ในการขับขี่ทุกวันนี้เราต่างเสียงอย่างมาก ต่อภัยบนถนน ถ้าเราขับไม่ชนคนอื่น โดยมากคนอื่น ก็จะขับมาชนเรา แต่หลายครั้งหลายหน เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วหลายคนจะยังไม่ทราบว่าเราสามารถเรียกร้องอะไรได้บ้างจากคู่กรณี

การประกันภัย เป็นธุรกิจดูแลความเสี่ยงแทนเรา แต่เมื่อเรากลายเป็นฝ่ายเสียหาย ในวันนี้ผมจะพาเพื่อนๆ มาสำรวจว่า คุณสามารถเรียกร้องอะไรได้จากกระบวนการประกันภัยของคู่กรณี

1280px-Japanese_car_accident

1.ค่าเสียหายต่อยานพาหนะ เมื่อเกิดการชน แน่นอน เราทุกต่างทราบดีกว่า เราสามารถเรียกร้องค่าเสียหายยานพาหนะที่เราขับได้จากคู่กรณีของเรา

เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ประกันภัยของคู่กรณีจะออกใบเคลม เพื่อระบุยืนยันการเกิดอุบัติเหตุ และส่วนที่รับผิดชอบมาให้เบื้องต้น จากการสำรวจของพนักงานสำรวจอุบัติเหตุ เพื่อนำไปเคลมซ่อมในภายหลัง

การเรียกร้องค่าเสียหายต่อยานพาหนะ สามารถทำได้ 2 รูปแบบ คือ

1.ซ่อมที่อู่ที่ทางประกันภัยคู่กรณีกำหนด อาจจะเป็นอู่ในเครือของประกันภัยเอง ที่จะมีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ

2.เรานำรถมาซ่อมเองในอู่ที่เราต้องการ แต่การกระทำเช่นนี้จะต้องมีการคุมราคา หรือสอบราคาในเบื้องต้น ซึ่งคุณต้องทำการจัดแจงรายละเอียดที่คุณจะซ่อมไปให้บริษัทประกัน เพื่อประเมินราคาในเบื้องต้นก่อนซ่อมส่วนที่ได้รับความเสียหาย

โดยทางบริษัทคู่กรณีจะขอดูความเสียหายรถ ที่สำนักงานใกล้ที่สุด (ในกรณีที่รถสามารถขับคลื่อนได้) หรือที่อู่กรณีได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ  เพื่อถ่ายรูปและบันทึกความเสียหาย ก่อนนำมาพิจารณาว่าค่าซ่อมที่เราส่งไป เหมาะสมหรือไม่

2.ค่าเคลื่อนย้ายรถที่เกิดอุบัติเหตุ ในกรณีที่รถเราเกิดอุบัติเหตุจนไม่สามารถขับเคลื่อนได้ต่อไป เป็นหน้าที่ของบริษัทประกันภัยคู่กรณี ที่จะต้องเคลื่อนย้ายรถของเราไปยังสถานที่ซ่อม โดยที่เราไม่ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายล่วงหน้า (ย้ำว่า ไม่ต้องจ่ายใดๆ) ดังนั้นถ้าบริษัทประกันบอกให้คุณออกค่าใช้จ่ายยกรถไปก่อน อย่าไปเออออห่อหมกทีเดียวเชียว

3.ค่ารักษาตัว ในกรณีที่คุณเกิดอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย ประกันภัยของคู่กรณีมีหน้าที่จะต้องเยียวยาคุณจนกว่าจะรักษาหายดีเป็นปกติ ในกรณีที่มีการรักษาต่อเนื่อง เช่นกระดูกหักหรือต้องทำกายภาพบำบัดหลังอุบัติเหตุ สมควรของใบรับรองแพทย์ เพื่อชี้แจงกับประกันภัยคู่กรณีว่าคุณต้องรับการรักษาต่อเนื่องจากเหตุดังกล่าว

ตลอดจนยังรวมถึง ในกรณีที่คุณขาดรายได้ อันเนื่องมาจากต้องรักษาตัวจากอุบัติเหตุ สามารถเรียกร้องได้ตามสมควร แต่การชดเชย อาจจะอยู่ในดุลยพินิจของบริษัทประกันนั้นๆ (แน่นอนว่า จะต้องมีการต่อรองเกิดขึ้น)

4.ค่าทำขวัญ ค่าทำขวัญมีลักษณะคล้ายกับค่ารักษาตัวทางกาย แต่ค่าสินไหมส่วนนี้ใช้เยียวยาทางใจ โดยบริษัทประกันภัยคู่กรณีมีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนนี้ ซึ่งคุณอาจจะเรียกร้องไปก่อน เพื่อไม่ให้เสียสิทธิในการรับค่าทำขวัญ จากการเกิดอุบัติเหตุ

5.ค่าขาดประโยชน์จากรถยนต์ของเรา ค่าขาดประโยชน์เป็นค่าสินไหมทดแทนในรูปแบบการชดเชยต่อทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ นอกเหนือจากค่าเสียหายต่อรถ

ค่าขาดประโยชน์สามารถเรียกร้องได้ เมื่อเกิดการเสียประโยชนืในการใช้รถ เช่นคุณต้องเดินทางเข้าไปทำงานทุกวัน แต่เมื่อไม่มีรถทำให้การเดินทางคุณไม่สะดวก อาจจะจำเป็นต้องใช้บริกแท็กซี่ หรือเช่ารถมาใช้แทนเป็นการชั่วคราว

การขาดประโยชน์จะไม่สามารถเรียกร้องได้ กรณีมีรถทดแทนให้คุณใช้ชั่วคราว เนื่องจากถือเป็นการรับผิดชอบแล้วอย่างหนึ่ง แต่ถ้าไม่มี คุณสามารถเรียกร้องได้ตามสมควร เช่น คุณทำงานอยู่สีลมขับรถไปกลับทุกวัน ถ้ารถคุณโดนชนเดินทางไม่สะดวก ต้องนั่งรถแท็กซี่ สมมุติไปกลับเที่ยวละ 300 บาท วันละ 600 บาท รถต้องซ่อม 5 วัน จนแล้วเสร็จ บ.ประกันภัยมีหน้าที่ชดเชยให้คุณ 3,000 บาท เป็นต้น

ปัจจุบัน คปภ. กำหนดให้ บริษัทประกันภัยต้องชดเชยค่าขาดประโยชน์ขั้นต่ำวันละ 500- 1,000 บาท เป็นกฎหมายใหม่ที่เพิ่งจะมีการบังคับใช้

6.ค่าเสียหายต่อทรัพย์สิน ทรัพย์สินภายในรถใดๆ ถ้าได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ หรือ เกิดสูญหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว สามารถขอเรียกร้องได้ตามสมควร  แต่โดยมาก บริษัทประกันภัย จะนำเรื่องค่าเสื่อมสภาพมาเป็นส่วนพิจารณาด้วย เช่น โทรศัพท์  S10   พังจนไม่สามารถใช้งานได้ จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ถ้าคุณไปขอให้ชดเชยค่าเสียหายต่อทรัพย์สิน จะไม่มีทางได้ราคาเครื่องใหม่ เนื่องจากมีการใช้งานมาแล้ว ก่อนจะเสียหาย แถมบางทีอาจจะต้องมาพิสูจน์เรื่องความเป็นเจ้าของ ซึ่งค่อนข้างยุ่งยากสักหน่อย

7.ค่าเสื่อมราคา ในกรณีรถเราถูกชนหนัก แต่บริษัทประกันคู่กรณีไม่ตีเป็นสูญเสียทั้งหมด เนื่องจากอาจจะประเมินว่าซ่อมได้ เรามีสิทธิในการขอเรียกค่าเสื่อมราคารถที่เราใช้

Lamborghini Urus ขายซาก

ค่าเสื่อมราคาคือ การเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยของคู่กรณี ชดเชยการเสื่อมราคาขายรถของเรา ซึ่งอาจได้รับการประเมินราคาต่ำกว่าราคาขายที่ควรจะเป็น เมื่อเทียบเคียงกับรถยนต์รุ่นและปีเดียวกัน

ปกติแล้วการเรียกค่าเสื่อมราคาไม่ค่อยมีใครทำ เนื่องจากไม่นึกถึง รวมถึงส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่กรณีรถได้รับความเสียหายมาก แต่กรณีรถเสียหายมาก คุณอาจจะลองพิจารณาเรียกร้องต่อบริษัทประกันคู่กรณี ซึ่งโดยมากจะต้องมีการไปพิสุจน์สู้คดีในชั้นศาล

อาจจะต้องมีการขอความรู้จากผู้เชี่ยวชาญรถมือสองมาประเมินราคา หรือประจักษ์พยาน เพื่อพิสูจน์ทราบว่า รถคุณเมื่อขายแล้วจะมีการเสื่อมราคากว่าปกติ ซึ่งอาจใช้เวลานานในการพิสูจน์ แต่คุ้มค่าที่จะดำเนินการ เนื่องจากเราเสียประโยชน์จากการประมาทเลินเล่อของคู่กรณี

รถชนหรือเกิดอุบัติเหตุไม่ใช่เรื่องสนุกเลย การเรียกร้องค่าเสียหายต่อบริษัทประกันถือเป็นเรื่องและสิทธิที่เราควรได้ ซึ่งคุณควรศึกษาเอาไว้ เพื่อรักษาสิทธิที่เราพึงได้ครับ

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่