ทุกครั้งที่มีบทความหรือกระทู้ เกี่ยวกับรถยนต์นั่งขนาดเล็กจากประเทศญี่ปุ่น เครื่องยนต์ 660 ซีซี หรือ  Kei car มันดูไม่ต่างจากเค้กขนมหวานราคาถูก มันดูน่ากิน พร้อมลิ้มลองสำหรับคนไทยจำนวนมากที่หลงไหลความคิกขุอาโนเนะของชนชาติญี่ปุ่น จนลืมข้อเท็จจริงสำคัญว่า มันเป็นไปไม่ได้

รถยนต์นั่งขนาดเล็กประจำประเทศญี่ปุ่น หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า  Kei Car  ก็คล้ายๆ กับโครงการรถยนต์อีโค่คาร์ในบ้านเรา เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยรัฐบาลญี่ปุ่นต้องการผลักดันอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ พร้อมกับให้คนที่มีรถยนต์ขนาดเล็กราคาถูกใช้เดินทาง แทนมอเตอร์ไซค์ที่นิยมช่วงนั้น โครงการนี้เรียกว่า  Keijidosha  ทีแรกออกมาเป็นเครื่องยนต์ 150 ซีซี แต่ไม่มีใครคิดว่ามันน่าสนใจ จนในปี 1955 กฎใหม่ผลักดันให้เป็นเครื่องยนต์ 360 ซีซี  จึงเริ่มมีรถขนาดเล็กวางขายได้แก่ Subaru 360 และ  Suzuki suzulight  เป็นรถยนต์รุ่นแรกๆ ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว

Honda N-BOX ขายดีที่สุดในญี่ปุ่น

จากรุ่นสู่รุ่นเครื่องยนต์และขนาดตัวรถมีการเปลี่ยนมาเรื่องจนในท้ายสุดในปี 1998 กฎใหม่ กำหนดให้รถกลุ่มนี้มีความยาว 3.4 เมตร กว้าง 1.48 เมตร ใช้เครื่องยนต์ 660 ซีซี ทำกำลัง 63 แรงม้า แต่ก็มีการแนะนำสมรรถนะพิสดารออกมาตอบโจทย์มากมายในภายหลัง เช่นเครื่องยนต์ 660 เทอร์โบ ,ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ ปัจจุบัน รถยนต์แบบนี้มีตั้งแต่รถบ้านทรงกล่องที่เราคุ้นเคย ไปจนถึงรถยนต์สปอร์ตชั้นนำ อาทิ   Honda  S660   และยังได้รับความนิยมจากคนญี่ปุ่นต่อเนื่อง

ความน่าสนใจด้วยเครื่องยนต์และขนาดรถเล็กกะทัดรัด แถมด้วยการเป็นรถยนต์ประจำชาติญี่ปุ่น ทีมออกแบบบริษัทรถยนต์ต่างออกแบบพวกมันมาได้น่ารักมาก จนหลายคนยากจะได้มาขับเฉิดฉายในไทย แอ๊บแบ้วน่ารักดูต่างจากคนอื่นบนถนน

K-Car ทำไม 660 ซีซี

เคยสงสัยไหมครับ ว่าทำไมรถยนต์   Keicar เหล่านี้ ถึงเกิดมาพร้อมเครื่องยนต์ขนาดเล็ก แทบจะเรียกว่าเครื่องบิ๊กไบค์ที่ขี่กันว่อนถนนในปัจจุบันบางคันยังใหญ่กว่าด้วยซ้ำไป

คนไทยอาจคิดว่าเอามาขับหล่อๆ ไม่เกี่ยงว่าเครื่องยนต์เล็ก แต่สาเหตุที่ขุมพลังรถเหล่านี้มีขนาดเล็กไม่ใช่เพียงแค่รถเหล่านี้มีน้ำหนักเบาเท่านั้น เงื่อนไขต้นกำลัง 660 ซีซี เอง ก็ได้รับอิทธิพลจากรูปแบบถนน ในประเทศญี่ปุ่นเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นถนนประเภท 2 เลนสวนกัน จะมีเพียงทางหลวงระหว่างเมืองบางจุด และทางด่วนเท่านั้นที่เส้นทางจะกลายเป็น ฝั่งละ 2 หรือ 3 เลน  

เมื่อบวกกับเงื่อนไขในการใช้ความเร็ว เดิมทีในเขตเมืองสมัยยุค 50 ให้วิ่งเพียง 40 กิโลเมตรเท่านั้น และปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาเป็น 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนนอกเมืองให้ใช้ความเร็ว 80-90 ก.ม./ช.ม. ได้สูงสุด 120 ก.ม./ช.ม. ในทางด่วน ความสามารถของเครื่องยนต์ 660 ซีซี ก็เรียวว่าครอบคลุมในการใช้งาน

แถมบ้านเมืองญี่ปุ่นถ้าใครเคยไปเยือนจะพบว่า คนญี่ปุ่นค่อนข้างมีพื้นที่จำกัดมาก บ้านเรือนแม้แต่โรงแรมที่เราพักบางแห่ง ยังถือมีขนาดไม่ใหญ่นัก ขนาดพื้นที่จอดรถมีข้อจำกัด จึงไม่ค่อยมีคนใช้รถยนต์ที่มีขนาดใหญ่มากนัก โดยเฉพาะในเขตเมืองสำคัญต่างๆ แถมความเป็นจริงคนญี่ปุ่นหลายคนอาจไม่ได้ใช้รถยนต์ไปทำงานแบบในประเทศไทย เนื่องจากการขนส่งสาธารณะตอบโจทย์ครอบคลุม

 

ต้องคิดให้ดี 660 ซีซีเหมาะกับไทย ไหม

ความต้องการของคนเราไม่มีที่สิ้นสุด แต่ความเหมาะสมกับสิ่งที่เราเป็นก็สำคัญไม่น้อย รถ Kei-car เป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็กเครื่องมีกำลังพอประมาณ เน้นใช้งานในเมืองเป็นสำคัญ ซึ่งนั่นอาจจะไม่ได้เหมาะกับคนไทยอย่างที่เราเข้าใจ

มีความพยายามหลายรอบในการแนะนำรถยนต์นั่งขนาดเล็กเครื่องยนต์ต่ำกว่า 1200 ซีซี อีโค่คาร์บ้านเราเข้าสู่ตลาด แต่มันไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก ไม่ว่าจะเป็นรถเก่าอย่าง   Daihatsu  Mira   หรือรถอีโค่คาร์ปัจจุบันบางรุ่นที่มาพร้อมเครื่องยนต์ 1.0 ลิตร ต่างไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคชาวไทย ที่มีความกังวลในเรื่องสมรรถนะในการขับขี่มากกว่าในประเทศญี่ปุ่น

สาเหตุสำคัญข้อหนึ่ง คือประเทศไทย เป็นประเทศที่มีถนนขนาดกลางและขนาดใหญ่พอสมควร (ถนน 4 และ 6 เลน) ลักษณะการเดินทางในประเทศไทย เป็นลักษณะจุดหนึ่งไปสู่จุดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับทางด่วนในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งใช้ความเร็วได้สูง และประเทศไทย มีการจำกัดความเร็วสูงกว่าประเทศญี่ปุ่นพอสมควร

ความเร็วในเมืองปกติคือ 80 ก.ม./ช.ม. นอกเมือง 90 ก.ม./ช.ม. แต่เมื่อขับจริงระหว่างเมืองสามารถใช้ได้ 100-110 ก.ม./ช.ม. ทำให้รถเครื่องยนต์ขนาด 1,000-1,200 ซีซีเหมาะสมกับบ้านเรามากกว่า เนื่องจากมีขนาดเหมาะแก่การเดินทางไกลในระดับหนึ่ง

กลับกันเครื่องยนต์ 660 ซีซีในรถยนต์   Kei car จากที่มีประสบการณ์ขับขี่ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อทางไกล จะกินรอบเครื่องยนต์สูง สะท้อนถึงเรื่องอัตราประหยัดที่น่าจะด้อยลง และความทนทานของเครื่องยนต์ ถ้าใช้ขับทางไกลบ่อยครั้ง ตลอดจนกำลัง 63 แรงม้า อาจน่าหงุดหงิดในจังหวะเร่งแซง เนื่องจากกำลังน้อยเร่งแซงลำบาก แถมน้ำหนักตัวเบาทำให้ เมื่อขับด้วยความเร็วอาจรู้สึกไม่มั่นใจเท่าไรนักด้วยในทางหนึ่ง

เมื่อรวมกับจริตคนไทย มีรถคันเดียวเป็นทุกอย่างของชีวิต ขับใช้งานทั้งในเมือง และเดินทางกลับบ้านในหน้าเทศกาล หรือนำไปเที่ยวต่างจังหวัด ตลอดลักษณะเส้นทางในไทยในบางพื้นที่มีความลาดชันสูง กำลังเครื่องยนต์น้อยเกินไป อาจจะทำให้รถไม่สามารถขึ้นเขาได้ในบางเส้นทาง ทั้งหมดตอบคำถามว่า เครื่อง 660 ซีซีเล็กไปหรือไม่

อย่างไรก็ดี บริษัทรถยนต์บางรายเคยมีความคิดแนะนำรถยนต์เครื่องขนาดเล็กเข้าสู่เมืองไทย และจากการศึกษาถึงพฤติกรรมการใช้รถ ประกอบกับสภาพถนนของไทย ก็คงทำให้ต้องกลับไปคิดใหม่ไม่น้อยถึง เครื่องยนต์เหมาะสมสำหรับเมืองไทย นี่เอง ทำให้รถยนต์ที่มีเครื่องยนต์เล็กที่สุดในบ้านเรา ยังเป็นเพียง 1,000 ซีซี แต่เครื่องเล็กที่นิยมแพร่หลายกลับเป็น 1,200 ซีซี ในบรรดาอีโค่คาร์ 

เว้นแต่คุณคิดว่าจะซื้อรถมาเน้นขับใช้งานในเมืองเพียงอย่างเดียว จากบ้านไปกลับที่ทำงานไม่คิดว่าจะเอารถออกไปนอกพื้นที่สไตล์เดียวกับคนญี่ปุ่น ขับแถวบ้าน เดินทางไกลไปรถไฟ แล้วเช่ารถเอา … ถ้าใช้ชีวิตแบบนั้นก็เหมาะสมกับการใช้รถเครื่อง 660 ซีซี

 

3 แสนบาทเป็นไปไม่ได้ ภาษีมากมายรอจัดเก็บมากมาย

เมื่อไม่นานมานี้มีเพจในสื่อสังคมออนไลน์ปั่นกระแสรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ว่าจะมาขายในไทยในราคา 387,000 บาท สร้างกระแสให้คนสนใจคิดว่ารถเล็กน่ารัก ราคาน่าคบจะมาขายในไทย ส่งให้คนไลค์คนแชร์กันเยอะมาก ทั้งที่ราคาดังกล่าว เป็นราคาวางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ไม่ใช่ราคาจำหน่ายในไทย

หลายคนหลงเชื่อโพสต์ดังกล่าว จนกลายเป็นความฝันลมๆแล้งๆ ว่า รถยนต์ขนาดเล็กราคาเบาตัวจะเข้ามาขายไทย แต่ความจริงแล้ว รถแบบนี้นอกจากผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ ศึกษาแล้วว่าไม่เหมาะสมกับจริตการใช้รถคนไทย ในแง่ราคาขายยังไม่มีความเป็นไปได้เลยด้วยซ้ำ

ตามระเบียบข้อตกลงการค้าไทย-ญี่ปุ่น   Jtepa   ไม่รวมการนำเข้ารถยนต์ขนาดเล็ก ทำให้ต้องเสียภาษีในอัตราตามที่กำหนด ผมขอยกตัวอย่าง  Suzuki  Jimny แล้วกัน ต้องโดนภาษีนำเข้าร้อยละ 80  จากญี่ปุ่น หลังรวมราคาประกันภัยและขนส่งทางเรือ เมื่อขึ้นที่ท่าเรือในเขตประเทศไทย

Suzuki Jimny

ว่าง่าย สมมุติส่งมาถึงไทย ราคา 400,000 บาท จากราคาจำหน่ายที่ญี่ปุ่น  387,000 บาท แค่ขึ้นท่าเรือไทย ก็เจอภาษีนำเข้าไปแล้วอีก 320,000 บาท เมื่อบวกกับราคาขนส่งจากประเทศญี่ปุ่น เรียกว่านำเข้าอย่างเดียวไม่รวมภาษีอื่นๆ เช่น สรรพสามิต, ภาษีท้องถิ่น และภาษีมูลค่าเพิ่ม แค่นี้ก็ราคาเกือบ 8 แสนบาท แล้วหากนำเข้ามาอย่างถูกต้อง เราถึงเห็นว่ารถบางรุ่นเครื่อง 660 ซีซี ที่เข้ามาขายในไทย จากผู้นำเข้าอิสระ จึงมีราคา 1-2 ล้าน โดยประมาณ อาทิ  รถ   Suzuki  Lapin  หรือ   Honda  S660 ที่เคยมีคนลองเอามาขายในไทย

นอกจากนี้จากการสำรวจข้อมูลรถที่ตกเป็นข่าวคือ  Suzuki  Hustler Wanderer  ราคาจำหน่ายในญี่ปุ่นเริ่มต้นที่ 1,608,120 เยน หรือ ประเมินราคาขายเป็นเงินไทย จะอยู่ที่ 450,000 – 460,000 บาท เท่ากับว่าราคาของมันก็ไม่ได้ถูกอย่างที่เราคาดนัก และราคาขายรถอีโค่คาร์ในบ้านเราก็แพงกว่าแค่ประมาณ 1 แสนบาทเท่านั้น แต่ได้เครื่องยนต์ใหญ่กว่าเท่าตัว

 

รถ   Kei car  ราคา 3 แสนบาท ไม่มีทางที่เป็นไปได้ในโลกความจริง ไม่ว่าเราจะรู้สึกว่า มันน่าจะเป็นไปได้มากแค่ไหน  ข้อเท็จจริงคือ ไม่มีทางเป็นไปได้เลย ทั้งในแง่การนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น หรือ หากนำเข้ามาผลิตในไทย ก็ต้องมีกระแสข่าวน่าเชื่อถือได้ ออกมาบอกเล่าเก้าสิบกันบ้างไม่มากก็น้อย

ถึงแม้บ้านเราจะไม่มีโอกาสต้อนรับรถยนต์เครื่องยนต์เล็กน่ารักเหล่านี้ แต่วันนี้บ้านเราก้มีของดีในไทย อย่างอีโค่คาร์ รถพร้อมใช้งานราคาไม่แพงมาก มีผู้เล่นหลายรายจากญี่ปุ่น รถบางรุ่นที่ผลิตในไทย ส่งขายไกลถึงญี่ปุ่นและอีกหลากประเทศในโลก นั่นเป็นความจริงสำคัญว่า ประเทศไทยก็มีดีทางด้านรถเล็ก และในอนาคตเราอาจมีรถยนต์เล็กขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าด้วย และพวกมันไม่ใช่ฝันกลางวัน แบบ  Kei car  ราคา 3 แสนบาท … จากญี่ปุ่น

 

 

 

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่