‘กรุงเทพมหานคร’ เมืองหลวงขนาดใหญ่มหึมาของเราชาวไทยมีปริมาณรถยนต์จำนวนมากปล่อยไอเสีย ซึ่งถ้าคุณเคยเดินบนทางเท้าจะรู้ได้เลยว่าเหม็นควันรถ อีกทั้งยังมีคราบฝุ่นละอองขนาดเล็กรวมถึงเขม่าไอเสียลอยมาเปื้อนใบหน้า บางทีคุณอาจอยากรู้ว่าเมืองไทยมีวิธีการอย่างไรในการควบคุมไอเสียพวกนี้ หรือถ้าเทียบกับประเทศอื่นเขาเป็นอย่างไรบ้าง?

 

เรื่องปัญหามลพิษทางอากาศถือเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญของชาติไทย เพราะไม่เพียงจะเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ หรือโซนอุตสาหกรรมเท่านั้น หากแต่ยังมีหัวเมืองใหญ่ต่างจังหวัดหลายแห่งที่ต้องพบเจอกับปัญหามลพิษ ที่มาทั้งจากไอเสียรถยนต์ ฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง และควันจากการเผาพื้นที่เกษตรกรรม แน่นอนว่าในด้านการควบคุมมลพิษจากยานยนต์ รัฐบาลไทยมีการกำหนดมาตรฐานไอเสียเพื่อป้องกันมิให้ประชาชนได้รับอันตราย ทว่าปัจจุบันปัญหานี้ดูจะสร้างผลกระทบแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามปริมาณรถยนต์ที่แล่นอยู่บนท้องถนน…

 

Thai emission standard

 

รถยนต์ในไทยใช้มาตรฐานไอเสียยูโร 4 ทั้งหมด?

 

ไม่ทั้งหมดครับ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่ารัฐบาลไทยมีการกำหนดมาตรฐานไอเสียตามสหภาพยุโรป เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2541 (20 ปีที่แล้ว) โดยกรมควบคุมมลพิษ อันเป็นหนึ่งในหน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งในปีพ.ศ. 2542 ไทยได้ประกาศให้รถยนต์ขนาดเล็ก (Light duty vehicle) ทุกคันต้องผ่านมาตรฐานไอเสียยูโร 2 หลังจากนั้นในปีพ.ศ. 2548 ก็ได้ปรับขึ้นมาเป็นยูโร 3 และท้ายที่สุดในปีพ.ศ. 2555 ก็ได้ปรับมาตรฐานไอเสียใหม่เป็นยูโร 4 จวบจนถึงปัจจุบัน

 

Thai emission standard
ภาครัฐบังคับให้รถยนต์ขนาดใหญ่ในบ้านเราผ่านมาตรฐานไอเสียยูโร 3 ตั้งแต่ปี 2550 จวบจนถึงปัจจุบัน โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยนาน 11 ปี

 

จากย่อหน้าที่แล้วอาจดูเหมือนประเทศไทยได้ปรับปรุงมาตรฐานไอเสียให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา แต่ปัญหาหลักที่ทุกคนไม่เคยทราบคือ รถยนต์ขนาดใหญ่ (Heavy duty vehicle) ที่เกือบทั้งหมดใช้เครื่องยนต์ดีเซลเป็นขุมกำลังหลัก ซึ่งมีจำนวนรถที่วิ่งใช้งานทั้งด้านการขนส่งสินค้า ขนส่งสาธารณะ และรวมถึงเครื่องจักรกลทางการเกษตรในปริมาณมากไม่แพ้รถยนต์ขนาดเล็ก แน่นอนว่ารถเหล่านี้ถูกกำหนดมาตรฐานไอเสียไว้เพียงระดับยูโร 3 เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นมาตรฐานไอเสียสำหรับรถยนต์ขนาดใหญ่ยังไม่ถูกเปลี่ยนแปลงมานานถึง 11 ปี (บังคับใช้ปีพ.ศ. 2550) ซึ่งผู้อ่านจะเห็นว่าบนท้องถนนมีรถบรรทุกทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ รถหัวลาก และรถเมล์ รถโดยสารทางไกล ที่ร่วมกันพ่นควันไอเสียดำพวยพุ่งสู่สภาพแวดล้อม

 

Thai emission standard
รถโดยสารสาธารณะก็ถือเป็นอีกหนึ่งยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษกับฝุ่นละอองจำนวนมากสู่อากาศ

 

ทำอย่างไรปัญหามลพิษจากรถยนต์ในไทยถึงจะลดลง?

 

วิธีการลดมลพิษที่ดีที่สุดคือ… การลดปริมาณรถยนต์ที่วิ่งอยู่บนท้องถนน แต่นั่นก็ฟังดูเป็นไปไม่ได้แน่นอน ดังนั้นวิธีการที่เราคิดว่าจะช่วยบรรเทาปัญหามลพิษจากไอเสียรถยนต์ก็คือ ปรับปรุงมาตรฐานไอเสียให้รถยนต์รุ่นใหม่ทั้งยานพาหนะขนาดเล็กไปถึงขนาดใหญ่ โดยเริ่มจากการกำหนดให้รถยนต์ขนาดเล็ก (รถเก๋ง รถกระบะ เอสยูวี ฯลฯ) เพิ่มมาตรฐานไอเสียเป็นระดับยูโร 5 หรือยูโร 6 ไปเลยก็ดี ส่วนรถยนต์ขนาดใหญ่ก็ให้ปรับขึ้นมาในทิศทางเดียวกัน ซึ่งผลลัพธ์ที่เราคาดการณ์ได้ก็คือปริมาณก๊าซพิษรวมถึงฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศจะลดลงมาก อย่างไรก็ตามเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น เราจะยกค่าความแตกแต่งระหว่างมาตรฐานไอเสียยูโร 4 กับ 6 ของรถดีเซลมาเปรียบเทียบให้เห็นกันชัดๆ

 

Thai emission standard
รถกระบะทุกคันที่ขายในบ้านเราเมื่อออกจากโรงงานผ่านไอเสียยูโร 4 แต่บรรดาขาซิ่งก็เอาไปแต่งจนปล่อยมลพิษท่วมประเทศ

 

มาตรฐานไอเสียยูโร 4 VS ยูโร 6 (ดีเซล)

คาร์บอนไดออกไซด์ : 0.50 – 0.50 กรัม/กม. (เท่ากัน)

สารประกอบไฮโดรคาร์บอน (CO) + ไนโตรเจนออกไซด์ (NOx): 0.30 – 0.17 กรัม/กม. (ยูโร 6 น้อยกว่า 0.13)

ไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) : 0.25 – 0.08 กรัม/กม. (ยูโร 6 น้อยกว่า 0.17)

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM : 0.025 –  0.005 กรัม/กม. (ยูโร 6 น้อยกว่ามาก)

 

Thai emission standard
สิงคโปร์เพิ่งประกาศให้รถที่จำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2560 ต้องผ่านมาตรฐานไอเสียยูโร 6

 

ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนมีการกำหนดมาฐานไอเสียอย่างไรบ้าง

 

มาเลเซีย – เราขอเริ่มด้วยประเทศเพื่อนบ้านทางใต้อย่างมาเลเซียก่อน ปัจจุบันมาเลย์มีการกำหนดมาตรฐานไอเสียไว้ที่ระดับยูโร 2 เป็นเวลานานหลายสิบปี ซึ่งเมื่อไม่นานมีข่าวว่าปีนี้พวกเขามีแผนจะก้าวไปสู่ระดับยูโร 5 เรียกว่าก้าวข้ามขั้นมาถึง 2 สเต็ป โดยเหตุผลที่มาเลย์ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่านนานก็เพราะ โรงกลั่นส่วนใหญ่ยังผลิตน้ำมันเบนซินกับดีเซลยูโร 2 ทว่ามีบางแห่งเริ่มผลิตน้ำมันดีเซลยูโร 5 ออกจำหน่ายในบางพื้นที่แล้ว 

เวียดนาม –  สำหรับเวียดนามมีการกำหนดให้รถยนต์ขนาดเล็กทั้งเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล ผ่านมาตรฐานไอเสียระดับยูโร 4 ในปัจจุบัน นอกจากนี้ภายในปีพ.ศ. 2565 พวกเขาเตรียมประกาศใช้มาตรฐานไอเสียยูโร 5

อินโดนีเซีย – ปัจจุบันอินโดนีเซียประกาศให้รถยนต์ขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ทั้งเครื่องเบนซินและดีเซล รวมถึงรถจักรยานยนต์ ต้องผ่านมาตรฐานไอเสียยูโร 2 นี่ดูเหมือนว่าแดนอิเหนาจะประสบปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน อย่างไรก็ตามทางการแดนอิเหนาเตรียมประกาศใช้มาตรฐานไอเสียยูโร 4 แก่รถเครื่องเบนซินภายในเดือนกันยายนปีนี้ ส่วนรถเครื่องดีเซลจะบังคับใช้ในปีพ.ศ. 2564

สิงคโปร์ – ประเทศผู้นำแห่งการค้าในภูมิภาคอย่างสิงคโปร์ เพิ่งประกาศให้รถยนต์ใหม่ทุกคันที่จำหน่ายในบ้านของพวกเขาต้องผ่านมาตรฐานไอเสียยูโร 6 ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2560 เพื่อทำให้สภาพแวดล้อมรวมถึงบรรยากาศภายในเกาะมีความสะอาดหายใจได้ทั่วท้อง ผลคือสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีมาตรฐานไอเสียสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

 

Thai emission standard
มีผู้ผลิตรถยนต์ในไทยเพียงไม่กี่รายที่มีเครื่องยนต์ซึ่งผ่านมาตรฐานไอเสียยูโร 5 หนึ่งในนั้นคือเครื่องยนต์มาสด้า สกายแอคทีฟ รวมถึงรถยนต์แบรนด์ยุโรป

 

รัฐบาลไทย + ผู้ประกอบการ = …

 

จากข้อมูที่เราระบุไปเมื่อประเด็นที่ผ่านมา ทำให้มองสถานการณ์มลพิษจากรถยนต์ในไทยได้ไม่น้อย โดยปัจจุบันรัฐบาลไทยยังไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลว่าจะมีการปรับปรุงมาตรฐานไอเสียฉบับใหม่ออกใช้เมื่อไหร่ ซึ่งเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นหลายยี่ห้อ เพราะเราจะเห็นว่าไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกไปหลายประเทศทั่วโลก แน่นอนว่าหากรัฐบังคับใช้มาตรฐานไอเสียระดับยูโร 5 หรือ 6 ผลคือผู้ผลิตรถยนต์จะต้องเสียเงินจำนวนมากเพื่อเป็นต้นทุนในการผลิตเครื่องยนต์รุ่นใหม่ นี่จึงอาจทำให้เข้าใจได้ว่าเหตุผลที่รัฐยังไม่ปรับมาตรฐานไอเสียใหม่ ส่วนหนึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

ท้ายที่สุดบทความนี้อาจไม่ได้ทำให้รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญของเรื่องมาตรฐานไอเสีย แต่ที่แน่ๆ คือผู้อ่านทุกคนได้รับทราบข้อมูลที่ทำให้รู้ว่า บ้านเกิดเมืองนอนของเรามีความต่างอย่างไรกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียนบ้าง ซึ่งเราก็หวังว่าประชาชนชาวไทยจะมีโอกาสได้สูดอากาศในเมืองได้เต็มปอดเข้าสักวัน

 

ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเรา Ridebuster.com

 

 

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่