เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ก่อนที่รถยนต์คันหนึ่งจะถูกส่งมาวางจำหน่ายให้ลูกค้าได้เลือกซื้อกัน มันก็ต้องถูกทำให้ผ่านกฏหมาย หรือข้อบังคับโดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของภาครัฐก่อน แต่ดูเหมือนว่ามันอาจไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Tesla Model 3 Refresh ในออสเตรเลีย

ก่อนอื่น การขายอย่างผิดกฏหมายของ Tesla Model 3 Refresh ในประเทศออสเตรเลีย ครั้งนี้ ไม่ใช่กรณีที่เกิดขึ้นก่อนวางขาย แต่เป็นกรณีที่วางจำหน่ายไปแล้ว มีการส่งมอบรถให้กับลูกค้าไปแล้ว แต่ทางภาครัฐพึ่งได้รับการร้องเรียน และนำรถมาตรวจสอบอีกครั้ง แล้วจึงพบว่ามันไม่เป็นไปตามกฏ “Australian Design Rules” (ซึ่งเป็นกฏเดียวกันกับที่ MG5 เคยบอกว่าผ่านกฏหมายนี้แบบไม่ติดขัดใดๆ)

โดยความผิดปกติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ไม่ใช่ประเด็นในเรื่องของชิ้นส่วนโครงสร้างที่เปราะบาง หรือการติดตั้งชิ้นส่วนที่ผิดปกติ แม้แต่ระบบซอฟท์แวร์ตัวรถที่ให้มา ก็ไม่ได้มีสิ่งใดที่ดูสุ้มเสี่ยง ในมุมกฏข้อบังคับข้างต้น

แต่เป็นเพราะตามกฏข้อบังคับข้างต้น ระบุว่า “เบาะหลังของรถยนต์ทุกคัน จะต้องมีจุดสำหรับให้ตะขอเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือ Car Seat ไว้เกี่ยว ครบทุกตำแหน่ง”

ทว่าตัวรถ Tesla Model 3 Refresh ที่ถูกยื่นจดทะเบียนการขายว่าเป็น “รถยนต์โดยสาร 5 ที่นั่ง” ซึ่งหมายความว่า เบาะแถวหลังจะต้องนั่งได้ 3 คน กลับมีจุดให้เกี่ยวตะขอเบาะ Car Seat เพียง 2 ตำแหน่งเท่านั้น นั่นคือในฝั่งผู้นั่งที่อยู่ด้านซ้ายและด้านขวา

อย่างไรก็ดี จากการสอบสวนเพิ่มเติม กลับพบว่า จริงๆแล้วตัวรถ Model 3 Refresh ยังคงมีจุดเกี่ยวตะขอเบาะ Car Seat หลังเบาะมาให้ ทั้ง 3 จุดตามเดิม เหมือน Model 3 ตัวแรกที่ขายก่อนหน้านี้มาตั้งแต่ปี 2019 ถึง ปลายปี 2023 (เพราะโดยหลักแล้ว มันก็ยังใช้โครงสร้างที่ต่อยอดกันมา)

แต่นั่นก็ยังถือว่าผิดกฏข้อบังคับอยู่ดี เพราะจุดเกี่ยวตะขอเบาะฯ สำหรับที่นั่งตรงกลางเบาะแถวหลังที่ว่า ดันซ่อนอยู่ใต้แผ่นปิดแผงหลังเบาะ โดยไม่มีการทำช่อง หรือ ฝาเปิด-ปิดใดๆเอาไว้ ให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้เลย เว้นเสียแต่ว่าจะเลาะแผ่นปิดออกทั้งแผง ต่างจากตัวรถรุ่นก่อนหน้าที่ยังมีมาให้อยู่

ซึ่งนั่นทำให้มันผิดกฏที่ว่า “ขอเกี่ยวเบาะ Car Seat จะต้องสามารถใช้งานได้ง่าย โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องหาอุปกรณ์ใดๆมางัดแงะเพื่อใช้งาน”

โดยสาเหตุที่ทางภาครัฐและหน่วยงานด้านความปลอดภัยสำหรับการใช้รถใช้ถนนของประเทศออสเตรเลีย ให้ความสำคัญกับจุดยึดเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือ Car Seat ตรงกลางเบาะแถวหลัง เป็นเพราะเมื่อมองในมุมความปลอดภัยแล้ว มันคือตำแหน่งที่จะช่วยลดความเสียหาย จากการปะทะรอบด้านได้ดีที่สุด โดยเฉพาะกับการปะทะทางด้านข้างตัวรถทั้งสองฝั่ง

และเนื่องจากตัวรถ Tesla Model 3 Refresh ได้มีการวางจำหน่าย และส่งมอบให้กับลูกค้าชาวออสเตรเลียมาตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม จึงทำให้ทางแบรนด์ต้องประกาศเรียกรถยนต์ของลูกค้ากลับมา เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งแม้จะยังไม่มีการระบุวิธีแก้ไขที่แน่ชัดออกมา แต่ก็คงหนีไม่พ้นการเปลี่ยนฝาปิดแผงด้านหลังผู้โดยสารแถวสองใหม่ ให้มีช่องสำหรับเปิดไว้เอาตะขอเบาะ Car Seat เกี่ยวได้ง่าย ก็เท่านั้น

หรือไม่เช่นนั้น ทาง Tesla ก็อาจจะเลือกขอเปลี่ยนทะเบียนการขายตัวรถ Model 3 รุ่นใหม่นี้ จาก 5 ที่นั่ง เป็น 4 ที่นั่ง แทน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาวุ่นวาย ออกแบบชิ้นส่วนใหม่ ซึ่งอาจจะดูไม่น่าเปลืองงบเท่าไหร่ แต่ถ้ามองดีๆก็อาจจะต้องเปลี่ยนกันทั้งไลน์ผลิตหลังจากนี้ไปเลยก็ได้ เหมือนอย่างที่ Honda ตัดสินใจจดทะเบียน HR-V ให้เป็นรถยนต์ 4 ที่นั่งตั้งแต่แรก จะได้ไม่ต้องมาวุ่นวายในการทำจุดยึด Car Seat ในตำแหน่งที่เป็นประเด็นอยู่ตอนนี้

ทั้งนี้ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดกรณีในลักษณะดังกล่าวขึ้น แต่ก่อนหน้านี้ เมื่อกลางปี 2022 ตัวรถ BYD Atto 3 ก็เคยผิดกฏในลักษณะเดียวกันนี้ด้วย และต้องมีการปรับแก้กันใหม่เช่นกัน โดยเริ่มตั้งแต่การหยุดส่งมอบ และเรียกรถจากลูกค้ากลับมาแก้ไข ด้วยการเจาะพรมปิดแผงด้านหลังใหม่ เพื่อเปิดให้เห็นจุดยึดเบาะที่เป็นประเด็น แค่นั้น (เท่ากับว่าจริงๆแล้ว Atto 3 ก็มีจุดยึดขอเกี่ยวครบทั้ง 3 ตำแหน่งเช่นกัน แต่ดันปิดเอาไว้ ด้วยเหตุใดก็มิอาจทราบได้)

หรือที่จริง ในต่างประเทศอาจมองว่า คงไม่มีใครจะมายึดเบาะ Car Seat ไว้ตรงกลาง เนื่องจากไม่สะดวกในการติดตั้ง มีเพียงแค่ออสเตรเลียเท่านั้น ที่ให้ความสำคัญ และนั่นจึงทำให้ผู้ผลิตเกิดความสับสน ที่จะต้องทำตาม เพราะกฏกติกาของประเทศออสเตรเลีย (รวมถึงนิวซีแลนด์ที่ใช้กฏเดียวกัน) นั้นแปลกไปจากชาวบ้านจริงๆ ?

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่