ปีนี้ชาวไทยจะได้สัมผัสกับกระบะคันใหม่ ที่กระโจนข้ามแดนมาจากจีนเพื่อลุยตลาดไทย ซึ่งนับเป็นสมรภูมตลาดรถกระบะ ที่ดับฝันหวานของค่ายรถมาหลายแบรนด์

ไทย ประเทศของพวกเราที่มีขึ้นชื่อว่าเป็นตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน หรือเรียกว่ามิดไซส์ ปิกอัพ อย่างที่ชาวมะกันขาลชื่อกระบะคันมโหราฬของพวกเขาว่า ฟูลไซส์ ปิกอัพ โดยปีนี้เราจะได้พบเจอกับผู้เล่นหน้าใหม่จากเมืองจีนที่แปะยี่ห้อมาในนาม MG ลงเล่นสมรภูมิสุดโหด ที่มีทั้งค่ายญี่ปุ่นรวมถึงสหรัฐอเมริกาลุยกันนัวเนีย

เอ็มจีไม่ใช่ผู้ผลิตสัญชาติจีนรายแรกที่เข้าสู่ตลาดเมืองไทย หากยังมีบริษัทผู้ผลิตรถร่วมชาติโฟตอน ที่เมื่อสามปีก่อนได้ส่ง Foton Tunland มาขึ้นไลน์ประกอบรถในประเทศไทย หรือจะเป็นกระบะจากแดนภารตะ ในนามของ Tata Xenon อันเปิดตัวมาก่อนหน้าหลายปี แล้วยังสามารถรุกตลาดกระบะเชิงพาณิชย์ได้อย่างน่าสนใจ ทว่าปัจจุบันสถานการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น

ตลาดรถกระบะ

กระบะแดนภารตะ รายแรกที่เข้ามาเจอตอ…

หลายคนคงสงสัยว่าทำไมกระบะอินเดียอย่างเจ้า ทาทา ซีนอน จึงหายหน้าหายตาไปจากท้องถนนเมืองไทย ทั้งๆ ที่ช่วง 5-6 ปีก่อน จำนวนกระบะซีนอน ตอนเดี่ยวที่ใช้เครื่องยนต์ CNG อันเน้นกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการเป็นหลัก มีบริษัทหลายแห่งซื้อรถรุ่นนี้มาใช้เป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันปริมาณกระบะทาทากลับน้อยลงอย่างน่าสงสัย

เหตุผลสำคัญอันดับต้นๆ หนีไม่พ้นเรื่องของความทนทาน ทั้งประเด็นเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอะไหล่ ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง ตลอดจนการหาอะไหล่ที่ไม่ได้ง่ายเหมือนกับกระบะเจ้าตลาด มิหนำซ้ำ พักหลังๆ ราคาน้ำมันดีเซลยังปรับตัวลดลง ทำให้ผู้ประกอบการสามารถคุมต้นทุนในการขนส่งได้สบายมากขึ้น

ตลาดรถกระบะ

เคยมีผู้ประกอบการบางรายพูดกับเราว่า เหตุที่ยังไม่ขายรถรุ่นนี้ก็เพราะอยากใช้ให้คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป อาจพูดได้ว่าใช้ไปจนกว่ามันจะพังนั่นแหละ อะไหล่ต่างๆ ของรถก็หายากแถมมีราคาไม่สบายกระเป๋า และบางทียังต้องรออะไหล่อีกต่างหาก

จากเหตุผลที่เรายกมาอ้างอิง กับข่าวที่ทาทา มอเตอร์ ได้ประกาศเลิกผลิตรถกระบะ ทาทา ซีนอน ในประเทศไทนไปเมื่อช่วงกลางปี 2018 หลังจากทำตลาดต่อสู้กับค่ายญี่ปุ่นทั้งรายใหญ่รายกลางมาเป็นเวลากว่า 10 ปี เปลี่ยนเป็นการนำเข้ารถจากโรงงานอินเดียมาจำหน่าย เพื่อลดภาระต้นทุนในการผลิตที่ไม่คุ้มเงิน

ทั้งนี้ จากข้อมูลเปิดเผยว่า ทาทา มอเตอร์ส ประเทศไทย มียอดขายครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.61) 392 คัน ลดลง 15.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ขายได้ 466 คัน เฉพาะเดือนมิถุนายน 2561 ทำยอดขายได้ 50 คัน ลดลง 20.6%

ตัวเลขยอดขายดังกล่าวชี้ให้เห็นชัดเจนว่าค่ายรถอินเดียควรจะถอยทัพ เพราะหากเทียบกับยอดขายกระบะคันอื่นๆ ในไทยแล้ว ทั้งอีซูซุ โตโยต้า ฟอร์ด มิตซูฯ และอื่นๆ มียอดจำหน่ายในหลักพันคันขึ้นทั้งสิ้น บ่งบอกถึงความนิยมของคนไทยที่มีความผูกพันธ์กับยี่ห้อรถปิกอัพเหล่านี้ ซึ่งจะมีฐานแฟนคลับอันเหนียวแน่นกันครบทุกยี่ห้อ

อย่างไรก็ตาม สำหรับอนาคตในการทำตลาดกระบะของทาทานั้น จะเป็นเช่นไรเราคงไม่สามารถอธิบายได้ในตอนนี้ เพราะพวกเขาเองก็ถือว่าเจ็บหนักพอตัว เนื่องจากเล่นหอบเงินมาลงทุนเปิดโรงงานผลิต ตลอดจนสร้างเครือข่ายโชว์รูมและศูนย์บริการ คิดเป็นจำนวนราว 40 แห่งทั่วประเทศไทย

เอาเป็นว่ารอดูทางอินเดียจะทำอะไรกับเรื่องนี้ จะเน้นตลาดรถบรรทุกขนาดเล็ก รถบรรทุกขนาดกลาง หรือรถเพื่อการพาณิชย์เพียงอย่างเดียว เพราะจะให้มาเล่นตลาดกระบะขนาด ตัน คงเป็นการทำร้ายตัวเองมากเกินไป

จีนรายแรกพังไม่เป็นท่า

กระบะแดนมังกรยี่ห้อแรกที่พกพาความมุ่งมั่นเข้าลุยตลาดปิกอัพเมืองไทย เป็นใครไปไม่ได้นอกจาก โฟตอน ที่ได้เปิดตัวกระบะขนาด 1 ตัน Foton Tunland ภายในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป ปี 2016 มีให้เลือกทั้งตัวถังซิงเกิ้ล แค็ป กับดับเบิล แค็ป 4 ประตู

ในช่วงแรกนั้นราคาจำหน่ายของทูนแลนด์มีความเร้าใจ เพราะกระบะตัว 4 ประตู ยกสูงเปิดมาเพียง 729,900 บาท และตัวท็อปขับสี่เกียร์ธรรมดา ตั้งไว้ 826,200 บาท เดินเกมชูจุดเด่นเรื่องใช้อะไหล่สำคัญๆ อย่างเครื่องยนต์ของคัมมินส์ เกียร์ของ Getrag อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และระบบ ABS จาก Bosch ชุดขับเคลื่อนสี่ล้อจาก Borg Warner พร้อมทั้งเพลาและเฟืองขับต่างๆจาก Dana

ตลาดรถกระบะ

เห็นได้ว่ากระบะจีนอย่างโฟตอนพยายามทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในแบรนด์ ด้วยการเลือกข้าวของจากบรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชื่อดังจากสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งชัดเจนว่าโฟตอนเล็งเป้าไปยังกลุ่มลูกค้าทั่วไป ที่มองหากระบะอันคุ้มค่ากับเงินที่จ่าย และยังมีความกล้าลองสิ่งใหม่ๆ

ทว่าการทำแบบนั้นก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดเสมอไป เพราะช่วงแรกที่เปิดตัวนั้นทางโฟตอนได้พาสื่อมวลชนไปทดลองขับรถ ซึ่งแน่นอนว่าสื่อหลายคนรวมถึงผู้เขียนได้เจอข้อบกพร่องหลายสิ่ง ที่บางอย่างไม่ควรเกิดขึ้นกับรถยนต์ใหม่ที่พร้อมจะขายให้กับลูกค้า แม้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่ก็ลดความเชื่อมั่นที่มีต่อรถได้ไม่น้อย

ขณะเดียวกัน ประเด็นขุมพลังดีเซลเทอร์โบ 4 สูบ 2.8 ลิตร ให้แรงม้า 163 ตัว แรงบิด 360 นิวตันเมตร จับคู่เกียร์ธรรมดา 5 สปีด กลับไม่ได้มีสมรรถนะดีตามตัวเลขฝูงม้านัก เนื่องจากการเซ็ตอัพรถยังไม่สมดุล ทั้งประเด็นกำลังกับอัตราทดเกียร์ รวมถึงการบังคับควบคุมที่ขาดความมั่นใจเมื่อเทียบกับกระบะเจ้าอื่นในตลาด

สิ่งที่พูดมาไม่ได้ต้องการสาดสีเทโคลนแก่โฟตอนแต่อย่างใด เพียงแค่ชี้ให้เห็นว่าการทำรถกระบะที่ลูกค้าชาวไทยต้องการจริงๆ นั้น มีมีมากว่าเรื่องราคา ชื่อเสียง หรือแค่รูปลักษณ์ ยังต้องผนวกทุกสิ่งอย่างเข้าไว้ด้วยกันได้ลงตัว ตามสไตล์ของกระบะแต่ละยี่ห้อ ว่าใครจะชูจุดไหนมาให้ลูกค้าใจอ่อนยอมจ่ายตังซื้อ

ตลาดรถกระบะ
ตลาดรถกระบะ

ที่แน่ๆ ความทนทาน คือปัจจัยลำดับต้นที่ชาวไทยให้ความใส่ใจสูงสุด เพราะลูกค้าที่ซื้อหากระบะมาใช้งาน พวกเขาต้องการใช้งานระยะยาว อะไหล่ต้องหาง่าย ทน และราคาถูก บางคนมีรถหนึ่งคันใช้เปรียบกับเครื่องมือสำคัญในการดำรงชีวิต เพราะต้องใช้ในการประกอบอาชีพ ถ้ารถเกิดเสียหรือมีค่าใช้จ่ายแพง พวกเขาจะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้มากที่สุด

ทั้งนี้ ก็เริ่มมีลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่หันมาซื้อกระบะมาใช้งานมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ชอบความบึกบึนดูเทาแข็งแกร่ง หรือไม่ก็คนที่อยากเปลี่ยนมาใช้ปิกอัก แต่ยังอยากได้ความสวยงามตั้งแต่ภายนอกถึงห้องโดยสารภายใน และบางยี่ห้อก็ชูจุดเด่นเรื่องความปลอดภัย ที่หลายคันมีระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ ซึ่งมักติดตั้งอยู่บนรถราคาแพงๆ ให้ไว้กับกระบะเพื่อความอุ่นใจ

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด ดูเหมือนจะเป็นกำแพงสูงชันสำหรับค่ายรถน้องใหม่ที่จะมาลุยตลาดกระบะไทย เพราะไม่เพียงต้องดูตัวอย่างความสำเร็จของแบรนด์ปิกอัพยี่ห้อดัง ที่อยู่ในไทยมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ แต่ยังต้องสร้างจุดเด่นให้คนไทยยอมรับ กล้าซื้อหามาเป็นรถคู่ใจขับไปทุกหนแห่ง

เอาเป็นว่ารอไม่นานเกินอึดใจ เราจะได้รู้กันว่าเอ็มจีทำอย่างไรกับหมากเกมนี้ รุกสู้กับคู่แข่งอันแข็งแกร่งจำนวนมากได้ด้วยกลยุทธ์ใด คงเป็นสิ่งที่เราทุกคนอยากนั่งดูชนิดตาจ้องไม่กระพริบ

ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเรา Ridebuster.com

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่