รถยนต์นั่ง ขนาด B-Segment ที่เคยคบหาเครื่องเบนซิน 1.5 ลิตร จะถูกแทนที่ด้วยเครื่องเบนซินเทอร์โบ 1.0 ลิตร ใน 1-2 ปีนี้ สาเหตุเกิดจากอะไร ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

เริ่มต้นปี 2019 แฟนๆ ผู้รักชื่นชอบในรถยนต์ เริ่มตั้งคำถามขึ้นในใจแล้วว่า ปีนี้จะมีรถอะไรเปิดใหม่ หรือเทคโนโลยียานยนต์ที่ไทยจะถูกขับเคลื่อนไปบนทิศทางไหน ซึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ คงหนีไม่พ้นการจากไปของรถยนต์นั่ง ขนาด B-Segment ที่ใช้ขุมพลังเบนซิน 1.5 ลิตร โดยเครื่องเบนซินเทอร์โบ 1.0 ลิตร คือพระเอกรายใหม่ที่เข้ามารับบทม้างานรับใช้คนไทยหลังจากนี้

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการรถยนต์บ้านเรา อย่างเรื่องที่เครื่องเบนซินเทอร์โบ 1.0 ลิตร จะรับหน้าที่ขับเคลื่อนรถซัพคอมแพ็คคาร์ หรือเรียกว่า รถ B-Segment กำลังใกล้เป็นความจริงในปี 2019 นี้เป็นต้นไป โดยเราจะมาชี้แจงให้ทราบว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

อันที่จริง Ford เคยส่งขุมพลังเบนซินเทอร์โบ 1.0 ลิตร EcoBoost ลงมาบน Fiesta เมื่อหลายปีก่อน แต่ตอนนั้นคนไทยยังไม่ยอมรับเครื่องเล็กพ่วงหอยนัก บวกกับราคาจำหน่ายแพงเกือบ 8 แสนบาท และปัญหาเกียร์ PowerShift ที่ลูกค้าเจอปัญหาหนักหน่วง มิหนำซ้ำตอนนั้นโครงการอีโคคาร์เฟส 2 ก็มิได้สรุปแผนการออกมา ทุกสิ่งทำให้อนาคตของ Fiesta EcoBoost พังทะลายลง

Mazda 2 คือรถคันแรกที่เข้าร่วมโครงการอีโคคาร์เฟส 2 เมื่อปี 2015

ค่ายรถต้องการทำราคาให้ผ่านเกณฑ์อีโคคาร์เฟส 2

ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเราจึงเขียนออกมาแบบนั้น เพราะจุดประสงค์ในการผลักดันให้รถยนต์ขนาด B-Segment ที่จากเดิมเคยติดตั้งเครื่องเบนซิน 1.5 ลิตร มาเป็นเวลา 10 กว่าปี บรรดาค่ายรถต้องการให้รถรุ่นใหม่ที่จะเปิดตัวปี 2019-2020 เข้าเกณฑ์โครงการอีโคคาร์เฟส 2 เพื่อผลประโยชน์ด้านภาษี ที่ช่วยให้บริษัททำผลกำไรได้มากขึ้น

ตัวอย่างความสำเร็จที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คงเป็น Mazda 2 ที่ละทิ้งขุมพลังเบนซิน 1.5 ลิตร เป็นรายแรกเมื่อหลายปีก่อน พวกเขาได้ใส่เครื่องเบนซิน 1.3 ลิตร กับดีเซล 1.5 ลิตร เพื่อให้เข้าเกณฑ์อีโคคาร์เฟส 2 จนตัวรถมีจุดเด่นมากมาย ทำให้ในปัจจุบัน Mazda 2 กลายเป็นรถยนต์นั่ง B-Segment ที่มียอดขายอันดับ 1 คิดเป็นจำนวน 45,972 คัน ภายในปี 2018 ตามข้อมูลจากบริษัทมาสด้า

Mazda 2 Render
Mazda 2 โฉมใหม่จะเปิดตัวในราวปี 2020

ต้นแบบที่สร้างผลลัพธ์อันน่าพอใจให้แก่มาสด้า คล้ายกับว่าเป็นการบีบให้บรรดาบริษัทรถรายอื่นต้องปรับตัวตาม รายใดที่ยังไม่กล้าลงทุนเอาเครื่องยนต์รุ่นใหม่เข้ามาขาย นับวันลูกค้าก็จะยิ่งเบือนหน้าหนี เราจะได้เห็นขบวนพาเหรดรถเครื่องเบนซินเทอร์โบ 1.0 ลิตร เปิดตัวอีกหลายรุ่นต่อจากนี้

nissan-micra-test-driver-details-2

ลูกค้าชอบใจ ได้ใช้เครื่องแรง ประหยัดน้ำมัน และรักษ์สิ่งแวดล้อม

เวลาเราลงข่าวว่ารถยนต์นั่ง B-Segment ที่ยุโรปจะได้ใช้เครื่องเบนซินเทอร์โบ ที่ลงขนาดความจุลงมา ทว่าได้แรงม้าแรงบิดเลขสวยๆ คนไทยที่ได้อ่านมักจะออกความคิดเห็นว่า “เมื่อไหร่เราจะได้ใช้, ของดีๆ ไม่เคยมาไทยหรอก” แต่ภายในปี 2019 นี้ เราชาวไทยจะได้ใช้รถเครื่องเบนซินเทอร์โบ 1.0 ลิตร ตามอย่างประเทศพัฒนาแล้วเสียที

ข้อดีของเครื่องเบนซินเทอร์โบ 1.0 ลิตร มีมากมายหลายอย่าง เราขอเริ่มด้วยประเด็นพละกำลังที่ให้แรงม้าในช่วง 90-120 ตัว แรงบิด 150-180 นิวตันเมตร ตั้งแต่ 2,000-2,500 รอบต่อนาที ซึ่งแรงม้านั้นอาจอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับขุมพลังเบนซิน 1.5 ลิตร แต่ตัวเด็ดมันอยู่ที่แรงบิดมหาศาลในรอบเครื่องต่ำต่างหาก

เครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบ 3 สูบ ขนาด 1.0 ลิตร VTEC Turbo ของฮอนด้า มีแรงม้า 120 ตัว (PS) แรงบิด 200 นิวตันเมตร

เดิมทีเครื่องเบนซินไร้ระบบอัดอากาศ ขนาด 1.5 ลิตร มีแรงบิดอยู่ราว 140-150 นิวตันเมตร ที่ 4,000-4,700 รอบต่อนาที หมายความว่าเครื่องเบนซินเทอร์โบ 1.0 ลิตร จะทำอัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. การเร่งแซงในสถานการณ์ต่างๆ ได้กระฉับกระเฉงรวดเร็วกว่าเครื่อง 1.5 ลิตรเดิมแบบชัดเจน เรียกว่าเครื่องเทอร์โบ 1.0 ลิตรตอบโจทย์การใช้งานทั่วไปได้ดีกว่า ยกเว้นช่วงเดียว…

ข้อด้อยของเครื่องเบนซินเทอร์โบ 1.0 ลิตร เมื่อเทียบกับเครื่องเบนซิน 1.5 ลิตร ในประเด็นพละกำลัง จะปรากฎก็ต่อเมื่อผู้ขับขี่ใช้รอบเครื่องกับความเร็วระดับสูง เพราะด้วยความจุเครื่องยนต์ที่น้อยกว่า ทั้งอากาศและน้ำมันที่ถูกฉีดเข้าห้องเผาไหม้ จะมีปริมาณน้อยไม่เพียงพอต่อการรีดแรงม้าในช่วงรอบเครื่องสูง

เว้นเสียแต่ว่า หากเครื่องเบนซินพ่วงหอยบล็อกเล็กตัวนั้นสามารถสร้างแรงม้าในช่วง 5,000 รอบ/นาที ได้ไม่ต่ำกว่าช่วงพีคสุดมากนัก มันก็อาจเร่งสู่ความเร็วระดับสูงได้รวดเร็วเช่นกัน ขึ้นอยู่กับการเช็ตค่าของวิศวกรที่ออกแบบเครื่อง

Ford Fiesta EcoBoost 1.0 เป็นรายแรกที่นำเครื่องเบนซินเทอร์โบ 1.0 ลิตร มาจำหน่ายในประเทศไทย

แต่หัวใจสำคัญไม่แพ้ความแรงก็คือ อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันที่เครื่องเทอร์โบ 1.0 ลิตร มอบให้ เพราะจากข้อมูลของต่างประเทศระบุว่า ขุมพลังเล็กอัดอากาศชนิดนี้ประหยัดน้ำมันได้อยู่ราว 16-20 กม./ลิตร ในการทดสอบวิ่งในเมืองกับนอกเมืองรวมกัน แต่ถ้าให้เข้าข่ายอีโคคาร์เฟส 2 รถต้องวิ่งประหยัดน้ำมันเกิน 23 กม./ลิตร

ต่อมาเป็นเรื่องที่คนไทยเริ่มหันมาใส่ใจ อย่างเช่นประเด็นมลพิษจากไอเสียรถยนต์ ซึ่งรถเครื่องเบนซินเทอร์โบ 1.0 ลิตร จะปล่อย Co2 ออกมาต่ำกว่า 100 กรัม/กม. ส่วนก๊าซ NOX กับ PM 2.5 ที่ก่อให้เกิดหมอกพิษ แทบไม่มีหลุดเล็ดลอดออกมาเหมือนกับเครื่องดีเซล และด้วยข้อบังคับของโครงการอีโคคาร์เฟส 2 กำหนดให้รถทุกคันจะต้องมีมาตรฐานไอเสียยูโร 5 เป็นอย่างต่ำ

Honda City 2019 โฉมใหม่จะใช้ขุมพลังเบนซินเทอร์โบ 3 สูบ ขนาด 1.0 ลิตร ที่ยกมาจาก Civic โฉมนอก

มีรถยนต์นั่ง B-Segment เครื่องเบนซินเทอร์โบ 1.0 ลิตร รุ่นไหนเตรียมเปิดตัวบ้าง?

หัวข้อสุดท้ายที่เราจะพูดถึงอาจเป็นสิ่งที่ผู้อ่านอยากทราบมากสุด เพื่อไม่เสียเวลาเราขอไล่เรียงตามลำดับการเปิดตัวรถเครื่องเบนซินเทอร์โบ 1.0 ลิตร ที่จะเปิดตัวเป็นอันดับแรกจนถึงลำดับหลังๆ

เริ่มด้วย Honda City โฉมใหม่ ที่จะเปิดตัวครึ่งหลังปี 2019 อันติดตั้งเครื่องเบนซินเทอร์โบ 3 สูบ ขนาด 1.0 ลิตร 120 แรงม้า ที่ยกมาจาก Honda Civic โฉมจีน เรียกว่าฮอนด้ากระโดดเข้าร่วมกลุ่มอีโคคาร์เฟส 2 ต่อจากมาสด้าที่ลุยทางมาก่อนล่วงหน้า จากนั้นไม่นานนัก Honda Jazz ใหม่ ที่ใช้ขุมพลังเดียวกันจะออกตามมาไม่ห่างกัน

เบื้องต้นคาดว่า Nissan Almera 2019 จะนำขุมพลังจาก Nissan Micra มาใส่

อีกค่ายคือ Nissan Almera รุ่นใหม่หมด ที่จะเปิดตัวในจีนช่วงต้นปี 2019 ในประเทศก่อน จากนั้นช่วงปลายปีจะนำมาขึ้นสายการผลิตที่ประเทศไทย จากข้อมูลคาดว่าใช้เครื่องเบนซินเทอร์โบ ขนาด 1.0 ลิตร โค้ดเนม IG-T 100 สร้างกำลัง 100 แรงม้า แรงบิด 160 นิวตันเมตร ที่เพิ่งติดตั้งบน Nissan Micra โฉมยุโรปรุ่นใหม่ปี 2019 ส่วนข่าวของ Nissan March นั้น คาดว่าจะมาราวปี 2020 ตามหลังอยู่ซักหน่อย

เอาเป็นว่าผู้อ่านท่านไหนที่กำลังมองหารถยนต์นั่ง B-Segment คันใหม่มาขับ ก็ให้รอดูกันภายในปีนี้ว่าจะมีรถที่ถูกใจท่านคันไหนบ้าง หากเรามีข้อมูลอะไรจะรีบนำมาอัพเดทให้ทราบโดยเร็วที่สุด

ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเรา Ridebuster.com

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่