่างนั้นระบบที่กล่าวมาก็มีอยู่ไม่กี่รายเท่านั้นที่ติดตั้งบนรถซึ่งจำหน่ายในประเทศไทย

เอาล่ะเพื่อไม่เป็นการเสียเวลาเราขอนำเข้าเรื่องระดับของระบบขับขี่อัตโนมัติ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Autonomous driving จากการกำหนดคุณลักษณะของระบบขับขี่อัตโนมัติโดย National Highway Traffic Safety Administration (NHTSA) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดกฎเกณฑ์ของระบบนี้ไว้ 6 ระดับ 

 

 

ระดับ 0 – คุณขับเอง

ระดับเริ่มต้นนี่ก็คือรถยนต์ทั่วไปที่เราขับด้วยตนเองนี่แหละ โดยผู้ขับขี่จะเป็นคนบังคับควบคุมทางกายภาพเองทั้งหมด แม้จะมีระบบเตือนเข้ามาเกี่ยวข้องแต่ก็ไม่ได้นับรวมด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วรถยนต์ระดับนี้มีมากที่สุดในปัจจุบัน

 

ระดับ 1 – มีระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่

อธิบายอย่างง่ายก็คือผู้ขับขี่ยังต้องบังคับพวงมาลัยรวมถึงการเร่งและชะลอความเร็ว แต่เมื่อใดที่เปิดระบบขับอัตโนมัติมันจะควบคุมเพียงการเร่งกับเบรกเท่านั้น โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็ได้แก่ ระบบควบคุมความเร็วแบบแปรผันและระบบช่วยเหลือในการจอด ซึ่งคอมพิวเตอร์จะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวเรื่องพวงมาลัย เบรก และคันเร่ง สำหรับรถที่มีระบบนี้ในบ้านเราก็มีอาทิ Ford Everest, Ranger, Mitsubishi Pajero Sport, Mercedes-Benz C-E Class เป็นต้น

 

 

ระดับ 2 – ทำงานอัตโนมัติบางส่วน

เพียงคุณปล่อยมือจากพวงมาลัยแล้วจับตามองถนนเบื้องหน้า ซึ่งระดับ 2 นี้จะอนุญาติให้ระบบเข้ามาควบคุมทั้งพวงมาลัยและคันเร่ง อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินผู้ขับขี่จะต้องกลับเข้ามาควบคุมรถด้วยตนเองทันที โดยตัวอย่างเห็นเด่นชัดที่สุดก็คือระบบ Autopilot ที่ติดตั้งอยู่ใน Tesla

 

ระดับ 3 – ขับอัตโนมัติแบบมีเงื่อนไข

เพิ่มความสบายให้คุณอีกขั้นเพราะไม่ต้องจับพวงมาลัยแถมไม่ต้องมองทางข้างหน้า โดยระดับที่สามนี้ระบบจะทำการควบคุมทุกสิ่งอย่างภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด แต่ผู้ขับขี่ก็ต้องพร้อมกลับเข้ามาคุมรถทันทีหากระบบร้องขอ ซึ่งในระดับสามนี้รถยนต์สามารถเปลี่ยนทิศทางเองรวมถึงตอบสนองกับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่อยู่บนถนน อย่างไรก็ตามในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินหรือข้อผิดพลาดมนุษย์ต้องกลับมาควบคุมรถทันที

 

 

ระดับ 4 – ขับขี่อัตโนมัติเกือบสมบูรณ์

มือ เท้า และความคิด สามสิ่งนี้คุณไม่ต้องใช้มันในบางครั้ง เหตุที่กล่าวเช่นนั้นก็เพราะรถยนต์ยังถูกควบคุมจากมนุษย์ได้อยู่ แต่เมื่อใดที่ผู้ขับขี่กดเปิดระบบขับอัตโนมัติรถของเขาก็จะขับขี่เองตรงหรือหลบหลีกสิ่งกีดขวางต่อไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามหากมันเจอสถานการณ์ที่ตัดสินใจไม่ได้ระบบจะขอความช่วยเหลือจากผู้ขับขี่ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อรถพาไปถึงจุดหมายมันยังสามารถจอดรถให้คุณได้อีกด้วย และนี่คือระดับที่แสดงให้เห็นว่าคุณมาถึงช่วงที่รถควบคุมทุกอย่างได้ด้วยตัวมันเอง

 

ระดับ 5 – ขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบ

ในที่สุดเราก็มาถึงระดับที่เป็นดั่งความใฝ่ฝันสูงสุดของผู้ขับขี่ ที่หวังว่าวันหนึ่งเพียวขึ้นไปบนรถจากนั้นกำหนดจุดหมาย แล้วก็นั่งเล่นสมาร์ทโฟนพร้อมกับจิบชาเขียวเย็นแก้วโปรดอย่างชื่นใจ ซึ่งระหว่างที่คุณนั่งเอกเขนกผ่อนคลายอยู่นั้น รถยนต์สุดไฮเทคจะทำการประมวลผลพร้อมควบคุมทุกสิ่งอย่าง ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นมันก็ตัดสินใจได้เกือบสมบูรณ์ หรือบางครั้งมันอาจจะสอบถามความเห็นจากผู้โดยสารบนรถ

 

 

ช่วยเป็นกำลังใจให้ทีมงาน ridebuster.com  เพียงถูกใจจากท่านเราจะสรรหาสาระดีๆมานำเสนอต่อไป

 



แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่