Honda Forza 750 นับเป็นรถมอเตอร์ไซค์ที่ได้กระแสตอบรับตอนเปิดตัวในงาน Motor Show 2025 สูงมาก เนื่องจากชายไทยรอคอยการมาของมันกันอยู่นาน และล่าสุดทาง Thai Honda ก็ได้มีการจัดรอบทดสอบให้เหล่าสื่อฯได้ลองสัมผัสและ รีวิว กันแล้ว

ก่อนอื่น ทริปทดสอบ และ รีวิว Honda Forza 750 ในครั้งนี้ จะเป็นทริปที่ทาง Thai Honda ได้จัดเส้นทางการทดสอบให้เหล่าสื่อได้ทดลองเจ้าบิ๊กสกู๊ตเตอร์รุ่นนี้ กับโจทย์การใช้งานเดินทางไกล ซึ่งเข้ากับลักษณะการออกแบบตัวรถในสไตล์ “Grand Tour Bike” ได้เป็นอย่างดี ก่อนที่จะตบท้ายการทดสอบด้วยการให้สื่อได้นำเจ้ารถมอเตอร์ไซค์สายทัวร์คันนี้ไปลองวิ่งในสนามช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต ซึ่งใช้ในการแข่งขัน MotoGP ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมาด้วย
งานออกแบบ และลูกเล่นน่าสนใจ
โดย All-New Honda Forza 750 ที่ถูกนำมาวางจำหน่ายในไทยเป็นครั้งแรก แท้จริงถูกนับว่าเป็นตัวรถเจเนอเรชันที่ 2 ของตระกูล หลังจากที่โฉมแรกได้ทำตลาดในทวีปยุโรปมาตั้งแต่ปี 2020 จนกระทั่งมันได้รับการปรับโฉมครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2024 โดยยังคงใช้พื้นฐานโครงสร้างร่วมกับ Honda X-ADV 750 เช่นเดิม
และการปรับโฉมใหม่ของตัวรถครั้งนี้ จะเน้นไปที่การปรับภาพลักษณ์ หรือหน้าตาตัวรถให้ดูมีความเรียบหรู และเหมาะสมกับการใช้งานเดินทางไกลมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่หน้าตาของมันอาจจะดุดันไปสักหน่อย โดยสังเกตได้จากชุดแฟริ่งหน้าที่ดูมีขนาดอวบอ้วน ใหญ่โต เพื่อการแหวกลมออกจากตัวผู้ขี่ที่ดีกว่าเดิม
แต่เพื่อให้ตัวรถไม่ดูแก่ มันจึงยังคงได้รับการออกแบบให้มีเส้นสายที่แหลมคมอยู่ ทั้ง เส้นสันขอบไฟหน้าทั้งด้านบนและด้านล่าง ไปจนถึงเส้นของแฟริ่งด้านข้าง ซึ่งมีการตัดขอบชัดเจน ให้กลิ่นอายคล้ายกับ Forza 350 เจเนอเรชันแรก และยังมีการทำชิ้นงานพลาสติกดำด้านเพื่อทำหน้าที่เป็นครีบรีดอากาศเสริมอีกชั้น และชิ้นแฟริ่งบังลมด้านล่างเอง ก็ยังคงมีขนาดที่ไม่ใหญ่มากนัก เพื่อไม่ให้ตัวรถดูกลมจนเกินไป
ชุดแฟริ่งท้ายเอง ยังถูกออกแบบให้มีความแหลมคมด้วยการวาดแนวเส้นกลางเป็นองศาเดี่ยวกับชุดแฟริ่งหน้า และจะจรดเส้นบนกับเส้นล่างของท้ายรถ ให้ไปบรรจบกันเป็นมุมเดียวที่ไฟท้าย LED ช่วยเพิ่มลุคความปราดเปรียวให้กับตัวรถได้เป็นอย่างดี
และนอกจากชิ้นกระจกมองข้าง จะสามารถพับเก็บได้โดยไม่ต้องคลายน็อตฐานก้านกระจก ตัวรถยังมีลูกเล่นที่น่าสนใจอื่นอีก เช่น ระบบไฟหน้า LED แบบใหม่ ที่มีแถบไฟ DRL ซึ่งจะกลายเป็นไฟเลี้ยวได้ในตัว คล้ายๆกับรถยนต์หรูทั้งหลาย
โดยที่ไฟเลี้ยวนี้จะสามารถดับเองได้โดยอัตโนมัติ เมื่อระบบพบว่าล้อหน้า-หลัง กับมาวิ่งด้วยความเร็วใกล้เคียงกันอีกครั้ง เพราะโดยปกติ เมื่อรถกำลังตีวงเลี้ยว คุณจะสังเกตได้ว่า ล้อหน้าที่อยู่วงนอก จะต้องหมุนด้วยความเร็วสูงกว่าล้อหลังที่อยู่ในวงด้านใน จากรัศมีวงเลี้ยวที่มากกว่า ทำให้ล้อหน้าต้องวิ่งด้วยระยะทางที่มากกว่าในเวลาเดียวกัน
แต่เมื่อล้อหน้ากลับมาวิ่งตรงๆเป็นเส้นเดียวกันกับล้อหลังแล้ว มันก็จะมีอัตราการหมุนที่ใกล้เคียงกันในระยะทางเท่าๆกันดังเดิม ซึ่งตัวระบบยกเลิกไฟเลี้ยวอัตโนมัติของเจ้า Forza 750 ก็จะใช้การคำนวนจังหวะดับไฟเลี้ยวจากจุดนี้นั่นเอง
นอกจากนี้ มันยังมาพร้อมกับชิลด์หน้าทรงใหม่ ที่เตี้ยลง แต่กว้างกว่าเดิม 100 มิลลิเมตร ชันขึ้นอีก 10 องศา เพื่อการแหวกอากาศทางด้านข้างที่ดีกว่า และมันยังมีระบบปรับระดับความสูง-ต่ำ 120 มิลลิเมตร ด้วยระบบไฟฟ้า คล้ายกับรุ่น 350
แต่ที่พิเศษกว่าคือ หากคุณดับเครื่อง และปิดสวิทช์รถ ตัวชิลด์หน้าจะถูกลดระยะความสูงให้กลับลงไปต่ำสุดเพื่อความเรียบร้อย และจะขยับกลับมาอยู่ในจุดที่ผู้ขี่เซ็ทเอาไว้ล่าสุดก่อนดับเครื่อง เมื่อรถเคลื่อนตัวด้วยความเร็วมากกว่า 5 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยอัตโนมัติ
และด้วยการออกแบบชิลด์หน้าในลักษณะนี้ จึงทำให้ชิลด์หน้าจะไม่สูงจนบดบังสายตาผู้ขี่ใดๆทั้งสิ้น เมื่อเราปรับชิลด์ให้เตี้ยสุด แม้ผู้ขี่จะสูงไม่เกิน 170 เซนติเมตร และช่วยให้อากาศสามารถปะทะตัวผู้ขี่เพื่อลดความร้อนขณะใช้งานได้เป็นอย่างดี
หรือในกรณีที่ฝนตก ไม่ก็อากาศหนาวเกินไป การปรับชิลด์ขึ้นสูงสุด ก็จะช่วยแหวกลมออกจากตัวผู้ขี่ ในระยะพ้นแนวหมวกกันน็อคขึ้นไปอีก ซึ่งทำให้ผู้ขี่ไม่ลดความกังวลว่าเม็ดฝนจะปลิวมาโดนหน้าได้ดีมาก เว้นเสียแต่ว่าคุณจะขี่ช้าเกินไป หรือฝนตกมาหนักจริงๆ จนมีเม็ดฝนหยดลงมาระหว่างแนวชิลด์หน้ากับตัวผู้ขี่ได้
ส่วนอีกฟีเจอร์ที่ถูกใส่เข้ามาเป็นครั้งแรกๆในรถบิ๊กสกู๊ตเตอร์จากแบรนด์ญี่ปุ่น ก็คือระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ ซึ่งหากคุณเป็นคนที่ใช้งานรถยนต์ที่มีระบบนี้อยู่แล้ว ก็ต้องบอกว่าคุณจะเรียนรู้วิธีการใช้งานระบบนี้บนเจ้า Forza 750 ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
เพราะมันก็จะประกอบไปด้วย การเปิดระบบให้พร้อมทำงาน จากสวิทช์บนประกับแฮนด์ขวา ทางด้านล่างขวาสุด, เปิดคันเร่งให้อยู่ในระดับความเร็วที่ต้องการ, กดเลือกเซ็ทความเร็วที่อยากให้ระบบคุมเอาไว้ ด้วยสวิทช์ทางประกับแฮนด์ด้านซ้าย ทางด้านล่างขวาสุดเช่นกัน, หากต้องการปรับความเร็วให้เพิ่มขึ้นหรือลดลง ก็กดสวิทช์ตัวเดียวกันกับที่ใช้ล็อคความเร็ว ปรับเอา โดยมีสเกลละเอียดถึงระดับละ 1 กิโลเมตร/ชั่วโมง
หากต้องการยกเลิกการล็อคความเร็ว ก็ทำได้ทั้งจากการกดก้านเบรกฝั่งใดก็ได้ หรือยกคันเร่งให้ลึกกว่าระดับปกติเล็กน้อย ระบบก็จะตัดการทำงาน และรถจะลดความเร็วลงเหมือนการผ่อนคันเร่งโดยทันที
และหากผู้ขี่ต้องการจะให้ระบบกลับมาทำงานใหม่ ก็ทำได้ทั้ง การกดสวิทช์คุมความเร็วทางด้านซ้ายลง เพื่อล็อคความเร็วที่รถวิ่งอยู่ในปัจจุบัน หรือ กดขึ้น เพื่อให้รถค่อยๆไต่ความเร็วไปอยู่ในระดับที่ล็อคเอาไว้ก่อนหน้านี้
หรือหากต้องการปิดระบบไปเลย ก็แค่กดย้ำปุ่มเปิดการทำงานอีกรอบเพียงเท่านั้น ก็จบเรื่องราว
ซึ่งการทำงานของตัวระบบคุมความเร็วนี้ ก็ถือว่าสามารถทำงานได้ค่อนข้างเนียน โดยเฉพาะความพยายามในการรักษาความเร็วให้อยู่ในระดับที่ผู้ขี่ต้องการ ไม่ได้มีความกระโชกโฮกฮากใดๆให้น่ารำคาญ และช่วยลดความอ่อนล้าขณะวิ่งทางไกลได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้เงื่อนไขในการใช้งานระบบควบคุมความเร็วนี้ จะมีอยู่ว่า คุณต้องขี่รถด้วยความเร็วมากกว่า 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป และใช้เกียร์ 3 ขึ้นไปเท่านั้น ระบบถึงจะสามารถทำงานได้
ท่าทางการขับขี่
นับเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ที่น่าสนใจ เพราะหลายคนมักเทียบความแตกต่างของมันกับคู่แฝดอย่าง Honda X-ADV 750
ซึ่งหากว่ากันตามตรง ตัวรถ Forza 750 จะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในส่วนของแฮนด์บาร์ ซึ่งจะเตี้ยกว่า และแคบกว่าคู่แฝดสายลุยอย่างชัดเจน ทำให้ผู้ขี่ที่แขนอาจจะไม่ยาวมากนัก จะรู้สึกว่าตัวเองไม่ต้องเอื้อมแขนไปจับแฮนด์มากเท่าเดิม ไม่ได้รู้สึกว่าต้องยกแขนสูง เหมือนขี่รถครุยเซอร์ และจะรู้สึกตัวจมไปกับคอนโซลหน้าของรถน้อยลง
ผลที่ตามมาคือ มันทำให้ผู้ขี่รู้สึกถึงความพอดีกับช่วงตัว และรู้สึกถึงคล่องตัวในการควบคุมตัวรถที่มากกว่าเมื่อขี่รถด้วยท่านั่งขี่แบบที่ควรจะเป็น ช่วยให้การใช้งานแบบขี่เดินทางไกลมีความผ่อนคลายมากขึ้น หรือหากเป็นการขี่ในจังหวะที่ต้องมุดช่องจราจรติดๆขัดๆ หรือการต้องยูเทิร์นรถ ก็จะยิ่งสามารถทำได้ง่ายดายกว่าอย่างเห็นได้ชัด เพราะการออกแบบตำแหน่งแฮนด์บาร์ของเจ้ารถคันนี้ มีความลงตัวกับผู้ขี่ไซส์เอเชียอย่างเราจริงๆ
ขณะเดียวกัน ตัวพื้นที่วางขาด้านล่าง แม้อาจจะไม่ได้กว้างมากนัก จนทำให้ผู้ขี่ที่ใส่รองเท้าวิ่งไซส์ 43 ยังมีพื้นรองเท้าด้านนอก เหลื่อมออกไปจากฟลอบอร์ดเล็กน้อย แต่หากว่ากันที่ความยาว และความลึกของฟลอบอร์ด ก็ต้องบอกว่าเหลือเฟือ จนบางทีก็อาจจะมากเกินไปด้วยซ้ำ สำหรับผู้ขี่ที่สูงไม่เกิน 170 เซนติเมตร
เพราะในการเหยียดขาสุดนั้น จะแทบไม่สามารถเอาเท้าแตะปลายฟลอบอร์ดได้เลย หากคุณยังคงพยายามที่จะนั่งให้ก้นติดพนักหลังบนเบาะอยู่ (คือต้องเขยิบก้นมาด้านหน้าเล็กน้อย เพื่อให้ขาถึงนั่นเอง)
สิ่งที่น่าติงมากกว่า คือการที่พื้นที่วางเท้าด้านท้ายฟลอบอร์ด จะถูกรบกวนโดยแครงก์เครื่องยนต์ซ้าย-ขวา ที่ไม่เสมอกัน ทำให้หากคุณอยากจะลองนั่งแบบชันขาเพื่อแก้เมื่อย ส้นเท้าด้านขวา จะแบะออกด้านข้างมากกว่าด้านซ้ายอย่างเห็นได้ชัด ทำให้มันค่อนข้างขัดใจขณะใช้งานพอสมควร (แต่เข้าใจได้ว่า หากเป็นผู้ขี่ที่ตัวสูงๆ อาจจะไม่จำเป็นต้องเอาเท้าถอยมาจนสุดขนาดนี้ ก็สามารถนั่งชันขาสบายๆได้แล้วก็ได้)
เบาะนั่ง
ก็มีข้อดีทั้งตัวหนังหุ้มเบาะที่สาก ช่วยยึดเหนี่ยวบั้นท้ายผู้ขี่ได้เป็นอย่างดี แถมยังมีความนุ่มแน่นพอตัว แม้ตอนจับๆกดๆจะไม่ได้รู้สึกว่าโฟมมันหนามากนัก ช่วยให้การนั่งขี่เป็นระยะทางไกลๆหลัก 100 กว่ากิโลเมตร ยังไม่รู้สึกถึงความปวดระบมที่บั้นท้ายใดๆ
และด้วยระยะความสูงจากพื้นที่มีตัวเลข 790 มิลลิเมตร ก็จะเห็นได้ว่าไม่ได้ดูสูงมากมายนัก ซึ่งสำหรับผู้ขี่ที่สูงไม่เกิน 170 เซนติเมตร ก็ยังสามารถวาดขาขึ้นไปนั่งได้สบายๆ แค่อาจจะต้องยกขาวาดสูงหน่อย เพราะเบาหลังค่อนข้างสูงคล้ายๆรถสปอร์ตอยู่หน่อยๆ
แต่เมื่อนั่งลงไปแล้ว ผู้ขี่จะยังคงสามารถใช้ขาเหยียดแล้วเอาเท้าข้างใดข้างหนึ่งเหยียบลงไปบนพื้นได้สบายๆ เนื่องจากแม้ลำตัวรถช่วงกลางจะค่อนข้างกว้าง แต่ทาง Honda ได้มีการออกแบบให้ด้านล่างสุดของตัวรถ มีการเว้าหลบเข้าไปเล็กน้อย เพื่อไม่ให้เป็นการเกะกะขาตอนยืนนั่นเอง
ทว่าหากคุณเป็นคนตัวไม่สูงมากนัก การหวังจะวางเท้าทั้งสองข้างลงพื้นให้เต็มฝ่า ขณะจอดติดไฟแดง ก็คือตัดทิ้งได้เลย
ช่วงล่าง และการเข้าโค้ง
ด้านหน้า แบบโช้กอัพตะเกียบคู่หัวกลับขนาดแกน 41 มิลลิเมตร พร้อมช่วงยุบ 120 มิลลิเมตร ส่วนระบบกันสะเทือนด้านหลัง เป็นโช้กเดี่ยว ปรับค่าพรีโหลดได้ พร้อมช่วงยุบ 120 มิลลิเมตร ทำงานร่วมกับสวิงอาร์มอลูมิเนียมแขนคู่ และระบบกลไกกระเดื่องทดแรง Pro-Link
โดยทั้งหมด ทำงานร่วมกับชุดล้ออัลลอยด์ ขนาด 17 นิ้ว ด้านหน้า และ 15 นิ้วทางด้านหลัง รัดด้วยยางเรเดียล ขนาด 120/70-17 และ 160/60-15 ตามลำดับ โดยจะมียาง 2 แบบติดมา แล้วแต่ล็อตการผลิต นั่นคือยาง Pirelli Rosso SC และ Bridgestone Battlax T31
ซึ่งจากการทดสอบบนเส้นทางที่อาจจะไม่ได้มีโค้งให้เล่นมากนักบนถนนหลวง และส่วนใหญ่จะเป็นการวิ่งบนทางตรง ช่วงโคราช-อำเภอนางรอง และวิ่งต่อไปจนถึงตัวสนามช้าง มีทั้งช่วงถนนที่เต็มไปด้วยรอยปะ ผิวตะปุ่มตะป่ำ ผิวมัน หรือแม้กระทั่งผิวถนนที่พึ่งทำใหม่สุดเรียบเนียน กับผิวแทร็คสุดเพอร์เฟ็กท์
สิ่งที่เราพบก็คือ ตัวช่วงล่างของ Forza 750 ได้ถูกออกแบบให้เน้นไปทาง “ความนุ่ม และเฟิร์ม” ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งกับการใช้งานทั้งในชีวิตประจำวัน และการเดินทางไกลบนทางลาดยาง
กล่าวคือแม้มันอาจจะไม่ได้เป็นช่วงล่างที่นุ่มเสียจนสามารถเก็บอาการจากผิวถนนขรุขระใหญ่ๆได้เนียนกริ้บ แต่หากเป็นพื้นถนนที่มีเพียงลอนคลื่นเล็กๆ หรือรอยปะเล็กๆน้อยๆ ตัวช่วงล่างก็ถือว่าเก็บอาการสั่นสะเทือนต่างๆได้ค่อนข้างดี และจะยิ่งนิ่งเนียนขึ้นไปอีกเมื่อเราได้วิ่งบนถนนลาดยางที่พึ่งทำมาใหม่ๆ โดยมีอาการย้วยหรือโยนน้อย ถึงน้อยมากๆ แม้คุณจะต้องการเปลี่ยนเลนกระทันหัน เพื่อหลบสิ่งกีดขวางอันไม่ถึงประสงค์บนท้องถนนขณะขี่ด้วยความเร็วสูง
หรือแม้แต่การขี่รถในสนามแข่งที่ต้องซัดกันเกือบเต็มข้อจากความเร็วระดับ 160+ กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้วต้องเบรกให้ความเร็วเหลือไม่ถึง 80 กิโลเมตร/ชั่วโมงให้อยู่ในระยะไม่ถึง 150 เมตร ด้วยระบบเบรกดิสก์หน้าคู่ขนาด 310 มิลลิเมตร และคาลิปเปอร์เบรกเรเดียลเมาท์ 4 พอร์ท ส่วนด้านหลังเป็นดิสก์เบรกเดี่ยวขนาด 240 มิลลิเมตร พร้อมคาลิปเปอร์เบรกโฟลทติ้งเมาท์ 1 พอท
สิ่งที่ต้องระวังจากตัวรถในจังหวะนี้ กับน้ำหนักตัวรถที่มากถึง 236 กิโลกรัม ก็คืออาการหน้าหนืดขณะเบรกหนักๆจนทำให้รถไม่ยอมเลี้ยวเข้าได้ง่ายๆ จนกว่าคุณจะยอมปล่อยเบรกออกสักหน่อย ถึงจะหักเลี้ยวเข้าไปได้ ซึ่งในการใช้งานบนถนนจริงๆ คุณก็คงจะไม่ได้เบรกหนักขนาดนั้นก่อนเลี้ยวอยู่แล้ว
ที่ต้องชมจริงๆ คือแม้ช่วงล่างจะถูกเซ็ทให้เน้นความนุ่ม แต่ด้วยความเฟิร์ม หรือความหนืดของตัวโช้ก ทำให้รถแทบไม่มีอาการดิ้นใดๆ ทั้งด้านหน้าตัวรถขณะกำลังนอนเข้าโค้ง หรือด้านหลังขณะนอนแล้วเปิดคันเร่งออกจากโค้งเต็มตัว แต่ถ้าเปิดแรงจริงๆ หน้ารถจะบานออกอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจุดนี้ผู้ขี่อาจจะต้องวาดไลน์กันใหม่ดีๆ หรือใช้เบรกหลังช่วยแต่งไลน์นิดหน่อย ไม่งั้นอาจจะพลาดหลุดโค้งได้ ซึ่งขอย้ำอีกทีว่าอาการนี้เกิดขึ้นโดยที่ท้ายรถไม่ได้มีอาการแกว่งหรือดิ้นใดๆให้รู้สึกหวาดเสียวเลยสักนิด
ทิ้งท้ายกันอีกหน่อยที่ความคล่องตัว ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับยางที่ติดรถมา ขอวงเล็บไว้ก่อนว่าส่วนตัวผู้ทดสอบ ได้มีโอกาสจับเพียงรถที่ใช้ยาง Pirelli Rosso SC เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งเดิมทียางรุ่นนี้ ก็จะมีรูปทรงที่ค่อนข้างกลมอยู่แล้ว จึงทำให้มันช่วยส่งเสริมอาการของรถที่มีศูนย์ถ่่วงต่ำอย่างเจ้า Forza ให้สามารถพลิกเลี้ยวได้ค่อนข้างตามใจสั่ง ไม่เร็วจนเกินไป หรือหนืดจนเกินไป (เว้นแต่จังหวะที่ต้องเบรกหนักๆก่อนเข้าโค้ง อย่างที่เราระบุไว้ก่อนหน้านี้)
ส่วนตัวรถที่ใช้ยาง Bridgestone Batlax T31 จากที่ผู้ทดสอบได้ลองสอบถามพี่ๆที่ได้ขี่รถพร้อมยางรุ่นดังกล่าว ต่างระบุว่าตัวรถจะมีอาการพลิกเลี้ยวหนักกว่าเล็กน้อย แต่ก็แลกมากับการวิ่งบนทางตรงที่นิ่งกว่า ซึ่งในจุดนี้ก็คงแล้วแต่ดวงของคุณแล้วล่ะครับว่าพอซื้อแล้วจะได้ยางรุ่นใหนที่เหมาะกับสไตล์การขี่ของคุณมากกว่ากัน
แต่ย้ำอีกที ไม่ได้มียางรุ่นไหนด้อยกว่ากันอย่างชัดเจน แค่มันให้ความรู้สึกในการใช้งานที่ต่างสไตล์กัน อยู่ที่คุณจะชอบนิสัยของยางแบบไหนมากกว่าก็เท่านั้น และหวังว่าคุณจะได้รถที่มาพร้อมกับยางที่ตรงใจกับคุณอีกที
เครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง
ขุมกำลังของ Forza 750 จะอ้างอิงรายละเอียดที่ใกล้เคียงกับ Honda X-ADV 750 แทบทุกประการ นั่นคือ เครื่องยนต์ 2 สูบเรียง SOHC UniCam 8 วาล์ว ระบายความร้อนด้วยน้ำ ขนาด 745cc ลูกเดิม และให้กำลังสูงสุด 58.6 PS ที่ 6,750 รอบ/นาที กับแรงบิดสูงสุด 69 Nm ที่ 4,750 รอบ/นาที ทำงานร่วมกับชุดเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ DCT 6 สปีด และระบบคันเร่งไฟฟ้า Throttle-By-Wire พร้อมโหมดการขับขี่อีก 5 รูปแบบ, โหมดปรับระดับขุมกำลัง 3 ระดับ, ระดับแรงหน่วงเครื่องยนต์เมื่อปิดคันเร่ง 3 ระดับ, ระดับอัตราการตอบสนองของเกียร์ 3 ระดับ, ระดับการทำงานของระบบ HSTC 4 ระดับ (รวมปิด)
จากตัวเลขพละกำลังสูงสุดข้างต้น เราอาจจะพบว่ามันไม่ได้มีความแตกต่างจากตัวรถโฉมก่อนเลยแม้แต่น้อย จึงทำให้นิสัยการเรียกอัตราเร่งของเครื่องยนต์ลูกนี้ จะยังคงค่อนไปทางการเรียกแรงบิดที่ติดมือตั้งแต่รอบต่ำ และต่อเนื่องเป็นย่านกว้าง ไปจนถึงรอบเครื่องยนต์สูงสุด ที่มีตัวเลขเพียงแค่ราวๆ 7,000 รอบ/นาที เท่านั้น
และนั่นถือเป็นจุดขายสำคัญของเครื่องยนต์ตระกูลนี้มาแต่ไหนแต่ไร และทำให้มันยิ่งเป็นเครื่องยนต์ที่เหมาะสำหรับการใช้งานในรถสกู๊ตเตอร์สายทัวร์ริ่งเช่นเจ้า Forza 750 เพราะตัวรถสามารถเรียกอัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ได้อย่างคล่องตัว โดยมีความเร็วสูงสุดที่ราวๆ 185++ กิโลเมตร/ชั่วโมง แล้วแต่สภาวะลมส่ง (หากเปิดชิลด์ไว้ในระดับสูงสุด ความเร็วสูงสุดจะสามารถขยับขึ้นได้แค่ราวๆ 160+ กิโลเมตร/ชั่วโมงเท่านั้น) ซึ่งถือว่าเกินพอแล้วสำหรับโจทย์ของตัวรถ
นอกจากนี้ ด้วยการพัฒนาระบบเกียร์ DCT มาเป็นระยะเวลากว่า 17 ปี ทำให้คราวนี้ระบบคลัทช์และเกียร์ของมันก็ยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเพิ่มความนุ่มนวลในการทำงานของเกียร์ขณะรถกำลังถูกใช้งานด้วยความเร็วต่ำกว่า 10 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ซึ่งจากการทดสอบ เราก็ต้องเรียนกันตามตรงว่า เมื่อเทียบกับตัวรถที่ใช้เครื่องยนต์ 2 สูบเรียง 745cc พร้อมเกียร์ DCT เจเอนเรชันก่อนหน้า ตัวระบบเกียร์ของ Forza 750 รุ่นใหม่นี้ สามารถจัดการจังหวะคลัทช์ ให้ทำงานในช่วงความเร็วต่ำๆได้เนียนขึ้นมากจริงๆในระดับที่ไม่ได้มีอาการกระตุกหรือกระชากใดๆให้รู้สึกในจังหวะเปิดคันเร่งจากหยุดนิ่งแบบที่เคยเจอจากตัวรถเกียร์ DCT ยุคก่อนเลย
สิ่งที่น่าเสียดายคือ ความนุ่มนวลการในจัดการคลัทช์ และการต่อเกียร์นี้ จะยังคงเป็นไปในทุกจังหวะการเปิดคันเร่ง ในทุกโหมดการขับขี่ ในทุกโหมดระดับพละกำลัง หรือแม้แต่ในทุกโหมดการทำงานของเกียร์ ซึ่งหากมองในมุมการใช้งานทั่วไป ก็ต้องบอกว่ามันค่อนข้างดี แต่ในมุมของคนที่คาดหวังความซิ่ง คุณอาจจะผิดหวังสักหน่อย เพราะต่อให้ขี่ด้วยโหมดสปอร์ต พร้อมปรับความดุดันในการทำงานของเกียร์ให้อยู่ในระดับ 4 ตัวเกียร์และคลัทช์ก็จะยังคงต่อสเต็ปด้วยความกระชับ แต่นุ่มนวลเป็นหลักอยู่ดี
ส่วนตัวเลขอัตราสิ้นเปลือง อาจจะต้องขอละไว้ก่อน เนื่องจากการทดสอบในครั้งนี้ จะเน้นไปที่การวิ่งทริปตามขบวน และเน้นการทดสอบสมรรถนะตัวรถในภาพรวมให้เต็มที่ในระยะเวลาอันสั้น แต่จากตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองที่แสดงบนหน้าจอ ซึ่งระบุว่าจะอยู่ที่ราวๆ 22-26 กิโลเมตร/ลิตร แล้ว ก็ถือว่าประหยัดพอตัว เมื่อเทียบกับการเค้นทดสอบของเหล่าพี่ๆนักทดสอบท่านอื่นรวมถึงตัวผู้เขียนเองที่จัดว่าค่อนข้างหนักเอาเรื่อง
Honda Forza 750 หลังการ รีวิว เหมาะกับใคร ?
ด้วยราคาวางจำหน่าย 419,000 บาท ซึ่งถือว่าไม่ได้หนีไปจากราคาเริ่มต้น 433,000 บาท ของ Honda X-ADV 750 ลงมามากนัก ทำให้หลายคนอาจลังเล เพราะยังไงสุดท้าย X-ADV ก็มีความอเนกประสงค์ในการใช้งานมากกว่า จากลักษณะการออกแบบของมัน
แต่หากคุณมองความเป็นจริง และไม่ได้ติดภาพลักษณ์หล่อเท่ของ X-ADV แล้วยอมปรับมาหารถที่มีภาพลักษณ์หล่อหรู โดยพบว่าคุณแทบไม่มีความคิด หรือโอกาสที่จะเอาเจ้ารถสกู๊ตเตอร์ที่หนัก 230 กว่ากิโลกรัมไปลุยป่าฝ่าดงเลย การเลือกเจ้า Forza 750 คือทางเลือกที่เหมาะสมกับคุณมากกว่า เพราะมันได้ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานบนทางดำ ทั้งในเมือง และนอกเมืองเหมาะสมอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของระบบช่วงล่าง ที่มีความแน่นเฟิร์มกว่า นิ่งกว่าไม่ว่าจะในการวิ่งบนทางตรงๆ หรือการพลิกเลี้ยวปุบปับ
ที่เด่นชัดกว่านั้นไปอีก คือเรื่องของท่านั่ง ที่ถูกออกแบบมาให้อยู่ในช่วงที่กำลังพอดีสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกับผู้ขี่ไซส์เอเชีย ซึ่งนั่นจะเป็นการตัดปัญหาเดิมๆของใครหลายๆคนที่ใช้ X-ADV แล้วติดปัญหาเรื่องเบาะที่สูง, แฮนด์ที่กว้าง จนมุดยาก แถมจะเลี้ยวในช่องทางแคบๆก็ต้องเอี้ยวตัว ยืดแขนกันจนสุดระยะ ทิ้งไปแทบเหี้ยน เว้นแต่คุณจะเป็นคนตัวเล็กจริงๆ
ส่วนใครก็ตามที่ใช้รถ Honda Forza 350 อยู่แล้ว และอยากขยับขึ้นมาเล่นตัวรถ Forza 750
หากคุณคาดหวังในเรื่องของพละกำลังที่พร้อมให้เรียกใช้ทุกเมื่อ ในแบบที่รถบิ๊กสกู๊ตเตอร์รุ่นใหญ่เป็น และช่วงล่างที่นุ่มนวลกว่า แน่นกว่า การขับขี่ที่นิ่งกว่า กับลูกเล่นที่ช่วยเสริมความสะดวกสบายในการใช้งานที่มากกว่า คุณได้สิ่งนั้นอย่างแน่นอน เว้นเพียงช่องเก็บของใต้เบาะที่จะหายไปเกินครึ่ง
แต่หากคุณต้องการความซิ่งที่มากกว่า จากความเร็วสูงสุดที่เยอะกว่า คุณอาจจะผิดหวัง เพราะมันไม่ได้ให้ความรู้สึกหรืออารมณ์ร่วมจากเดิมมากนัก เพราะลักษณะนิสัยเครื่องยนต์และระบบเกียร์ของมัน ถูกเซ็ทมาให้เน้นความนุ่มสบายมากกว่าจริงๆ
เว้นเสียแต่ว่าคุณจะซน เอารถไปปรับจูน ปรับแต่งในแบบที่ตนเองต้องการในภายหลัง แต่ที่แน่ๆดูเหมือนว่ารถมันจะไปต่อได้อีกพอสมควรเลยทีเดียว จากข้อมูลของพี่ๆสายซนคนอื่นๆที่เราได้ยินมา…
โดยสำหรับใครที่สนใจ สามารถจับจองรถ All-New Honda Forza 750 กันได้เลยตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ณ โชว์รูม Honda BigWing ทั่วประเทศ กับราคาวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการที่ 419,000 บาท พร้อม 3 เฉดสีให้เลือกซื้อ ได้แก่ สีดำด้าน MAT BALLISTIC BLACK METALLIC (BLK), สีเทา IRIDIUM GRAY METALLIC (G-B), และ สีน้ำตาลด้าน MAT WARM ASH METALLIC (BRB) (BROWN-BLK)
ขอขอบคุณ Thai Honda ที่ให้เกียรติทีมงาน Ridebuster ในการร่วมทริปทดสอบ “Honda 750 Series Big Scooter : Best In Class” ในครั้งนี้