ในวันที่ค่ายรถทุกยี่ห้อจดจ่ออยู่กับการพัฒนารถไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด รวมถึงรถไฟฟ้า แบบเรียกได้ว่าบ้าคลั่ง… เครื่องยนต์ดีเซลอดีตลูกรักของผู้ผลิตรถสัญชาติเยอรมันหลายราย พวกมันกลับถูกลดบทบาทความสำคัญลงเรื่อยๆ เนื่องจากเจอปัญหามลพิษที่เข้มงวดในหลายประเทศ ทว่ากับประเทศไทยบ้านเมืองของเราท่านล่ะ เครื่องดีเซลจะได้ไปต่อหรือไม่?

 

 

เวลาใครถามเราเกี่ยวกับว่ารถรุ่นนั้นรุ่นนี้จะเอารุ่นเครื่องดีเซลมาจำหน่ายไหม? บางทีเราก็ทำได้เพียงบอกว่า ‘อาจจะ’ มีเข้ามาขาย เหตุที่ไม่กล้าฟันธงลงไปก็เนื่องจากตอนนี้บรรดาค่ายรถยนต์ได้เปลี่ยนมาโฟกัสพัฒนารถลูกผสมสายรักษ์โลกกันเต็มสูบ เห็นได้จากปริมาณข่าวการเปิดตัวรถไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด ไปจนถึงรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ออกมามากล้นเต็มพื้นที่สื่อ อย่างไรก็ตามหากดูผ่านตาเบื้องต้นอาจรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องไกลตัวจากเราชาวไทย แต่ถ้าลองพิจารณาให้ดี อนาคตของรถยนต์เครื่องดีเซลในไทยคงมีชะตากรรมแทบต่างจากทางฝั่งโลกตะวันตก และหากอยากรู้ว่าทำไมเราจึงกล่าวเช่นนั้น เชิญอ่านบทความนี้ให้จบ

 

Diesel sitsuation in future
เครื่องดีเซลยูโร 6 พัฒนามาจนถึงขั้นสูงสุด ซึ่งแทบจะหาวิธีให้สะอาดกว่านี้ไม่ได้

 

เครื่องดีเซลปัจจุบันพัฒนาจนอยู่ในระดับสูงสุด?

 

เริ่มต้นด้วยการพูดถึงเทคโนโลยีดีเซลในรถยนต์ปัจจุบันก้าวเข้าสู่ช่วงที่เรียกว่าท็อปสุดแล้ว เพราะถ้าให้ไล่เรียงความดีงามของเครื่องดีเซลไล่จากยุคเริ่มต้น ที่ย้อนกลับไปกว่าหลายสิบปี สมัยนั้นขุมพลังเผาน้ำมันโซลาร์ได้ชื่อว่ามีความทนทานสูง แรงบิดมหาศาล และประหยัดน้ำมันกว่าเครื่องเบนซินในยุคเดียวกัน ด้วยสาเหตุดังกล่าวเครื่องดีเซลจึงเป็นเพชรเม็ดงามแห่งวงการรถยนต์เชิงพาณิชย์ เช่น รถกระบะ รถบรรทุก รถบัสโดยสาร และอื่นๆ อีกมากมาย 

อย่างไรก็ตามข้อเสียของเครื่องดีเซลที่ทุกคนรู้กันดีก็คือ อืดอาด แรงม้าน้อย มลพิษเยอะ และเสียงดังกว่าเครื่องเบนซิน จึงทำให้บรรดารถยนต์นั่งในสมัยเก่าคบหากับเครื่องยนต์เบนซินอยู่ในช่วงนั้น เพราะเครื่องเผาละอองเบนซินเดินได้เรียบเงียบ มีอัตราการตอบสนองดีกว่า และสามารถนำไปติดตั้งในรถยนต์ขนาดเล็ก กลาง ไปถึงใหญ่ได้ครบทุกขนาด

 

Diesel sitsuation in future
Isuzu TFR ยอดกระบะที่คนไทยได้รับความนิยมยังวิ่งปล่อยไอเสียไปทั่วไทย

 

ต่อมาในยุคหลังชาวเยอรมันที่ชื่นชอบในข้อดีของเครื่องดีเซล จึงหันมาพัฒนาเจ้าเครื่องอันใหญ่โต หนักอึ้ง และอืดอาด เริ่มด้วยการปรับวัสดุโลหะที่ใช้สร้างบล็อกเครื่องให้มีน้ำหนักลดลง เพิ่มแรงม้าแรงบิดให้ตอบสนองดีขึ้นในรอบต่ำด้วยการติดตั้งเทอร์โบชาร์จ และใช้หัวฉีดน้ำมันแรงดันสูงมากกว่าของเครื่องเบนซินเป็นร้อยเท่า ผลลัพธ์คือ รถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องดีเซลรุ่นใหม่ขับขี่ได้สนุกไม่แพ้รถเบนซิน แต่ได้ความประหยัดมาเติมเต็มส่วนที่ขาดไป นอกจากนี้พวกเขาได้ปรับเปลี่ยนวัสดุต่างๆ ภายในเครื่องให้ทำงานได้ลื่นขึ้น ลดแรงสั่นสะเทือนและเสียงดังก้องอันเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องดีเซล

 

Diesel sitsuation in future
ผู้ใช้รถกระบะหลายคนมักนำแผ่นมาอุดช่องเผาไอเสียซ้ำหรือ EGR เพราะมีความเชื่อว่ารถจะแรงขึ้น เครื่องไม่โทรม แต่ผลเสียคืออากาศที่สูดเข้าปอดแย่ยิ่งกว่าเดิม

 

ดูเหมือนความหอมหวานของเครื่องดีเซลในยุค 90 เป็นตัวเร่งให้สมาชิกสหภาพยุโรปหรือ EU ต้องออกกฏหมายควบคุมมลพิษฉบับใหม่ที่เข้มงวดมาขึ้น ซึ่งเราท่านรู้จักกันดีในนาม ยูโร นั่นเป็นสาเหตุให้บรรดาผู้ผลิตรถต้องคิดวิธีในการทำอย่างไรก็ได้ ให้เครื่องดีเซลของพวกเขาปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) รวมถึงไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และอื่นๆ อีกมากที่ถูกปล่อยจากท่อไอเสียลดน้อยลงตามมาตรฐานยูโร แน่นอนว่าในระดับยูโร 1 กับ 2 พวกเขาใช้วิธีการที่ง่ายเพื่อลดมลพิษดังกล่าว แต่พอมาถึงระดับยูโร 3 ก็มีการเพิ่มอุปกรณ์ที่เรียกว่า ระบบนำไอเสียกลับมาเผาซ้ำ (EGR) ที่ช่วยลดก๊าซพิษต่างๆ ให้ผ่านมาตรฐานตอนนั้นได้

 

Diesel sitsuation in future
กรองฝุ่นดีเซล DPF มีอยู่ในรถเครื่องดีเซลยุคใหม่

 

ด้วยโลกที่หมุนไปไม่เคยหยุด เช่นเดียวกับมาตรฐานไอเสียที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่ลดละ บรรดาผู้ผลิตก็ไม่หยุดที่หาวิธีลดมลพิษจากเครื่องดีเซล เพราะระดับค่าไอเสียยูโร 4 จึงก่อให้เกิดอุปกรณ์กรองเขม่าไอเสีย หรือ DPF ที่ทำหน้าที่กรองฝุ่นอนุภาคดีเซลไม่ให้หลุดลอยสู่อากาศ แต่หลังจากนั้นไม่นานยุโรปก็ปรับใช้มาตรฐานยูโร 5 อันเป็นสาเหตุให้เกิดระบบบำบัดไอเสียที่เรียกว่า DENOXTRONIC หรือที่หลายคนเรียกตามของเหลวสีใสที่ต้องใช้เติมระบบว่า Adblue เป็นชื่อหลักแทนนามจริงของมันแต่ต้น และเพียงไม่กี่อึดใจมาตรฐานยูโร 6 ก็ถูกประกาศใช้จนค่ายรถต่างๆ เริ่มหน้าเสีย คิดวิธีไม่ออกแล้วว่าจะทำอย่างไรให้รถเครื่องดีเซลของพวกเขาสะอาดกว่าที่เป็นอยู่…

 

Diesel sitsuation in future
Mercedes-Benz E300 Bluetec Hybrid ได้รับความนิยมมากช่วงหนึ่ง แต่มันก็ถูกเลิกขายไปเพราะปัญหาหลายอย่าง

 

หันไปคบเครื่องลูกผสม = ไปต่อได้

 

แน่นอนว่าต้นทุนในการพัฒนาเครื่องดีเซลแต่ไหนแต่ไรก็สูงกว่าเครื่องเบนซินจำนวนมาก ค่ายรถหลายรายจึงเอาดีเรื่องการพัฒนาเครื่องเบนซินไฮบริด กับปลั๊กอินไฮบริด แทนที่เครื่องดีเซลที่พัฒนาระบบบำบัดไอเสียมาถึงจุดสุูงสุด มิหนำซ้ำข้อดีของเครื่องไฮบริดก็เรียกว่ามีครบถ้วนไม่แพ้เครื่องดีเซล เพราะมันทั้งเร่งได้เร็ว มีแรงบิดสูงตั้งแต่รอบต่ำ ประหยัดน้ำมัน ปล่อยมลพิษน้อย และในอนาคตค่าบำรุงรักษากับค่าอะไหล่ที่เกี่ยวของอย่างแบตเตอรี่จะมีราคาถูกลงกว่าปัจจุบัน ด้วยสาเหตุดังกล่าวจึงทำให้อนาคตของเครื่องดีเซลที่เคยนิยมกลับริบหรี่ไม่สดใสดั่งเช่นเคย

 

อย่างไรก็ตาม มีค่ายรถจากเยอรมันอยู่เจ้าหนึ่ง นั่นก็คือ Mercedes-Benz ที่ก่อนหน้านี้ประมาณ 4-5 ปี เคยแนะนำรถยนต์ดีเซลไฮบริดออกสู่ตลาด ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของวงการยานยนต์ โดยข้อดีของมันคือมีรถมีความแรงมากกว่าเดิม ประหยัดน้ำมันมาก แต่ผลเสียที่ลูกค้าหลายคนเริ่มพบเจอก็คือ รถมีอาการกระตุกระหว่างที่สับเปลี่ยนกำลังจากเครื่องยนต์ไปยังมอเตอร์ หรือทั้งมอเตอร์ไปเครื่อง และก็มีประเด็นเกี่ยวกับความจุกจิกของระบบไฮบริดรวมถึงแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ ดังนั้นเราจึงเห็นว่าทางผู้ผลิตได้ถอดรถรุ่นเครื่องดีเซลไฮบริดออกไปราว 2 ปีแล้ว

 

Diesel sitsuation in future
อีกไม่กี่ปีต่อจากนี้ Mercedes-Benz จะแนะนำรถดีเซลปลั๊กอินไฮบริดรุ่นใหม่ ที่พวกเขาเคลมว่าจะแรง ประหยัด สะอาด และใช้งานได้ทนทานกว่าเดิม

 

ข่าวดีที่มาสยบเรื่องร้ายของดีเซลไฮบริดช่วงก่อนหน้านี้ก็ได้แก่ การประกาศอย่างเป็นทางการจากเบนซ์ในงานเจนีวา มอเตอร์โชว์ 2018 ว่าพวกเขาเตรียมตัวแนะนำรถดีเซลปลั๊กอินไฮบริดรุ่นใหม่ ให้แก่รถยนต์นั่งรุ่น C-E Class ภายในไม่เกินปี 2022 นั่นทำให้เราเห็นอนาคตของเครื่องดีเซลว่ามันจะได้ไปต่อ แต่ไปต่อในรูปแบบของการผสมผสานเข้ากับมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งต่อจากนี้หากบริษัทรถยนต์ค่ายอื่นยังให้ความสำคัญแก่เครื่องดีเซลอยู่ เราคงได้เห็นรถดีเซลปลั๊กอินไฮบริดออกมาอีกหลายรุ่นในไม่ช้านี้

 

Diesel sitsuation in future
อันที่จริงแล้วเครื่องดีเซล Skyactiv-D ของมาสด้าทำมาตรฐานไอเสียได้สูงถึงระดับยูโร 6

 

ไทยอาจได้ใช้เครื่องดีเซลสะอาดรุ่นใหม่…แต่เก่าจากที่อื่นเร็วๆ นี้

 

อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าประเทศไทยยังคงประกาศให้ผู้ผลิตรถยนต์ขายรถที่ผ่านมาตรฐานไอเสียยูโร 4 อยู่ ซึ่งผลเสียที่เราท่านได้เห็นเรื่อยๆ ช่วงที่มาผ่านมา ก็คงหนีไม่พ้นปัญหาหมอกควันพิษที่ปลกคลุมอยู่เหนือท้องฟ้าของกรุงเทพมหานครก่อนหน้านี้ และในอนาคตปัญหาควันพิษก็จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีก จนกว่ารัฐบาลจะเข้มงวดแล้วประกาศใช้มาตรฐานไอเสียฉบับใหม่ ที่อาจเป็นระดับยูโร 5 หรือดีมากถ้าข้ามไปขั้นยูโร 6 เลยก็ได้

 

ทีนี้ถ้ารัฐประกาศใช้มาตรฐานไอเสียยูโร 6 ผลที่ตามมาคือบรรดาค่ายรถก็ต้องนำเครื่องดีเซลสะอาดที่มีขายอยู่ในยุโรปตอนนี้ แน่นอนว่าในอนาคตอีกไม่กี่ปีพวกเขาเตรียมจะโละทิ้งอยู่แล้ว แต่เราชาวไทยจะได้ใช้เครื่องดีเซลรักษ์โลกกันแทนที่เครื่องอันปล่อยควำเหม็นคลุ้ง หรือบางคนก็ดันไปปิดระบบบำบัดไอเสียอย่าง EGR ด้วยเหตุผลว่าเครื่องไม่สะอาด เร่งไม่ขึ้น น้ำมันเครื่องดำเร็ว แต่หารู้ไม่ว่าการทำสิ่งดังกล่าวส่งผลเสียต่อประชาชนโดยรวมแบบหนักหนาสาหัสกว่าที่คิด

 

เราได้เพียงหวังว่าเครื่องดีเซลยูโร 6 ที่อาจเข้ามาแทนที่เครื่องยูโร 4 ในเร็ววันนี้จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์หมอกควันพิษที่ปกคลุมในกรุงเทพฯ รวมถึงตามหัวเมืองใหญ่ในแต่ละภูมิภาคของไทย และเรากล้าพูดว่าไทยจะได้ใช้เครื่องดีเซลยูโร 6 นานพอควร นานชนิดหลายสิบปีกว่าที่จะเริ่มหันไปใช้รถไฮบริดหรือรถไฟฟ้ากันทั่วประเทศครับ

 

ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเรา Ridebuster.com

 

 

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่