การจราจรที่วุ่นวายในปัจจุบัน เราจะพบว่า มีผู้ขับขี่มากมายขับขี่รถไม่ระมัดระวัง ทั้งอาจจะยังทำตัวไม่เคารพกฎหมาย ความวุ่นวายเหล่านี้ อาจไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่ายก็จริง หากก็มีวิธีห้ามปราม หรือป้องปรามไม่ให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน

ในสังคมไทย “แตรรถยนต์” ถูกมองว่า เป็นการเสียมารยาทถ้าจะบีบใช้งาน หรือมองว่าคนที่บีบแตรบ่อยๆ เป็นคนที่ป่าเถื่อนเลือดร้อนในการขับขี่ ทั้งที่การบีบแตรก็ไม่ได้ถูกห้ามตามกฎหมาย เพียงแต่ต้องใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ด้วย

อุปกรณ์ “แตรรถยนต์” ถูกติดตั้งเข้ามาด้วยเหตุผลทางด้านความปลอดภัย โดยการส่งสัญญาณเสียงเพื่อบอกเตือน ผู้ร่วมทาง คนเดินเท้า หรือการกระทำอื่นใด ให้สามารถรับรู้ได้ถึงภยันตราย ที่อาจจะมาถึงตัวเขา เช่นเดียวกันยังห้ามปรามพฤติกรมอันตรายที่อาจถึงคุณด้วยเช่นกัน

ตามข้อมูล พระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ระบุไว้อย่างชัดเจนใน หมวด 2 การใช้ไฟและเสียงสัญญาณ ในมาตรา 12 ระบุว่า รถแต่ละชนิดในทางเดินรถต้องใช้เสียงสัญญาณโดยเฉพาะ โดยในข้อย่อย 1. ระบุว่าให้มี เสียงแต่สำหรับรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ และได้ยินในระยะ 60 เมตร

ส่วนหลักการใช้ได้กำหนดไว้ในมาตรา 14 ระบุว่า การใช้สัญญาณแตร สามารถกระทำได้ เมื่อจำเป็น หรือ ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุเท่านั้น  แต่จะใช้เสียงยาว หรือซ้ำเกินควรไม่ได้

ดังนั้นในการใช้แตรบนความเป็นจริง ตามหลักแล้วสามารถทำได้ โดยไม่ได้เป็นการเสียมารยาทแก่ผู้ขับขี่ท่าน หรือเป็นการรบกวนคนอื่นอย่างที่เข้าใจ ถ้าใช้อย่างเหมาะสม และถูกต้อง

ตามหลักความเป็นจริงแล้ว แตร ควรจะใช้อยู่ 2-3 กรณี สำคัญ ได้แก่ 

1.ป้องกันอุบัติเหตุ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยให้สัญญาณแตรเพื่อเตือนคนอื่นถึงการมาของคุณ อันอาจจะเป็นอันตรายต่อคนอื่น อาทิ ขับข้ามแยกในเวลากลางคืนที่รถโลก ซึ่งอาจมีรถตัดสินใจฝ่าไฟแดง เนื่องจากเห็นว่าถนนโล่งเป็นต้น

2.เตือนเพื่อนร่วมทางถึงการกระทำผิดกฎจราจร ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณหรือเพื่อร่วมทางคนอื่น เช่น การจอดรถในระยะ 50 เมตร จากทางร่วมทางแยก ถือเป็นการกีดขวางการจราจร ทำให้คุณไม่สามารถเดินทางต่อ และกีดขวางเพื่อนร่วมทางคนอื่น คุณสามารถบีบแตร เพื่อ เตือนคันข้างหน้า ได้ โดยไม่ถือว่าคุณผิด

หรือ เช่นเดียวกัน ถ้าคุณพบรถขับช้าชิดขวา แล้วคุณแซงไป โดยบีบแตรเตือนอย่างเหมาะสม ก็ไม่ถือว่าเป็นการผิดกฎหมาย หรือเสียมารยาทแต่อย่างใด

3.ใช้เพื่อเตือนเพื่อนร่วมทาง ว่าอาจจะเป็นต้นตอของอุบัติเหตุ เช่น ขับรถมาปรากฏมีรถจะพุ่งออกจากซอย คุณสามารถหักหลบก่อน แล้วบีบแตรให้สัญญาณก็ได้ครับ

บางครั้งอุบัติเหตุอาจเลี่ยงได้ ด้วยการใช้สัญญาณแตร

อย่างไรก็ดี การใช้แตรก็ไม่ใช่ว่าจะบีบก็ใช้ ต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่

1.สถานที่ มีสถานที่บางแห่ง ที่เดิมทีกฎหมายรองรับว่า เป็นสถานที่งดใช้เสียงแตร ประกอบด้วย วัด ,โรงเรียน,โรงพยาบาล,เขตพระราชฐาน และสถานที่อื่นๆ ที่มีการตั้งป้ายเขตห้ามใช้เสียงแตรกำหนดเอาไว้

2.การบีบแตร ควรทำก่อน หรือหลัง การบังคับรถเท่านั้น ไม่ควรทำไปพร้อมกัน เนื่องจากจะทำให้เกิดการอันตราย และเสียการควบคุมได้ง่ายกว่า เนื่องจากการบีบแตรต้องใช้มือข้างหนึ่งดแป้นแตร อีกข้างจับพวงมาลัย จะทำให้ไม่สะดวก ต่อการบังคับทิศทางรถ

3.จังหวะการกดแตร การกดแตร ไม่ควรกดเป็นเสียงลั่นยาวๆ แต่ควรกดเป็นจังหวะ เช่น ปิ้น ปิ้น … หรือ ปิ้น ..ปิ้น ..ปิ้น ซึ่งดูน่าฟังกว่า และไม่ดูเป็นการเสียมารยาทกับเพื่อนร่วมทาง

“แตรรถยนต์” สามารถใช้ได้ และมีกฎหมายรองรับ และแนะนำให้ใช้ ไม่ใช่อย่างที่หลายคนคิดว่า การบีบแตรเป็นการเสียมารยาทแก่เพื่อนร่วมทาง อันที่จริงแล้วการใช้แตรอย่างถูกต้อง นอกจากจะป้องกันเหตุ หรืออุบัติเหตุที่อาจจะเกิดกับเราแล้ว ยังสามารถช่วยสร้างเสริมวินัยการจราจร  ให้คนที่ทำผิดกฎจราจรสำนึกในการกระทำเสียบ้าง 

ที่มา พรบ.รถยนต์ , พรบ.การจราจรทางบก ประกอบในประกาศ ราชกิจจานุเบกษา

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่