หลายคนคงเคยได้ยินชื่อของ CAN-BUS ผ่านหูกันบ้าง แต่มีน้อยคนนักที่จะเข้าความหมายและหน้าที่ของอุปกรณ์นี้ ดังนั้นเราจึงต้องมาอธิบายให้ผู้อ่านได้เข้าใจ

รถยนต์สมัยใหม่เต็มไปด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมาย ยิ่งรถยนต์หรูหรือสปอร์ตราคาแพงก็ยิ่งอัดแน่นของข้าวของมากมาย ซึ่งเจ้าอุปกรณ์ที่ว่ามาทั้งหมดต้องทำงานผสานกัน โดยอาศัยหลักการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ที่เรียกว่า CAN-BUS แน่นอนว่าผู้อ่านหลายคนเคยได้ยินชื่อเรียกนี้ แต่จะมีมากน้อยขนาดไหนที่เข้าใจวิธีในการทำงานของสิ่งนี้ หากท่านอยากเข้าใจและรู้ถึงข้อดีเชิญอ่านบทความนี้ให้จบ

CAN-BUS คืออะไร? 

รู้หรือไม่ว่ารถยนต์นับหลังจากยุคปี 2000 เป็นต้นมามีการใช้ระบบการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ในรถยนต์แบบดิจิตอล หรือ CAN-BUS (Controller Area Network) โดยถ้าเปรียบสิ่งนี้กับร่างกายของมนุษย์ก็คงเป็นระบบประสาท ที่เชื่อมต่อประสานส่งผ่านข้อมูลไปทั่วรถทั้งคันผ่าน ในทำนองเดียว Nodes หรือโมดูลทำหน้าที่เสมือนกล้ามเนื้อเชื่อมต่อกับ CAN-BUS ราวกับเป็นระบบเครือข่ายส่วนกลาง และทุกสัญญานจะส่งมายัง ECU ที่เป็นแขนขาให้สามารถขยับเคลื่อนไหวได้

ในรถยนต์ยุคใหม่นั้นมาพร้อมกับ ECU จำนวน 30-70 ตัว ขึ้นอยู่กับประเภทของรถตลอดจนอุปกรณ์ที่ใส่เข้ามา ซึ่งแต่ละตัวทำหน้าที่ต่างกันออกไป เช่น ควบคุมระบบเครื่องยนต์ ควบคุมระบบถุงลมนิรภัย หรือระบบเครื่องเสียงภายในรถยนต์ จะเห็นได้ว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชิ้นภายในรถมีหน่วยประมวลผลกลางประจำตัวแทบทั้งสิ้น

ต่อมาเป็นหน้าที่ของ CAN-BUS ซึ่งช่วยให้ ECU แต่ละอุปกรณ์สามารถสื่อสารส่งข้อมูลหากัน โดยไม่ต้องลากสายไฟแบบเดิมไปมาหากันจนวุ่นวาย อีกทั้งยังอัพเดทข้อมูล ECU ชุดระบบควบคุมเครื่องยนต์ หรือแม้แต่ชุดควบคุมกล่องเกียร์อัตโนมัติ ด้วยการเสียบเข้าทางพอร์ต OBD แล้วจึงเปิดโปรแกรมสั่งดำเนินงานได้อย่างง่ายดาย

 

ข้อดีของ CAN-BUS มีอะไรบ้าง?

  1. ประหยัดต้นทุน – เนื่องจาก ECU ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แต่ละตัวในรถยนต์สื่อสารผ่านโครงข่าย CAN-BUS ด้วยสัญญาณดิจิตอล จึงไม่ต้องกังวลเรื่องความผิดพลาดเหมือนตอนส่งสัญญาณแบบอานาล็อกด้วยสายดั้งเดิม อีกทั้งยังช่วยในเรื่องน้ำหนักรถโดยรวมที่น้อยลง และเรื่องต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าเพราะไม่ต้องเสียไปกับค่าสายไฟ
  2. ควบคุมจากส่วนกลาง – เครือข่าย CAN-BUS ทำให้สามารถตรวจความผิดปกติได้จากหน่วยควบคุมส่วนกลาง รวมถึงปรับตั้งค่าต่างๆ ให้กับ ECU อื่นที่เชื่อมโยงอยู่ภายในโครงข่ายเดียวกัน ผ่านการเสียบเข้ากับพอร์ต OBD
  3. ทนทาน – ความทนทานที่ว่านี้เกิดจากการที่ CAN-BUS ไม่ถูกรบกวนทางไฟฟ้าตลอดจนแม่เหล็กไฟฟ้า จึงทำให้เหมาะอย่างยิ่งต่อการเป็นสื่อกลางในการสื่อสารภายในรถยนต์
  4. ประสิทธิภาพสูง – สัญญาณที่ถูกส่งผ่าน CAN-BUS จะถูกจัดลำดับความสำคัญด้วย ID ของแต่ละอุปกรณ์ ซึ่งหมายความว่าแม้จะมีการสื่อสารกันตลอดเวลาแต่คำสั่งงานหรือข้อมูลจะไม่ติดขัด
  5. ยืดหยุ่น – เนื่องจาก ECU แต่ละตัวที่เชื่อมต่อเข้ากับ CAN-BUS สามารถส่งข้อมูลถึงกันและกันได้ มันจึงประมวลผลและตัดสินใจว่าจะทำตามหรือไม่ได้ด้วยตนเอง ซึ่งช่วยให้แก้ไขรวมถึงเพิ่มอุปกรณ์เข้ามาในระบบได้สะดวก อาทิ เรานำอุปกรณ์ตรวจระบบรถยนต์แบบบลูทูธที่เสียบผ่านพอร์ต OBDII ข้อมูลภายในรถยนต์ทั้งหมดก็ถูกส่งมายังอุปกรณ์ที่เพิ่งเสียบเข้าไปทันที เพื่อให้เราสามารถตรวจสอบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ดังกล่าวได้

หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจ CAN-BUS มากยิ่งขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้ลงลึกถึงประวัติความเป็นมา หรือรายละเอียดทางเทคนิคของเครือข่ายดังกล่าว เนื่องจากทีมงานคิดว่าให้ความรู้อย่างถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องลงลึกมากเกินไป เพราะอาจทำให้ผู้อ่านสับสนมากกว่าเกิดเป็นความเข้าใจ

ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเราทีมงาน Ridebuster.com

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่