ดูเหมือนว่าสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะทำผลงานชิ้นโบว์ที่ทำให้เราต้องปรบมือสดุดี โดยก่อนหน้านี้ได้มีการยื่นร่างพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า ที่จะคุ้มครองผู้บริโภคกรณีซื้อสินค้ามาแล้วชำรุดหรือซ่อมแล้วไม่หาย โดยจะสามารถส่งสินค้ากลับไปพร้อมรับเงินคืนได้ ซึ่งตอนนี้ร่างกฏหมายได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และรอการประกาศใช้เป็นที่เรียบร้อย

 

 

เรียกได้ว่าเป็นข่าวดีของผู้บริโภคทุกคนที่จะได้รับการคุ้มครองจากพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า หลังจากที่ก่อนหน้านี้เป็นเวลาหลายสิบปี การต่อสู้เรียกร้องของประชาชนที่ซื้อรถยนต์จากหลายค่ายผู้ผลิตแล้วเจอกับปัญหาเรื้อรังแก้ไม่จบ มีทั้งการนำรถมาจอดประท้วงพร้อมแปะป้ายด่าทอสารพัด หรือแม้กระทั่งเข้าไปต่อสู้ฟ้องร้องกันถึงชั้นศาล ทำให้ต้องเสียใจ เสียเวลา และเสียอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย

 

 

โดยใจความสำคัญของพ.ร.บ. ฉบับนี้เราจะบอกให้ผู้อ่านได้เข้าใจกันง่ายๆ ก็คือ กำหนดให้ผู้บริโภคที่เป็นเพียงผู้เช่าซื้อมีสิทธิ์เช่นเดียวกับผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อ เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องต่อผู้ให้เช่าซื้อที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ กรณีสินค้าชำรุดบกพร่อง ให้สถาบันการเงินในฐานะผู้ซื้อและเจ้าของกรรมสิทธิ์ โอนสิทธิทั้งหลายให้กับผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคที่เป็นเพียงผู้ใช้สินค้าได้รับสิทธิเรียกร้องกับผู้ขายได้โดยตรง และเมื่อสินค้าเกิดการชำรุด และผู้บริโภคใช้สิทธิเรียกร้องไปแล้ว ต่อมามีการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าแต่ยังคงชำรุดอยู่ ก็ให้ผู้บริโภคมีสิทธิขอลดราคากับผู้ขาย หรือยกเลิกสัญญาซื้อขายได้ และให้ถือเป้นการยกเลิกสัญญาเช่าซื้อไปด้วย

 

 

อย่างไรก็ตาม หากสินค้าเสียหายภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่วันส่งมอบ ให้สันนิษฐานว่าสินค้าชำรุดมาตั้งแต่วันส่งมอบ พร้อมกำหนดสิทธิของผู้บริโภคต่อผู้ประกอบธุรกิจกรณีสินค้าชำรุด เช่น การเรียกค่าเสียหายต้องให้ผู้ประกอบธุรกิจซ่อมแซมสินค้าได้ 2 ครั้ง หากยังชำรุดอยู่ก็ให้ผู้บริโภคบอกเลิกสัญญา ขอลดราคา เรียกค่าเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ และให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกว่าจะซ่อมหรือเปลี่ยนสินค้าที่ชำรุดบกพร่องได้ ส่วนกรณีที่สินค้านั้นผ่านการซ่อมแล้วแต่ไม่ได้ดีขึ้น ผู้บริโภคต้องการบอกเลิกสัญญา หรือ ลดราคา หรือเรียกค่าเสียหาย ต้องแจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจทราบล่วงหน้า 7 วัน โดยข้อเรียกร้องนี้จะมีอายุความ 2 ปี

 

 

จะเห็นได้ว่ากฏหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อคุ้มครองมิให้ผู้บริโภคอย่างเราท่านถูกเอารัดเอาเปรียบ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้บริษัทรถยนต์ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพทัดเทียมกับนานาประเทศ จะได้ไม่ต้องมีปัญหาเรื่องรถชำรุดเสียหายโดยหาสาเหตุและแก้ไขไม่ได้ ซึ่งถ้าถึงขั้นนั้นเราก็สามารถใช้กฏหมายนี้ช่วยแก้ไขสิ่งร้ายให้กลายเป็นดี

 

ช่วยเป็นกำลังใจให้เรา

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่