กลายเป็นประเด็นให้หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ กันอย่างอุ่นนาฝาคั่ง หลังจากรถยนต์ใหม่ Honda  Accord   รุ่นเริ่มต้น ตัดสินใจตอนไฟตัดหมอกออกไป ทั้งที่รถรุ่นอื่นยังมีมาให้เป็นออพชั่นในการขับขี่

การตัดสินใจดังกล่าวไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ทำให้หลายคนต่างรู้สึกไปในทางติดลบรถรุ่นนี้ อาจรวมถึงกับทางฮอนด้าเองด้วย ทว่าคำถามสำคัญมากกว่าเรื่องนี้ กลับผุดขึ้นในหมู่ทีมงาน  Ridebuster.com   ว่า “ ไฟตัดหมอก ยังจำเป็นหรือไม่ ในรถยุคใหม่”  ที่มีระบบส่องสว่างระดับเปิดตรงนี้ มองไปไกลได้หลายร้อยเมตร

Headlight-so-bright (1)

ไฟหน้ารถยนต์ ยุคใหม่มีพัฒนาการไกลมาก ถ้าถอยหลังไปเพียงยุค 2000 ต้นๆ ระบบไฟหน้ารถสมัยใหม่ ถือว่าเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จากชุดไฟหน้าฮาโลเจน มาเป็น ไฟซีนอน และจากนั้น ก็เปลี่ยนมาเป็นไฟหน้า  LED   กันถ้วนหน้า เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ไฟตัดหมอกอยู่คู่รถยนต์ทั่วโลกมายาวนาน ระยะหลังกลายเป็นออพชั่นมาให้คนไทยได้ใช้ ทั้งที่บ้านเราเป็นเมืองร้อน หมอกควันต่างๆ ไม่ได้มีเท่าไร เจ้าชุดไฟเสริมติดล่างกันชนกลายเป็นออพชั่นที่เกิดขึ้นมาในช่วงต้นยุค 2000 ในสมัยนั้นรถยนต์ส่วนใหญ่ยังใช้ไฟหน้าฮาโลเจนอยู มีเพียงรถบางรุ่นที่หันมาใช้ไฟแบบซีนอนบ้างส่วนใหญ่เป็นรถยนต์หรูชั้นนำเท่านั้น

ที่มาที่ไปไฟตัดหมอก คำนี้มาจากคำว่า  “Fog Light” เป็นไฟเสริมเพิ่มความสว่างระหว่างการขับขี่ นิยมใช้ในแถบประเทศเมืองหนาว เนื่องจากภาวะอากาศเลวร้ายเกิดขึ้นได้เสมอในหน้าหนาวหิมะตก หมอกลงจัด จะลดทอนความสามารถไฟหน้าฮาโลเจนปกติลงไป

ไฟตัดหมอก

ไฟเสริมช่วยตัดหมอกนั้นเดิมที เกิดจากสปอร์ตไลท์ขนาดใหญ่ ด้วยความเทอะทะของมันและไม่สวยงาม ดูถึกไป จึงเริ่มมีการทำสปอร์ตไลต์ขนาดเล็ก ย่อขนาดโคม กำลังไฟหลอดลง เอาแค่พอใช้งานไม่ได้เปิดแล้วส่องไปยันดาวอังคาร  เหมือนสปอร์ตไลท์ยุคเก่า

เริ่มแรกไฟตัดหมอกเป็นสีเหลือง เนื่องจากสีเหลืองมีคลื่นแสงยาว (ส่วนสีแดงไม่ใช่เพราะเหมือนไฟเบรก) และมองเห็นได้ง่ายในทางปฏิบัติ อีกประการ ไฟหน้าฮาโลเจนมีสีส้ม ถ้าเราเปิดไฟตัดหมอกสีเหลือง นอกจากจะรู้ว่า เราเปิดไฟเสริมค้างไว้หรือไม่ ยังช่วยในการผสมเพิ่มคลื่นความยาวแสงการส่องสว่างภาพรวมดีขึ้นด้วย

สีเหลืองยังหมายถึงระวัง และด้วยการเห็นง่ายในหมอกที่หนาจัดที่ขาวโพลนไปทั้งหน้ากระจก มันสังเกตง่าย ยังช่วยบอกให้รถที่สวนมาให้ระวัง และทราบถึงตำแหน่งรถของเราด้วยในทางหนึ่ง

แต่ไฟตัดหมอกที่นำเสนอในรถใหม่หลายรุ่น กลับเป็นเพียงไฟเล็กปลายกันชนสีส้มเหมือนไฟหน้าปกติ ระยะแรกรถใหม่เริ่มมีไฟนี้มาให้ เกิดปัญหาการใช้งานไม่ถูกกาลเทศะ มีความเข้าใจผิด-ถูก ในหมู่ผู้ใช้ เกิดขึ้นมากมายว่า ไฟตัดหมอกใช้ได้เสมอ เมื่อคิดว่าไฟหน้าสว่างไม่เพียงพอ ทั้งที่ความตั้งใจไฟชุดนี้เกิดขึ้นมาเพื่อเพิ่มทัศนวิสัยการมองเห็นในบางสภาวะการณ์ เช่นหมอกลงจัด ฝนตกหนัก การใช้ไฟสำรองนี้ยังเป็นปัญหามาจนปัจจุบัน และยังเห็นได้ทุกวี่วัน

เมื่อไฟซีนอนเริ่มเข้ามาแทนที่ ความสำคัญไฟตัดหมอกเริ่มลดน้อยลง แต่ยังไม่ถูกถอดออกไป เนื่องจากเป็นออพชั่นที่ลูกค้าเห็นว่าต้องมี แม้คุณสมบัติไฟตัดหมอกหลอดฮาโลเจนสีส้มไม่มีทางสู้ไฟหน้า   HID   ที่มีคุณภาพการส่องสว่างสูง ให้ทัศนวิสัยกว้างไกลในการขับขี่มากกว่า ทั้งความเข้มแสงและค่าการสะท้อนแสงดีกว่า ตลอดจนยังปรับลักษณะสีของแสงจากสีส้มมาเป็นสีขาว

ความสามารถช่วยเพิ่มทัศนวิสัยในยามค่ำคืน ตลอดจนเวลาฝนตกหนักได้ดีขึ้นในระดับที่น่าพอใจ การก้าวมาของไฟหน้า  LED  ในยุคใหม่ ช่วยลดข้อกังขาไฟ  HID   เดิม ซึ่งจะทำให้แสบตาถ้าไม่ใส่ในโคมบังคับทิศทางหรือ  Projector  ส่วนคุณภาพการส่องสว่างไม่หนีกว่ากัน แถมมันยังทนทานมากกว่าในระยะยาว ความสวยงามมีมากกว่า และสามารถสร้างการควบคุมทิศทางแสงได้ตามต้องการ มีลูกเล่นมากกว่าด้วย

เมื่อไฟหน้าปกติมีความสามารถมากขึ้น เป็นที่น่าสนใจมากว่า เรายังต้องการไฟตัดหมอกหรือไม่ มันอาจกลายเป็นเพียงไม้ประดับติดรถ ใช้งานได้ก็จริง แต่ไม่สามารถสู้ความสว่างไฟหน้าคุณภาพสูงได้ จนรถหลายรุ่นในท้ายที่สุดก็ต้องเปลี่ยนเป็นไฟตัดหมอก LED   ตามมา ในต่างประเทศ เริ่มมีคำถามว่า ยังจำเป็นหรือไม่

ในข้อเท็จจริงจากจุดเริ่มต้นไฟตัดหมอก มันเกิดเพื่อเพิ่มทัศนวิสัยในการขับขี่ แล้วถ้าวันนี้มันเพียงพอ หรือมีความสามารถในการส่องสว่างมากกว่าเดิมแล้ว ทำไมเราถึงยังยึดติดว่าจะต้องมีไฟตัดหมอกตอบโจทย์ ทั้งที่เราอาจจะแทบไม่ได้ใช้ , เปิดนับครั้งได้ในแต่ละปี แล้วต้องมามีค่าบำรุงรักษาในระยาว  รวมถึงยังตัดปัญหาคนซื้อใช้ผิดๆ ถูกๆ สร้างความเดือดร้อนบนถนน ให้ก่นด่ากันไม่เว้นรายวัน

ในญี่ปุ่นไม่ใช่รถทุกรุ่นมีไฟตัดหมอก

ถ้ามองในเรื่องความสำคัญ สามารถแบ่งเป็น 2 ประเด็น

1.ช่วยเพิ่มทัศนวิสัย

ปัจจุบันไฟหน้าสมัยใหม่ … ไฟ LED / HID   มีความสามารถในการส่องสว่างทะลุทะลวงดีกว่าไฟฮาโลเจนดั้งเดิม ถึงจะมีไฟตัดหมอก  LED   เข้ามาเป็นทางเลือกตามยุคสมัย เรายังจำเป็นต้องมีพวกมันหรือไม่  …. เราแค่อาจจะยึดติดสิ่งที่คุ้นชินหรือเปล่า

2.การเป็นไฟบอกตำแหน่ง เวลาขับท่ามกลางทัศนวิสัยแย่

ให้เพื่อนร่วมทางทราบ ก็อาจไม่จำเป็นเท่าไรแล้ว… เพราะเดิมที คนอาจจะมองสังเกตเห็นไฟฮาโลเจนได้ยาก จึงต้องมีเพื่อให้เห็นชัดเจนขึ้น ถ้าวันนี้ไฟหน้าส่องสว่างไกล มันยังจำเป็นไหมในความเป็นจริง?

 

อย่างไรก็ดี ถึง ไฟตัดหมอกหน้าในรถยุคนี้อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่ “ไฟตัดหมอกหลัง” อาจยังจำเป็นอยู่ เนื่องจากไฟท้ายไม่ได้มีคุณสมบัติในการส่องสว่างระยะไกลมาก การมีไฟตัดหมอกท้ายทำให้เพื่อนร่วมทางเห็นรถเราได้ไกล ช่วยลดอุบัติเหตุ บางทีเราอาจแก้ประเด็นเรื่องการเปิดไฟฉุกเฉินเวลาขับรถกลางฝน-กลางหมอกของคนไทยได้ ถ้ามีไฟชุดนี้ทางด้านหลัง แล้วสอนลูกค้าใช้ให้ถูกต้อง

Rear Fog light
ไฟตัดหมอกหลัง อาจมีความสำคัญมากกว่ าเนื่องจากสามารถทำให้รถที่ขับตามเห็นได้ในระยะไกล

ไฟตัดหมอก… ยังจำเป็นหรือไม่ ในยุคโลกทันสมัย ใกล้ปี 2020 เป็นคำถามน่าคิด เราเพียงแต่ยึดติด หรือมันอาจจำเป็นจริงๆ คงสุดแท้แล้วแต่คนจะสรุป บทความนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อเถียงแทนบริษัทรถยนต์รายใดรายหนึ่ง เราแค่ต้องการชี้ให้เห็นว่า ไฟหน้าที่ส่องสว่างดีกว่าวันวานหลายสิบเท่า อาจสามารถทดแทนออพชั่นที่แทบไม่ได้ใช้เลยได้  … แต่ถ้ารถรุ่นไหนยังใช้ไฟหน้าสีส้มฮาโลเจน มันอาจจำเป็นก็ได้ … ครับ

 

 

 



แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่