เชื่อว่าส่วนใหญ่ ผู้ที่ใช้รถมอเตอร์ไซค์แนวสปอร์ตไบค์ ย่อมสนใจและอยากที่จะนำรถคู่ใจของตนเอง ไว้ลงไปขี่ฝึกซ้อมในสนาม โดยเฉพาะช่วงวันที่มีงาน Track Day กันอยู่แล้ว

และเมื่อเป็นเช่นนั้น สิ่งหนึ่งที่แทบทุกคนต้องเจอ ก็คือของเดิมๆต่างๆที่ติดรถนั้นอาจดีไม่พอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ “ระบบกันสะเทือน” ดั้งเดิมของตัวรถ

นั่นจึงทำให้ YSS บริษัทผู้ผลิตโช้คที่ชาวไทยรู้จักกันดี และตอนนี้ยังมีชื่อเสียงจนกลายเป็นแบรนด์ระดับโลกไปแล้ว เกิดความคิดที่จะสร้างโช้ครุ่นใหม่ นั่นคือโช้ค “YSS TDS” หรือ “YSS : Track Day Suspension” ที่เราจะ รีวิว ครั้งนี้ขึ้นมา

โดยมีแนวคิดว่ามันจะต้องเป็นโช้คที่สามารถใช้งานในสนามรูปแบบ Track Day เผื่อไปจนถึงการแข่งขันแบบ Club Race ได้เป็นอย่างดีถึงดีมากๆ แต่ในขณะเดียวกันมันก็จะต้องทนทานมากพอเพื่อรองรับการใช้งานในชีวิตประจำวันด้วย

– Honda CBR250RR SP ของแอดมิน จอห์น Ridebuster สภาพก่อนติดตั้งโช้ค YSS TDS + YSS Z1

แต่… ก่อนที่เราจะไปเจาะลึกถึงตัวโช้ค YSS TDS ที่ว่า
เรามาคุยกันก่อน ว่าทำไม รถสปอร์ตไบค์ที่เราซื้อมา
โดยมีหนึ่งในจุดขายคือช่วงล่างที่เผื่อไว้ลงสนามสนุกๆกันอยู่แล้ว ถึงยังต้องเปลี่ยนโช้คกันอีก ?

เหตุผลก็เพราะ ความ ‘เผื่อลงสนาม’ ของมันนั่นแหล่ะครับ

เพราะด้วยความเป็นยังคงเป็นรถบ้าน ยังไงทางผู้ผลิตก็จะยังออกแบบให้มันรองรับการใช้งานในชีวิตประจำวันได้อยู่ ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่ามันถูกออกแบบมาให้สามารถทำงานได้กว้างๆ และไม่เจาะจงไปที่ด้านใดด้านหนึ่งอย่างชัดเจน

นั่นจึงทำให้ เมื่อถึงเวลาหนึ่ง ที่เราเริ่มช่ำชองในการลงสนามมากขึ้น เริ่มมีความเร็วตอนที่อยู่ในสนามมากขึ้น ระบบกันสะเทือนเดิมๆของรถ ที่ถูกออกแบบมาให้ใช้งานแบบครอบคลุมเป็นหลักนั้น ก็จะเริ่มทำงานได้ไม่ดีพอ หรือไม่รองรับกับความสามารถของเราที่สูงขึ้นอีกต่อไป

– Pic CR : แล้วแต่อาร์ท

ซึ่งสิ่งที่ผมเกริ่นมาในข้างต้น คือสิ่งที่ผมแอดมิน จอห์น Ridebuster เจอเองกับตัว เพราะแม้หนึ่งในเหตุผลอันดับต้นๆ ที่ทำให้ผมเลือกใช้ Honda CBR250RR SP เป็นรถคู่ใจ คือเรื่องสมรรถนะช่วงล่างของมันที่ตอบโจทย์การเล่นโค้ง ได้โดดเด่นกว่าใครในช่วงราคาไล่เลี่ยกัน

แต่เมื่อผมได้ลองใช้งานไปสักพักใหญ่ๆ ขี่ใช้งานแทบทุกวันเป็นระยะเวลามาแล้วปีกว่าๆ จนตอนนี้รถมีระยะทางในการวิ่งมาแล้วเกือบ 20,000 กิโลเมตร ก็เริ่มจับสังเกตได้ว่าระบบกันสะเทือนเดิมๆของตัวรถนั้น “เริ่มไม่พอมือ” มากขึ้นเรื่อยๆ

กล่าวก็คือ ในตอนแรกที่เราเริ่มทำความรู้จักรถใหม่ๆนั้น เราอาจจะยังใช้รถได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ
(ด้วยความไม่อยากให้รถช้ำไว เลยยังไม่อยากเค้นรถเยอะ)

หรือในการใช้งานในชีวิตประจำวันทั่วๆไป เราไม่ได้ขี่รถจนสุดเท่าที่รถมันจะทำได้อยู่แล้ว
เอาจริงๆผมอาจจะขี่รถของตัวเอง ด้วยการใช้สมรรถนะของมันเพียง 20-30% เท่านั้น

และมีน้อยครั้งจริงๆที่ผมจะใช้รถจนเกือบเต็มประสิทธิภาพบนถนนสาธารณะ
(เช่นกรณีไปนัดสาย หรือออกทริป แล้วอยากเล่นโค้งพอหอมปากหอมคอ) จึงทำให้เรารู้สึกว่ารถเดิมๆ
โดยเฉพาะโช้คเดิมๆ มันก็ดีพอแล้วสำหรับการใช้งานในลักษณะนี้ เพราะนั่นคือจุดประสงค์ดั้งเดิมที่ผู้ผลิตตั้งใจไว้

– ผมกับรถ CBR250RR SP เดิมๆ โช้คเดิมๆ ที่ยืม Honda มาขี่ในการร่วมงาน Track Xperience ช่วงแรก

แต่พอในช่วงขวบปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร่วมงาน Track Xperience ของ Honda มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นการเอารถตัวเองไปลงสนาม แต่ส่วนใหญ่ผมก็พยายามใช้แต่ CBR250RR ในการฝึก เพื่อความคุ้นชิน

แล้วนั่นก็ทำให้พบว่า ในขณะที่เราเริ่มกดเวลาในสนามได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ตัวรถที่เราเคยคิดว่าพอมือ ก็เริ่มมีอาการช่วงล่าง ที่แปลกๆมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

เช่น เมื่อถึงเวลาอยากจะเบรกลึกกว่าเดิมขึ้นมา หน้ารถก็ยวบลงเร็วจนรู้สึก รถมีอาการหน้าสับให้พบ ซึ่งหลายๆครั้งก็ทำให้เราเสียจังหวะ หรือพับรถเข้าโค้งได้ช้าลง

หรือหากเป็นจังหวะที่ต้องโยกรถสลับเข้าโค้งซ้ายไปขวาด้วยความปุบปับมากกว่าเดิม
รถก็จะยิ่งมีอาการยวบยาบสะท้อนออกมาให้รู้สึก

และเช่นเดียวกัน ในจังหวะที่ต้องรักษาความเร็วในโค้ง
กับจังหวะที่จะปั๊มคันเร่งออกจากโค้ง ด้วยความแรงที่มากขึ้นเรื่อยๆ
อาการด้านท้ายรถก็จะยิ่งโยกคลอน หรือย้วยมากขึ้นไปอีก
โดยแม้จะปรับความแข็งสปริงโช้คหลังขึ้นเท่าที่มันจะสามารถทำได้แล้ว
แต่มันก็ยังมีผลเสียอื่นๆตามมาอีกอยู่ดี

และยิ่งหลังๆผมเริ่มฝึกปีนเป็กซ์ (ขอบแทร็คที่มีความเป็นลอนคลื่น) อาการช่วงล่างก็จะยิ่งชัดขึ้นไปอีกเช่นกัน

ท้ายที่สุด ผมจึงเริ่มได้ข้อสังเกตว่า หรือตอนนี้เราเริ่มใช้รถกับช่วงล่างเดิมๆ จนถึงขีดจำกัด เท่าที่เรา และทักษะที่มีในตอนนี้ จะสามารถเค้นมันได้แล้ว ?

ด้วยเหตุในข้างต้น เมื่อถึงเวลาที่ผมอยากจะเอารถ Honda CBR250RR SP คู่ใจของตนเอง ลงสนามจริงๆ ผมจึงตัดสินใจสอบถามกับทาง YSS ว่าพวกเขาพอจะมีโช้คตัวไหนที่ตอบโจทย์การใช้งานของเราได้บ้าง ?

ซึ่งโจทย์ของผมจริงๆก็ไม่ได้ซับซ้อนมากนัก แต่หลักๆแล้ว จะเน้นเพียง 2 ข้อเท่านั้น ก็คือ

  • ต้องมีลูกเล่นในการปรับตั้งที่ครบครันมากพอสำหรับการใช้งานในสนาม
    อาจจะไม่ต้องถึงกับเป็นโช้คตัวแข่ง แต่ขอให้ปรับได้ครบๆทุกค่าที่จำเป็นเมื่อต้องลงสนามก็พอ
  • ต้องมีความทนทาน เพราะรถคันนี้คือรถที่เราใช้งานในชีวิตประจำวัน
    แม้โช้คจะมีสมรรถนะดี แต่ถ้าเปราะเกินไป เราเองก็มานั่งเอารถเข้าซ่อมบำรุงบ่อยๆไม่ไหว

และมัน ก็ดันเข้าจังหวะกับตอนที่ YSS กำลังจะทำโช้ค “Track Day Suspension” หรือ “TDS” ที่เราเกริ่นมายืดยาวพอดิบพอดี

*ภาพที่เห็นคือโช้คหลัง YSS TDS สำหรับใส่กับ Yamaha YZF-R1/YZF-R1M

อย่างที่เราได้เกริ่นไป โช้คหลัง YSS TDS นั้น คือโช้คที่มาพร้อมกับฟีเจอร์ที่ต้องครบครันมากพอสำหรับการใช้งานในสนาม เพราะแท้จริงแล้ว มันคือรุ่นต่อยอดมาจากโช้คตัวแข่ง ที่มีชื่อว่า RRS หรือ “Real Racing Suspension” ที่ทาง YSS นำไปใส่ในตัวแข่งรายการ WSBK

ดังนั้น มันจึงมีลูกเล่นให้ผู้ใช้สามารถปรับตั้งได้มากมาย, ละเอียด, และสะดวกสบาย ทั้ง

  • ปรับพรีโหลด หรือ ความแข็ง-อ่อน ของสปริง ด้วยระบบรีโมท โดยวิธีการเอาหกเหลี่ยมขัน
  • ปรับรีบาวน์ หรือ ความหนืดในการคืนตัวของโช้ค ด้วยการหมุนตัวปรับใต้โช้ค ซึ่งปรับได้ทั้งหมด 25 คลิก
  • ปรับคอมเพรสชัน หรือ ความหนืดในการยุบตัวของโช้ค และที่พิเศษคือ มันสามารถปรับค่าตรงนี้ได้ถึง 2 โซน ด้วยกัน อย่างละ 25 คลิก ด้วยวิธีการใช้หกเหลี่ยมขัน นั่นคือ
    Low Speed Compression หรือ ความหนืดในการยุบตัวของโช้ค (ตัวปรับสีดำ) ที่เป็นการยุบตัวด้วยความเร็วต่ำ เช่นการยุบโดยลอนคลื่นบนผิวถนน การยุบโดยแรงเหวี่ยง ขณะเติมคันเร่งออกจากโค้ง เป็นต้น
    High Speed Compresion หรือ ความหนืดในการยุบตัวของโช้ค (ตัวปรับสีแดง) ที่เป็นการยุบตัวด้วยความเร็วสูง เช่นการยุบจากแรงกระแทกโดยร่องหลุมต่างๆ บนผิวถนน
  • ปรับความสูง-ต่ำ ของโช้ค +/- 10 มิลลิเมตร (ปรับความยาวโช้คได้ 310-320 มิลลิเมตร) เพื่อให้รถมีความสูงเข้ากับสรีระ หรือการจัดการสมดุลตัวรถให้เข้ากับรูปแบบสนาม

ในส่วนของการปรับปรุงเพื่อเสริมความแข็งแรง และเสริมความเหมาะสมในการใช้งานในชีวิตประจำวัน ตัวโช้ค TDS จึงได้มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดที่แตกต่างจากตัว RRS บางจุด

เช่น การถอดวาล์วคุมแรงดันน้ำมันตามอุณหภูมิ (ศัพท์เทคนิคเรียกว่า ตัว Thermo Needle หรือ ‘เทอร์โม นีดเดิล’) ในตัวโช้คออก เนื่องจากชิ้นส่วนนี้ค่อนข้างเปราะบาง และไม่เหมาะสำหรับการนำมาใส่ในโช้คของรถที่ต้องถูกใช้งานในชีวิตประจำวัน ไม่มีเวลานำโช้คมาแกะเซอร์วิสต์ถี่ๆทุกๆเดือนหรือทุกสัปดาห์ (จริงๆถ้าเป็นรถแข่งคือเซอร์วิสต์ใหม่กันทุกๆครั้งหลังจบการแข่งขัน) และ ถอดจุดยึดเซ็นเซอร์วัดอัตราการยุบออก เพราะไม่จำเป็นต้องใช้

ตัวปรับพรีโหลด ก็เปลี่ยนกลับมาใช้วิธีการปรับด้วยระบบรีโมท ไม่ใช่ระบบแก๊สไนโตรเจนอัดลมก่อน แล้วจึงหมุนปรับด้วยมือ เนื่องจากคงไม่มีใครจะพกกระปุกแก๊สไนโตรเจนติดตัวไว้เพื่อการนี้ และท้ายสุดคือ กระบอกโช้คเปลี่ยนจากอลูมิเนียมเป็นเหล็กเพื่อความแข็งแรง-ทนทาน ที่มากกว่า นั่นเอง

และเนื่องจากหากเปลี่ยนแค่โช้คหลังอย่างเดียว แต่โช้คหน้าไม่ได้เปลี่ยนด้วย สุดท้ายแล้ว ระบบกันสะเทือนหน้า-หลัง ก็อาจจะทำงานได้ไม่สัมพันธ์กัน เช่น หากโช้คหลังมีความหนืดในการยืด-ยุบที่มากขึ้น แต่โช้คหน้ายังคงยืด-ยุบไวอยู่ รถก็จะโยกขึ้น-ลง หน้า-หลัง ไม่พร้อมกัน ซึ่งส่งผลให้เรารู้สึกรถโคลงเคลงไปมา

และเช่นเดียวกันการเข้าโค้งในแต่ละครั้ง ก็จะยังคงไม่เสถียร หรือมีอาการหน้าย้วย หน้าทิ่มอยู่ ในจังหวะที่ต้องเบรกหนักๆ ซึ่งย่อมทำให้เราขี่ได้อย่างไม่มั่นใจแน่นอน หรือเผลอๆอาจไม่มั่นใจยิ่งกว่าตอนที่ใช้ระบบกันสะเทือนเดิมๆทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้วยซ้ำ

ดังนั้น ผมจึงได้ทำการเปลี่ยนไส้โช้คหน้าไปด้วยเลย ซึ่งไส้โช้คหน้าที่อยู่ในระดับเดียวกันกับโช้คหลังที่เราเปลี่ยนไป และมีคุณสมบัติแบบเดียวกัน ก็คือ ชุดไส้โช้ค “YSS Z1 Fork Open Cartridge Kit”

และมันก็สามารถปรับได้ทั้ง

  • ปรับพรีโหลด หรือ ความแข็ง-อ่อน ของสปริง ด้วยระบบรีโมท โดยวิธีการใช้ประแจแหวนเบอร์ 17 ขันที่หัวโช้คทั้ง 2 ฝั่ง เนื่องจากไส้โช้คชุดนี้ จะมาพร้อมกับสปริงทั้ง 2 ฝั่ง
  • ปรับรีบาวน์ หรือ ความหนืดในการคืนตัวของโช้ค ด้วยการใช้หกเหลี่ยมขันปรับที่หัวโช้คด้านขวา โดยสามารถปรับได้ทั้งหมด 25 คลิก
  • ปรับคอมเพรสชัน หรือ ความหนืดในการยุบตัวของโช้ค ด้วยการใช้หกเหลี่ยมขันปรับที่หัวโช้คด้านซ้าย โดยสามารถปรับได้ทั้งหมด 25 คลิก

ซึ่งจะแน่นอนว่าเจ้าชุดไส้โช้คที่ว่านี้ ก็จะเป็นรองเพียงชุดไส้โช้ครุ่น “Z1R” ที่เป็นชุดโช้คสำหรับตัวแข่งแท้ๆ เท่านั้น

เอาล่ะ… หลังจากที่เราได้สเป็คโช้คหน้า-หลัง ที่เราต้องการ ก็ถึงเวลาที่ต้องนำรถไปติดตั้ง

แต่ ‘แจ็คพ็อต’ ในครั้งนี้ก็คือ เนื่องจากวันที่รถผมถูกส่งไปติดตั้งชุดโช้คอัพหน้า-หลังใหม่ คือช่วงก่อนวันที่จะต้องขนส่งรถไปยังสนามช้างเพียงเล็กน้อย

และด้วยระยะเวลาที่กระชั้นชิด จึงทำให้ผมไม่มีเวลา ที่จะได้ทำความคุ้นเคยกับรถเลยสักนิด ต้องไปเจอกัน ที่สนาม หน้างาน Honda Track Xperience เลยทีเดียว…

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ต่อให้โช้คจะดีแค่ไหน มีฟังก์ชันให้ปรับตั้งละเอียดมากเท่าไหร่ แต่ถ้าคุณไม่ปรับตั้งมันให้เข้ากับตัวคุณ ลักษณะการขี่ของคุณ มันก็ไม่ต่างอะไรจากเหล็กท่อนนึงที่ค้ำรถไม่ให้โดนล้อก็เท่านั้น

และใช่ครับ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ แม้ในตอนแรก ที่ผมได้ลองขึ้นคร่อมรถ จะสามารถสัมผัสได้ในทันทีว่าตอนนี้ รถของเรามาพร้อมกับ “แขน-ขา” ใหม่ที่ต่างไปจากของเดิมแล้ว โดยเฉพาะจังหวะการยืดยุบของช่วงล่าง ที่มีความหนืดมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ดี เมื่อได้ลองนำรถลงไปขี่ในรอบแรก ผมกลับไม่สามารถกดเวลาได้เลย ด้วยหลายๆเหตุผลด้วยกัน ทั้งจากการที่เรายังไม่ชินกับสัมผัสใหม่ของช่วงล่างตัวรถซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญมาก สำหรับการขี่แบบเซอร์กิตเช่นนี้

บวกกับยางที่ใส่กับรถตัวเอง ไม่ใช่ยางสนาม แต่เป็นยางถนน (Pirelli Diablo Rosso III) จากที่ก่อนหน้านี้ จะได้ขี่แต่รถเดิมๆเสริมด้วยยางสลิก (Pirelli Diablo Rosso Corsa SP V3) จึงทำให้ต้องขี่แบบเซฟๆก่อน เพื่อปรับตัว เพราะยังไม่มั่นใจว่ายางจะเอาอยู่มั้ย ?

ซึ่งผลลัพท์ที่ได้หลังการขี่ในรอบแรก ผมกดเวลาช้ากว่าที่เคยทำได้ ไปถึงเกือบ 10 วินาที !! ซึ่งนั่นถือว่าช้าลงไปมากเลยทีเดียว

และ ในทันทีจบการขี่ในเซสชันแรก ผมก็ไม่รอช้า รีบแจ้งอาการตัวรถกับพี่ทีมเซ็ทอัพจาก YSS ในทันที เพื่อปรึกษาว่าควรจะปรับเซ็ทรถไปในทิศทางใดบ้าง เพื่อให้ตัวรถมีสมรรถนะในเรื่องของการเข้าโค้ง ในแบบที่ควรจะเป็นมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับทั้งการปรับพรีโหลดโช้คหน้า-หลัง ให้มีความแข็งมากขึ้น เพราะตัวผมรวมชุดนั้น อาจมีน้ำหนักรวมกันถึงเกือบ 100 กิโลกรัม แต่เซ็ทอัพโช้คตอนที่ออกจากโรงงานหลังประกอบเสร็จใหม่ๆนั้น ยังเซ็ทไว้สำหรับคนขี่ที่หนักเพียง 80 กิโลกรัมอยู่ จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้รถยังมีอาการหน้ายวบ ท้ายย้วยให้รู้สึกเป็นพักๆบ้าง ไม่ต่างจากโช้คเดิมเท่าไหร่นัก

และหลังจากที่ได้ทำการเพิ่มความแข็งสปริงโช้คหน้า-หลังใหม่ ให้เข้ากับน้ำหนักตัวมากขึ้น ที่เหลือก็จะเป็นการปรับความหนืดโช้คให้สูงขึ้นอีกเล็กน้อย เพียงอย่างละ 2-3 คลิก จากค่ากลาง (ตามคู่มือ ระบุว่าจะเซ็ทไว้ที่ 15 คลิก เป็นค่าพื้นฐาน) แล้วก็ถึงเวลาที่จะต้องเอารถไปลงขี่ต่อในเซสชันที่ 2

*จะเห็นได้ว่าคราวนี้ ในเซสชันที่ 2 หลังการเซ็ทอัพโช้คใหม่ และทำความเข้าใจกับยางได้มากขึ้น ผมก็เริ่มกล้าโน้มรถลงมากขึ้นเรื่อยๆ จนเซนเซอร์ใกล้แตะพื้น จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ เซนเซอร์สะอาดกิ๊ง เพราะยังไม่กล้าทิ้งโค้งเท่าไหร่

คราวนี้สำหรับการขี่ในเซสชันที่ 2 สิ่งที่สัมผัสได้อย่างชัดเจนเลยก็คือ ตัวรถมีความมั่นคงที่ดีขึ้นในทุกจังหวะ ไม่ว่าจะเป็น

  • จังหวะเบรกหนักๆก่อนเข้าโค้ง ช่วงหน้ารถมีความหนืด ค่อยๆยุบตัวลงช้าๆอย่างมั่นใจ โดยไม่มีอาการวูบลงให้หวิว หรือหน้าสับให้รู้สึกเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งต้องยกยอดให้ไส้โช้คหน้า Z1 ที่สามารถทำหน้าที่ของมันได้ดี

    และในขณะเดียวกัน อาการท้ายรถพยายามจะขวางออกที่อาจจะพบบ้างในบางจังหวะ เช่นตอนเบรกหนักมากๆในโค้ง 12 ก็ไม่มีให้รู้สึกเลยสักนิด

    ส่งผลให้ผมสามารถพลิกรถเข้าโค้งได้อย่างแม่นยำ และมั่นใจมากขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องชะลอจังหวะรอให้รถนิ่งก่อนถึงจะเข้าโค้งไปได้เหมือนเมื่อก่อน
  • จังหวะที่ต้องรักษาความเร็วในโค้ง แรกๆจะรู้สึกเหมือนรถไม่หนืด หรือดูดไปกับโค้ง จนรู้สึกหวิวๆ

    แต่เมื่อได้ลองวนในสนามหลายๆรอบ กลับพบว่า ความจริงแล้ว เป็นเพราะ ด้วยความที่ตัวรถสามารถจิกเข้าไปกับโค้งได้ดีขึ้นต่างหาก จึงทำให้ผมสามารถโหนรถเข้าโค้งไปได้เร็วกว่าเดิม มั่นคงกว่าเดิม (เป็นสาเหตุที่ทำให้ใจหวิวตอนแรกๆ เพราะความเร็วในโค้งเรามากขึ้น) โดยที่อาการโยกคลอนในโค้งเองก็น้อยลงไปมาก
  • การเติมคันเร่งออกจากโค้งเอง ก็สามารถทำได้ไวขึ้นเช่นกัน เพราะเกี่ยวเนื่องมาจากการที่ช่วงหลังตัวรถ มีอาการน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด หรือในบางโค้ง ก็ไม่รู้สึกถึงอาการท้ายห้อยอย่างที่เคยเจอเลยสักนิด จากที่เราจะพบอาการนี้อยู่บ่อยครั้ง เพราะเราเป็นคนตัวหนัก

    จึงทำให้รถมีความพร้อมสำหรับการเปิดคันเร่งออกจากโค้งได้ทันที เรียกได้ว่านี่ถือเป็นสิ่งที่ผมสนุก และพอใจกับการทำงานของเจ้าโช้ค TDS ที่ใส่อยู่ในตอนนี้เป็นอย่างมาก

และผลลัพท์ในการขี่กดเวลารอบนี้ ดีขึ้นจากรอบแรกพอสมควร จนกลับมาอยู่ในจุดที่เคยทำได้ กับรถเดิมๆเพิ่มเติมยางสลิก ที่เคยขี่ในงาน Honda Track Xperience รอบก่อนๆ…

อ้าว ! งี้ไส่โช้คดีแทบตาย แต่ก็ยังกดเวลาได้แค่เท่ากับรถเดิมๆเพิ่มเติมยางสลิกงั้นเหรอ ?

อย่าลืมสิครับ ว่านั่นเป็นเพียงเซสชันที่ 2 เท่านั้น หลังจากที่ผมได้รถพร้อมโช้คใหม่ แถมยังใส่ยางถนนอีก..

พอถึงการขี่ในเซสชันที่ 3 ซึ่งเป็นเซสชันที่ ผมได้มีการปรับแก้เพียงความหนืดในการคืนตัวของโช้คหลังเพิ่มอีกเล็กน้อยเท่านั้น

คราวนี้ผมก็กดเวลาได้ดีขึ้นอีกมาก ทั้งด้วยความมั่นใจในการทำงานของโช้คที่เข้ามือขึ้น และเริ่มเข้าใจยางติดรถของตนเอง แม้ยางจะเริ่มออกอาการเนื้อเหลวเพราะความร้อนในช่วงท้ายๆบ้างแล้วก็ตาม

ผลลัพท์ที่ได้คือ ผมดันกดเวลาดีกว่าที่ตนเองเคยทำได้ถึง 2 วินาที หล่นมาอยู่ที่ราวๆ 2.15.xxx นาที เท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่เร็วมากนัก เมื่อเทียบกับนักแข่ง หรือนักขี่ประสบการณ์สูง แต่สำหรับผมนี่ถือเป็นเวลาที่ค่อนข้างน่าพอใจ

แม้กระทั่งพี่ช่าง Honda Racing Thailand ที่รู้จักกัน มาดูเวลาในงานยังทักว่า สำหรับคนที่มีประสบการณ์ในสนามเพียงพอประมาณ (ผมพึ่งลงสนามช้างแค่ 5 ครั้งเท่านั้น โดยที่ 4 ครั้งก่อนหน้านี้ เป็นการขี่รถเดิมสนิท+ยางสลิกทั้งหมด) แล้วขี่รถเดิมๆ ใส่ยางถนน โช้คใหม่ กับชุดท่อไอเสียที่เบาลงราวๆ 2 กิโลกรัม แต่ยังไม่ได้มีการจูนเครื่องยนต์เพิ่มเติมใดๆ เวลาเท่านี้ก็ถือว่าเร็วมากๆแล้ว

และต้องขอย้ำอีกครั้งว่า เวลาที่ได้ เกิดจากการมีเวลาเซ็ทติ้งรถเพียงแค่ 3 เซสชันเท่านั้น หากมีเวลาในการวิ่งมากกว่านี้ ส่วนตัวผมก็มองว่า เรายังสามารถปรับโช้คให้เข้าที่ได้มากกว่านี้อีก หรือหากมีการเปลี่ยนไปใช้ยางสลิก สำหรับลงสนามจริงๆ เชื่อว่าจะต้องกดเวลาลงได้อีกอย่างน้อยๆ 1-2 วินาที สบายๆแน่นอน

ด้านการใช้งานในชีวิตประจำวัน หลังจากที่จบงาน Honda Track Xperience ผมก็ได้มีโอกาสใช้รถตนเองต่ออีกพักใหญ่ จนกระทั่งได้มาเขียน รีวิว ในครั้งนี้..

ก็คงต้องบอกว่า ด้วยเซ็ทติ้งที่ได้มาจากการขี่ในสนามนั้น ทำให้ต้องมีการปรับแก้บางจุดเพื่อให้เข้ากับการใช้งานในชีวิตประจำวัน เนื่องจากการเซ็ทติ้งรถสำหรับลงสนามที่มีพื้นแทร็คค่อนข้างเรียบ เมื่อต้องมาเจอกับถนนสาธารณะที่พื้นผิวขรุขระกว่ากันมาก ย่อมทำให้เราจะรู้สึกว่ารถมีความกระด้างมากกว่าปกติ

แต่จุดสังเกตก็คือ แม้โช้คจะมีความกระเทือนมากขึ้น เมื่อเจอหลุมบ่อต่างๆ ทว่าความมั่นใจ และความมั่นคงของตัวรถ ในยามที่ต้องเข้าโค้งต่างๆบนถนนยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความคมของตัวรถที่สามารถพลิกเลี้ยวในจังหวะที่ต้องซอกแซกช่องจราจรต่างๆได้ง่ายขึ้นมาก

ดังนั้น สิ่งที่ผมทำ เพื่อให้ช่วงล่างเข้ากับการใช้งานในชีวิตประจำวันมากขึ้น ก็คือ จดบันทึกค่าของโช้คที่เซ็ทอัพไว้สำหรับลงสนามก่อน

แล้วจึงทำการปรับเพิ่มความแข็งของโช้คหลังให้มากขึ้นอีกนิด เพื่อให้รับกับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจากการมีคนซ้อน และปรับแก้ความหนืดของรีบาวน์ และคอมเพรสชัน ของโช้คหน้า-หลังใหม่อีกเล็กน้อย เพื่อรับกับความแข็งสปริงที่เปลี่ยนไป

โดยหลังจากที่ได้ลองขี่รถตนเองมาแล้วเป็นเวลาหลายสัปดาห์ พร้อมกับการปรับเซ็ทโช้คใหม่ทีละนิดๆ ไปเรื่อยๆ

สิ่งที่พบก็คือ แม้ผมจะไม่สามารถเซ็ทโช้คให้มีความนุ่มนวลจ๋าๆไปเลย เพราะยังไงมันก็คือช่วงล่างที่เน้นสำหรับการใช้งานในสนามมากกว่า และรถเราเองก็เป็นรถสปอร์ต จะให้เซ็ทนุ่มจ๋าแบบรถทัวร์ริ่งก็คงไม่ใช่

แต่สิ่งที่ได้มาเมื่อเทียบกับตอนที่รถยังใช้โช้คเดิมก็คือ อาการดีดของรถ เวลาเจอหลุมบ่อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวะการขึ้นคอสะพาน กลับลดหายลงไปพอสมควร จนถึงขนาดที่ว่าคนซ้อนยังบอกกับผมว่าเจ้าตัวมั่นใจมากขึ้น ในการซ้อนรถเรา

ซึ่งต้องบอกก่อนว่า ส่วนตัวผมไม่ใช่คนขี่รถเร็วอยู่แล้วหากมีคนซ้อน น้อยครั้งมากๆที่จะขี่เร็วกว่า 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ในบางจังหวะที่มันสุดวิสัยจริงๆ เช่นเราไม่สามารถเบรกเพื่อชะลอความเร็วก่อนขึ้นคอสะพานที่ชันมากๆได้ทัน แม้เราจะขี่มาช้ามากๆก็ตาม (จังหวะที่เจอคอสะพานนั้น อาจต้องหล่นความเร็วลงไปเหลือราวๆ 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง)

คนซ้อนก็จะต้องยกก้นรอกันท้ายรถดีดเป็นพักๆด้วย แต่หลังจากที่ได้ทำการปรับแก้โช้คไปเรื่อยๆทีละนิดๆ ตอนนี้ผู้ซ้อนของผมก็แทบไม่ต้องกังวลแล้วเรื่องอาการดีดของท้ายรถ เวลาขึ้นคอสะพาน หรือเจอกับหลังเต่าแบบไม่ทันตั้งตัว (แต่ไม่ต้องห่วงครับ เพราะผมเองก็ยังต้องระวังในการขี่อยู่ เพื่อความปลอดภัยของตัวคนซ้อนเอง)

สิ่งที่ต้องดูกันต่อไปอีกยาวๆ ก็คือเรื่องของความทนทาน ที่ต้องลองใช้กันไปยาวๆเป็นปีๆ ถึงจะบอกได้ว่ามันทนสมชื่อจริงมั้ย ? แต่เท่าที่ลองสอบถามกับพี่ YSS ก็ได้ข้อมูลมาว่า ใช้ๆไปได้เลย และถ้าเป็นไปได้ หรือจะให้ดีก็ควรนำรถมาเซอร์วิสต์โช้ค หรือตรวจเช็คทุกๆ 1-2 ปี เท่านั้น

ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เราควรทำอยู่แล้ว อยากให้ช่วงล่างรถมอเตอร์ไซค์ของเราสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพเหมือนใหม่อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะน้ำมันโช้คที่แม้จะไม่ซึมออกมา แต่บางครั้งต่อให้เป็นโช้คเดิมๆออกโรงงาน ก็สามารถเสื่อมสภาพได้ ภายในระยะเวลา 1-2 ปี แม้รถจะไม่ได้ใช้งานเลยก็ตาม

โดยสรุป ส่วนตัวผมเองก็ค่อนข้างพอใจกับเซ็ทติ้งที่เป็นอยู่ในตอนนี้
หลังจากที่ได้ทำการใช้งานมาเกือบเดือน

เพราะแม้อันที่จริง รถเดิมๆของผมจะให้ช่วงล่างที่ค่อนข้างมั่นใจในการเข้าโค้งมากพอแล้ว
แต่หลังการติดตั้ง ไส้โช้คหน้า “YSS Z1” และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโช้คหลัง “YSS TDS”

สิ่งที่น่าประทับใจเป็นอย่างมากก็คือ มันช่วยยกระดับความเฉียบคมในการเข้าโค้งแต่ละจังหวะขึ้นไปอีกขั้น และยังมีความมั่นคงในช่วงท้าย จังหวะที่ต้องเติมคันเร่ง ไม่ว่าจะเป็นทั้งการขี่ในสนาม หรือการขี่บนถนนหลวง ทำให้เรายิ่งสนุกกับการขี่รถคันนี้มากขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานในรูปแบบใดก็ตาม (ที่รถมันออกแบบมาให้ทำเช่นนั้น)

และที่สำคัญก็คือคนซ้อนของเราเองก็รู้สึกปลอดภัยมากขึ้นที่จะซ้อนรถของเราเดินทางไปด้วยกัน เพราะฉะนั้น แม้มันจะเป็นโช้คซิ่ง แต่สิ่งที่คุณจะได้ตามมาคือ ความปลอดภัยของคนซ้อนที่ไปกับคุณด้วย

โดยหากเพื่อนๆ อยากสัมผัสกับประสบการณ์ ความมั่นใจ และความสนุกของรถในการเล่นโค้ง ที่ยกระดับขึ้นไปอีกขั้น ชุดไส้โช้คและโช้คหลังที่ผมรีวิวและใช้งานอยู่ ณ ตอนนี้ ก็จะสนนราคาที่

  • ชุดไส้โช้คหน้า “YSS Z1 Fork Open Cartridge Kit” : ราคา 18,000 บาท
  • ชุดโช้คหลัง “YSS TDS – Track Day Suspension” : ราคา 28,700 บาท

สามารถสอบถามรายละเอียดตัวโช้คได้เลย ว่ามีเวอร์ชันสำหรับใส่กับรถมอเตอร์ไซค์ของท่านหรือยัง* ณ ตัวแทนจำหน่ายโช้คอัพ YSS ทั่วประเทศ หรือที่เพจ YSS-THAiLAND ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

*เท่าที่ทราบในตอนนี้ โช้คหลัง YSS TDS มีเซ็ทของ Honda CBR250RR / Honda CBR600RR / Yamaha YZF-R1 แล้ว ส่วนรุ่นอื่นๆกำลังทยอยทำออกมา ขณะที่ไส้โช้คหน้า Z1 นั้น มีให้ใส่กับรถแทบทุกรุ่นที่เป็นสายสปอร์ต หรือเนคเก็ทไบค์แล้ว

ขอขอบคุณ

  • YSS Thailand ที่ให้โอกาสทีมงาน Ridebuster ได้ทดสอบและใช้งานผลิตภัณฑ์ของบริษัทในครั้งนี้
  • Thai Honda ที่เอื้อเฟื้อโอกาสให้ทีมงาน Ridebuster ได้นำรถเข้าไปทดสอบสมรรถนะในงาน Honda Track Xperience

ภาพ : Thai Honda / YSS Thailand
ทดสอบ / เรียบเรียง : รณกฤต ลิมปิชาติ

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่
Tags: