ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการขี่มอเตอร์ไซค์ก่อให้เกิดอันตรายมากกว่าขับรถยนต์ ซึ่งหมวกกันน็อคเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ วันนี้เราจะพาไปดูว่าควรเลือกหมวกแบบไหนจึงเหมาะกับคุณ

หมวกกันน็อคเป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยชิ้นแรก ที่มีความสำคัญมากที่สุดสำหรับการขับขี่มอเตอร์ไซค์นอกเหนือไปจากอุปกรณ์เซฟตี้ชิ้นอื่นๆ เพราะศีรษะมนุษย์นั้นเป็นจุดศูนย์รวมประสาทการสั่งงาน และมีความเปราะบางมากที่สุด ซึ่งหากได้รับแรงกระแทกจากอุบัติเหตุ เช่น รถล้มหัวฟาดพื้น รบรองเลยว่าไม่เสียชีวิตก็พิการกันยาวๆไป วันนี้ RideBuster จะขอนำเสนอการเลือกซื้อหมวกกันน็อคอย่างถูกต้องและปลอดภัยมาฝากแฟนๆ เพจ ซึ่งจะมีหมวกแบบไหนกันบ้างนั้นติดตามได้เลยครับ

หมวกกันน็อคแบบครึ่งใบ

แน่นอนว่าหมวกกันน็อคแบบนี้มักเป็นของแถมติดรถป้ายแดง แต่ทราบหรือไม่ว่าด้านความปลอดภัยนั้นต่ำมากที่สุด เพราะหมวกครึ่งใบนั้นจะป้องกันศีรษะได้เพียงด้านบนเท่านั้น แต่ไม่สามารถป้องกันแรงกระแทกจากด้านหน้า,ด้านข้างและด้านหลังศีรษะได้เลย กันได้เฉพาะพี่จ่าได้เพียงอย่างเดียว  แต่ก็มีข้อดีตรงที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ทัศนะวิสัยดีที่สุด และราคาย่อมเยา

หมวกกันน็อค
หมวกกันน็อค

หมวกกันน็อคแบบเต็มใบเปิดหน้า

หมวกประเภทนี้เป็นที่นิยมสวมใส่กันในบ้านเรามาที่สุด เพราะให้ทัศนะวิสัยการขับขี่ได้ดีเทียบเท่าหมวกกันน็อคแบบครึ่งใบ มีราคาจับต้องได้ง่าย อีกทั้งส่วนใหญ่ยังมีแผ่นบังลมหน้าที่สามารถเปิดปิดได้ แต่ข้อเสียก็คือไม่สามารถป้องกันแรงกระแทกที่จะเกิดขึ้นบริเวณไปหน้าได้ หากล้มแล้วใบหน้าฟาดพื้นก็ไม่ต่างอะไรกับการสวมหมวกแบบครึ่งใบเลย

หมวกกันน็อค

หมวกกันน็อคเต็มใบ

หมวกกันน็อคประเภทสุดท้ายนี้ มอบความปลอดภัยให้ผู้ขับขี่ได้มากที่สุด เพราะสามารถป้องกันแรงกระแทกที่จะเกิดขึ้นจากศีรษะได้รอบด้าน และยังส่งผลต่อหลักแอโร่ไดนามิคที่ดีเพราะหมวกจะลู่ลมมากที่สุด แต่ก็มีข้อเสียคือ อากาศถ่ายเทได้ยาก ทัศนวิสัยการมองค่อนข้างแคบ และมีราคาสูงที่สุดในกลุ่มหมวกกันน็อค

มาตรฐานความปลอดภัย

หมวกกันน็อคนั้นทุกประเภทจะต้องได้รับการทดสอบด้านความปลอดภัย โดยมาตรฐานความปลอดภัยของประเทศไทยนั้นคือ มอก. แต่สำหรับมาตรฐานความปลอดภัยสากลที่คุณสามารถหิ้วหมวกใบนี้ไปขับขี่ได้รอบโลก มี 3 มาตรฐานด้วยกัน ได้แก่ DOT ซึ่งเป็นมาตรฐานหมวกกันน็อคที่ผ่านการทดสอบของอเมริกา , ECE เป็นเครื่องหมายมาตรฐานของหมวกกันน็อคที่ผ่านมาตรฐานยุโรป ขณะที่กรมขนส่งประเทศอังกฤษนั้นจะใช้มาตรฐานความปลอดภัย Sharp ส่วนหมวกกันน็อคที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูงสุดคือจะใช้เครื่องหมาย SNELL ซึ่งเป็นมาฐานสูงสุดของหมวกกันน็อคในปัจจุบัน

วัสดุการผลิต

หมวกกันน็อคนั้นผลิตขึ้นจากวัสดุหลายประเภท ส่วนใหญ่นั้นจะเป็นพลาสติคABS ที่มีความทนทาน ทนต่อการฉีกขาดได้ระดับหนึ่ง แต่หากเป็นหมวกกันน็อคคลาสสูงขึ้นมาหน่อย วัสดุเปลือกหมวกจะเป็นไฟเบอร์กล๊าสที่เหนียวทนทาน และมีคุณสมบัติถ่ายเทความร่อนได้ดีกว่าพลาสติค ส่วนวัสดุอีกประเภทที่ได้รับความนิยมสูงเช่นเดียงกัน คือหมวกกันน็อคที่ผลิตจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ เพราะรวมคุณสมบัติจากทุกด้านและเหนือกว่าด้วยน้ำหนักที่เบา


สายรัดคาง

อีกจุดหนึ่งที่เป็นความปลอดภัยนั้นคือสายรัดคาง สำหรับสายรัดคางที่ดีและแน่นหนาที่สุด คือสายรัดคางแบบ DD Ring เพราะทนต่อแรงกระแทกที่อาจส่งผลให้หมวกกันน็อคให้หลุดออกจากศรีษะได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุได้ดีที่สุด รองลงมาคือสายรัดคางแบบปลดเร็ว Quick release ซึ่งมีข้อดีคือสวมใส่และปลดล็อคได้เร็ว ไม่ยุ่งยากเหมือนสายรัดคางแบบแรก ที่ต้องอาศัยความชำนาญและมีวิธีการร้อยสายเฉพาะตัว

ส่วนประเภทสุดท้ายคือแบบหัวเสียบทั่วไป ซึ่งประเภทนี้มอบความปลอดภัยน้อยที่สุด เพราะมีโอกาสที่หมวกจะหลุดเมื่อเกิดอุบัติเหตุได้มากที่สุด แต่มีข้อดีคือสวมง่ายนั้นเอง

ขนาดของหมวกกันน็อค

เมื่อเราเลือกประเภทของหมวกกันน็อค รวมถึงมาตรฐานความปลอดภัย รวมถึงวัสดุหมวกและสายรัดคาง คราวนี้ถึงเวลาเลือกหมวกกันน็อคให้พอดีสำหรับศีรษะ กล่าวคือ เมื่อสวมใส่แล้วไม่แน่นจนเกินไปจนรู้สึกอึดอัด หรือหลวมคลอนเมื่อส่ายศีรษะไปมา หมวกกันน็อคจะต้องมีขนาดพอดีกับศีรษะ เพราะอย่าลืมว่าเราต้องสวมใส่ตลอดการขับขี่ หากหมวกกันน็อคฟิตแน่นเกินไป พาลจะทำให้ไม่สบายเอา หรือหากหมวกไม่กระชับจะทำให้ส่ายไปมาเมื่อโดนแรงลมปะทะ

เป็นอย่างไรบ้างครับสำหรับการเลือกหมวกกันน็อคคู่ใจที่ถูกต้องและปลอดภัย  เชื่อว่าเมื่อคุณผู้อ่านได้อ่านบทความแล้ว จะสามารถเลือกหมวกกันน็อคได้อย่างถูกต้อง และตรงจุดประสงค์ของการใช้งานมากที่สุด 

ท้ายที่สุดนี้เราก็ขอฝากถึงเหล่าผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทุกท่าน ว่าหมวกกันน็อคนั้นมีความจำเป็นและสำคัญอย่างแท้จริง หากเป็นไปได้ขอให้เลือกหมวกกันน็อคแบบเต็มใบนะครับ เพราะปลอดภัยมากที่สุด อ้อแล้วอีกอยากเมื่อประสบอุบัติเหตุแล้วให้เปลี่ยนหมวกกันน็อคใบใหม่ทันที เพราะแผ่นรองรับแรงกระแทกภายใน Memory foam ได้ถูกใช้งานไปแล้ว ไม่สามารถรองรับแรงกระแทกได้ซ้ำนะครับ

ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเรา Ridebuster.com

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่