แม้เราจะไม่ได้ไป รีวิว 2020 Honda City อีโคคาร์พันเทอร์โบ 122 แรงม้า แต่เว็บเพื่อนบ้านของเราอย่าง Auto-thailand.com ก็พร้อมแบ่งปันข้อมูลให้ผู้อ่านเว็บเราด้วย

ท่านผู้อ่านไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเราถึงนำบทความการทดสอบ All-NEW Honda City 2020 ที่ได้ตีตั๋วอีโคคาร์ลงมาแข่งชิงยอดขายในตลาด ซึ่งได้มาจากเว็บเพื่อนบ้านอย่าง Auto-thailand.com นั่นก็เพื่ออยากให้คนที่สนใจได้มีแหล่งข้อมูลการตัดสินใจเพิ่มเติมมากขึ้น โดยต่อจากนี้เป็นเนื้อหาทั้งหมดที่เราไม่ได้ดัดแปลงแก้ไขแต่อย่างใด

หลังจากค่ายฮอนด้าเปิดตัวรถยนต์ซิตี้คาร์ All-New Honda City เจเนอเรชั่นที่ 5 ที่ปรับโฉมใหม่ทั้งภายนอก-ภายในห้องโดยสาร มาพร้อมเครื่องยนต์ใหม่ 1.0 ลิตร VTEC TURBO 122 แรงม้า ไปเมื่อไม่นานมานี้ และเพื่อเป็นการตอบรับกระแสความร้อนแรงหลังเปิดตัวไปได้ไม่กี่วันก็มียอดจองกว่า 5,000 คัน ทางฮอนด้าจึงได้จัดให้มีการทดลองขับโดยสื่อมวลชนกลุ่มแรกและครั้งแรกในสนามทดสอบ ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จ.ปราจีนบุรี

สนามทดสอบจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ แบบแรกจะเป็นสนามทดสอบรูปวงรี (Oval Course) ระยะทาง 2.18 กิโลเมตร จะได้ขับ 2 รอบ และแบบที่สองเป็นทางโค้ง (Winding Course) ระยะทาง 1.38 กิโลเมตร ซึ่งมีทั้งหมด 17 โค้ง ในสภาพพื้นผิวถนนที่จำลองสภาพถนนบ้านเรา จะได้ขับ 1 รอบ

สำหรับ Honda City ใหม่ ได้รับการพัฒนาขึ้นจากโครงสร้างแชสซีส์ของรุ่นเดิม โดยมีมิติตัวถังรถ ยาว 4,553 มม. กว้าง 1,748 มม. สูง 1,467 มม. ระยะฐานล้อ 2,589 มม. ความกว้างช่วงล้อหน้า 1,497 มม. ความกว้างช่วงล้อหลัง 1,483 มม. ระยะต่ำสุดใต้ท้องตัวรถ 135 มม. เมื่อนำไปเทียบกับ Honda City รุ่นก่อน ซึ่งมีความยาว 4,440 มม. กว้าง 1,695 มม. สูง 1,471 มม. ระยะฐานล้อ 2,600 มม. จะพบว่า Honda City ใหม่ มีความยาวเพิ่มขึ้น 113 มม. กว้างขึ้น 53 มม. แต่เตี้ยลง 4 มม. และมีระยะฐานล้อสั้นลง 11 มม. แต่มีวงเลี้ยวที่แคบลงจากรุ่นเดิมจากการออกแบบให้ล้อหน้ามีมุมหักเลี้ยวได้เพิ่มขึ้น

ภายในห้องโดยสารของ Honda City ใหม่ ก็ได้รับการออกแบบให้ดูทันสมัยกว่ารุ่นเดิม แต่ยังคงความกว้างขวางสะดวกสบายในการนั่งโดยสาร วัสดุรวมถึงคุณภาพในการประกอบถือว่าดูดีกว่ารุ่นเดิม เบาะนั่งผู้โดยสารด้านหลังนั่งสบายพื้นที่วางขากว้างขวางดี แต่พับไม่ได้เหมือนรุ่นก่อน และพื้นที่เหนือศีรษะอาจจะคับแคบไปสำหรับผู้โดยสารที่รูปร่างสูงใหญ่จากการออกแบบแนวหลังคาให้ลาดลงด้านท้ายรถ

นอกจากนี้ Honda City ใหม่ ยังเน้นเรื่องการเก็บเสียงของห้องโดยสาร ด้วยการเพิ่มการฉีดสเปรย์โฟมที่ฐานเสาตัวถัง รวมถึงเพิ่มฉนวนกันเสียงในห้องโดยสารจากรุ่นเดิมที่ไม่มีในส่วนนี้


ระบบช่วงล่างของ Honda City ใหม่ ด้านหน้าแบบแม็คเฟอร์สัน สตรัท อิสระ พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังแบบทอร์ชั่นบีม ที่ได้รับการปรับเซตมาให้เหมาะกับถนนบ้านเรา ส่วนระบบเบรกด้านหน้าเป็นดิสก์เบรก แบบมีรูระบายความร้อน ส่วนด้านหลังเป็นดรัมเบรก โดยจากการสอบถามทีมวิศวกรฮอนด้าญี่ปุ่นบอกว่าไม่ได้เน้นลดต้นทุน แต่ระบบดรัมเบรกหลังจะช่วยแรงเสียดทาน ช่วยในเรื่องอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และมลพิษ ให้ผ่านมาตรฐาน ECO Car Phase 2 แต่ระบบช่วยอื่นๆก็ยังมีมาครบเช่นเดิม


Honda City ใหม่ มาพร้อมขุมพลังเทอร์โบ เบนซิน 1.0 ลิตร VTEC TURBO แบบ 3 สูบ 12 วาล์ว ให้กำลังสูงสุด 122 แรงม้า ที่ 5,500 รอบ  แรงบิดสูงสุด 173 นิวตันเมตร ที่ 2,000-4,500 รอบ ส่งกำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ CVT 7 สปีด ที่มีการปรับปรุงระบบสายพาน ลดแรงเสียดทานในจุดต่างๆ ทำให้มีความแข็งแรงมากขึ้น โดยทางทีมวิศวกรฮอนด้าญี่ปุ่นให้ข้อมูลว่า เกียร์ลูกนี้จะสามารถรับแรงบิดได้ไม่เกิน 175 นิวตันเมตร ตรงนี้ถ้าจะนำไปต่อยอดปรับจูนก็จะมีข้อจำกัดมากกว่าเกียร์ CVT ของ Honda Civic Turbo ที่สามารถรับแรงบิดเผื่อไว้ได้มากกว่า

โดยเครื่องยนต์ตัวนี้ทางฮอนด้าได้พัฒนามาให้เข้าเกณฑ์ ECO Car Phase 2 ของบ้านเรา และผ่านมาตรฐานไอเสีย Euro 5 ถึงแม้ในบ้านเราน้ำมันเชื้อเพลิงส่วนใหญ่จะอยู่ในแค่มาตรฐานไอเสีย Euro4 ทางทีมวิศวกรฮอนด้าญี่ปุ่นบอกว่าใช้ได้ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด โดยจะมีจุดเด่นอยู่ที่เป็นเครื่องยนต์เบนซินที่ใช้ระบบฉีดจ่ายน้ำมันตรงเข้าสู่ห้องเผาไหม้ Direct Injection ที่ให้ความแม่นยำกว่า

ระบบแคมชาฟท์ Dual VTC สามารถเพิ่มหรือลดองศาของแคมชาฟท์ในการเปิดปิดวาล์วไอดีและไอเสีย และระบบแปรผันระยะยกของวาล์ว VTEC เป็นการแปรผันระยะยกของวาล์วไอดี เพิ่มการประจุไอดีเข้าสู่ห้องเผาไหม้ จะทำงานที่รอบเครื่องยนต์ช่วง 1,000 – 3,500 รอบ และยังมีอินเตอร์คูลเลอร์แบบน้ำ (Water-Cooled Type Intercooler) ช่วยระบายความร้อนอากาศจากการบูสท์ของเทอร์โบด้วยน้ำที่จะมีระยะการเดินทางของอากาศที่สั้นกว่าอินเตอร์แบบอากาศ ระบายความร้อนได้ดีกว่าที่เหมาะกับการใช้งานในเมืองที่การจราจรค่อนข้างติดขัด ทำให้อากาศที่ส่งผ่านมาจากเทอร์โบเย็นลง และมีชิ้นส่วนอุปกรณ์น้อยลง ส่งผลให้การตอบสนองของเครื่องยนต์รวดเร็วและมีประสิทธิภาพเต็มที่

ชุดเทอร์โบของ Honda City ใหม่ จะเป็นแบบ Single Scroll ของ Borg Warner มาพร้อมเวสเกตไฟฟ้า ที่จะให้การควบคุมที่แม่นยำกว่า โดยจากการสอบถามทีมวิศวกรฮอนด้าญี่ปุ่นให้ข้อมูลว่า เทอร์โบชุดนี้ถูกเซตให้ใช้ Boost ประมาณ 2 บาร์ บวกลบที่จะแปรผันไปตามการใช้งานในการขับขี่

ช่วงทดสอบ Honda City ใหม่ เครื่อง 1.0 ลิตร VTEC TURBO

สำหรับการมาทดลองขับ Honda City ใหม่ จะค่อนข้างพิเศษกว่าทุกครั้งเพราะถือเป็นกลุ่มแรกที่ทดลองขับ  Honda City ใหม่ และเป็นครั้งแรกที่ได้ทดลองขับรถยนต์ฮอนด้าในสนามทดสอบ ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จ.ปราจีนบุรี แห่งนี้ที่เป็นพื้นที่ปิดเฉพาะในการพัฒนาและทดสอบรถยนต์ฮอนด้า

หลังจากรับฟังข้อมูลบรรยายสรุปข้อมูลของ Honda City ใหม่ และแนะนำรูปแบบการทดสอบแล้ว จึงนั่งรถไปยังสนามทดสอบอย่างที่บอกไปแล้วข้างต้นว่าจะมี 2 รูปแบบ คือ สนามรอบใหญ่ กับสนามรอบเล็กด้านในที่เน้นเส้นทางโค้ง โดยรถยนต์ Honda City ใหม่ ที่ใช้ในการขับทดสอบเป็นรุ่น RS สีแดง รุ่น Top สุด

เริ่มต้นด้วยการทดลองขับ Honda City ใหม่ ในสนามทดสอบรูปวงรี (Oval Course) ระยะทาง 2.18 กิโลเมตร จะได้ขับ 2 รอบ ออกตัวก็สามารถสัมผัสถึงพละกำลังของเครื่องยนต์ 1.0 ลิตร VTEC TURBO ที่ให้แรงม้ามากสุดในรถกลุ่มนี้ 122 แรงม้า แต่ด้วยระบบเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT อัตราเร่งจึงเน้นไปที่ความนุ่มนวลต่อเนื่อง การออกตัวอาจจะไม่ได้รวดเร็วอย่างที่คิด แต่ก็จะมีเสียงเครื่องยนต์ให้ได้ยินบ้างในช่วงที่เหยียบคันเร่งลึกๆ หรือคิกดาวน์

ในการขับมีทีมงานฮอนด้านั่งไปด้วย 1 คน รวมผู้ทดสอบเป็น 2 คน ความรู้สึกในการขับ พละกำลังของเครื่องยนต์ที่หลายคนมองว่าเป็นเครื่องยนต์ความจุน้อยจะเดินทางไกล ขึ้นเขาลงห้วย ขับกันยาวได้หรือไม่ ก็ต้องบอกว่าถึงครั้งนี้จะเป็นการได้ทดลองขับในช่วงสั้นๆ 2-3 รอบสนาม แต่รับรองว่าเทคโนโลยีและพละกำลังของเครื่องยนต์ 1.0 ลิตร VTEC TURBO ไปได้ทุกที่ทุกเส้นทางแน่นนอน

อัตราเร่งที่สังเกตได้ในช่วงขับในทางตรงก็ให้ความรู้สึกไม่ได้แตกต่างจากเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตรเดิมเลย แต่รู้สึกว่าตอบสนองดีกว่าด้วยซ้ำ ซึ่งก็น่าจะมาจากระบบ VTEC TURBO ที่ทำให้การขับขี่ได้ดีโดยไม่ต้องใช้เครื่องยนต์ความจุเยอะๆ โดยอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ที่ลองจับกันเฉลี่ยแล้วก็จะได้ประมาณ 11 วินาที บวกลบ แล้วแต่น้ำหนักรูปร่างของผู้ขับขี่ สำหรับความเร็วสูงสุดทางทีมวิศวกรฮอนด้าญี่ปุ่นให้ข้อมูลว่าล็อคไว้ที่ 200 กม./ชม.

ในขณะที่การหยุดชลอความเร็วนั้น ด้วยระบบเบรกของ Honda City ใหม่ ที่ด้านหน้าเป็นดิสก์เบรก ส่วนด้านหลังเป็นดรัมเบรก ก็ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด ยังคงให้ประสิทธิภาพการเบรกได้มั่นใจ น้ำหนักการเหยียบสามารถตอบสนองตามแรงที่เราเหยียบแป้นเบรกทำได้เนียนกว่ารุ่นเดิม

อีกสิ่งที่ Honda City ใหม่ เปลี่ยนไปจากรุ่นเดิมที่ชัดเจนก็คือ การปรับเซ็ตพวงมาลัยที่มีน้ำหนักตึงมือกำลังดี ไม่เบาเหมือนรุ่นก่อน ขนาดวงและตัวพวงมาลัยจับกระชับดี ทำให้การขับขี่ในความเร็วมั่นใจขึ้น ในช่วงทางโค้งกว้างของสนามก็สามารถควบคุมรถได้มั่นใจกว่าเดิม ระบบช่วงล่างปรับเช็ตมาให้ความนุ่มหนึบกว่ารุ่นเดิม แต่ยังนั่งโดยสารได้สบาย และอีกหนึ่งเรื่องที่ Honda City ใหม่ ทำได้ดีขึ้นจากรุ่นเดิม ก็คือเรื่องการเก็บเสียงในห้องโดยสารจากการเพิ่มวัสดุฉนวนซับเสียงในจุดต่างๆ ทำให้ได้ยินเสียงรบกวนน้อยลงแบบสัมผัสได้

 

มาถึงการทดลองขับ Honda City ใหม่ ในสนามทางโค้ง (Winding Course) ระยะทาง 1.38 กิโลเมตร ซึ่งมีทั้งหมด 17 โค้ง ในสภาพพื้นผิวถนนที่จำลองสภาพถนนบ้านเรา โดยเน้นให้ได้ลองสมรรถนะของช่วงล่างและการควบคุมพวงมาลัย ซึ่ง Honda City ใหม่ ก็ทำได้น่าพอใจ การขับผ่านโค้งต่อเนื่องอาการโยนตัวก็ยังมี แต่น้อยลงจากรุ่นเดิม พวงมาลัยให้การควบคุมง่าย พละกำลังเครื่องยนต์ก็สามารถเรียกใช้ได้ต่อเนื่องในสไตล์แบบระบบเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT

ทีมงาน Auto-Thailand ขอสรุปแบบนี้ จากการได้มาทดลองขับ Honda City ใหม่ ในสนามทดสอบ ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จ.ปราจีนบุรี กับระยะทางและเวลาสั้นๆ ก็พอบอกได้ถึงสมรรนถะที่ปรับดีกว่ารุ่นเดิม ทั้งพวงมาลัยที่ควบคุมได้มั่นใจ ช่วงล่างที่ปรับมาแบบนุ่มหนึบ อาการโยนตัวน้อยลง ห้องโดยสารเก็บเสียงรบกวนได้ค่อนข้างดี

พละกำลังของเครื่องยนต์ 1.0 ลิตร VTEC TURBO ที่ให้การตอบสนองได้เท่าๆกับเครื่องยนต์ 1.5 ลิตรเดิม อัตราเร่งช่วงออกตัวถึงจะไม่ปรู๊ดปร๊าดแต่พอความเร็วลอยตัวก็สามารถเรียกพละกำลังได้พอสมควร ทั้งหมดนี้ถ้ามองข้ามกับออพชั่นหลายตัวที่ขาดหายไปถึงแม้จะเป็นรุ่น RS ที่มาพร้อมชุดแต่ง แต่ Honda City ใหม่ จะได้ความกว้างขวางของห้องโดยสาร ก็ยังน่าจะเป็นรถยนต์ซิตี้คาร์รุ่นหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามอีกรุ่น

CR : Auto-thailand.com

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่