ตั้งแต่การ์ตูนรถแข่ง MF Ghost เริ่มออกฉายตามสื่ออินเตอร์เน็ตในไทย ผมเชื่อว่าหลายคนคงจะชอบรถอย่าง Toyota GT 86 มากขึ้น ไม่มากก็น้อย

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า การ์ตูน ที่มีรถเป็นตัวเด่น จะทำให้รถที่ถูกนำมาใช้เป็นตัวหลักของเรื่อง ราคาแพงสูงขึ้นมาก ยกตัวอย่าง การ์ตูน Initial D ที่มีตัวเอกอย่าง Fujiwara Takumi เป็นพระเอก โดยมีรถคู่ใจ Toyota Trueno AE86 เคยสร้างประวัติศาสตร์เรื่องนี้มาแล้ว และในวันนี้ MF Ghost ก็กำลังจะทำให้ Toyota GT 86 เดินตามรอยนี้เช่นกัน

เรื่องราวจากการ์ตูน พูดถึงโลกในอนาคต ที่คนต้องใช้รถยนต์ไฟฟ้า และ มีความเข้มงวดในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตมาก ทำให้รถสปอร์ตสันดาป กลายเป็นสิ่งหายาก และ มันถูกนำมาแข่งขันในรายการใหญ่ที่มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก เป็นการแข่งชื่อดังของญี่ปุ่น ในนาม MFG

โดยตัวเอกของเรื่อง คานาตะ คาตาคิริ ได้เดินทางมาญี่ปุ่น เพื่อร่วมการแข่งขันดังกล่าว โดยได้รับรถ Toyota GT 86 เพื่อใช้ในการแข่งขัน

Toyota GT 86

สาเหตุทำไม ต้องเป็นรถ Toyota GT86 ไม่มีใครทราบแน่ชัด และแม้แต่ผู้เขียน Shuichi Shigeno ก็ยังไม่เคยออกมาเปิดเผยว่า ทำไมถึงตัดสินใจเลือก GT86 มาให้ ตัวเอกขับ ที่แน่ๆ มีข้อมูลว่า นักเขียนคนนี้มีความหลงใหลใน AE86 เพราะรถคันแรกของเขา เป็น Toyota AE86 ที่เก็บเงินซื้อ หลังจากประสบความสำเร็จจากการเขียนการ์ตูนเรื่องแรก Bari Bari Dentsu

เขาใช้รถทำงานทุกวันระหว่างอพาร์ทเม้นท์ ไป-กลับสำนักพิมพ์ และในวันว่างเขาจะไปขับรถเล่นที่ จังหวัดกุนมะ นั่นจึงเป็นที่มาของการ์ตูนโด่งดัง Initial D ที่หลายคนชื่นชอบนั่นเอง เพราะตามเนื้อหา จะมีสถานที่เดินเรื่องในเขต กุนมะ และ โทชิกิ เป็นหลัก

Tada ซัง ผู้อยู่เบื้องหลัง รถคันนี้

กลับมาที่ Toyota GT 86 รถคันเก่งของตัวเอกใน MG Ghost รถรุ่นนี้พัฒนาออกมาในปี 2012 ภายใต้ความร่วมมือของ Toyota และ Subaru โดยมี Tada Tetsuya เป็นผู้อยู่เบื้องหลังโครงการดังกล่าว ทั้งเป็นที่ปลุกปั้น กาวใจ และ อีกมากมาย จนรถ “86” ได้กลับมาแจ้งเกิด บนถนนอีกครั้ง

Tetsuya tada

ที่จริง GT 86 ไม่เคยอยู่ในหัว Toyota มันอาจดี ในแง่การเป็นรถสปอร์ต ที่ช่วยเสริมสร้างชื่อเสียงให้ โตโยต้าจากการ์ตูน แต่บริษัทไม่เคยมีแผน สำหรับรุ่นใหม่เลย

ทาดะซัง ในตอนนั้น ค้นพบว่า ทั้งผู้บริหาร และ แม้แต่ผู้วางแผนผลิตภัณฑ์ คิดว่า รถสปอร์ต คือการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ไม่มีใครคิดว่า มันจะสร้างกำไรให้บริษัท มันเหมือนคำสาปต้องสะกดให้รถสปอร์ตใหม่ๆ ไม่ได้เกิด

แต่ทาดะซังเอง มีโอกาส คลุกคลี วงการรถ เป็นคนบ้ารถในระดับหนึ่ง เขามีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แล้วพบว่า คนซื้อรถสปอร์ตในอดีต หลายคนคิดเหมือนกันว่า รถสปอร์ตสมัยนี้ มีความซับซ้อนมากไป และพยายามโฆษณาเรื่องพลังขับดุดันไม่เกรงใจใครจนเลี่ยน

และในความเป็นจริง ก็ยังคงมีคนที่ถวิลหารถอย่าง AE86 และ Nissan Silvia หรือรถที่มีพลังขับไม่มาก ควบคุมได้ง่าย และใช้งานได้ทุกวันกันอยู่

นั่นทำให้ ทาดะซัง เห็นช่องในการทำตลาด และนำเสนอต่อผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ และโชคดี ที่มีผู้ใหญ่เห็นด้วยกับเขา กลายเป็นแผน ที่มีอยู่ในหัว โตโยต้า ตั้งแต่ปี 2007 และส่งผลให้ ทาดะซัง ที่กำลังง่วนอยู่กับโปรเจ็กท์พัฒนารถ Minivan ของ โตโยต้า ต้องถูกโยกย้ายมาทำงาน โครงการรถสปอร์ต ทันที

“ลืมมินิแวน นั่นไป ตอนนี้คุณทำงานให้โครงการรถสปอร์ตแล้ว”

Subaru ผู้ร่วมสร้าง

แม้ว่าโครงการ จะผ่าน แต่การสร้างรถไม่ง่ายขนาดนั้น โตโยต้า มีงานล้นมือในการพัฒนารถรุ่นใหม่ที่เข้าคิวเรียงต่อกัน ยาวเป็นหางว่าว

ทาดะซัง มีงานที่ต้องขบคิดอย่างหนัก โดยเฉพาะการต้องสร้างรถที่หลายคนคาดหวัง และมีคำว่า “ตำนาน”

แถมในความเป็นจริง เขาค้นพบว่า Car Guy ส่วนใหญ่ ยินดีจะซ่อมรถ Silvia และ 86 รุ่นดั้งเดิมมากกว่าที่จะซื้อรถใหม่

ไม่เท่านั้น ผู้บริหาร ยังเริ่มถามว่ารถแรงไหม ,​และ มีอีกหลายอย่างมากมาย ที่ต้องผ่านการทำงานมหาศาล ซึ่งเขาไม่เคยคิดมาก่อนว่ามันยากเพียงนี้

ในที่สุด ทาดะซัง จึงตกผลึกว่ารถคันนี้ น่าจะเป็นรถขับเคลื่อนล้อหลัง แบบเครื่องยนต์วางหน้า ขับเคลื่อนล้อหลัง ที่สำคัญ เรื่องความปลอดภัย ยังเป็นอีกส่วนสำคัญ ที่ต้องคำนึงถึงด้วย

แต่ปัญหาเกิด เพราะ โตโยต้า ไม่มีเครื่องยนต์ที่เตี้ยพอสำหรับการทำรถสปอร์ตขนาดเล็ก ทรงฝากระโปรงลาดต่ำ ในความคิดของเขา จนเขาเริ่มมองรอบตัวๆว่าบางที เครื่องยนต์โรตารี่ก็คงดี แต่เครื่องบ๊อกเซอร์ ก็ไม่เลว

ที่จริง ทาดะ ค้นพบว่า โตโยต้า และ ซูบารุ พึ่งจะมีการซื้อหุ้นกัน เพื่อดันผู้ผลิตอเมริกา General Motor ออกไปจาก ซูบาุร แต่มันเป็นเพียงการซื้อหุ้น ไม่มีดีลสร้างรถแต่อย่างใด

ทว่าในที่สุด เขาก็มีโอกาสเข้าไปเสนอไอเดียที่ซูบารุ ทาดะซังเล่าในบางสื่อต่างประเทศไว้ว่า ขนาด ซูบารุ ยัง งง ว่าใครจะซื้อรถสปอร์ต เครื่อง N/A ไม่มีเทอร์โบ ไม่ใช่ขับเคลื่อนสี่ล้อ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะที่ผ่านมา ซูบารุ พัฒนาแต่รถสปอร์ตอย่าง WRX เป็นหลักนั่นเอง

การประชุม กับซูบารุ ล้มเหลวทุกครั้ง จนทาดะซัง คิดออกว่า ควรทำอย่างไร เขาไปจัดหารถมาทำ ม็อคอัพต้นแบบ เป็น Subaru Legacy แล้วยกระบบขับเคลื่อนสี่ล้อออก ทำให้มันเป็นขับเคลื่อนล้อหลัง ให้ซูบารุ ยืมไปซิ่ง

ทาดะซัง เล่าว่า ทุกครั้งที่รถกลับมา ยางจะถูกใช้จนหมด และ วิศวกรซูบาุร จะพูดเสมอว่า “มันเป็นรถที่น่าสนใจทีเดียว” จนในที่สุด ซูบารุ ก็ยอม จะพัฒนารถรุ่นนี้ด้วย โดยให้ใช้เครื่องยนต์บ็อกเซอร์ 4 สูบ ของซูบารุ เป็นพื้นฐานได้ แลกกับ การช่วยแก้ปัญหาทางธุรกิจ

แม้จะกระโดดข้ากำแพงนี้ไปได้ ทาดะซัง ก็ยังเจอปัญหาใหม่ ที่สำคัญ นั่นคือรถมันต้องแรงในระดับหนึ่ง มันควรจะต้องมีกำลังขับ 100 แรงม้าต่อลิตร นั่นคือที่เขาหวังไว้

ด้วยความจริงว่า เดิมที 86 หรือ “ฮาจิโระคุ” ใช้เครื่องยนต์ 4A-GEU 4 สูบ 1.6 ลิตร รอบสูง ออกมาเอาใจคนสมัยยุค 80 ด้วยการเน้นเป็นรถใช้งานได้ทุกวัน และ แรงบ้างเมื่อยากได้พลังขับ

สามารถลากรอบได้สูงราวๆ ประกอบกับดั้งเดิม 86 เป็นรถที่เบาอยู่แล้ว พลังขับราวๆ 113 แรงม้า แรงบิด 131 นิวตันเมตร จัดว่าสบายๆ

แต่รถสมัยใหม่ หนักขึ้น และมีเรื่องไอเสียเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทาดะซังเอง จึงต้องการให้ เครื่องยนต์ที่ใช้ในรถสปอร์ตของตนเอง มีการปล่อยไอเสียเพียง 160 กรัมต่อกิโลเมตรเท่านั้น และในขณะเดียวกัน ก็อยากให้เครื่องยนต์มีพลังขับ 100 แรงม้า ต่อลิตร ทว่าเครื่องยนต์ที่ถูกพัฒนาได้ตอนนั้นกลับ มีกำลังขับ ราวๆ 60 ม้า ต่อลิตร เท่านั้น

จึงทำให้ ทาดะซัง มองว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่เขาจะนำเอา เทคโนโลยีระบบจ่ายน้ำมันขั้นสุดอย่างระบบ Toyota D-4S ไปผนวกเข้ากับเครื่องยนต์ของ Subaru ซึ่งตอนนั้นใครๆก็หาว่าเจ้าตัวบ้า เพราะมันเปรียบเสมือนการเอาข้อมูลลับสุดยอดไปยื่นมือให้ผู้ผลิตอื่น ที่ต่อจะให้เป็นพันธมิตรกันแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ควรเผยไต๋กันจนหมดเปลือกเช่นนี้

และนั่นก็เป็นอีกครั้ง ที่ทาดะซังเจอกำแพงในการปลุกปั้นรถสปอร์ต ที่เขาตั้งใจ , จนเขาไปคุยกับ Shinzo Kobuki หัวหน้าโครงการพัฒนา Lexus LFA ซึ่งที่จริง ชายคนนี้คือคนที่เคยพัฒนา เครื่องยนต์ 4A-GEU มาก่อน

และต้องขอบคุณ โคบุกิซัง ที่คุยกับผู้บริหารระดับสูงให้ พร้อมตัดสินใจรับผิดชอบทั้งหมด หากเกิดประเด็นใดขึ้นมา

ในที่สุด เครื่องยนต์ต้นแบบตัวแรก ถูกพัฒนาขึ้นมา ภายใต้ความร่วมมือของ Toyota และ Subaru และเริ่มต้น ในการพัฒนารถสปอร์ต ของโตโยต้า คันนี้

สู่ความจริง GT86

ในที่สุด Toyota GT86 ก็เป็นรูปร่างสมบูรณ์ ออกเปิดตัวในปี 2012 โดยรถรุ่นนี้ทางซูบารุ รับผิดชอบในการผลิตให้ทั้งหมด จากโรงงานที่กุนมะ นั่นรวมถึงรุ่นปัจจุบัน Toyota GR 86 ด้วย

ตอนออกมาแรกๆ หลายคน สงสัยว่าทำไมโตโยต้า ทำรถสปอร์ตคูเป้ ทั้งๆที่ รถ 86 ตั้งดั้งเดิมที่ดัง มีทรงเป็นรถ 3 ประตู ท้ายลาด ตามสไตล์ ทาคูมิ ดริฟท์ ส่งเต้าหู้

ที่จริงไม่เคยมีใครถาม ฃเรื่องนี้กับ ทาดะซัง จริงจัง แต่ในประวัติศาสตร์ 86 มีวางขาย 2 ตัวถัง คือ ทรงท้ายลาด 3 ประตู ที่เราคุ้นเคย กันในการ์ตูน และยังมี ทรงคูเป้ท้ายสั้นด้วย แต่เหมือนไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไรนัก เนื่องจากทรงรถดูแปลก

อย่างไรก็ดี , ในช่วงแรกที่ Toyota GT86 ออกวางจำหน่าย มันไม่ได้รับความสนใจมากนัก เนื่องจากคนจำนวนมาก มองว่ามันเป็นสปอร์ตพลังขับน้อย ไม่แรงเท่าที่ควร เผลอๆเจอรถบ้านแต่งซิ่งสวนเข้าให้ จนลูกค้าหลายคนแอบเซ็งไปตามๆกัน

จะมีดีที่ทรงรถเป็นคูเป้ ซึ่งในตลาดเวลานั้นไม่มีรถรุ่นอื่นเลย ถ้าอยากได้คูเป้ จากญี่ปุ่นก็ต้องรุ่นนี้เท่านั้น นั่น คือก่อนที่ จะมี Toyota Supra ออกมา

ในส่วนของพื้นฐานตัว รถ Toyota GT86 มีความยาว 4,240 มม. ​กว้าง 1,775 มม.​ สูง 1,280 มม. และน้ำหนักตัวเล่าอยู่ที่ 1,298 กก. เท่านั้น

ทางด้านเครื่องยนต์ มีรหัส 4U-GSE ให้กำลังสูงสุดเพียง 200 แรงม้า และทำแรงบิดสูงสุด 205 นิวตันเมตร ในครั้งแรกที่ออกมา ตามการเคลมของ โตโยต้า 0-100 ก.ม./ช.ม. ทำได้ 7.6 วินาที และทำความเร็วสูงสุด 233 ก.ม./ช.ม.

ก่อนจะมีการปรับปรุงในรุ่นไมเนอร์เชนจ์ ทำกำลังเพิ่มเป็น 205 แรงม้า และแรงบิดเพิ่มขึ้น เป็น 212 นิวตันเมตร พร้อมปรับปรุงอัตราทดเฟืองท้ายจาก 4.1 ในรุ่นแรก เป็น 4.3 ในรุ่นนี้

ในส่วนของชุดเกียร์ เป็นของ Toyota ทั้งหมด เกียร์ธรรมดา ที่ใช้เกียร์ Toyota TL 70 (Aisin AZ6) ส่วนเกียร์ออโต้ รับช่วงต่อมาจาก Lexus IS 250 เป็นเกียร์ Aisin -Warner A960E

Toyota GT86

ระบบเบรกใช้เบรก 2 พอท พร้อมจานเบรกแบบระบายความร้อนทางด้านหน้าขนาด 77 มม.​ ด้านหลัง เป็นจานปกติ 286 มม. พร้อมปั้มเบรกปกติ

ชุดช่วงล่างด้านหน้า แม็คเฟอร์สันสตรัท ด้านหลังใช้แบบ Double Wish Bone เพื่อทำให้ตัวรถเกาะถนนมากที่สุดในทุกสถานการณ์การขับขี่

ในบ้านเรา Toyota GT86 วางจำหน่ายในไทยในงาน ROC 2012 ด้วยจำนวนจำกัด สำหรับรถจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กลับกันทางซูบารุ ได้นำรถฝาแฝดของมัน Subaru BRZ เข้ามาวางจำหน่าย ตลอดช่วงทำตลาด และได้รับความสนใจอย่างมากจากลูกค้าชาวไทย

ทางด้าน นาย เท็ทซึยะ ทาดะ ภายหลังจากความสำเร็จของ Toyota GT86 เขาก็ไปรับช่วงในการพัฒนา Toyota Supra ในโครงการพัฒนาร่วมกับ BMW แม้เรืองราวนั้น จะออกมาสู่โลกโซเชียลน้อยมาก แต่หลายคนจดจำเขา ในฐานะบิดา 86 ยุคใหม่

วันนี้ Toyota GT86 ได้รับความสนใจอีกครั้ง เมื่อมันกลายมาเป็นตัวเอก ของการ์ตูน MF Ghost จนอาจปลุกให้หลายคนอยากได้ ไว้ครอบครอง แต่กระแส ของรถรุ่นนี้กลายเป็นเหมือน AE 86 เดิมไหม เวลาเท่านั้น จะเป็นคำตอบ

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่