รู้หรือไม่ว่า Isuzu D-Max 1.9 Ddi คือกระบะดีเซลที่สามารถปรับมาตรฐานไอเสียจากระดับ Euro 4 ไปที่ Euro 6 แบบไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์เท่ารถยี่ห้ออื่น

จากเรื่องราวที่ข่าวหลายสำนักออกมาเปิดเผยต้นตอของการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ว่ากว่าร้อยละ 75 เกิดจากการใช้งานยานพาหนะ ซึ่งถูกปล่อยจากรถบรรทุกมาเป็นอันดับ 1 ต่อด้วยรถกระบะเป็นอันดับ 2 และรองมาเรื่อยๆ

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

หากดูกันเฉพาะวงการยานยนต์ไทยที่มีรถกระบะเป็นพระเอกนำพาเศรษฐกิจให้รุดหน้า มาวันนี้ดูเหมือนว่าผลด้านลบได้แผลงฤทธิ์ให้เราพี่น้องชาวไทยได้รับผลกระทบกันแล้ว เพราะช่วง 2-3 ปีที่ผ่าน ความรุนแรงของพิษฝุ่น PM2.5 ที่ปกติเคยทำร้ายสุขภาพของคนในแถบภาคเหนือ กลับรุกล้ำเข้ามาสร้างบรรยากาศหมอกควันปกคลุมทั่วกรุงเทพฯ และเขตจังหวัดใกล้เคียง

อย่างที่เราท่านทราบกันว่าทำงานของเครื่องยนต์สันดาปโดยเฉพาะขุมพลังดีเซล ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ตลอดจน NOX มากกว่าปกติ ซึ่งทั้งสองตัวนี้จะทำปฏิกิริยากันจนก่อให้เกิดเป็นหมอกพิษ (Smog) กอปรกับสภาพอากาศในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ที่ประเทศไทยถูกความกดอากาศต่ำจากจีนคลืบคลานมาอยู่เหนือกรุงเทพฯ จึงทำให้อากาศไหลเวียนตัวน้อยลงกว่าปกติ มีลักษณะเหมือนกับเป็นโดมฝุ่นครอบคลุมบริเวณแถบโซนใจกลางเมืองหลวงไว้ทั้งหมด

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

ทางรัฐบาลได้ออกมาพูดว่าเตรียมมาตรการเร่งด่วนในการกำหนดนโยบายด้านคุมมลพิษ ซึ่งมีหนึ่งข้อที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์โดยตรง นั่นก็คือภายในปีพ.ศ.2565 จะมีการบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษของรถยนต์ใหม่ในระดับ Euro 6 รวมถึงนำน้ำมันเชื้อเพลิงมีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm มาใช้ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ก่อนกฎหมายบังคับใช้ และกำหนดใช้ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567

Isuzu D-Max กับเครื่องดีเซลเทอร์โบ 1.9 ลิตร รหัส RZ4E-TC สายรักษ์โลก?

ทำไมเราจึงขึ้นหัวข้อว่า “Isuzu D-Max 1.9 กระบะดีเซลที่ปรับให้ผ่าน Euro 6 ได้ทันที” เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเราจะพาย้อนไปตอนที่อีซูซุแนะนำเครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบเรียง รหัส RZ4E-TC ขนาด 1.9 ลิตร 16 วาล์ว DOHC Commonrail Direct Injection พร้อมเทอร์โบแปรผันแบบครีบ VGS และ Intercooler ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร ที่ 1,800 – 2,600 รอบ/นาที จับคู่กับเกียร์ธรรมดา หรือ เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด

รายละเอียดเครื่องยนต์ข้างบนคือตัวเลขสเป็คที่ติดตั้งอยู่บน D-Max กับ MU-X เวอร์ชั่นจำหน่ายประเทศไทย ซึ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2558 ทำเอาแฟนๆ อีซูซุต่างไชโยโห่ร้องด้วยความยินดีที่จะได้ใช้ขุมพลังใหม่หมด

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่อีซูซุแนะนำขุมพลัง 1.9 Blue Power มิใช่เพียงกระตุ้นตลาดก่อนจะโมเดลเชนจ์ D-Max เจนฯ 2 เท่านั้น ทว่ามีจุดประสงค์เพื่อจัดหาเครื่องดีเซลที่ผ่านมาตรฐานไอเสีย Euro 6 เพื่อติดตั้งบนรถกระบะส่งจำหน่ายไปยังกลุ่มประเทศในยุโรป ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน Isuzu D-Max โฉมอังกฤษก็ได้ฤกษ์แนะนำพร้อมขุมพลังใหม่…

เดิมที D-Max UK Spec มาพร้อมเครื่องดีเซลเทอร์โบคู่เดิม 2.5 ลิตร 163 แรงม้า แรงบิด 400 นิวตันเมตร แต่กลับถูกถอดออกไป แล้วหันมาคบเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบแปรผัน VGS ขนาด 1.9 ลิตร รหัส RZ4E-TC ปรับพลังมากขึ้นให้ผ่านมาตรฐาน Euro 6 เป็น 164 แรงม้า ที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 360 นิวตันเมตร ที่ 2,000-2,500 รอบ/นาที พร้อมระบบเกียร์ธรรมดา หรือ เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด

จากการหาข้อมูลจากพบว่าในเว็บไซต์ของ Isuzu.co.uk มีการระบุเอาไว้ว่าเครื่องดีเซลเทอร์โบ 1.9 ลิตร บน D-Max ผ่านมาตรฐานไอเสีย Euro 6 โดยไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์บำบัดไอเสียที่ใช้ของเหลวที่มีชื่อว่า Adblue ต่างจากรถดีเซลแบรนด์อื่นๆ อาทิ Mercedes-Benz, BMW, Audi, Volkswagen และอื่นๆ รวมถึงรถกระบะดีเซลยี่ห้อญี่ปุ่นที่เข้ามาขายในยุโรป ซึ่งรถเหล่านั้นล้วนต้องเติม Adblue เพื่อให้ไอเสียผ่านเกณฑ์ทุกระยะ 10,000 กม. หากน้ำยาหมดก็จะไม่ยอมให้สตาร์ทรถขับออกไป

มาตรฐานไอเสีย EURO5

โดยข้อดีของการไม่ต้องเติม Adblue ก็คือ เจ้าของรถไม่ต้องกังวลว่าของเหลวรักษ์โลกดังกล่าวจะหมดเมื่อไหร่ อีกทั้งการใช้งานในระยะยาวไม่ต้องคอยดูแลระบบหัวฉีด Adblue รวมถึงชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงค่าใช้จ่ายในการครอบครองก็ไม่สูงเท่ารถเครื่องดีเซลยี่ห้ออื่น ที่ต้องเติมน้ำยาดังกล่าวทุกระยะ 10,000 กม. ซึ่งเสียเงินราว 1,000-1,500 บาท ต่อการเติมหนึ่งครั้ง

ในอนาคตดูเหมือนว่าเครื่องดีเซล 1.9 ลิตรของอีซูซู เปรียบได้กับแสงสว่างอันสดใสของคอกระบะชาวไทย ที่ติดใจแบรนด์อีซูซุเรื่องความทนทาน อะไหล่หาง่าย และมีภาระค่าใช้จ่ายต่อการใช้งานต่ำ แม้จะถูกบังคับให้ผ่านมาตรฐานไอเสีย Euro 6 แต่ก็ยังถือว่าน่าสนใจอย่างมากหากคิดครอบครองเกิน 10 ปี

ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเราทีมงาน Ridebuster.com

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่