แบรนด์รถยนต์ยิ่งใหญ่จากอเมริกา ไม่มีใครไม่เคยได้ยินชื่อ Chevrolet ผู้มาพร้อมตราสินค้าสัญลักษณ์โบว์ไทน์ สีเหลืองทองอันน่าภาคภูมิใจ แบรนด์นี้อยู่ในไทยมายาวนานกว่า 20 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งวันแรกในปี พ.ศ. 2543 จนปีนี้พ.ศ. 2563 ทางบริษัท เพิ่งประกาศ เตรียมถอนตัวจากตลาดในประเทศไทย อย่างน่าใจหาย จนหลายคนไม่วายพนักงานในบริษัทเอง งงไปตามๆ กัน

เชฟโรเล็ต ประเทศไทย เริ่มเข้ามาดำเนินกิจการขายรถยนต์ในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2543 จัดตั้ง บริษัท เชฟโรเล็ต เซลล์ ประเทศไทย ตลอดจนลงทุนสร้างศูนย์การผลิตเชฟโรเล็ตรถยนต์ ที่จังหวัดระยอง ภายใต้บริษัท เจนเนอร์รัล มอเตอร์ พาวเวอร์เทรน (ประเทศไทย) จำกัด ใช้ในการผลิตรถยนต์วางจำหน่ายในประเทศ และส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ใกล้เคียง อาทิ ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ ภายใต้แบรนด์   Holden

การเข้ามาอย่างยิ่งใหญ่ และเป็นแบรนด์ใหญ่ระดับโลก ในการทำตลาดช่วงแรก จึงได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า จนสร้างชื่อเสียงให้เชฟวี่ ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในแบรนด์แข็งแกร่งไม่แพ้ผู้ผลิตจากญี่ปุ่น

ยุคเริ่มต้น

ช่วงแรกที่เชฟโรเล็ตเข้ามาทำตลาดประเทศไทย ด้วยเล็งเห็นการเจริญเติบโตของตลาดเกิดใหม่ทางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการรวมกลุ่มในประชาคมอาเซียนอย่างแข็งแกร่ง ตลอดจนยังเป็นกลุ่มประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ นับเป็นตลาดที่น่าสนใจไม่น้อย
กิจการเชฟวี่ในไทย ลั่นระฆังฤกษ์ยามดี วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2543 เริ่มดำเนินงานอย่างเป็นทางการในไทย เอาฤกษ์เอาชัย ส่ง Chevrolet  Zafira   เข้ามาวางจำหน่าย ในฐานะรถยนต์อเนกประสงค์ในตลาด เวลานั้น ยังไม่มีการวางจำหน่ายรถอเนกประสงค์อย่าง ซาฟิร่ามาก่อน จึงได้รับความสนใจจากลูกค้า

Chevrolet  Zafira   ถือเป็นรถรุ่นสร้างบริษัท ทีแรกค่ายโบว์ไทนกะว่าจะเปิดตัวด้วย  Opel Astra แล้วเปลี่ยนตรามาขายในไทย เนื่องจากสัญญาการเป็นผู้จัดจำหน่าย  Opel ของพระนครยนตรการได้สิ้นสุดลง จากการศึกษาตลาดก่อนเริ่มดำเนินกิจการ พบว่า น่าจะขายยากเหนื่อยกับการแข่งขันเจ้าตลาดรายสำคัญ

บริษัทจึงตัดสินใจเปิดตัวด้วยรถยนต์  Compact MPV สบช่องการตลาดใหม่ยังไม่มีใครเคยเดินมาก่อน รถอเนกประสงค์ทรงพ่อบ้านในยุคเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดดเด่นด้วยฟังชั่นในการใช้งาน และช่วงล่างแบบรถยุโรป รองรับ 7 ที่นั่ง   Flex Seat   ตลอดจนยังการทุ่มทำตลาดด้วยแคมเปญดุๆ ดาวน์รถ 0%  สร้างความฮือฮามากในยุคนั้น

การเปิดตัวด้วยรถทรงพ่อบ้าน สร้างความประหลาดใจกับตลาดอย่างมาก และเชฟวี่นี่แหละครับ คือ ผู้สร้างตลาดรถยนต์ MPV (Multi-Purpose Vehicle)  ในประเทศไทย แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีรถอย่าง   Mitsubishi Space Wagon   มาขายบ้างก็ตาม ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าเชฟวี่ทำยอดขายจาก ซาฟิร่า ได้เดือนละระดับร้อยคัน จนภายหลังได้กรุยทางให้รถอย่าง  Toyota Wish ,Kia Caren  รวมถึง  Honda Stream  เข้ามาขายในไทยอย่างคึกคัก รถรุ่นเดียวกันนี้ยังส่งออกไปขายในญี่ปุ่น ภายใต้ชื่อ   Subaru Traviq  อีกด้วย

ช่วงระยะตั้งไข่ เชฟวี่ ได้ลองนำรถซีดานกลางมาจำหน่ายสั้นๆ โดยจับเอา   Holden Commodore   มาลองตลาดในไทย นับเป็นครั้งแรกที่รถซีดานกลางเครื่องยนต์ขนาดใหญ่เกิน 2.4 เข้าสู่ตลาดบ้านเรา ภายใต้ชื่อ   Chevrolet Lumina นำเข้าจากประเทศออสเตรเลียทั้งคัน (ด้วยอานิสงค์สิทธิทางภาษี) จนภายหลังส่งให้แบรนด์ญี่ปุ่นทำ รถเครื่องยนต์ใหญ่กลุ่ม  V6  มาตอบโต้ สร้าง   Honda Accord V6   และ   Toyota Camry V6   ตามออกมา

รถรุ่นนี้น้อยคนจะรู้จัก เนื่องจากยอดขายไม่เยอะมาก ชื่อเสียงของมันมาจากขนาดรถที่ใหญ่กว่าซีดานกลางญี่ปุ่นในยุคเดียวกัน ด้วยความยาว  4,896 มม. กว้าง 1,842 มม.สูง1,440 มม. ติดตั้งมาพร้อมล้อขอบ 17 นิ้ว พกจุดเด่นที่สำคัญ มันมาพร้อมเครื่องยนต์ใหญ่ที่สุดในบรรดาซีดาน ใช้เครื่องยนต์  V6   ขนาด 3.8   ลิตร ให้กำลังสูงสุด 205 แรงม้า ทำแรงบิดสูงสุด 305 นิวตันเมตร พร้อมเกียร์ออโต้ 4 สปีด

ภายหลัง ทางเชฟวี่จัดการปรับปรุงเป็นเครื่องยนต์   V6 3.6  ลิตร กำลังเครื่องยนต์ขยับเป็น 255 แรงม้า ทำแรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร ใช้เกียร์ออโต้ 5 สปีด ได้อารมณ์รถ  Muscle Car   ขนานแท้สไตล์มะกัน

เชฟวี่เอารถรุ่นนี้มาขายช่วงสั้นๆ เนื่องจากการตอบรับไม่ดีนัก ด้วยเหตุผลสำคัญเครื่องยนต์มีขนาดใหญ่กินน้ำมันอย่างกับปล้น มีรายงานจากลูกค้าว่ากินน้ำมัน 7-8 ก.ม./ลิตร ในเมือง และนอกเมืองจะดีขึ้นเป็น 10.5 ก.ม./ลิตร ในรุ่นเครื่อง 3.8 ลิตร จากที่เคยมีกระทู้ใน Pantip.com 

แถมราคารถใหม่เรียกว่าต้องรักกันจริง เป็นเนื้อคู่โดยแท้ ราคาขายเชฟวี่ตั้งไว้ที่ 1,990,000 บาท สำหรับรถนำเข้าทั้งคัน (รุ่นเครื่องยนต์ 3.6 ลิตร) รถรุ่นนี้จึงมีจำนวนไม่มากในไทย และคนซื้อส่วนใหญ่จะเป็นผู้ดีมีตระกูล ไม่อยากได้รถยุโรป เข้าใจการใช้งานรถเครื่องยนต์ขนาดใหญ่

ปีพ.ศ. 2546 (2003) เชฟวี่ ประเทศไทยเดินเกมสำคัญในตลาดบ้านเราหลังบ่มมานานด้วย Chevrolet Colorado   ใหม่ หวังเข้าถึงใจคนไทยคอกระบะทั่วประเทศ

Chevrolet  Colorado   ตัวแรกในบ้านเรา มาพร้อมเอกลักษณ์ไฟหน้า 2 ชั้น ถูกใจคนชอบรถอเมริกันไม่น้อย ทั้งที่ก็รู้ว่ารถรุ่นนี้พัฒนาร่วมกับ   Isuzu   มันใช้เครื่องยนต์ 2.5 และ 3.0  ลิตร ตอบตลาด

เชฟวี่สร้างจุดขายในกระบะเพิ่มขึ้น ด้วยการนำเสนอ กระบะขับเคลื่อน 2 ล้อ พร้อมลุยด้วยเฟืองท้ายพิเศษ  G80 Diff Lock   สามารถล็อคเพลาขับชั่วคราวเพื่อให้รถมีกำลังแรงบิดส่งไปทั้ง2 ล้อผ่านอุปสรรคง่ายขึ้น ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ใช้กระบะเชิงการพาณิชย์ที่ต้องเดินทางในถิ่นทุรกันดารแต่ไม่ต้องการซื้อรถขับเคลื่อนสี่ล้อ เนื่องจากราคาที่แพงกว่าพอสมควร

เกาหลีแปลงโฉม

ด้วยการสร้างจุดขายอย่างต่อเนื่อง ทำให้   Chevrolet   เริ่มได้รับความสนใจจากลูกค้า แม้ทุกคนจะรู้ว่า กระบะของพวกเขามาจากเพื่อนแบรนด์   Isuzu   ก็สนใจด้วยตัวเลือกทางด้านสไตล์และออพชั่นบางอย่างที่โดนใจมากกว่า

ไม่นานการปรับโฉมครั้งแรก ด้วยหน้าตาใหม่ ทอนความเป็นกระบะมะกันสร้าง กระแสให้เชฟวี่ต้องปวดหัวในการทำตลาดรถกระบะในไทยเป็นครั้งแรก จนยอดขายไม่เหมือนช่วงหน้าตาไฟ 2 ชั้นในอดีต

ยุคนี้เป็นยุคเริ่มต้นการเข้าสู่ตลาดรถนั่งอย่างเต็มตัว   GM เข้าหุ้นกับ  Daewoo  แบรนด์รถยนต์เกาหลี มานาน จนกระทั่ง วิกฤตเศรษฐกิจ ในช่วงเดียวกับบ้าน (พ.ศ. 2540) ทางแบรนด์แดวู ที่เพิ่งเข้าซื้อแบรนด์ ซังยอง ประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก จนต้องขายหุ้นให้   GM  เข้าคุมกิจการ  แบรนด์อเมริกันจึงถือโอกาสนี้สร้างวิกฤติให้เป็นโอกาส

Chevrolet Optra   เป็นรถรุ่นเบิกตลาดรถนั่งอีกครั้งให้เชฟวี่ พัฒนาภายใต้หน่วยงานวิจัยพัฒนาสังกังกัดแดวูเดิมที่ประเทศเกาหลี

ตัวรถรุ่นนี้พัฒนาวิศวกรรมทาง   GM   แต่เป็นผลงานการออกแบบจากทีมออกแบบ Pininfarina  เปิดตัวขายในรุ่น 4 ประตูก่อน ไม่นาน ทางเชฟโรเล็ตเปิดตัวรถรุ่น 5 ประตูเอสเตท ตามมาขาย ออกแบบโดย  Giorgetto Giugairo นักออกแบบรถยนต์ชาวอิตาลี ที่ทำงานกับบรรดารถซุปเปอร์คาร์ทั้งหลาย

เชฟโรเลต ออพตร้า ในประเทศไทย วางจำหน่าย 2 เครื่องยนต์ คือ 1.6 และ 1.8 ลิตร จุดเด่นสำคัญ คือสไตล์แบบรถยุโรปในราคาที่ทุกคนเอื้อมถึง แถมด้วยความเป็นรถอเมริกัน ขับแล้วมั่นใจ จนค่ายญี่ปุ่น อย่าง   Toyota  Corolla   และ Honda Civic   มีมองชำเลือง

การท้าทายตลาดด้วยรถทรงเอสเตท 5 ประตู นับว่าเป็นจุดกำเนิดรถ คอมแพ็คคาร์แฮทช์แบ๊คในไทย แม้ว่ากว่าจะนิยมก็อีกราวๆ 10 ปีผ่านมาก็ตาม เชฟวี่ได้สร้างจุดขายสำคัญไว้ให้ผู้ซื้อได้คิดถึงเสมอเมื่อมองรถรุ่นนี้

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกับออพตร้า ตลาดรถยนต์ในไทยเริ่มให้ความสนใจรถยนต์นั่งขนาดเล็ก แม้ว่าเจ้าตลาดจะเปิดเกมมาก่อน แต่เชฟวี่ก็ขอเป็นตัวเลือกกับเขาด้วย Chevrolet Aveo

เชฟโรเล็ต อาวิโอ้ ที่มาที่ไปคล้ายกับออพตร้า มันมาจาก Daewoo  Kalos  ออกแบบใหม่ โดยทาง  Ital Design   มุ่งเน้นตลาดรถยนต์ในเอเชียและตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก

เป้าหมายของเชฟวี่คือการปรับหน้าตาให้โนใจทันสมัยมากขึ้น ในต่างประเทศรถมีทั้ง 4 และ 5 ประตู แต่ในไทยขายเพียงรุ่นซีดาน 4 ประตู แข่งกับเจ้าตลาดรายสำคัญ รวมถึงแบรนด์มวยรองอย่างมาสด้า อีกต่างหาก รถเปิดตัวครั้งแรกในปี พ.ศ.2549 มีทั้งเครื่องยนต์ 1.4 ลิตร 94 แรงม้า ให้แรงบิดสูงสุด 130 นิวตันเมตร และ 1.6 ลิตร 102 แรงม้า แรงบิด 145 นิวตันเมตร ให้เลือกตามความชอบของลูกค้า พกเกียร์ออโต้ 4 สปีด ตามยุคสมัย

งานออกแบบเน้นความทันสมัยครบฟังชั่นใช้งาน ตัวรถกว้างขวางในระดับหนึ่ง ถูกใจวัยรุ่น จนสร้างยอดขายได้ไม่น้อย รถรุ่นนี้ถึงจะมีขนาดเล็กกลับมีระบบซับแรงกระแทกดีเยี่ยมขับไม่แพ้รถรุ่นใหญ่ในตลาด เรียกว่าเป็นรถเล็กที่มีช่วงล่างดีที่สุดในช่วงเปิดตัวมา เพียงแต่เครื่องยนต์กำลังน้อยไปหน่อย เมื่อบวกกับน้ำหนักตัวรถมากกว่าคู่แข่ง จึงรู้สึกอืดกว่า

ปี พ.ศ. 2550  เชฟโรเล็ต เปิดตัว  Chevrolet  Captiva   ใหม่เป็นครั้งแรกในงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ครั้งที่ 28 ( 30 มีนาคม พ.ศ. 2550) ชูความโดดเด่นเหนือชั้น ด้วยการเป็นรถอเนกประสงค์รุ่นแรก (ที่ไม่ใช่พื้นฐานกระบะ) มาพร้อม 7 ที่นั่ง ยุคนั้น มี   Honda  CR-V   ยึดหัวหาดตลาดกลุ่มนี้ และรองรับเพียง 5 ที่นั่งเท่านั้น

ตัวรถมาพร้อมเครื่องยนต์เบนซิน 2.4 ลิตร และในรุ่นท๊อปออพชั่น มีรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร เป็นทางเลือกให้ลูกค้า แถมยังมีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ  All Wheel Drive   เป็นทางเลือกให้คนที่มองหาความมั่นใจในการขับขี่ เป็นรถที่เปิดประตูให้เชฟวี่ก้าวเข้ามาสุ่โลกรถอเนกประสงค์ เจาะกลุ่มคนที่เพิ่งจะเริ่มต้นชีวิตครอบครัวกันอีกครั้ง

รถรุ่นนี้ภาพรวมไม่ได้ต่างจากรุ่นอื่นๆ มันพัฒนามาจาก  Daewoo WindStorm  วางตัวเองเป็นรถอเนกประสงค์ขนาดกลาง ไม่เหมือนรุ่นปัจจุบันที่ย่อขนาดเล็กลงอย่างที่เห็นกัน

ยอดขาย  Chevrolet Captiva   เรียกว่าเข้าขั้น สามารถดึงกลุ่มลูกค้า จาก   Honda  CR-V   ไปได้อยู่บ้างด้วยขนาดตัวรถใหญ่กว่า จำนวนการรองรับโดยสารดีกว่า ตลอดจนงานออกแบบภายนอก ดูดีมีความสปอร์ตผสมผสาน

จนผู้สื่อข่าวยานยนต์บางท่าน เรียกยุคนี้ว่า “ยุค 3 ทหารเสือ” โดยเบื้องหลัง ยังมี   Chevrolet Colorado   คอยเก็บตกยอดรถกระบะจากลูกค้าต่างจังหวัดบ้าง หากก็ไม่โดดเด่นเท่ารถนั่ง

ยุคเฟื่องฟู

ในที่สุด ก็ย่างเข้าสู่ 2010 (2553) ทางเชฟวี่มีรถ แทบจะเรียกว่าทุกไลน์อัพในตลาดประเทศ ตรงความต้องการ ใหม่บ้างเก่าบ้างคละๆ กันไป

ปี พ.ศ. 2553 กลายเป็น   Chevrolet  Optra   ถูกแทนที่ก่อนเป็นอันดับแรก ด้วยรถ   Chevrolet Cruze   ใหม่ คอมแพ็คคาร์น้องใหม่ที่พัฒนาให้มีความเป็นรถยนต์นั่งหรูมากขึ้นว่ารุ่นก่อน

ตัวรถรหัส   J300   ถูกประกาศ พร้อมวางจำหน่ายในไทย มาพร้อมเครื่องยนต์เบนซิน 1.8 ลิตร บล็อกใหม่ ตัดตนเครื่องยนต์ 1.6 ลิตรทิ้งไป และยังมีเครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร เทอร์โบชาร์จ จาก  Chevrolet Captiva   ถูกนำมาวางตอบโจทย์ลูกค้าด้วย เชฟวี่กลายเป็นเก๋งแบรนด์แรก (ที่ไม่ใช่รถยุโรป) ที่มีเครื่องยนต์ดีเซลให้ลูกค้าเลือก เสร้างความฮือฮากับตลาดประเทศไทยในเวลาดังกล่าว

ตลอดจนการพัฒนาตัวรถยังเน้นการออกแบบภายนอกที่สวยงาม ภายในดูดียกระดับจากเดิมไปอีกหลายขุม โดยเฉพาะการใช้ภายในสีทูโทนส้ม-เทา สร้างความแปลกใหม่ในตลาดรถยนต์ในเมืองไทย รวมถึงยังมีออพชั่นล้นคัน อาทิ เปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ , ปัดน้ำฝนอัตโนมัติ และระบบกุญแจแบบ Keyless   ใช้การ  Push Start   สร้างความว้าว ขณะที่คู่แข่งยังอยู่ในรถโฉมเก่า

กระแส  Chevrolet Cruze  สร้างยอดขายตามมาอย่างรวดเร็ว กลายเป็นรถยอดนิยมรุ่นหนึ่งในช่วงแรกๆ เนื่องจากคู่แข่งยังไม่มีรถรุ่นใหม่ จนกระทั่ง ช่วง 2-3 ปีหลังจากการขาย มีกลุ่มลูกค้าชี้ว่ารถมีปัญหาในการใช้งาน เกิดการรวมตัวกันในสังคมออนไลนืร้องต่อสื่อ เป็นคดีความใหญ่โต

สุดท้ายเชฟวี่เรียกลูกค้าที่คาดว่ามีปัญหาทั้งหมด 100 กว่าคัน มาตรวจสอบ โดยทีมวิศวกรของบริษัท ที่สนามแก่งกระจานเซอร์กิต ผล คือ มีเพียง 5 คัน จากจำนวนนี้ที่พบว่ามีปัญหาจริง แต่เรื่องนี้สร้างผลกระทบกับความเชื่อมั่นของรถรุ่นนี้จนยอดขายลดลง แถมคู่แข่งเจ้าตลาดยังเปิดตัวใหม่ออกมาอย่างน่าสนใจ คนจึงเทใจจากเชฟสี่กลับไปรักผู้ผลิตญี่ปุ่น

ปี 2011(2554) หลังจากตรากตรำกระบะ  Chevrolet Colorado   โฉมแรกมายาวนาน ทางเชฟวี่ก็เปิดตัวรถรุ่นใหม่   Chevrolet Colorado โฉม 2 ออกมาเอาใจลูกค้า

เทียบกับรุ่นเดิม ทางเชฟวี่ยังคงติดกับคู่หู  Isuzu  เหมือนเดิม ตัวรถออกแบบใหม่หมดจด พร้อมโครงสร้างตัวรถใหม่ที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น  การออกแบบมาในสไตล์กระบะหน้ามล โค้งกลม แตกต่างจากรุ่นเดิม แต่เสียงจากคนสนใจกระบะส่วนใหญ่กลับรู้สึกว่ามันไม่ค่อยสวนเท่าไรนัก

เครื่องยนต์ปรับเปลี่ยนมาเป็นเครื่อง   Duramax 2.5  และ 2.8  ลิตร สดออกจากเตาที่ศูนย์การผลิตเครื่องยนต์แห่งใหม่ ที่จังหวดระยอง หลังลงทุนไปมูลค่า 6,000 ล้านบาท สามารถสร้างได้ตั้งแต่เสื้อสูบจนประกอบเครื่องยนต์ได้ทั้งตัว ชุดเกียร์ ปรับมาเป็นเกียร์ธรรมดา 5 สปีด และเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด เรียกว่าเป็นกระบะที่มีการวิศวกรรมไม่แพ้เจ้าอื่นในตลาดก็ว่าได้

เชฟโรเล็ตโคโรลาโด ใหม่ ขายดีไหม ?   ก็ตอบว่าไม่ดีอย่างที่คิดนัก ด้วยเหตุผลทางด้านเครื่องยนต์เอง แม้จะพัฒนามาใหม่ แต่ด้วยการยึดบนพื้นฐานตัวเดิมเสียมาก เสียงเครื่องยนต์จึงดังสนั่นกว่าชาวบ้าน ที่ออกมาในรุ่นเดียวกัน กอปรกับช่วงดังกล่าวเริ่มเข้าสุ่ยุคการลดขนาดเครื่องยนต์แต่เชฟวี่กลับไม่ทำอย่างที่คาดนัก รวมถึงงานออกแบบ กระบะหน้ามลกลับไม่โดนใจลุกค้าอย่างที่คิด ทำได้เพียงพอถูไถไปได้บ้าง

แม้กระบะจะเดินไม่สะดวกนัก เชฟวี่ไม่รอช้ารีบแก้เกม ที่จะปล่อยหมัดเด็ดอื่นๆ อาทิ   Chevrolet  Captiva   หน้าตาใหม่ ออกมาในปี 2012 (2556) พร้อมการปรับเครื่องยนต์ให้รองรับพลังงานทางเลือก E85 ในรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน ส่วนเครื่องยนต์ปรับขยับพละกำลังเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

งานออกแบบตัวรถพัฒนาขึ้นไปอีกระดับ จนออกมาราวกับรถคนละคัน แค่เปลี่ยนหน้าตาให้ทันสมัยขึ้น แนะนำพร้อมกระจังหน้า   dual  Port   เอกลักษณ์ใหม่ล่าสุด ถ่ายทอดมาจากรถเก๋ง หน้าตาทู่ๆ บางคนอาจจไม่ชอบความเป็นปลาบู่ของมัน กลับสร้างยอดขายเป็นกอบเป็นกำ ลืมตาอ้าปากได้ เนื่องจาก ตัวเองยังเด่นด้วย ความเป็นรถ 7 ที่นั่ง มีเพียงกลุ่ม  PPV   กวดตามมาเท่านั้น

ตั้งแต่ปี 2014 จนกระทั่งจบรุ่นในปี 2017 โดยประมาณ   Chevrolet  Captiva   เล่นเกมเปลี่ยนรายปี เป็นครั้งแรก ทั้ง ไฟท้าย , กระจังหน้า การออกแบบภายใน ในบรรดารถอเนกประสงค์ ถ้านับตั้งแต่วางขายจนวันสุดท้าย น่าจะเรียกว่า มีอายุผลิตภัณฑ์ยาวนานที่สุดในตลาด จนถึงวันที่คู่แข่งมีรุ่นใหม่ๆ สู้ได้ ฆ่ามันตายคาที่ในปีหลังๆ รถรุ่นนี้วางขายมาถึงปี 2017 โดยประมาณ เท่าที่ทราบว่ายังมีค้างสต๊อกจากตัวแทนจำหน่าย นับอายุไข ก็ราวๆ 10 กว่า ปี ตั้งแต่ ครั้งแรกที่เปิดตัวในไทย

หลังเปลี่ยน เก๋งคอมแพ็ค และ อเนกประสงค์ไปแล้ว เชฟวี่เล็งเห็นว่าตลาดรถยนต์ขนาดเล็กก็เริ่มจะสู้เขาไม่ได้ เลยแนะนำ   Chevrolet Sonic   เข้ามาขาย อาศัยภาพยนตร์เรื่อง Transformer  ดันกระแสต่อยอดสร้างความน่าสนจับตัวรถ

Chevrolet Sonic เข้ามาแทนที่  Chevrolet  Aveo เดิม ออกวางจำหน่ายช่วงปี 2012 (2555)  ชูจุดเด่นด้านงานออกแบบถูกใจวัยรุ่นที่มองหารถยนต์นั่งขนาดเล็ก ดีไซน์สปอร์ต ในเวลานั้นเจ้าตลาดบางรุ่นก็หวนมาทำสไตล์เดียวกันอยู่บ้าง

มัน แนะนำทั้งรุ่น 4 ประตูซีดาน และ 5 ประตู มาพร้อมเครื่องยนต์ขนาด 1.4 ลิตร ในช่วงแรก และภายหลังจึงเพิ่มเครื่องยนต์ขนาด 1.6 ลิตร พรอ้มเกียร์ออโต้ 6 สปีด ตอบโจทย์ลูกค้า การวางจำหน่ายรถยนต์รุ่นนี้ ก็เหมือนจะเดินได้ไม่ดีเท่ารถยนต์นั่งขนาดเล็กแบรนด์อื่นๆ ทั้งที่ในช่วงเวลานั้นมีโครงการรถยนต์คันแรกจากภาครัฐบาลเข้ามาตอบโจทย์ลูกค้า แต่ Chevrolet กลับไม่ปรับตัวเอง ลดขนาดเครื่องยนต์เหมือนค่ายคู่แข่งอเมริกาอีกเจ้า ทำให้รถยนต์รุ่นนี้ที่จะเข้าโครงการรถคันแรกมีเพียงรุ่น 1.4ลิตร เท่านั้น และมันค่อนข้างอืดไปหน่อย

หากมองในภาพรวม  Chevrolet Sonic   เป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่โดดเด่นทางด้านงานออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ความสปอร์ต ที่ไม่ประสบความเร็จนักมาจากการติดตั้งเครื่องยนต์ที่ไม่ตอบสนองลูกค้า ทั้งที่เชฟวี่ มีเครื่องยนต์ 1.4 เทอร์โบ 138 แรงม้า จะยกมาขายในฐานะรุ่นก็ได้แต่ไม่ทำ เทียบกับเจ้าตลาดอัพเครื่องยนต์ใหม่  จึงกลายเป็นรถอีกรุ่นที่เป็นเพียงไม้ประดับ ทั้งที่เป็นรถที่ดีรุ่นหนึ่ง สามารถทำความเร็ว ทะลุฉียด 200 ก.ม./ชม. เป็นรุ่นแรกๆ จากที่ผมลองขับ

ประเทศไทยนิยมรถกระบะอย่างมาก รวมไปถึงรถยนต์อเนกประสงค์จากพื้นฐานกระบะ ก่อเกิดโครงการรถยนต์ PPV ของ Chevrolet เอง ออกมาเปิดตัวในปี  2013 (2556)  ภายใต้ชื่อ  Chevrolet Trailblazer

 

ตัวรถพัฒนาบนพื้นฐานกระบะเดิม แต่ปรับเปลี่ยนงานออกแบบให้ลงตัวสำหรับู้โดยสารสูงสุด 7 ที่นั่ง รวมถึงยังชูจุดขายสำคัญ ในการเป็นรถยนต์พร้อมลุย ขับเคลื่อน 4 ล้อ ช่วงแรกของการเปิดตัว ทาง Chevrolet ได้จับคุณ โชค บุญยกุล เจ้าของฟาร์มโชคชัยมาเป็นพรีเซนเตอร์ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ ด้วยความหวังว่าจะสะท้อนให้เห็นถึงรถที่พร้อมสำหรับการประสบความสำเร็จในชีวิต ต้องใช้งานหลากหลายรูปแบบ ทั้งชีวิตทำงานและครอบครัว

รถคันนี้ใช้เครื่องยนต์เดียวกับรถกระบะ ติดตั้งเครื่องดีเซลขนาด 2.5 ลิตร และ 2.8 ลิตร รวมถึงระบบขับเคลื่อนเดียวกัน เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด เทียบกับผลิตภัณฑ์ในช่วงเวลาเดียวกัน ถือว่านำสมัยกว่ามาก

แต่จุดตายของรถรุ่นนี้ อยู่ที่เครื่องยนต์ 2.8 ลิตร แม้จะมีศักยภาพมากพอสมควร ทว่าด้วยเครื่องยนต์ที่มีพื้นฐานร่วมกับ Isuzu จึงมีเสียงดับไป 3-4 ซอย ทันทีที่สตาร์ทเครื่องยนต์ออกจากบ้าน

ในช่วงเวลาเดียวกัน เข้าใจว่า Chevrolet คิดถึงความสำเร็จในวันวาน จากกลุ่มรถยนต์เอนกประสงค์พ่อบ้าน Chevrolet Zafira ประเด็นดังกล่าว ส่งให้ค่ายโบว์ไทน์ ตัดสินใจพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่เพิ่มเติม พัฒนาแล้วเสร็จในปี 2012 (2555) วางขายที่อินโดนีเซียก่อนเป็นประเทศแรก เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่รถกลุ่มนี้ในชื่อ Chevrolet Spin

ผู้ออกแบบ  Chevrolet spin  เป็นคนเดียวกับ ผู้ออกแบบ  Chevrolet Colorado เขาต้องการสื่อสารใส่ความบึกบึนลงในทรงรถครอบครัว ซึ่งไม่มีใครเคยทำมาก่อน ไอเดียนี้ดีและเป็นสิ่งใหม่ในตลาด  รถถูกผลิต ในศูนย์การผลิต เบกาซี ที่ประเทศอินโดนีเซีย แล้วอาศัยสิทธิทางภาษีจากเขตเสรีการค้าอาเซียนหอบรถเข้ามาเปิดตัวขายในไทย ในปี 2013 (2556)

มันมาพร้อมเครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.5 ลิตร พร้อมเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด เทียบกับรถกลุ่มเดียวกันในช่วงนั้น ถือว่า ให้เทคโนดลยีที่ทันสมัยกว่าคู่แข่งมาก ติดเพียงานออกแบบภายใน ด้วยความเน้นตลาดอินโดนีเซียอย่างมาก จึงมีคุณลักษณะบางประการไม่ถูกใจคนไทย เช่นเบาะนั่งคนขับสูงเต่อ เป็นต้น

เชฟโรเล็ต สปิน ขายได้ไม่ดีนักอย่างที่เชฟโรเล็ตหวังเอาไว้ ทั้งที่เคยสำเร็จจากซาฟิร่าในดีต แถมยุคนี้มองให้ดี เหมือนยุคเคราะห์กรรมเปิดตัวรถใหม่มา เหมือนจะขายได้ น่าจะไปได้ดีกลับเดินลำบาก แทบทุกรุ่น ไม่ว่า   Chevrolet Cruze ,Chevrolet Colorado , Chevrolet Sonic   หรือ   Chevrolet Spin มีเพียง   Chevrolet Captiva และ  Chevrolet Trailblazer เท่านั้น ที่พอไปวัดไปวาได้ แต่ด้วยราคารถที่แพง จึงไม่ได้สร้างยอดขายต่อเดือนเยอะมาก

ส่วน Chevrolet Cruze  ตอนหลังพยายามอึดสู้อีกครั้ง ด้วยกระจังหน้า และท้ายสุด เปลี่ยนไฟท้ายใหม่ถอดมาจาก   Chevrolet Malibu  แต่ก็ม่ได้สร้างยอดขายมากนัก เพราะคุ่แข่งรายสำคัย เปิดตัวรถรุ่นใหม่ ออกแบบมาอย่างกินขาด ก้าวล้ำไปอีกขั้น

หักดิบ

การมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทำให้ เชฟโรเล็ต ต้องสูญเงินในการสื่อสาร และทำการตลาดค่อนข้างมาก มีการคาดคะเนจากผู้สื่อขาวในช่วงนั้นว่า การมีหลายรุ่น อาจไม่สร้างผลดีกับแบรนด์อย่างที่ Chevrolet หมายหมั้นปั้นมือเอาไว้ เรื่องนี้ในมุมหนึ่งก็ถูกวิเคราะห์ว่า อาจะเป็นการประสบความสำเร็จครั้งสำคัญของแบรนด์อเมริกาจากการมีรถหลายรุ่น  จนถึงขนาดมีข้อมูลชี้ว่า บริษัทขอยื่นลงทุนรถ Eco car ระยะที่ 2 จะนำรถเล็กกว่า โซนิคเข้ามาขาย

จนกระทั่งปี 2015 (2558) ทาง เชฟโรเล็ต ก็โผลง ออกมาประกาศยุติการจำหน่ายรถยนต์นั่งกลุ่ม  Passenger  ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2558 การประกาศถอนตัว จากรถนั่ง ส่งให้โรงงานไม่ผลิต   Chevrolet Sonic และ  Cruze   อีกต่อไป ขายเท่าที่มีอยุ่ในสต๊อค ซึ่งคาดว่าจะหมด ในปีเดียวกัน

นอกจากนี้ผลพวงการตัดสินใจดังกล่าวจากเมืองนอก ยังสั่งปิดศูนย์การผลิตเบกาซี ในประเทศอินโดนีเซีย หลังจากเริ่มทำงานได้เพียง 2 ปี ตัดตอนรถ  Chevrolet Spin  ไปด้วย

ท่าทีดังกล่าวนับเป็นท่าที่แข็งกร้าวเปรียบดั่งฟางเส้นแรก ชี้ว่าแบรนด์เชฟโรเล็ตที่มั่นคงใหญ่โตในอเมริกาอาจไม่ได้สตรองแบบที่หลายคนคิดอีกต่อไป ในมุมสื่อหลายท่านลงความเห็นว่าการตัดสินใจเลิกขายไปเลย  แม้จะเหมือนว่าดี ง่ายสะดวกในการทำตลาด กลับกัน ก็เหมือนมัดมือชกให้ตัวเองไปด้วย แทนที่จะมีโอกาสขึ้นสังเวียนอื่นๆ กับเขาบ้าง ถึงจะเป็นไม้ประดับ ก็สร้างยอดขายทำกำไรอยู่

หลังการประกาศสำคัญ ก็เหมือนเป็นปีชง เชฟวี่ เมื่อค่ายเจ้าตลาดปรับ กระบะรุ่นใหม่มาขายอย่าง   Toyota Hilux Revo   รวมถึงค่ายพันธมิตร อีซูซุเอง ก็ปรับเครื่องยนต์ใหม่เปลี่ยนมาเป็นดีเซล 1.9 ลิตร ในปีเดียวกัน  จนประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม รวมถึง   Mitsubishi  ก็แนะนำกระบะรุ่นใหม่เข้าทำตลาด

ท่าทีอีซูซุ ที่มาพร้อมเครื่องยนต์ใหม่ กลับกันเชฟโรเล็ตยังใช้เครื่องเดิม ทั้งที่พัฒนาร่วมกันมาตั้งแต่ต้นจนรู้กันดีในหมู่ผู้เล่นรถ ทำให้เกิดข้อสงสัยในสายสัมพันธ์พันธมิตรแนบแน่นนานนับ 10 ปี จนกระทั่งปี 2016( 2559) สำนักข่าวดัง Reuter ก็ออกมารายงานว่  เชฟโรเล็ต และอีซูซุตัดสินใจ จบความสัมพันธพัฒนากระบะอันยาวนาน

สาเหตุการสะบั่นความสัมพันธ์มาจากทางเชฟโรเล็ตเองต้องการพัฒนารถกระบะให้ตรงใจกับผู้บริโภคมากขึ้น ไม่ได้เป็นเบี้ยล่างเปลี่ยนตราทาปากจากอีซูซุ หลังข่าวดังกล่าวไม่นาน  Chevrolet  ก็เผยโฉม   Chevrolet Colorado   ใหม่ ในวันที  28 เมษายน พ.ศ. 2559

chevrolet- colorado-2017 (2)

รถรุ่นใหม่ออกแบบมาเป็นสไตล์อเมริกันพันธ์แกร่ง หน้าตารถดูน่าสนใจมากขึ้น มีการปรับปรุงรายละเอียดต่างๆ อาทิ  โฟมซับเสียง กระจกหน้าหนาขึ้น , ระบบความบันเทิงใหม่ล่าสุด ออพชั่นใหม่ๆ  Remote Engine Start งานออกแบบภายนอกภายในใหม่หมด สร้างความน่าสนใจ

แถมงวดนี้เดินเกมเครื่องยนต์เดียว 2.5 ลิตร ทิ้งเครื่องยนต์ 2.8 ลิตร เจ้าปัญหา ให้เป็นเพียงขุมพลังในตำนานและส่งออกไปยังต่างประเทศเท่านั้น ชุดเกียร์ธรรมดา พัฒนาเป็น 6 สปีด ตามยุคสมัย เกียร์ออโต้ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

chevrolet- colorado-2017 (4)

การเหลือเครื่อง 2.5 ลิตร เพียงรุ่นเดียว เชฟวี่จึงพัฒนากำลังดีขึ้นตอบโจทย์เอาใจลูกค้า ใช้กลยุทธ์กับมิตซูบิชิเดิม ในอดีต ก่อนปรับรุ่นปรุงโฉม

ปีถัดมา(2017 /2560) ก็เป็นคิว  Chevrolet Trailblazer   ใหม่ ปรับรุ่นปรุงโฉมตามกระบะ  เป็นไปตามความคาดหมายของหลายคน รายละเอียดตัวรถน่าสนใจในงานออกแบบมากขึ้น ออพชั่นดีขึ้นจนลงตัวกว่าเดิม

Chevrolet-Trailblazer-Z71008

แม้จะมีการเปลี่ยนแปลง แต่เชฟวี่ต้องเจอศึกหนักจากคู่แข่งในตลาดที่เดินเกมดุ ในตลาดรถทั้ง 2 กลุ่มนี้ ก็มีการแข่งขันสูงในช่วงเวลาดังกล่าว

ยุคแปรธาตุ

หลังจากการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในรถทั้ง 2 รุ่นที่วางขาย ทางเชฟโรเล็ต เข้าสู่ยุคการเล่นแรแปรธาตุ มุ่งเนนำเสนอรถยนต์   Edition  พิเศษ ต่อเนื่อง สีใหม่บ้าง เพิ่มชุดแต่งบ้าง สติ๊กเกอร์บ้าง ไม่ได้มีรถรุ่นใหม่ หรือ ปรับปรุงอะไรใหม่ ทีออกมาว้าวโดนใจลูกค้า

แถมกระบะมีการแข่งขันดุเดือด อย่างเอาเป็นเอาตาย จากเจ้าตลาด ทางเชฟโรเล็ต ไม่ได้สร้างจุดขายใหม่ ให้ผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะทั้ง   Chevrolet Colorado   หรือ   Chevrolet Trailblazer  เมื่อรถไม่มีอะไรใหม่ ลูกค้าก็ไม่สนใจ และไม่มีการใช้เครื่องมือทางการตลาดสร้างความสนใจให้ลูกค้า

ในวาระสำคัญ 100 ปี กระบะเชฟโรเล็ต กลับไม่มีอะไรใหม่ นอกจากกระบะปัจจุบันที่เปลี่ยนตรา และตบแต่งเล็กน้อยให้ดูพิเศษขึ้น ซึ่งจูงใจได้เพียงเฉพาะกลุ่ม

 

Test Drive Chevrolet Colorado Storm
Test Drive Chevrolet Colorado Storm

ขณะที่คู่แข่งรายสำคัญ Ford   เองก็เปิดตัวออกมาด้วยรถที่ดูโดนใจลูกค้ากว่า และ 2 ปี (2018) ให้หลัง มีเครื่องยนต์ใหม่เข้าทำตลาด แถมไพ่ตายค่ายนี้คือการเปิดตัว  Ford Ranger Raptor เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 ยิ่งสร้างกระแสความสนใจแก่ลูกค้า

รถพร้อมลุยจากโรงงานเป็นเรื่องใหม่ สำหรับตลาดประเทศ จนลูกค้าตัวจริงหลายคนจับจองซื้อ เพราะของเล่นในรถคันนี้ครบครัน แถมราคาขายแม้จะแรงแต่ก็คุ้มค่า ยิ่งทิ้งให้เชฟวี่นั่งตบยุงในโชว์รูม ขณะที่ กระบะรุ่นอื่นๆก็ทยอย ออกมาปรับรุ่นปรุงโฉมต่อเนื่องไปเรื่อย แล้วอาศับกระบวนการทางตลาดเข้าช่วยลูกค้า ให้เป็นเจ้าของ

ความหวังใหม่….

ถ้าเป็นสตาร์วอร์ นี่ก็เหมือนเป็นภาคที่ต้องมีตัวเอกใหม่เข้ามาเพิ่ม สิ่งที่เชฟวี่หนีไม่พ้นโปรดักส์ใหม่ โดยเฉพาะหลังเลิกทำ   Chevrolet captiva  รุ่นเดิมไปหลายปี

ความเฟื่องฟูตลาดอเนกประสงค์   Chevrolet  ตัดสินใจจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามาขาย ลูกค้าต่างตั้งหน้าตั้งตารอตามข่าวจนกระทั่ง งาน   Bangkok Motor Show   ปี พ.ศ. 2562 รถรุ่นนี้เปิดตัวหน้าค่าตา

มันเป็นผลผลิตขลูกผสมจากการจับมือค่ายจีน SAIC ภายใต้แบรนด์ Baojun จากประเทศจีน  ถึงจะไม่เพอร์เฟค ตามที่เราฝันจะเห็น แต่ก็เป็นรถในความหวังของบ้านอเมริกัน ในขณะที่คู่แข่งรายสำคัญไม่มีรถกลุ่มนี้

การทำตลาด ใช้ชื่อ   Chevrolet Captiva   ในอดีต หวังว่าชื่อเสียงเดิมจะช่วยกอบกู้ แต่กลายเป็นลูกค้าคาดหวัง สิ่งที่เชฟวี่นำเสนออย่างมาก เพราะรุ่นเก่าทำไว้ดีมากจนคนยังอยากได้อเนกประสงค์สไตล์ดังกล่าว พอเปิดขายจริง ราคากลับปั่นลงไปเป็นรถคุ้มค่า ชุจุดเด่น 7 ที่นั่ง ทุกคนรู้ว่า นี่ไม่ใช่เชฟเดิมที่พวกเขารู้จัก มันสมควรเป็นรถหรูราคาไม่แพงเกินเอื้อมขับดีมั่นใจ

แถมการวางตลาดแบบเสียบกลางระหว่าง Subcompact Crossover และ   Compact crossover  ยิ่งทำให้มีคู่แข่งจำนวนมากต้องฟาดฟัน ลูกค้ามีตัวเปรียบมาก จนยอดเดินลำบาก ประกอบกับด้วยปัจจัยเศรษฐกิจรอบด้าน และแถมมีผู้พร้อมเซ้งโรงงานศูนย์การผลิตในไทย ทั้งหมดเราคิดว่า เป็นอีกประเด็นสำคัญ ที่ทำให้ GM ถอดปลั้กประเทศไทย และ รวมถึงในแถบภูมิภาคย่านนี้ ในที่สุด

20 ปี  Chevrolet  บนเส้นทางอุตสาหกรรมยานยนต์ และการวางจำหน่ายในประเทศไทย การประกาศยุติการขายภายในปีนี้ ทำให้เรารู้สึกใจหายเหมือนกัน ที่ผ่านมา  Chevrolet  ไม่ใช่รถที่ไม่ดี หรือเป็นรถที่มีปัญหา สมรรถนะรถดีเยีย่ม ออพชั่นหลายครั้งมาคุ้มค่า

ทั้งหมดอาจเป็นเพียงเรื่องปัจจัย จังหวะ รวมถึงมุมอง และการทำตลาด ที่ทำให้ วันนี้ เป็นข่าวร้าย เชฟโรเล้ต ประเทศไทย จะปิดตัวลงในสิ้นปีนี้

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่
Tags: