ในบรรดารถยนต์ที่เราใช้ในปัจจุบัน เชื่อเลยว่า ทุกคนจะต้องผ่านชีวิตกับรถตู้มาแล้วทั้งสิ้น ประเทศไทย รถตู้ เป็นทั้งรถขนส่ง รถประจำทาง รถโดยสารไม่ประจำทาง น่าจะเรียกว่า บ้านเมืองเรา เป็นประเทศที่มีการเอารถตู้มาใช้งานได้หลากหลายที่สุดในโลก

จนเมื่อครั้น ตอนที่   Toyota   เผยเจ้า   Toyota  Hiace   ใหม่ ซึ่งแน่นอนว่ามันจะโผล่มาไทยในเร็ววัน ผมคิดว่า น่าจะลองมาย้อนรอยเรื่องรถตู้ในประเทศไทย กันเสียหน่อยว่า กว่าจะมีความนิยมในวันนี้ ผ่านบทพิสูจน์อะไรมาบ้าง

ผมอาจไม่ทันเรื่องเก่าที่นานกว่าปี พ.ศ. 2530  แต่จำได้ว่าโตขึ้นมาก็เริ่มคุ้นชินกับรถตู้แล้ว

“รถตู้” เป็นคำที่คนไทยใช้นิยามรถยนต์นั่งจำนวนหลายที่นั่ง ซึ่งมีทรงกล่องสี่เหลี่ยม จุได้ 10-12 ที่นั่ง (ในยุคแรกๆ) ก่อนจะมาขยายให้มีที่นั่งมากกว่านั้นในปัจจุบัน 

สำหรับผมรถตู้ในช่วงวัยเด็กเริ่มเห็นจาก รถตู้ของโฟลค์สวาเกนคันเก่ากลมๆ หน้ามลๆ รู้ตอนหลังว่า รถตู้รุ่นนี้เรียกว่า “โฟลค์แตงโม” (ไม่แน่ใจว่าทำไมเรียกแบบนี้) แต่รถตู้โฟลค์เป็นที่นิยมมากในช่วงแรก น่าจะเรียกว่าเป็นแบรนด์เดียวที่ไม่ว่าใครที่ผ่านช่วงวัยเด็กจะต้องมีความทรงจำเกี่ยวกับรถรุ่นนี้

คุณแม่ผมเอง (ตอนนี้ท่าน 62 แล้ว) เคยเล่าให้ฟังว่าสมัยเด็กๆ คุณตาทำอู่จะมีรถโฟลค์ตู้ ไว้พาลูกๆ ออกไปเที่ยวทะเลด้วยกันในวันว่าง ผมเข้าใจว่า น่าจะเป็นโพลค์ตู้หัวแตงโมนี่แหละ จนเป็นที่มาของคำว่า “รถโฟลค์ตู้”

ความนิยมรถโฟลค์ตู้ เริ่มแรกมาจากในวงราชการ เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีตัวเลือกมากนัก รถโฟล์คตู้ส่วนใหญ่ จึงพบเห็นได้ตามโรงพยาบาล ใช้งานในหน่วยงาน ทหาร และอื่นๆ ที่เกี่ยวกับหน่วยงานราชการ จนผมยังพอจำความได้ว่าในสมัยเด็กๆ เคยนั่งรถโฟล์คตู้ไปทำงานกับแม่ในช่วงปิดเทอม

รถโฟลคตู้เป็นที่นิยมในหมู่วงราชการ เป็นจุดเริ่มต้นให้คนซื้อรถตู้

ที่นั่งแบบ Bench Seat   พร้อมกระจกด้านข้างขนาดใหญ่ กลิ่นหนังที่แปลกเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ส่วนพวงมาลัยเป็นเพาเยอร์ (ไม่มีพวงมาลัยพาวเวอร์) พร้อมกับเกียร์ที่คอพวงมาลัย เป็นอะไรที่ผมยังจำได้ถึงสมัยนี้

ความนิยมในหมู่วงราชการนี่เอง ที่ทำให้เกิดค่านิยมประหลาดๆ ขึ้นในสังคมไทย นั่นคือผู้มีอำนาจ มักจะต้องมีรถโฟลค์ตู่หนึ่งคันในบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะหลัง Volkswagen Caravelle /transporter   เรียกว่าเป็นรถที่ต้องมี แม้ว่าตัวแทนจำหน่ายในไทยจะไม่มีแล้วก็ตามทีในระยะหลังๆ

ความนิยมโฟลค์ตู้ มาเสื่อมถอย ตอน   Volkswagen Transporter กลายเป็นทรงเหลี่ยมตัน ไม่ทำมันสวยงามนัก และไม่ได้รับความนิยมจากหน่วยงานราชการเหมือนในยุคแรกๆ

ถึงแบบนั้นรถโฟลค์ตู้หัวแตงโมก็ยังถูกใช้อย่างต่อเนื่องจนซ่อมแล้วซ่อมอีก ก่อนระยะหลังรถตู้จากญี่ปุ่นจะเข้ามาตีตลาดสำเร็จ

โตโยต้า ผู้จุดประกายรถตู้ญี่ปุ่น จนฮิต

ในระหว่างที่   Volkswagen   เป็นรถตู้ยอดนิยม ตลาดรถตู้ญี่ปุ่น ก็เริ่มต้นขึ้นอย่างเงียบๆ โดยโตโยต้า เป็นรถตู้รุ่นแรกที่เข้ามาทำตลาด แต่ยังไม่ได้รับความนิยมนัก เนื่องจากทางบริษัท นำเจ้า   Toyota Lite Ace   เข้ามาขาย จึงมีขนาดเล็กกว่ามาก

โดยรุ่นแรกที่นำเข้ามาขาย จากข้อมุลเชื่อว่าน่าจะประมาณปี พ.ศ. 2510 ในรหัสตัวถัง   H10   ซึ่งไม่มีใครมั่นใจว่าเข้ามาขายในช่วงปีดังกล่าวหรือไม่ เพราะคนที่ทันส่วนใหญ่ก็จากภพนี้ไปภพหน้ากันหมดแล้ว แต่ก็มีภาพที่น่าเชื่อถือได้ว่ามีรถรุ่นนี้จริงๆ ในไทย

การเริ่มต้นเข้ามาของ   Toyota  Lite Ace   อาจไม่ได้รับความนิยมนักเนื่องจากขนาดเล็ก การเข้ามาขายในช่วงแรกเป็นการนำเข้ามาขายในรูปแบบรถจดประกอบและรถมือสองจากญี่ปุ่น โดยผู้นำเข้าอิสระตามที่พอจะสามารถหาข้อมูลยืนยันได้

ช่วงแรก   Toyota Lite Ace   เข้ามาด้วยเครื่องยนต์ขนาด 1.2 และ 1.3 ลิตร (3K   และ 4K)  จนเริ่มได้รับความนิยมจนในช่วงหลังเริ่มแนะนำเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 1.8 ลิตรเข้าประจำการในรหัส  1 C

ความนิยม   Toyota  Lite Ace   มาถึงขีดสุดในตัวถัง CM36   เราน่าจะเห็นหน้าตารถรุ่นนี้บ่อย เพราะเมื่อก่อนมันเป็นรถที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยใช้วิ่งซ่อมคู่สายที่ชำรุด รถรุ่นนี้มีเครื่องยนต์ 2 แบบเท่านั้นคือ เบนซิน 1.5 ลิตร เครื่องรหัส 5 K และเครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร รหัส 2C   

อ่านต่อ >> คลิกที่นี่

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่