เครื่องยนต์ดีเซล เป็นที่คุ้นชินสำหรับคนไทยมายาวนาน จากรถกระบะมาสู่รถเก๋งไปยันรถเก๋งสุดหรูมูลค่าหลายล้านบาท สำหรับหลายคนมักจะมีภาพลักษณ์กับเครื่องยนต์ดีเซลยุคใหม่ๆ ว่ามันจะต้องเป็นเครื่องยนต์ที่เต็มเปี่ยมล้นด้วยสมรรถนะการขับขี่แรงประดุจรถสปอร์ต ทั้งที่มันไม่ใช่ประเด็นที่บริษัทรถยนต์พัฒนาเครื่องยนต์เหล่านี้ขึ้นมา

เครื่องยนต์ดีเซลรุ่นใหม่ๆ นอกจากจะเกิดมาสมรรถนะดีแล้วมันยังให้ความประหยัดในการขับขี่มากขึ้นอีกด้วย หากบางครั้งเครื่องยนต์บางรุ่นอาจจะเกิดมาเพื่อสนองตอบต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมให้ความประหยัดมากกว่าเดิม หาได้เกิดมาเพื่อตอบสนองสมรรถนะในการขับขี่อย่างมที่คนไทยหลายคนเข้าใจ

ในระหว่างที่ผมมีโอกาสไปทดสอบสมรรถนะรถยนต์  Honda  CR-V   ใหม่ ก่อนการเปิดตัวในวันที่  24  มีนาคม ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับทางวิศวกรของฮอนด้า นาย โคจิ ฮิราโนะ ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการพัฒนารถยนต์  Honda  CR-V  ใหม่ โดยเฉพาะประเด็นเครื่องยนต์ดีเซลของฮอนด้า ที่มีสมรรถนะไม่มากมาย และเมื่อลองขับแล้วต้องยอมรับว่า มันไม่ได้แรงเร้าใจแบบที่หลายคนคิด

นาย ฮิราโนได้ตอบคำถามว่า คนไทยอาจจะติดภาพลักษณ์เครื่องยนต์ดีเซล ว่าต้องมีสมรรนถะสูงแรงเร้าใจ แต่ความจริงแล้วเครื่องยนต์ดีเซล เกิดขึ้นมาโดยส่วนใหญ่ด้วยความต้องการที่จะพัฒนาเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในประเทศยุโรป ดังนั้นรถยนต์เครื่องดีเซลบางแบบอาจจะเป็นเครื่องดีเซลที่ไม่ได้เน้นสมรรถนะอย่างที่คนไทยเข้าใจ

ความหมายนี้ ทำให้ผมตัดสินใจที่จะมาเล่าเรื่องราวของดีเซลสายประหยัด หรือเครื่องยนต์ดีเซลที่ไม่ได้มีสมรรนถะสุงมาก แต่เน้นการลดการปล่อยไอเสียจากปลายท่อ โดยนอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้นแล้ว ผลข้างเคียงจากขุมพลังแบบนี้คือมันยังมีความประหยัดมากขึ้นด้วย

“ดีเซลสายประหยัด” อาจจะเป็นคำที่บัญญัติลักษณะของขุมพลังดีเซลในรถยนต์รุ่นใหม่บางรุ่นได้ดี มันเกิดขึ้นมาแทนที่เครื่องยนต์รุ่นเดิมก่อนหน้า โดยออกแบบให้ตอบสนองเพียงพอต่อการใช้งาน โดยมุ่งเน้นให้ปล่อยไอเสียน้อยลงกว่าเดิม แล้วเพิ่มเติมความประหยัด

เครื่องยนต์กลุ่มนี้แรกเริ่มเดิมทีมีแนะนำในบรรดารถยุโรปมาสักระยะแล้ว แต่มันเป็นที่ประจักษ์ชัดมากขึ้น เมื่อเครื่องยนต์ดีเซลของค่ายรถยนต์  Isuzu   ตกเป็นข่าวว่ามีการพัฒนาเครืองยนต์ดีเซลขนาดเล็ก เพื่อตอบสนองการรักษาสิ่งแวดล้อมดีขึ้น เครื่องยนต์ดีเซล ขนาด 1.9   ลิตร ถือว่ามีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับ เครื่องยนต์ที่เล็กที่สุดของ   Isuzu   ดั้งเดิมขนาด  2.5   ลิตร และหลายคนกังชาเรื่องสมรรถนะในการขับขี่

จนกระทั่ง Isuzu Dmax 1.9  ลิตร เปิดตัวออกมาวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ก็เป็นที่ชัดเจนว่ามันมาพร้อมสมรรถนะในการขับขี่เทียบเท่าเครื่องยนต์ขนาด  2.5 ลิตร ที่วางจำหน่ายเดิม เวอร์ชั่นที่วางจำหน่ายในประเทศไทย ให้กำลังแรงบิด  150   แรงม้า และทำแรงบิดสูงสุด  350   นิวตันเมตร แรกเริ่มเดิมที แนะนำพร้อมระบบเกียร์ธรรมดา  6   สปีด เท่านั้น จนล่าสุดเมื่อปีกลายจึงแนะนำระบบเกียร์ธรรมดา  6   สปีด

ส่วนตัวเคยผ่านมือเจ้ารถยนต์  Isuzu  Dmax  1.9  ลิตร มาแล้ว ต้องยอมรับว่า  สมรรรถนะของมันเทียบเท่ากับเครื่องยนต์รุ่นเดิมที่วางจำหน่าย มันมีความประหยัดมากกว่าในการขับขี่อยู่บ้าง แต่ก็หาใช่ว่าจะประหยัดลงไปมากมาย เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์เดิม แต่กระนั้นเรื่องการปล่อยไอเสียจากปลายท่อลดลงมาก ตามรายละเอียดทางเทคนิค …หากคงไม่ใช่ทุกคนที่ตระหนักในเรื่องนี้

เครื่องยนต์รุ่นที่ 2  ในกลุ่มนี้ที่เข้ามาทำตลาดให้เราได้เอื้อมคว้ามาใช้งาน ผมพึ่งไปขับมาหมาดๆ ในรถยนต์   Honda  CR-V   ใหม่

เครื่องยนต์  Honda  I Dtec  1.6   ลิตร ใหม่เป็นเครื่องยนต์ที่มีการปรับย่อขนาดลงมาจากเครื่องยนต์ขนาด  2.2 ลิตรเดิม ที่วางจำหน่ายมาก่อนหน้านี้  ขุมพลังรุ่นใหม่มีการลดแรงเสียดทานในเครื่องยนต์ พร้อมปรับลดขนาดเครื่องยนต์ลงมา ทีเด็ดอยู่ที่เครื่องยนต์บล๊อกนี้ใช้เทอร์โบสองลูกทำงานร่วมกัน  รวมถึงอัดแรงดันน้ำมันจนสูงถึง   1,800   บาร์ ให้กำลังสูงสุด   160   แรงม้า และทำแรงบิดสูงสุด  350   นิวตันเมตรเท่ากัน

เมื่อขับขี่ในเบื้องต้น จากที่ได้มีโอกาสไป  Review Honda CR-V   ใหม่ ฟีลลิงเครื่องยนต์ไม่ได้ออกตัวกระชากมากมายอาจจะด้วยชุดเกียร์อัตโนมัติ  9  สปีด เครื่องยนต์ทำได้เพียงขับได้ตอบสนองดี แต่ไม่ได้ถึงดึงดันหลังติดเบาะอย่างที่หลายคนอาจจะคิดวาดฝันไว้ กำลังของมันตอบสนองได้ใกล้เคียงกับรุ่นเครื่องยนต์เบนซินขนาด 2.0   ลิตร เพิ่มเติมคือความประหยัดมากกว่า ผมเห็นตัวเลขระยะทางเหลือขับได้ราวๆ 800   กว่า กิโลเมตร ในสภาวะที่โดนเค้นสมรรถนะกันมาเต็มเหนี่ยว จากผู้สื่อข่าวท่านอื่น ผมบอกตามตรงว่า ..  ก็น่าประทับใจ

เครื่องยนต์ดีเซลสายประหยัด น่าจะมีมาตอบโจทย์อีกแน่ในอนาคต เพียงแต่วันนี้คำถามที่น่าสนใจมากกว่า คือ คนไทยยังติดภาพของเครื่องยนต์ดีเซลทรงสมรรถนะใช่หรือไม่ .. ทำไมเราถึงคิดดว่าเครื่องยนต์ดีเซลจะต้องแรงตอบโจทย์อะไรขนาดนั้นทั้งที่มันอาจจะเกิดมาเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและประหยัด

ได้เวลาที่เราจะคิดใหม่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ดีเซลแล้วหรือยัง ???

 
ชอบกดไลค์ ใช่กดแชร์ …. เนื้อหาดีๆ ต้องแบ่งปันต่อ แล้วอย่าลืมถูกใจ เพื่อรับข่าวสารยานยนต์ดีๆ จากทีมงานคุณภาพ Ridebuster – ส่องรถ ….

 

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่