หากคุณกำลังมองหาฟิล์มนาโนชุดใหม่มาเพื่อกรองแสงกับกันความร้อนไม่ให้เข้าสู่ตัวรถ เรารู้ว่าปัญหาข้อแรกๆ ที่คุณเจอก็คือไม่รู้ว่าจะเลือกฟิล์มชนิดไหนดี โดยเฉพาะฟิล์มรุ่นใหม่ที่โฆษณาว่าดำเป็นส่วนตัว แต่ข้างในใสไม่มืด หรือบางยี่ห้อก็บอกว่าใสเห็นชัดแต่ไม่ร้อน ซึ่งต่อจากนี้เราจะมาทำให้ทุกท่านเข้าใจว่าฟิล์มนาโน 2 แบบนี้ต่างกันอย่างไร

 

Flim nano
ภาพภายในรถที่ติดตั้งฟิล์มนาโนคาร์บอน ช่วงเวลาที่ขับ 18.15 น.

 

ไม่ว่าคุณจะขับรถไปที่ไหนบนโลกใบนี้ นอกจากรถยนต์ที่ต้องพบเจอเป็นเรื่องปกติทั่วไปแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่สร้างความรำคาญใจให้ก็คือ แสงแดด ที่ทั้งแสบตา ร้อน และทำให้การขับรถไม่เป็นสุขเท่าไหร่เลย ดังนั้นพวกเราจึงแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยการติดฟิล์มเพื่อกรองแสงพร้อมกันความร้อน ว่าแต่ฟิล์มที่เหมาะกับจุดประสงค์ที่คุณต้องการมีแบบไหนบ้าง? เพราะช่วง 2-3 ปีหลังมานี้บรรดาผู้ผลิตฟิล์มต่างนำผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ๆ ที่มีชื่อเรียกหลากหลาย อาทิ ฟิล์มนาโนคาร์บอน หรือ ฟิล์มนาโนเซรามิค ซึ่งต่อจากนี้เราจะมาอธิบายให้เข้าใจถึงความต่างของฟิล์ม 2 ชนิดนี้

 

ฟิล์มปรอทกันร้อนดี ให้ความเป็นส่วนตัวสะท้อนแสง แต่สัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ผ่านไม่ได้
ส่วนประกอบของฟิล์มทั่วไป

 

ฟิล์มกรองแสงมีกี่ประเภท?

 

ก่อนที่จะเข้าเรื่องขอพูดถึงชนิดของฟิล์มที่มีขายอยู่ในตลาดตอนนี้สักหน่อย โดยจะมีทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่

1. ฟิล์มสี แน่นอนว่ามันเป็นฟิล์มราคาถูกทั่วไปที่มีเพียงการย้อมสีต่างๆ เพื่อกรองแสง ราคาหลักพัน กันความร้อนได้ไม่ดีแถมมืดอีกต่างหาก

2. ฟิล์มโลหะ หรือฟิล์มปรอทมีข้อดีคือกันความร้อนได้ดีกว่าฟิล์มสี เนื่องจากตอนผลิตจะมีการใส่โมเลกุลโลหะเข้าไปเพื่อให้ฟิล์มมีลักษณะเงา ข้อเสียคือ การส่งข้อมูลของอุปกรณ์อีเลคโทรนิคจะถูกขัดขวาง และเป็นสนิมได้ง่าย

3.ฟิล์มลูกผสม คือ การเอาฟิล์มสีมาผสมกับโลหะ วิธีสังเกตุง่ายๆ คือฟิล์มลูกผสมจะมีสีดำแถมมีเงาสะท้อนแสงได้ ซึ่งช่วยในการลดความร้อนได้ดีและมีสีสันสวยงามมากขึ้น แต่ข้อเสียยังอยู่คือฟิล์มจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงและส่งข้อมูลไม่สะดวก

ส่วนอีกสองชนิดหลังเราจะพูดกันในหัวข้อถัดไป

 

ตัวอย่างฟิล์มนาโนเซรามิค
ตัวอย่างฟิล์มนาโนคาร์บอน

 

ฟิล์มนาโนคืออะไร?

 

คำถามที่หลายคนสงสัยแต่เมื่อใดที่สอบถามกับบรรดาคนขายหรือช่างติดฟิล์ม คำตอบที่ได้มาก็จะประมาณว่า ‘เป็นเทคโนโลยีใหม่’ หรือไม่ก็ ‘ฟิล์มของเรากันร้อนได้สูงมากเมื่อเทียบกับเจ้าอื่น’ ซึ่งคำตอบเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้คุณเข้าใจเจ้าฟิล์มที่จะมาปกป้องแสงแดดกับความร้อนเท่าไหร่เลย ดังนั้นเราจะขออธิบายไว้ดังนี้

เหตุผลที่เรียกว่าฟิล์มนาโนมาจากเทคโนโลยีในการผลิตฟิล์ม ซึ่งมีเครื่องมือที่สามารถสร้างฟิล์มที่จัดเรียงองค์ประกอบของวัสดุนาโนที่มีขนาดเล็ก 1-100 นาโนเมตร โดยวัสดุที่นิยมมาใช้ทำฟิล์มนาโนก็ได้แก่ คาร์บอน กับ เซรามิค ที่มีคุณสมบัติต่างกันขึ้นอยู่กับว่าผู้ผลิตต้องการให้ฟิล์มรุ่นนั้นมีจุดเด่นที่อะไร

 

ฟิล์มนาโนคาร์บอน
ฟิล์มนาโนคาร์บอนยังสามารถมองเห็นกลางคืนได้ชัดเจน แต่ไม่สว่างใสเท่าฟิล์มนาโนเซรามิค
ภาพจากภายในรถที่ติดฟิล์มนาโนคาร์บอน

 

ฟิล์มนาโนคาร์บอน = ดำเป็นส่วนตัว 

 

ข้อดีที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดของฟิล์มนาโนคาร์บอนคือมันจะไม่เปลี่ยนสีหรือซีดจางลง เหตุเพราะโมเลกุลของคาร์บอน (สีดำ) ถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบหลักในการผลิต นอกจากนี้บางบริษัทยังผลิตฟิล์มที่ข้างนอกมีสีดำสนิท แต่เมื่อมองออกไปภายนอกแล้วไม่มืดเหมือนกับฟิล์มสีทั่วไป นอกจากนี้ด้วยการที่มันถูกสร้างโดยเทคโนโลยีนาโน บรรดาสัญญาณอิเล็กทรอนิก ทั้ง Easypass ไปจนถึงสัญญาณจีพีเอสของระบบนำทางจึงสามารถใช้งานได้ปกติ

บางคนก็มีข้อสงสัยอีกว่า ฟิล์มนาโนคาร์บอนนี่กันความร้อนดีหรือเปล่า? เราขออธิบายว่าโดยพื้นฐานแล้วฟิล์มชนิดนี้กันความร้อนได้ดีเหมือนกับฟิล์มโลหะ (ฟิล์มปรอท) ดังนั้นผู้ผลิตส่วนใหญ่จึงเสริมการป้องกันความร้อน แสง UV รังสีอินฟาเรด และอื่นๆ ด้วยการเพิ่มชั้นฟิล์มพิเศษตามที่แต่ละบริษัทมีลงไปเพื่อสร้างจุดขาย ซึ่งแน่นอนว่าเมื่ออัดเทคโนโลยีลงไปเยอะๆ ราคาการติดตั้งก็มักพุ่งสูงไปอยู่ราว 12,000-30,000 บาท

 

จะสังเกตุได้ว่ารถที่ติดฟิล์มนาโนเซรามิคกระจกหน้าต่างจะมีสีสว่างใสกว่า
เมื่อมองจากภายในห้องโดยสารของรถที่ติดฟิล์มนาโนเซรามิคจะเห็นว่าสว่างชัดเจน

 

ฟิล์มนาโนเซรามิค = ใสเห็นชัด 

 

มาถึงฟิล์มนาโนเซรามิคที่เราอาจเปรียบว่ามันเป็นด้านตรงข้ามกับฟิล์มนาโนคาร์บอน เพราะอะไรน่ะหรือ? ง่ายๆ เลยมันเด่นกว่าตรงความใสนี่แหละ เนื่องจากสารประกอบเซรามิคหรือแก้วนี้มีความใสเป็นทุนเดิม ขณะเดียวกันยังยอมให้สัญญาณต่างๆ ผ่านเข้าออกได้ปกติ แต่จะกรองทั้งแสง ความร้อน รังสี UV ไปจนถึง IR ได้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้จุดเด่นที่เหมือนกับฟิล์มนาโนคาร์บอนอีกอย่างคือ สีจะไม่ซีดลงหรือเปลี่ยนสี

ทีนี้คำถามที่มีต่อมาก็คือฟิล์มนาโนเซรามิคที่มีจำหน่ายบนท้องตลาด ในระดับราคาช่วงเดียวกับฟิล์มนาโนคาร์บอนนี้ใช้หลักการเดียวกันหรือเปล่า? เราตอบได้ว่าใช่ครับ เพราะเมื่อใดที่ฟิล์มรุ่นนั้นยอมให้แสงผ่านได้เยอะ แต่กันความร้อนรวมไปถึงรังสีต่างๆ ได้ดีกว่า ราคาของมันก็จะพุ่งสูงมาก เนื่องจากมีการเพิ่มชั้นฟิล์มพิเศษเข้าไปกรองสิ่งต่างๆ ที่ว่ามานี้ ลำพังตัวนาโนเซรามิคเองไม่สามารถกันความร้อนได้ดีเวอร์หรอกครับ มันจำเป็นต้องพึ่งส่วนประกอบเสริมอื่นๆ ด้วย

 

 

ฟันธงฟิล์มชนิดไหนว่าเหมาะกับใคร

 

ก่อนจากกันไปเราเชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านคงรู้ว่าตัวเองต้องการฟิล์มแบบไหน ยิ่งไปกว่ารู้ว่าตนเองต้องการอะไรก็คือความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ฟิล์มนาโน ที่หลายๆ บริษัทต่างประเคนอัดข้อมูลมาให้ลูกค้าพิจารณาเลือกซื้อ โดยเราอยากแนะนำหลักการในการซื้อฟิล์มติดรถยนต์ง่ายๆ

ก่อนจบบทความ เราอยากให้คุณลองไปนั่งทดสอบในรถคันติดฟิล์มรุ่นที่คุณสนใจอยู่จริง เพราะรูปภาพที่ใช้โฆษณากับการใช้งานจริงมันค่อนข้างจะต่างกัน อีกทั้งคำว่ามืดไป หรือสว่างไปของแต่ละคนนั้นย่อมไม่เท่ากันอยู่แล้ว ดังนั้นก่อนจ่ายเงินหลักหมื่นบาทคุณจึงควรไปลองดูของจริงให้มั่นใจก่อนเสียเงินครับ

 

 

 

 



แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่