หากช่วงเวลาของการที่เหล่ารถไฮเปอร์คาร์ พากันพกแรงม้าติดตัวระดับ 1,800 ตัว เริ่มทำให้คุณรู้สึกเบื่อหน่าย Giamaro Katla ไฮเปอร์คาร์น้องใหม่กับขุมกำลัง V12 7.0 ลิตร Quad-Turbo คันนี้ อาจทำให้คุณตื่นเต้นได้อีกครั้ง กับพละกำลังติดตัวถึง 2,157 แรงม้า ที่จะถูกส่งลงล้อหลังล้วนเท่านั้นอีกด้วย

Giamaro Automobile บริษัทผู้ผลิตสัญชาติอิตาลีน้องใหม่ ที่พึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2021 เลือกเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่คันแรกของแบรนด์ “Giamaro Katla” ออกมา เพื่อลุยตลาดรถยนต์ไฮเปอร์คาร์ระดับ “พันกว่าม้าตอนปลาย” ที่ตอนนี้เต็มไปด้วย เสือ สิงห์ กระทิง แรด มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Venom F5, Koenisegg Jesko, Rimac Nevera, หรือ Bugatti Tourbillon
โดยสิ่งที่เหนือกว่า หากว่ากันตามหน้าสเป็คชีท ของเจ้ารถไฮเปอร์คาร์รุ่นนี้ ก็คือการที่ขุมกำลัง V12 ทำมุม 120 องศา เพื่อกดจุดศูนย์ถ่วงให้ต่ำที่สุด พร้อมขนาดเสื้อสูบความจุรวมใหญ่ถึงระดับ 7.0 ลิตร (ความจุจริง 6,988cc) แถมยังเสริมด้วยระบบอัดอากาศเทอร์โบชาร์จเจอร์อีก 4 ตัวเข้าไป ของมัน สามารถเค้นแรงม้าสูงสุดได้มากถึง 2,157 PS ที่ 9,000 รอบ/นาที และมีแรงบิดสูงสุดอีก 2,008 นิวตันเมตร
ซึ่งเลขข้างต้นถือว่าสูงกว่าคู่แข่งทุกคันที่เราไล่เรียงไว้ข้างต้นทั้งหมด เว้นเพียง Koenisegg Gemera อีกหนึ่งรถไฮเปอร์คาร์ ที่พกแรงม้ามามากถึง 2,332 PS กับแรงบิดสูงสุดอีก 2,750 นิวตันเมตร ติดแค่เพียงว่ามันคือรถทรงแกรนด์ทัวร์ 2 ประตู 4 ที่นั่ง ไม่ได้เป็นรถทรงสปอร์ตแกรนด์ทัวร์ 2 ประตู 2 ที่นั่งเหมือนเจ้า Katla และคู่แข่งอื่นๆที่เราเกริ่นถึงก่อนหน้านี้
และแม้พละกำลังของมันจะสูงเกินระดับ “2 พันม้า” แต่ทางค่ายกลับเลือกให้มันยังคงส่งกำลังทั้งหมดผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 7 สปีด ที่มีให้เลือกเพียงออพชันเดียวในตอนนี้ (ระบบเกียร์อัตโนมัติ คลัทชคู่ 11 สปีดจะตามมาในภายหลัง) ไปยังชุดล้อคู่หลังเพียงเท่านั้น
โดยที่มันก็มีเพียงระบบกลไกเฟืองท้ายลิมิเต็ดสลิป กับระบบควบคุมการทรงตัว และระบบรักษาสเถียรภาพคอยช่วยเหลือเพียงไม่กี่อย่าง ไม่ได้มีระบบกลไกและซอฟท์แวร์ช่วยกระจายหรือถ่ายแรงบิดไปขับเคลื่อนชุดล้อคู่หน้าใดๆทั้งสิ้น จึงทำให้มันกลายเป็นรถอีกหนึ่งคันที่ฟังดูแล้วหน้ากลัวเป็นอย่างมาก หากคุณเผลอขยี้คันเร่งลงไปไม่รู้ตัวโดยเผลอเรอลืมเปิดระบบช่วยเหลืออื่นๆเอาไว้
นอกนั้นในส่วนตัวโครงสร้างหลักของรถ ก็แน่นอนว่าจะต้องทำขึ้นจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ ขึ้นรูปเป็นโครงโมโนค็อกตามแบบฉบับรถไฮเปอร์คาร์ระดับสูง และมีน้ำหนักเปล่าเพียง 170 กิโลกรัม แต่แข็งแรงพอที่จะสร้างความแข็งแกร็งเชิงบิดได้สูงถึง 40 kNm/deg และมีค่าความแข็งแรงต่อการถูกดัดงออีก 16 kNm/mm
ขณะเดียวกันตัวระบบกันสะเทือน เช่นปีกนกบน-ล่าง, ก้านกระทุ้ง, และชุดแพ จะถูกสร้างขึ้นจากวัสดุอลูมิเนียมเกรด 6062 T6 ที่มีทั้งความแข็งแรง และยืดหยุนเป็นอย่างดี ซึ่งทั้งหมดจะยึดรวมกันอยู่บนแท่นคาร์บอนที่แยกชิ้นส่วนกันกับโครงสร้างห้องโดยสารอีกที
เพื่อที่หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ชิ้นส่วนก้อนระบบกันสะเทือนและระบบบังคับเลี้ยวด้านหน้า เช่นเดียวกับชิ้นส่วนแท่นระบบกันสะเทือนด้านหลัง ที่กลายเป็นแท่นเครื่องยนต์ ด้วยในเวลาเดียวกัน จะได้สามารถสลัดตัวออกจากโครงสร้างห้องโดยสารได้ง่าย ช่วยลดน้ำหนักที่จะทำให้เกิดแรงเหวี่ยง และเสี่ยงที่โครงสร้างห้องโดยสารจะไถลไปกระแทกสิ่งกีดขวางอื่นใดบนถนนเพิ่มเติม ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานในการสร้างรถไฮเปอร์คาร์อยู่แล้ว
โดยตัวโช้กอัพ หน้า-หลัง นอกจากจะถูกไล่เบามาอย่างดี มันยังมาพร้อมกับระบบแปรผันค่าความแข็ง-อ่อน และความหนืดในการยืดยุบได้อัตโนมัติ เช่นเดียวกันตัวเหล็กกันโคลงเอง ก็ยังสามารถแปรผันความแข็ง-อ่อนในการบิดตัวได้ ตามโหมดการขับขี่ที่ใช้งาน และสภาพถนนที่รถกำลังวิ่งผ่าน หรือความเร็วที่ผู้ขี่กำลังบึ่งอยู่ โดยทั้งหมดจะทำงานร่วมกันกับสปอยเลอร์หลังแบบแปรผันองศาตามความเร็วและการใช้คันเร่งกับเบรก เพื่อการสร้างแรงยึดเกาะกับถนนให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้
ส่วนชุดล้อ ไม่ได้มีการบอกว่าน้ำหนักต่อวงอยู่ที่เท่าใด แต่ระบุว่าเป็นล้ออลูมินัม CNC รัดด้วยยาง Bridgestone Potenza Sport ขนาด 265/35 ZR20 และ 345/30 ZR21 ตามลำดับหน้า-หลัง ทำงานร่วมกับระบบเบรก ที่ใช้จานคาร์บอนเซรามิคทั้ง 4 ล้อ โดยด้านหน้าจะเป็นจานเบรกขนาด 420×40 มิลลิเมตร ทำงานร่วมกับคาลิปเปอร์เบรก 10 พอท ขณะที่ด้านหลัง เป็นจานเบรกขนาด 420×34 มิลลิเมตร ทำงานร่วมกับคาลิปเปอร์เบรก 4 พอท
ซึ่งล้วนน่าจะเพียงพอกับรถระดับ 2 พันม้า ที่หนักเพียง 1,450 กิโลกรัม ด้วยอัตราการถ่ายน้ำหนักหน้า-หลัง 42:58 รวมของเหลว แต่ไม่รวมน้ำหนักผู้โดยสารบนรถ
นอกนั้นในส่วนงานออกแบบตัวรถ ก็จะเน้นความแบนและกว้าง จากขนาดตัวด้านยาว 4,791 มิลลิเมตร, ด้านสูงเพียง 1,188 มิลลิเมตร, ด้านกว้าง 2,027 มิลลิเมตร, และระยะฐานล้อ 2,750 มิลลิเมตร พร้อมทำช่องรีดอากาศมากมาย ทั้งที่กันชนหน้าซ้าย-ขวา, บนฝากระโปรงหน้า ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่องระบายอากาศที่รีดมาจากช่องตรงกลางกันชนหน้า
และยังมีช่องดักลมเป่าหม้อน้ำและระบบเบรกหน้าซุ้มล้อหลัง, ช่องดักอากาศท้ายหลังคาเพื่อนำไปสันดาปกับเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ และยังมีช่องท่อไอเสียทางด้านบน ซึ่งถูกซ่อนเนียนไว้กับชิ้นงานแนวหลังคาก่อนถึงสปอยเลอร์ รวมถึงสิ่งที่ขาดไม่ได้คือครีบดิฟฟิวเซอร์สำหรับรีดอากาศขนาดใหญ่ โดยทั้งหมดที่ว่ามานี้ทำให้รถมีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานที่ต่ำเพียง 0.33 Cd
ท้ายสุด สำหรับภายในห้องโดยสาร ทางค่ายไม่ได้มีการเปิดเผยถึงลูกเล่นมากนัก นอกจากการระบุว่า มันจะได้รับการออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจในการตกแต่งมาจากเครื่องบินรบ และเน้นทำให้ปุ่มสั่งการ กับหน้าจอแสดงผลต่างๆหันเข้าสู่ตัวผู้ขับเป็นหลัก โดยที่วัสดุการตกแต่งต่างๆจะผสมกันไประหว่าง หนังกลับอัลคันทาร่า, คาร์บอนไฟเบอร์ และชิ้นงานอลูมิเนียม CNC ที่จะถูกออกแบบสัดส่วนความสวยงามไว้อย่างลงตัว
น่าเสียดายที่ทางค่ายยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลราคาสำหรับการวางจำหน่ายจริงออกมา แต่ด้วยงานวิศวกรรมการออกแบบขั้นสูงระดับนี้ และความเนี๊ยบในการออกแบบตามสไตล์ผู้ผลิตสัญชาติอิตาลี จึงบอกได้เลยว่า คงมีหลักหลายร้อยล้าน หรืออาจจะเฉียดพันล้านให้เห็นแน่นอน