แม้ประเทศไทย จะได้ชื่อว่ามีตลาดยานยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆของภูมิภาคอาเซียนมานาน และเป็นรองเพียงประเทศอินโดนีเซียที่มีจำนวนประชากรเยอะกว่า แต่ล่าสุดสุดกลับกลายเป็นว่า ประเทศมาเลเซีย กลับสามารถขยายขนาดตลาดยานยนต์ของตนเองได้ใหญ่ขึ้นจนแซงหน้าบ้านเราไปกว่า 9 เดือนแล้ว

จากการรายงานข้อมูลโดย Nikkei Asia ระบุว่า หลังจากที่พวกเขา ได้มีการรวบรวมข้อมูลยอดขายรถยนต์ในภูมิภาคอาเซียน โดยเน้นการเก็บข้อมูลจากประเทศที่มีตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, และเวียดนาม

ผลปรากฏว่าในตอนนี้ ประเทศมาเลเซีย เพื่อนบ้านทางทิศใต้ของเรา ได้กลายเป็นประเทศที่มีขนาดตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของเหล่าประเทศในภูมิภาคอาเซียน และแซงหน้าประเทศไทยของเราที่ครองอันดับนี้มานานหลายปีได้แล้วเป็นที่เรียบร้อย โดยแซงหน้ามาตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2023 และลากยาวมาจนถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2024 แบบ 3 ไตรมาสติดต่อเนื่อง

โดยหากเจาะจงไปที่ยอดขายรถยนต์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2024 ผู้ผลิตต่างๆสามารถขายรถยนต์ในประเทศมาเลเซียไปได้มากกว่า 202,245 คัน ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตราวๆ 5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และอันที่จริงยอดขายรถยนต์รวมตลอดปี 2023 ของประเทศมาเลเซียเอง ก็ยังมีตัวเลขสูงถึง 799,731 คัน ซึ่งเท่ากับว่ามีการเติบโตขึ้นจากปี 2022 ถึง 11%

ในขณะเดียวกัน สำหรับประเทศไทยของเรา ยอดขายรถยนต์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2024 กลับมีตัวเลขอยู่เพียง 163,756 คัน เท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่าลดลง 24.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2023 และอันที่จริงยอดขายรถยนต์รวมทั้งปีที่ผ่านมา ก็ยังมีตัวเลขที่ 775,750 คัน ซึ่งนอกจากจะลดลงจากปี 2022 ราวๆ 9% แล้ว ยังน้อยกว่ายอดขายรถยนต์รวมในประเทศมาเลเซียช่วงเวลาเดียวกันอยู่ราวๆ 0.5% เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีอีกด้วย (ที่ผ่านมาบ้านเรามักมียอดขายรถยนต์รวมสูงกว่าโดยตลอด)

โดยส่วนสำคัญที่ทำให้ทิศทางการตลาดของยอดขายรถยนต์ในประเทศมาเลเซีย สวนทางกับประเทศไทยเรา หลักๆแล้ว ดูเหมือนจะมาจากการที่ภาครัฐของประเทศมาเลเซีย มีการงดเว้นการเก็บภาษีรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ จนทำให้ตอนนี้ผู้ผลิตประจำชาติอย่าง Perodua และ Proton สามารถชิงส่วนแบ่งทางการตลาดร่วมกันไว้ได้กว่า 60%

ซึ่งมาตราการงดเว้นภาษีนี้ แท้จริงแล้วก็ได้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2020 ตอนที่ไวรัส Covic-19 ระบาดใหม่ๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ และแม้นโยบายนี้จะถูกยุติไปในช่วงกลางปี 2022 แต่พวกเขาก็มีการออกนโยบายสนับสนุนใหม่ นั่นคือการงดเก็บภาษีการจองรถซึ่งทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศยังคงเติบโตต่อเนื่องมาจนถึงปี 2023

และนั่นก็ผิดกันกับบ้านเราที่ผู้ผลิตรถยนต์หลายๆเจ้าต้องเจอกับปัญหาธนาคารปล่อยสินเชื่อในการเช่าซื้อรถให้กับลูกค้ายากขึ้นมาก เนื่องจากมีปัญหาหนี้เสียต่อครัวเรือนสูงขึ้นเรื่อยๆในช่วงขวบปีที่ผ่านมา แต่ยังดีที่อย่างน้อยก็ยังมีผู้ผลิตสัญชาติจีนเข้ามาขายรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราเยอะขึ้น เมื่อประกอบกับนโยบายการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าโดยรัฐบาลจึงทำให้ยอดขายรถยนต์ในตลาดของประเทศไม่ได้หดตัวหนักมากนัก (แต่ก็ยังถือว่าหดตัวอยู่พอสมควรอยู่ดี)

ในฝั่งประเทศอินโดนีเซีย แม้จะยังคงสามารถครองตำแหน่งประเทศที่มีตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนเอาไว้ได้ดังเดิม แต่ในความเป็นจริงแล้วเหล่าผู้ผลิตก็เผชิญกับปัญหายอดขายหดตัวเช่นกัน โดยในไตรมาสแรกของปี 2024 ที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ในประเทศดังกล่าวมีตัวเลขที่หดลงกว่า 24% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2023 โดยมีสาเหตุมาจากความสนใจในการซื้อรถยนต์คันใหม่ของประชาชนในประเทศลดลง และทำให้พวกเขาตัดสินใจชะลอการซื้อในช่วงเวลานี้ไปในที่สุด

นอกจากนี้ ในส่วนของยอดขายรถยนต์รวมตลอดปี 2024 แม้ผู้ผลิตจะยังคงสามารถขายรถยนต์รวมกันในประเทศอินโดนีเซียมากกว่า 1 ล้านคัน แต่ตัวเลขกลับยังคงถือว่าหดลงจากปี 2022 ราว 4% และยังถือว่าน้อยกว่ายอดขายรถยนต์ในปีก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์เชื้อไวรัส Covid-19 ระบาดไปทั่วโลกกว่า 30,000 คัน

ขณะเดียวกันทางฝั่งเวียดนาม ยอดขายรถยนต์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2024 ก็มีการหดตัวลงกว่า 16% เช่นกัน โดยเป็นผลมาจากภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศที่เหมือนอยู่ในสภาวสุญญากาศ จากปัญหายอดขายผลิตภัณฑ์ส่งออกและอื่นๆ และส่งผลให้ยอดขายรถยนต์รวมตลอดปีภายในประเทศเองก็หดตัวลงหลายสิบเปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า

ส่วนประเทศฟิลิปปินส์ แม้จะไม่ติด Top 3 แต่อัตราการเติบโตด้านยอดขายของตลาดรถยนต์ในไตรมาสแรกของปี 2024 กลับดีขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนอยู่ 13% ซึ่งถือว่ามีอัตราการเติบโตมากที่สุดในตอนนี้ และยังมีแนวโน้มที่จะยังคงสามารถเติบโตต่อไปได้อีกภายในปีนี้

แต่เมื่อกลับมาที่ประเทศมาเลเซีย แม้ยอดขายรถยนต์ในประเทศของพวกเขาจะเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่องมา 3 ไตรมาสติด ทว่าสมาพันธ์ยานยนต์ของประเทศมาเลเซียกลับมองว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศรวมทั้งปี 2024 ของพวกเขามีแนวโน้มจะลดลงจากปี 2023 ราว 7.5%

“เหล่าผู้บริโภคอาจมีการใช้จ่าย(ซื้อรถ)ช้าลง เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายอุดหนุนราคารถจากภาครัฐ, ค่าครองชีพที่สูงขึ้น, การขึ้นภาษีสินค้าอุปโภคและบริโภค, และการขึ้นภาษีด้านงานบริการบางส่วน ซึ่งรวมถึงงานบริการซ่อมบำรุงตัวรถที่ประชาชนใช้กันอยู่ด้วย” สมาพันธ์ยานยนต์ประเทศมาเลเซียระบุ

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่