นอกจากลักษระการใช้งานที่แตกต่างกันแล้ว ด้วยลักษณะกลไกจึงทำให้รถยนต์ไฟฟ้าอาจไม่เหมาะกับการเอาประกันภัยแบบเดียวกับรถยนต์สันดาปได้ และนั่นจึงทำให้ทาง คปภ. ต้องมีการปรับข้อบังคับเงื่อนไขการประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ปี 2567 ออกมา

จากการเผยข้อมูลโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ตามเอกสาร “คำสั่งนายทะเบียนที่ 47/2566 เรื่องให้ใช้แบบ ข้อความ และพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัย ของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า”

พร้อมระบุว่าข้อบังคับใหม่นี้ มีไว้เพื่อให้บริษัทประกันภัย นำไปใช้เป็นแบบข้อความ และใช้คิดพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัย ของกรมธรรม์ประกันภัย สำหรับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เท่านั้น (Battery Electric Vehicle – BEV) โดยไม่รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่ดัดแปลงมาจากรถยนต์สันดาป

ทั้งนี้ บริษัทสามารถนำแบบ เงื่อนไขการคิดประกันภัยใหม่โดย คปภ. ไปใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป หรือหากบริษัทต่างๆยังไม่สามารถใช้เงื่อนไขนี้กับลูกค้าผู้เอากรมธรรม์ประกันภัยได้ ก็สามารถทยอยปรับใช้กันต่อไปได้ แต่ต้องไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2567

หรือว่าง่ายๆก็คือ แบบการคิดประกันภัยใหม่นี้ ได้เริ่มมีผล ให้เริ่มการใช้ได้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม แต่บริษัทประกันฯสามารถเลือกนำไปใช้จริงเมื่อไหร่ก็ได้ ตามสะดวก แต่เมื่อเข้าสู่วันที่ 1 มิถุนายน เป็นต้นไป บริษัทผู้ให้ประกันจะต้องใช้ข้อบังคับนี้เป็นแบบเท่านั้น เหมือนกันทุกบริษัท จนกว่าจะมีการเปลี่ยนข้อบังคับใหม่ ตามนโยบายของ คปภ.

และในขณะเดียวกัน นั่นก็หมายความว่า สำหรับผู้ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า หากไม่สะดวกใจกับการข้อตกลงในการเอาประกันภัยข้อบังคับใหม่นี้ ก็อาจจะยังสามารถต่อรองเพื่อซื้อประกันฯโดยใช้เงื่อนไขเดิมต่อได้ จนกว่าจะถึงช่วงกลางปี ตามวันที่กำหนดไว้ข้างต้น

โดยสาระสำคัญของแบบการให้ประกันใหม่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้านี้ ก็คือการระบุเงื่อนไขวงเงินสำหรับการเปลี่ยนแบตเตอรี่ชุดใหม่อย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก สำหรับกรณีที่ชิ้นส่วนดังกล่าวนี้ได้รับความเสียหาย จนถึงขั้นไม่สามารถซ่อมแซมได้ และต้องเปลี่ยนทั้งชุด

ซึ่งลักษณะการคิดวงเงินคุ้มครองความเสียหายของตัวแบตเตอรี่ โดยสรุปแล้วจะลดหลั่นลงไปตาม 10% ตามอายุรถและค่าเสื่อมตามอายุการใช้งานของแบตฯแบบปีต่อปี และจะคุ้มครองน้อยสุดที่ 50% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่มีอายุเกิน 5 ปีขึ้นไป ดังนี้

  • รถอายุไม่เกิน 1 ปี : คุ้มครองความเสียหายในส่วนของราคาแบตเตอรี่ลูกใหม่ 100%
  • รถอายุเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี : คุ้มครองความเสียหายในส่วนของราคาแบตเตอรี่ลูกใหม่ 90%
  • รถอายุเกิน 2 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี : คุ้มครองความเสียหายในส่วนของราคาแบตเตอรี่ลูกใหม่ 80%
  • รถอายุเกิน 3 ปี แต่ไม่เกิน 4 ปี : คุ้มครองความเสียหายในส่วนของราคาแบตเตอรี่ลูกใหม่ 70%
  • รถอายุเกิน 4 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี : คุ้มครองความเสียหายในส่วนของราคาแบตเตอรี่ลูกใหม่ 60%
  • รถอายุ 5 ปี ขึ้นไป : คุ้มครองความเสียหายในส่วนของราคาแบตเตอรี่ลูกใหม่ 50%

นอกจากนี้ ในกรณีที่รถยนต์ไฟฟ้าของผู้เอาประกันภัย เกิดอุบัติเหตุ และแบตเตอรี่ได้รับความเสียหายจนต้องเปลี่ยนใหม่ ทางบริษัทสามารถยื่นข้อเสนอให้กับผู้เอาประกัน ภายใน 7 วัน หลังการเปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหม่ ได้ว่า

  • 1. หากผู้ใช้รถ ต้องการให้บริษัทประกัน คุ้มครองค่าแบตเตอรี่ใหม่แบบนับอายุใหม่ (กลับไปให้การคุ้มครองเต็มจำนวน โดยอิงตามอายุแบตเตอรี่ลูกใหม่ที่พึ่งเปลี่ยน) ผู้เอาประกันจะต้องมีการจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันเพิ่ม ซึ่งอัตราการคิดค่าใช้จ่ายส่วนต่างนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของทางบริษัท
  • 2. หากผู้ใช้รถ ไม่ต้องการจ่ายเงินค่าส่วนต่างเบี้ยประกันเพิ่ม หลังการเปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหม่ บริษัทประกันจะให้การคุ้มครองวงเงินความเสียหายโดยอิงตามอายุแบตเตอรี่เดิมก่อนเปลี่ยน (หมายความว่า ถึงแบตเตอรี่จะเปลี่ยนใหม่ แต่อัตราวงเงินการคุ้มครอง จะอิงต่อตามอายุของแบตเตอรี่ลูกเดิมที่ถูกเปลี่ยนออกไป)

โดยผู้เอาประกันภัย จะต้องแจ้งกับทางบริษัทประกันว่าจะยอมรับเงื่อนไขใด ระหว่างข้อ 1 หรือ ข้อ 2 ภายในระยะเวลา 30 วัน หลังจากการแจ้งรายละเอียดการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขประกันย่อยนี้ (และหากมีการเกิดเหตุซ้ำ ภายใน 30 วันที่กำลังตัดสินใจ บริษัทประกัน จะให้ความคุ้มครองโดยอิงตามตัวเลือกเงื่อนไขที่ผู้เอาประกันเลือก)

และหากผู้เอาประกันภัย ไม่แจ้งเรื่องกลับไปใน 30 วัน บริษัทประกัน จะยึดการให้ความคุ้มครองตามข้อตกลงข้อ 2 ในทันที

และในกรณีที่ผู้ใช้ยังอยากให้บริษัทประกัน คุ้มครองความเสียหายของแบตเตอรี่แบบ 100% ต่อไป หลังจากที่รถยนต์ไฟฟ้าที่เอาประกันมีอายุเกิน 1 ปี รวมถึงกรณีที่รถยนต์ไม่ได้รับความเสียหาย แต่ผู้ใช้รถเกิดตัดสินใจเปลี่ยนแบตเตอรี่ตัวรถลูกใหม่ด้วยตนเอง (อาจจะด้วยความเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน เป็นต้น) ขณะอยู่ในช่วงของการคุ้มครองประกัน

ผู้ใช้จะต้องแจ้งบริษัทประกันถึงความประสงค์ หรือความเปลี่ยนแปลงของตัวรถที่เกิดขึ้น ซึ่งหากผู้ใช้ต้องการให้บริษัทประกัน คุ้มครองความเสียหายของแบตเตอรี่ลูกใหม่แบบนับหนึ่งใหม่ ก็จะต้องมีการจ่ายค่าเบี้ยประกันเพิ่มตามสมควร

หากไม่เช่นนั้น บริษัทประกันฯ ก็จะให้ความคุ้มครองแบตเตอรี่ลูกใหม่ โดยนับอัตราตามอายุของแบตเตอรี่ลูกเก่าที่ติดตั้งตอนเริ่มเอาประกันภัยดังเดิม

ในส่วนรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆที่น่าสนใจสำหรับข้อบังคับการให้สิทธิ์คุ้มครองประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ ฉบับแรกของประเทศไทยนี้ ก็จะมีการระบุเพิ่มเติมอีกว่า

การยื่นซื้อกรรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า ผู้ที่เอาประกันฯ จะต้องระบุชื่อผู้ขับด้วยจำนวนไม่เกิน 5 รายชื่อ หรือ 5 คน เพื่อเอาสิทธิ์ความคุ้มครองจากประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้านี้

เนื่องจากทาง คปภ. กำหนดให้การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าเป็นลักษณะส่วนบุคคลเท่านั้น ดังนั้นหากตอนที่รถเกิดอุบัติเหตุ ผู้ที่ขับรถอยู่ ไม่ใช่ผู้ที่มีชื่อระบุในเอกสารเอาประกัน ทางบริษัทสามารถปฏิเสธการให้ความคุ้มครองได้ในทันที

ไม่เพียงเท่านั้น ในด้านของการคิดส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัย ที่จะสามารถให้ส่วนลดได้มากสุดถึง 40% ต่อปี ก็จะเป็นการคิดรวมจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุและความเสี่ยงของผู้ขับรถทุกคนที่มีการระบุรายชื่อไว้ตอนเริ่มซื้อกรรมธรรม์อีกด้วย

ประเด็นน่าสนใจอีก 2 อย่างสุดท้ายคือ

  • ผู้เอาประกัน สามารถเลือกซื้อกรรมธรรม์คุ้มครองแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าส่วนตัวได้ หากเกิดความเสียหายจากอุบัติเหตุได้
  • หากบริษัทประกัน พบว่าตัวรถเกิดอุบัติเหตุ จากการดัดแปลงซอฟท์แวร์ตัวรถ บริษัทสามารถปฎิเสธการให้ความคุ้มครองได้ทันที

โดยหากท่านผู้อ่าน ต้องการาทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ก็สามารถอ่านกันได้ที่ลิ้งตรงนี้ครับ

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่