ตั้งแต่รถยนต์ไฟฟ้าก้าวเข้ามาทำตลาด หนึ่งในออพชั่นที่บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าต่างนำเสนอหนีไม่พ้นระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบ All Wheel Drive
ระบบขับเคลื่อนนี้มาจากการความสามารถในการติดตั้งมอเตอร์ 2ตัว ด้านหน้าและด้านหลังที่ง่ายดาย ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าหลายรุ่นในปัจุจบัน มักถูกนำเสนอว่า ขับเคลื่อนสี่ล้อได้ โดยอาศัยเพียงมอเตอร์ขับเคลื่อนและสายไฟ จนหลายคนและบางค่ายเริ่มแสดงอิทธิฤทธิ์เลยเถิดว่า
ระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเทพจริง สามารถลุยได้ และยังแรงบนถนนอีกต่างหาก ซื้อคันเดียวคุ้มค่าแน่นอน
เข้าใจระบบ AWD
ก่อนจะที่ผู้เขียนจะพูดถึงระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ All Wheel Drive (AWD) ในรถยนต์ไฟฟ้า ต้องเข้าใจก่อนว่ารากเหง้าของการขับเคลื่อนสี่ล้อเป็นมาอย่างไร
ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อดั้งเดิมนิยมนำเสนอระบบที่เรียกว่า “Part Time 4WD” จุดประสงค์เพื่อส่งกำลังไปทุกล้อ เพื่อให้เกิดกำลังขับขี่ แรกเริ่มนำเสนอในบรรดารถลุยต่างๆ มาช้านานเพื่อฝ่าอุปสรรคในเส้นทางสมบุกสมบัน
เมื่อเส้นทางที่ยากอยู่ตรงหน้าคุณเพียงล็อกขับเคลื่อนสี่ล้อ กำลังเครื่องยนต์จะถูกส่งไปยังทุกล้อ โดยแบ่งอัตราทดระหว่างหน้าหลัง 50/50
จนกระทั่งมาในช่วงยุค 70-80 ทางค่ายรถยนต์ชั้นนำ ทั้งญี่ปุ่นและยุโรป เริ่มนำเสนอระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบ All Wheel Drive เข้ามา ระบบแบบนี้มีวัตถุประสงค์ต่างออกไป มุ่งเน้นการให้ความมั่นใจในการขับขี่บนทางเรียบ หรือสภาวะการขับขี่บางแบบที่อาจจะมีความลื่นเป็นพิเศษ อาทิทางที่มีหิมะ หรือฝนตก ในยุคก่อนที่ระบบควบคุมการทรงตัวจากระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จะเกิดขึ้น
ระบบ All wheel Drive หรือเรียกสั้นๆ ว่า “AWD” ลักษณะนี้จะนำกำลังเครื่องยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อตลอดเวลา โดยผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องเลือก
มันแตกต่างจากระบบเดิม 4WD ด้วยการแปรผันกำลังขับ อาจจะเป็นหน้า-หลัง 60/40 หรือ 30/70 ก็แล้วแต่การเซทติ้งของแต่ละผู้ผลิต เพื่อมอบความมั่นใจ และประสบการณ์การขับขี่ที่แตกต่างกันออกไป
แนวทางนี้ในระยะหลังเริ่มระบาดมาสู่ตลาดรถยนต์ระดับ Mass Maket ในระยะหลัง อาทิ กาลครั้งหนึ่ง Toyota Fortuner เคยนำเสนอระบบขับเคลื่อนสี่ล้อเข้ามาเพื่อตอบการใช้งานของลูกค้ารถอเนกประสงค์ ก่อนจะมีการปรับปรุงในภายหลัง
แต่ปัญหาของระบบ AWD ส่วนใหญ่คือ มันจะกินน้ำมันมากกว่าการขับเคลื่อนสองล้อ แม้ว่าจะแลกกับความมั่นใจในการขับขี่ก็ตาม ซึ่งมาจากการขับเคลื่อนและอุปกรณ์ที่ต้องติดตั้งมากกว่ารถขับสองทั่วไป
สู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า
ตัดภาพมายังปัจจุบัน รถยนต์ไฟฟ้า 2 มอเตอร์ขับ กลายเป็นระบบ AWD โดยปริยายในความคิดของผูบริโภค เนื่องจากทางผู้ผลิตก็มักจะกล่าวแบบนั้นกับลูกค้า
แต่ในข้อเท็จจริง จากที่ผมมีโอกาสสัมผัสรถยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนแบบ AWD 2 มอเตอร์จำนวนมาก ระบบขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้ามีความแตตก่างกับรถสันดาป AWD โดยสิ้นเชิง
ประการแรก, มันทำงานตามโหมดการขับขี่ ถ้าเป็นรถสันดาป AWD ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบนี้จะทำงานในเชิงกลไกแบ่งกำลังขับคงที่ ยกเว้ยรถบางรุ่นที่อาจจะสามารถปรับอัตราทดโดยใช้โปรแกรมควบคุมชุดเกียร์เพื่อการตอบสนองในบางรูปแบบ
อาทิ Subaru จะมีระบบ X-Mode ซึ่งสามารถปรับค่าอัตราทดปกติบนทางเรียบให้เป็น 50/50 ในทางลุย โดยอาศัยการควบคุมผ่านซอฟแวร์
แต่กับรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ระบบ AWD ในค่าปกติ จะเป็นในเชิง Semi หรือ กึ่งขับเคลื่อนสี่ล้อ มากกว่า ในยามขับทั่วไปเช่นออกตัวเบาๆขับความเร็วคงที่ระบบมักจะใช้มอเตอร์ตัวเดียวในการขับเคลื่อน จนกระทั่งเมื่อคุณมีความต้องการอัตราเร่ง ระบบจึงจะสั่งการณ์ให้มอเตอร์ตัวที่ 2 โดยมากจะเป็นมอเตอร์ตัวหน้าทำงาน เพื่อเพิ่มแรงบิด แรงกำลังเข้ามา
อันที่จริงการทำงานลักษณะนี้ในอดีต จะเรียกว่า “ระบบแบบ Real Time” คือระบบจะทำงานเมื่อมีความต้องการ หรือ One demand ซึ่งมีประโยชน์ในแง่อัตราการบริโภคน้ำมันจะไม่สูงมาก ในกรณีนี้รถยนต์ไฟฟ้า หมายถึงการใช้ไฟฟ้าในอัตราที่เหมาะสม ทำให้ขับได้ไกล
ยกตัวอย่าง รถยนต์อเนกประสงค์ไฟฟ้าจากจีน Zeeker 7X รุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ AWD ตามผู้ผลิตเปิดเผยข้อมูล ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าจะทำงานเมื่อมีความต้องการอัตราเร่ง โดยสั่งมอเตอร์ตัวที่ 2 (ด้านหน้า)ในเวลา 0.4 วินาที เพื่อทำให้รถตอบสนองทันความต้องการ
หลักการเดียวกันนี้ ถูกใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าแทบทุกรุ่น และไม่มีรุ่นใดเลยที่ให้ 2 มอเตอร์แล้วขับทั้ง 2 มอเตอร์ตลอดเวลา แบบระบบ AWD ในรถสันดาป
แต่ระบบขับเคลื่อนสองมอเตอร์ของรถยนต์ไฟฟ้ายังสามารถบังคับให้ทำงาน 2 มอเตอร์ได้ตลอดเวลา อาทิ การเปลี่ยนไปยังโหมดสปอร์ต หรือบางยี่ห้ออาจจะมีโหมดพื้นลื่น และ โหมดออฟโรด จะบังคับให้มอเตอร์ทำงาน 2 ตัวตลอดเวลา ในทันที แล้วจัดการแรงบิดผ่านวิธีการต่างๆ ตามที่แต่ละค่าเซทไว้
ยกตัวอย่าง Tesla Model Y Juniper เมื่อคุณปรับโหมดขับเคลื่อนเป็นพื้นลื่น จะรู้สึกถึงความมั่นใจมากขึ้น เนื่องจากซอฟท์แวรจะบังคับให้รถขับเคลื่อนด้วย 2 มอเตอร์ และกระจายแรงบิดให้รถมีความมั่นคงในการขับขี่
ลุยได้ไหม หรือแค่ทางเรียบ
เมื่อไม่นานมานี้มีโพสที่น่าสนใจในกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ตั้งคำถามถึงระบบขับเคลื่อนของรถตัวเองที่มี 2 มอเตอร์ แต่เมื่อขับเจอทางชื้นแฉะลื่นไถลบนทางดิน กลับไม่สามารถผ่านไปได้
ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะมีอัตราทดแบบคงที่ อัตราทดเดียวเพื่อถ่ายทอดกำลังจากมอเตอร์ลงล้อหรือ ภาษาของช่างยุคก่อนจะเรียกว่า “อัตราทดเฟืองท้าย”
ทำให้ในทางเทคนิค รถยนต์ไฟฟ้าแม้จะขับเคลื่อน 2 มอเตอร์ เป็นระบบขับเคลื่อนแบบ All wheel Drive จะมีลักษณะเทียบเท่าการขับแบบ 4 Hi ในระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบ 4WD ดั้งเดิม
คุณลักษณะนี้ โดยมากจะเป็นการใช้แรงบิดในการฝ่าอุปสรรค มากกว่า การอาศัยความสามารถของอัตราทดเกียร์
หรือพูดให้เข้าใจง่าย “ผู้ขับอาจจะต้องใช้วิธีการปั่นล้อ เพื่อฝ่าอุปสรรค” มากกว่า การขับออฟโรดแบบปกติ
ทำให้ยังมีข้อจำกัด ไม่สามารถผ่านเส้นทางบางรูปแบบได้ อาทิ การปีนป่ายหิน ที่มีความสูงชัน และต้องการการส่งกำลังอย่างต่อเนื่อง
หรือในเส้นทางโคลนหนา ดินเลนที่มีความลึก อาจจำเป็นต้องใช้การคันเร่งเบาๆ เพื่อผ่านอุปสรรค แทนการปั่นที่อาจจะขุดให้ลึก และติดอุปสรรคมากกว่าเดิม
อีกประการ ด้วยธรรมชาติของมอเตอร์ไฟฟ้า จะทำแรงบิดสูงสุดตั้งแต่รอบต่ำ จึงทำให้การขับลุยเบาๆ เป็นไปด้วยความยากลำบาก เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์สันดาปที่ค่อยๆปล่อยหลังออกมา มันอาจสร้างปัญหาในการลุยมากกว่า จนหากคุณดูคลิปรถยนต์ไฟฟ้าพาลุย หลายครั้งจะรู้สึกว่า ทำไมเขาต้องขับบุ่มบ่ามขนาดนั้น
นั่นเพราะ ธรรมชาติของมอเตอร์ไฟฟ้าต้องใช้แรงกำลัง รอบหมุนช่วยในการฝ่าอุปสรรค การขับเคลื่อนด้วยกำลังต่ำๆ อาจฝ่าอุปสรรคไม่ได้ แม้หลายคนอาจจะคิดว่า มันก็น่าจะเหมือนกับรถสันดาป ที่มีระบบขับเคลื่อนแบบ 4 Hi
แต่เราต้องไม่ลืมว่ารถยนต์สันดาป ยังมีชุดเกียร์ ซึ่งมีอัตราทดคอยช่วยทดกำลัง ต่อให้เป็นเกียร์ CVT ก็ยังสามารถจำลองอัตราทดเสมือนได้เฉกเช่นรถปกติทั่วไป
สรุป AWD รถยนต์ไฟฟ้า เน้นมั่นใจขับสนุก ส่วนเรื่องลุยพอได้ ..ถ้าเข้าใจ
มาถึงตรงนี้ เพื่อนๆ ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า น่าจะเข้าใจมากขึ้นว่า ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อของบรรดารถยนต์ไฟฟ้ามันออกแบบมาเพื่อการใช้งานทั่วไป มุ่งเน้นตอบสนองอัตราเร่ง และมั่นใจในถนนทางเรียบ มากกว่าทางลุย
แต่ใช่ครับ มันพอจะลุยได้ ถ้าเราเข้าใจมัน
แม้ท่านผู้อ่านอาจจะตั้งแง่ว่า ก็เห็นมันไปได้ลุยได้ แต่การลุยของรถยนต์ไฟฟ้าในเส้นทางสมบุกสมบันยังมีข้อจำกัดอยู่มาก โดยเฉพาะการวางแบตเตอร์รี่ไว้ใต้ท้อง อาจเป็นปัญหาต่อการกระแทกใต้ท้องที่อาจเจอได้ในทางลุยบางแบบ
อาจไปได้ในทางดิน ทางทราย และทรงกรวดที่สามารถเจอได้ตามเส้นทางทั่วไป อาจลุยน้ำได้ในระดับที่ปลอดภัย แต่ยังไม่ใช่กับการปีนป่ายในทางที่สมบุกสมบันมากๆ โดยเฉพาะทางหิน
สมมุติ เราวางให้ทางออฟโรด เรียงจากง่ายไปหายากในระดับ 1-5 โดยระดับ 1 อาจเป็นทางดินแน่น ทางกรวดทั่วไป และในระดับ 5 เป็นทางออฟโรดในป่า ต้องใช้ระบบขับเคลื่อน 4WD จริงจัง
หากประเมินเช่นนี้ ระบบขับเคลื่อน AWD ของรถยนต์ไฟฟ้าจะสามารถได้ในเส้นทางไม่เกินระดับ 3 ซึ่งบางครั้งเส้นทางที่เรียบง่ายตอนขาเข้า แล้วอาจเป็นเส้นทางยากขึ้นมาในบางสถานการณ์
เช่น ทางดิน ที่สามารถผ่านได้ง่ายยามทางแห้ง กลายเป็นทางโคลน”ดินหนังหมู”หลังฝนตก อย่างที่เกิดขึ้นกับคนที่มาโพสถาม ผ่านทางโซเชี่ยล
ยิ่งถ้าเรามองย้อนไปยังวัตถุประสงค์ของระบบขับเคลื่อน AWD ในรถยนต์ไฟฟ้า พวกเขาทำมาเพื่อตอบสนองอัตราเร่ง และมอบความมั่นใจในรถที่มีพละกำลังสูง ยามขับขี่ด้วยความเร็ว
แต่เมื่อคุยถึงเรื่องลุย ระบบ AWD รถยนต์ไฟฟ้า อาจเป็นคำพูดที่ทำให้สายลุยหูพึ่ง เมื่อบวกกับกำลังขับมหาศาล มันน่าจะลุยได้ดี
หากความจริงการที่รถสักคันจะผ่าอุปสรรคไปได้ดีหรือไม่ มันไม่ใช่แค่เรื่องกำลังเท่านั้น วิธีกระจายกำลังไปยังบริเวณที่เหมาะสม ก็สำคัญเช่นกัน ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นอาจมีระบบแบบนี้โดยเฉพาะรุ่นที่ออกแบบมาพร้อมลุย แต่ไม่ใช่กับรถ 2 มอเตอร์ ที่พบได้ในทั่วไป ตามท้องตลาด
และสำคัญกว่านั้น ความพร้อมของตัวรถ ทั้งความสูงจากพื้นถึงท้องรถ ยาง ก็เป็นปัจจัย สำคัญไม่แพ้ทักษะของผู้ขับขี่