ทุกครั้ง ที่มีการขึ้นข่าวเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า Toyota จะต้องมีการแสดงความเห็นมาเสมอ ว่า “เดี๋ยว Toyota ก็เหมือน Nokia และ Kodak…”

Toyota Motor Cooperation ถือเป็นหนึ่งในตองอู ของอุตสาหกรรมยานยนต์ พอๆ กับ เครือ Daimler ที่เป็นเจ้าของ Mercedes Benz หรือ Volkswagen ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ซุปเปอร์คาร์หลายเจ้า

ซึ่งทั้ง 2 แบรนด์นี้ค่อนข้างมีทิศทางการทำรถยนต์ไฟฟ้าชัดเจนกว่า Toyota มาก อาจจะด้วยความเข้มงวดทางด้านไอเสียในตลาดบ้านเกิดซึ่งคือทวีปยุโรป ที่จะเตรียมบังคับใช้ไอเสีย ยูโร 7 และบางประเทศ มีการเริ่มมีแผนแบน รถยนต์สันดาปเข้าเขตเมืองชั้นใน ทำให้พวกเขาเหล่านั้นต้องขยับตัวเร็วกว่าทางฝั่งญี่ปุ่น

จากเหตุผลในข้างต้น และสิ่งที่เห็นได้จากกระแสบนโลกออนไลน์ ที่ให้ความสนใจในเรื่องการใช้งานยานยนต์ไฟฟห้าที่ถามโถม ทำให้หลายคนบนโลกโซเชียลฯ มองว่า Toyota มีความล่าช้าในการแนะนำผลิตภัณฑ์รถยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ตลาดปัจจุบันกว่าที่ควรจะเป็นไปมาก

ทั้งๆที่ค่ายหน้าใหม่จากจีนมาแรงแซงโค้ง เช่นเดียวกับค่ายยุโรป ที่รอกินรวบอยู่ตลาดบน แต่แบรนด์ยักษ์อย่าง Toyota กลับเน้นไปทางรถยนต์ไฮบริด และพึ่งเริ่มจะเตาะแตะในการขายรถยนต์ไฟฟ้า 100% ด้วย Toyota bZ4X เพียงรุ่นเดียวในหลายตลาดทั่วโลก รวมถึงไทยเท่านั้น

ไม่สมกับการเป็นผู้ผลิตอันดับต้นๆของโลก และในฐานะเจ้าตลาดในประเทศไทย ที่มียอดขายรถยนต์อันดับ 1 ซึ่งควรจะเป็นผู้นำเทรนด์มากกว่าใคร

นั่นจึงทำให้หลายคน นึกถึง อดีตแบรนด์ดัง ทั้ง Nokia และ Kodak ที่ต่างเคยเป็นผู้ผลิตเบอร์หนึ่งของโลกในอุตสาหกรรมของตนในยุคมิลเลนเนี่ยม แต่ตอนนี้กลายเป็นแบรนด์ที่เด็กยุคใหม่แทบไม่รู้จัก เพราะเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ของพวกเขานั้นไม่ได้เป็นผู้นำของตลาดอีกต่อไป แถมอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายเสียด้วยซ้ำ

Nokia

เรื่องราวของ Nokia เป็นเรื่องราวของการปรับตัวในโลกการสื่อสารยุคใหม่ เดิมทีระบบโทรศัพท์มือถือนั้น จะมีฟังชั่นเฉพาะของแต่ละแบบ จึงถูกเรียกว่า Feature Phone แต่ละเครื่องมีลูกเล่นที่หลากหลายโดดเด่นเฉพาะด้าน

ซึ่ง Nokia ก็ได้ทำตลาด และโดดเด่นในเรื่องนี้มายาวนาน จากการที่พวกเขามีโทรศัพท์หลายรูปแบบ ซึ่งตอบสนองและเหมาะสมต่อการใช้งาน ของแต่ละกล่มลูกค้าได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มฟังเพลง (Xpress Music), เล่นเกม (N-Gage), นักธุรกิจ (N-Series), และอื่นๆ แม้กระทั่งกลุ่มบัดเจ็ท ด้วยโทรศัพท์ระดับตำนานสุดถึกทน “3310”

โดย Nokia เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ในการช่วยพัฒนาระบบการสื่อสารโทรศัพท์ไร้สาย GSM ซึ่งถือเป็นของล้ำสมัย ในยุค 90 และ ทำให้แบรนด์ ก้าวเข้ามามีชื่อเสียงในกลุ่มผลิตภัณฑ์มือถือ

ทิศทางตลาดมือถือ เริ่มถูก Disrupt ในช่วงปี 2007 เมื่อ Google เข้ามามีบทบาท ในการสร้างระบบปฏบัติการแบบเปิดกว้าง หรือ Open Source ให้ทุกคนมีโอกาส ร่วมสร้างระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์มือถือที่เหมาะสมต่อผู้ใช้งาน โดยมีหัวหอกเป็น Sumsung Mobile ที่เลือกใช้เป็นรายแรกๆ

ในขณะที่ฝั่ง Apple เอง ก็แข่งขันในทิศทางตรงข้าม ด้วยระบบปฏิบัติการแบบ Close Loop ที่เน้นความปลอดภัยของผู้ใช้งาน และความเป็นส่วนตัวสูง โดยที่ในขณะเดียวกันก็ยังรองรับความต้องการในการใช้งานที่หลากหลายไม่แพ้กัน ซึ่งหลายคนจะรู้จักกันดีในชื่อว่าระบบ iOS นั่นเอง

ซึ่งทางฝั่ง Nokia ก็ใช่ว่าจะไม่ปรับตัวเลย เพราะเมื่อตลาดเริ่มเปลี่ยน ทางโนเกีย ก็ออกระบบปฏิบัติการ Symbian เป็นระบบ Open Source เช่นกัน และทีแรก ระบบนี้ ก็ได้รับความสนใจ และขายดีในระดับที่น่าพอใจ

แต่ด้วยระบบการทำงานของ Android จาก Google และ iOS ของ Apple ที่สร้างความสะดวกสบาย และอรรถประโยชน์ในการใช้งานได้มากกว่า มีแอพพลิเคชันที่รองรับมากกว่า มี Eco System ที่สนับสนุนการใช้งานหลากหลายกว่า จึงทำให้ระบบ Symbian ที่ยังคงยึดหลักการเป็นเพียงระบบเพื่อการสื่อสารเป็นหลักต้องตายไปในที่สุด

นั่นก็ได้ทำให้ Nokia ต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้ง ด้วยการจับมือกับ Microsoft บริษัทซอฟท์แวร์อันดับหนึ่งของโลก ซึ่งในขณะนั้นฝ่ายหลัง ก็มีการทำระบบปฏิบัติการสำหรับโทรศัพท์มือถือกันอยู่ ด้วยชื่อ Windows Mobile

ผลจากความร่วมมือดังกล่าว ทำให้เกิดระบบปฏิบัติการสำหรับโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนใหม่ อย่าง Windows Phone ออกมา และก็ได้เปิดตัวเป็นครั้งแรกในวันที่ 21 ตุลาคม 2010 ด้วยชื่อ “Windows Phone 7” และมันก็ได้กลายเป็นความหวังใหม่ของเหล่าสาวก ท่ามกลางความร้อนมาแรงของระบบปฏิบัติการจาก Google และ Apple

อย่างไรก็ดี แม้มือถือ Nokia ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows Phone จะขายดีในอเมริกาเหนือ ช่วงปี 2013 และมีทิศทางการขายที่เติบโตพอสมควร แต่นั่นไม่อาจหยุดปัญหาทางด้านการเงินของบริษัท

ซึ่งแม้จะโชคดี ที่ทาง Microsoft เอง ก็ต้องการเข้าตลาดมือถือ ทำให้ Nokia ไม่รอช้า รีบเสนอขายหน่วยงานทางด้านมือถือ ให้ Microsoft ในปี 2013 แต่กว่าจะจบดีลได้ ก็ปาเข้าไปถึงปี 2015 และกว่าจะการกลับมาเดินหน้าในโปรเจ็กท์นี้อีกครั้งก็ล่วงเลยไปจนถึงในปี 2016

ทว่านั่นก็ทำให้การพัฒนาระบบปฏิบัติการมีความล่าช้าเกินกว่าจะไปสู้กับระบบปฎิบัติการของ Android ที่กระจายไปอยู่ในโทรศัพท์มือถือของผู้ผลิตหลายๆแบรนด์ หรือระบบ iOS ที่สะดวกสบายและสร้างความมั่นใจในการใช้งานให้กับลูกค้าได้อย่างเหนียวแน่น

ยังไม่นับอินเตอร์เฟซ์ของระบบ Windows Phone ที่ซับซ้อน เพราะยังคงใช้แนวคิดในการออกแบบเดียวกันกับระบบปฏิการของ Personal Computer อย่าง Windows 8/8.1 ซึ่งอาจจะดูตื่นเต้น แต่ไม่ได้เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งานให้กับผู้ใช้เลย เว้นแต่จะสามารถปรับตัวเข้าหามันได้จริงๆ

แต่ถึงกระนั้น มันก็ยังไม่รองรับการทำงานร่วมกับแอพพลิเคชันอื่นๆ ที่เชื่อมต่อกับการให้บริการของบริษัทต่างๆที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ใช้อยู่ดี ยกตัวอย่างเช่น แอพพลิเคชันธนาคาร เป็นต้น จึงทำให้ท้ายที่สุดชื่อโทรศัพท์ Nokia ก็ได้ค่อยๆหายไป พร้อมระบบปฎิบัติการ Windows Phone เมื่อปี 2020 ในที่สุด

*หลังจากนั้นจริงๆ Nokia ก็ยังมีโทรศัพท์ใหม่ๆออกมาอยู่ โดยมีทั้งโทรศัพท์มือถือธรรมดาๆ ที่เอาไว้ใช้โทรสื่อสารทั่วๆไป และสมาร์ทโฟนตรงยุค ด้วยระบบปฏิบัติการณ์ Android แต่ก็ยังจำกัดการทำตลาดเอาไว้เพียงแค่ในไม่กี่ประเทศที่บริษัทมั่นใจว่าจะขายได้

มีรายงานจากสื่อต่างๆ ที่มีโอกาส สัมภาษณ์ อดีต พนักงาน Nokia ว่า ประเด็นสำคัญอยู่ที่กลุ่มผู้บริหาร เอาแต่มองและยึดติดถึงความสำเร็จในอดีตของตนเอง เพราะที่จริงพัฒนาหลายคน ได้นำเสนอความคิดใหม่ๆต่อระบบซิมเบียน โดยเฉพาะมีความพยายามยกเครื่องระบบปฏิบัติการขนานใหญ่ ทว่าก็ถูกตีตกไป ก่อนที่จะสายเกินแก้ และทางบริษัทก็ต้องหันใช้ระบบอื่นจากภายนอกแทน

ดังนั้น จะว่าไป เคส Nokia มิใช่การไม่ปรับตัว ต่อยุคสมัย เพราะพวกเขาทำแล้ว แต่ช้าไป จนถูกการเข้ามาขัดขวางโดยคู่แข่งหน้าใหม่ ที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีมากกว่า จากทั้ง Google และ Apple ทำให้ต้องจบธุรกิจไปนั่นเอง

Kodak

เคส Kodak เป็นอะไรที่ต่างออกไป เพราะบริษัทสัญชาติอเมริกันนี้ อยู่มานาน และมีชื่อเสียงที่เรารู้จักในฐานะผู้ผลิตฟิล์มถ่ายภาพ และสร้างภาพยนตร์อันดับต้นๆของโลก ซึ่งวันหนึ่งเกิดหายไป จนคนมองว่า โกดักล่าช้าในการเข้าสู่ตลาดกล้องดิจิตอล

ที่จริงแล้ว Kodak พัฒนากล้องดิจิตอลสำเร็จมาตั้งแต่ ปี 1975 และมีการสำรวจเบื้องต้นว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิตอลในราวๆปี 2010 จากรายงานที่ทำขึ้นในปี 1979

แต่ผู้บริหาร Kodak แม้จะทราบดีว่า ยังไงการเปลี่ยนแปลงต้องมา ก็ไม่คิดจะเร่งผันตัวเองสู่ตลาดดิจิตอล อาจจะด้วยความที่ในเวลานั้นหาก Kodak เข้าไปทำตลาดกลุ่มนี้ก็จะต้องผันตัวเอง เป็นบริษัทคอมพิวเตอร์ที่มีคู่แข่งจำนวนมาก และต้องใช้เงินในการลงทุนในเวลานั้นค่อนข้างสูง

ถึงแม้จะพูดแบบนั้น ข้อมูลหลายแหล่งชี้ว่า Kodak เร่งพัฒนากล้องดิจิตอลเป็นการภายในอยู่ตลอดยุคปี 1980

และการเข้ามาของ จอร์จ ฟิชเชอร์ในปี 1993 หลังย้ายมาจาก Motorolla มีการยืนยันว่า บริษัทได้ปรับผังองค์กรขนาานใหญ่ เพื่อรองรับการพัฒนาและผลิต กล้องดิจิตอล มีการขายบริษัทลูก Tennesse Eastman ที่เคยพัฒนาสารเคมีที่ใช้ทำฟิล์ม และภาพ เพื่อเตรียมตัวเข้าสูยุคดิจตอล ในปี 1994

แต่ปรากฏว่าในยุค 90 ตลาดฟิล์มกลับยังคงเฟื่องฟู และการมาถึงของยุดิจตอล ไม่เร็วอย่างที่รายงานเขียนเอาไว้ จึงทำให้พวกเขาต้องเลื่อนโปรเจ็กท์การพัฒนากล้องดิจิตอลออกไป

ที่จริง Kodak ไม่ได้พัฒนาแค่เพียงกล้องดิจิตอล แต่ยังคิดถึงพฤติกรรมผู้ใช้ เช่นการพัฒนาตู้แสตนด์ ที่เราสามารถเดินเข้าไปอัพภาพ และอัดภาพได้ด้วยตัวเอง รวมถึงสร้างเครื่องอัดภาพ ดิจิตอล ที่เราเห็นตามร้านอัดภาพยุคแรก ซึ่งสามารถทำงานได้ทั้งฟิล์ม หรือ ไฟล์ดิจิตอล

แล้ว ทำไม Kodak ถึงล้มเหลว ?

ที่จริง ต้องบอกว่า Kodak รู้ล่วงหน้ามาแล้วว่า ยังไงกล้องก็ต้องกลายเป็นระบบดิจิตอลในอนาคต แต่ ธุรกิจหลักของบริษัท คือการขายอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการถ่ายภาพ นั่นคือฟิล์มถ่ายภาพนั่นเอง

Kodak มีแนวแผนการทำธุรกิจ ที่ฝรั่งใช้คำเรียกว่า “มีดโกนและใบมีด” กล่าวคือ บริษัทจะทำของที่ลูกค้าจำเป็นต้องใช้ออกมาขายในราคาที่ไม่แรงมากนักโดยไม่เน้นกำไร เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าเหล่านั้นก่อน อย่างเช่น มีดโกน ซึ่งเปรียบเสมือน กล้องฟิล์ม

แล้วหลังจากนั้นก็จะไปขายของที่ดูเหมือนจะถูก แต่สามารถทำกำไรมหาศาลได้เรื่อยๆ เพราะเป็นของสิ้นเปลืองที่ลูกค้าต้องซื้อมาใช้เปลี่ยนตลอดอย่าง ใบมีดโกน แทน ซึ่งเปรียบเสมือนกับ ฟิล์ม ที่ใช้ในการถ่ายภาพ ซึ่งเป็นของใช้แล้วทิ้ง ที่ลูกค้าต้องซื้อใหม่ตลอด เพราะถ้าไม่ซื้อ ก็ไม่มีอะไรไว้ใช้บันทึกภาพ

ใช่ครับ Kodak เลยไม่ได้เน้นการขายกล้อง ของในบริษัทตัวเองเท่าไร เพราะท้ายที่สุด กล้องทุกยี่ห้อ ก็ต้องใช้ฟิล์ม ซึ่ง Kodak เป็นนัมเบอร์วันในเรื่องนี้ และถึงการเข้ามาของ บริษัท สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Fuji Film จะแย่งยอดไปบ้างก็ไม่ได้กระแทือนมากมายนัก

ทำให้ บริษัท คงมองเรื่องทำนองเดียวกันกับ กล้องดิจิตอล ที่ถึงจะแพงและมีกำไรมากขึ้น แต่ก็เป็นของที่ขายแล้วจบ เว้นแต่ลูกค้าจะกลับมาซื้ออะไหล่ ไม่สามารถขายของเล็กๆเพื่อกินกำไรยาวๆได้

และต้องยอมรับว่า ในระยะแรกความสามารถของกล้องดิจิตอล ยังไม่เท่าวันนี้ ทำให้ Kodak มีการประหัตประหารว่า กล้องฟิล์มยังดีกว่ามาก(ในเรื่องการลงทุนและกำไร) ขณะที่แบรนด์ชั้นนำอื่น โดยเฉพาะทางด้านผู้ผลิตกล้องแบรนด์อื่นๆ อย่าง Canon, Nikon, Lumix, Sony ขยับไปทางด้านกล้องดิจิตอล และ ผู้ใช้เริ่มนิยมมากขึ้น นั่นรวมถึง Fuji Film ที่กลายมาเป็นผู้ผลิตกล้อง ดิจิตอล ด้วยในที่สุด

ส่งผลให้ Kodak ล้าหลัง และ ตอนที่รู้ตัว ก็ช้าเกินไปเสียแล้ว แต่ประเด้นสำคัญอีกด้าน ตามที่นักวิเคราะห์ธุรกิจมอง คือ บริษัทลงทุนในบริษัทย่อยๆต่างๆ จากกำไรที่ได้มาเยอะมาก จนสูบเงินที่ควรจะใช้ออกไปจากบริษัท จนไม่มีกำลังพอจะผลักดัน กล้องดิจิตอลให้เป็นที่นิยม ดั่ง Fuji Film ที่สามารถดันได้ในระดับหนึ่ง

หากก็ต้องยอมรับว่า ความนิยม กล้องดิจิตอล จากผู้ผลิตฟิล์ม กลับยังไม่กว้างขวางเท่าผู้ผลิตกล้อง อย่าง Canon , Nikon หรือแม้แต่ Sony

บทเรียนของ Kodak คือ ความล่าช้าในการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี และความชะล่าใจในเรื่องการลงทุนมากเกินไป แม้ว่าจะรู้ล่วงหน้ามายาวนานว่า เทคโนโลยี ในธุรกิจ จะต้องถึงการเปลี่ยนแปลงในวันหน้า

แล้ว Toyota จะเป็นแบบ ทั้ง 2 แบรนด์ จริงหรือ?

สิ่งที่หลายคนมองเคส Nokia/Kodak แล้ว มาคิดถึง Toyota ว่ามีแนวโน้มจะเป็นแบบเดียวกัน มาจากหลายปัจจัย

ประการแรก การก้าวมาของรถยนต์ไฟฟ้า หลายคนมองว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะทาง ประเทศแถบแสกนดิเนเวีย, ยุโรป ที่มีความเข้มงวดทางด้านไอเสียสูงกว่าหลายภูมิภาคในโลก จนการขายรถยนต์สันดาปภายในเป็นเรื่องยาก และผู้ใช้ ก็ต้องหันไปหารถยนต์ไฟฟ้าแทนเท่านั้น

ข้อต่อมา คือการเข้ามา Disrupt ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla อดีตเพื่อนรัก ของ Toyota ที่เคยลงทุนสนับสนุน จนผลิต Toyota Rav4 EV ให้กันมาแล้ว ที่ทำให้ภาพลักษณ์ของรถยนต์ไฟฟ้าดูมีลูกเล่น และสมรรถนะที่น่าสนใจกว่ารถยนต์สันดาปภายในไปไกล ในสายตาของผู้ใช้(แม้กระทั่งผู้ที่ไม่ได้ใช้)รถยนต์ส่วนใหญ่ทั่วโลก

และท้ายสุดปัจจุบัน ทางด้านการแนะนำเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าของ Toyota เองก็ยังจัดว่าช้ามาก โดยเฉพาะการเปรียบเทียบกับ ทางแบรนด์ผู้ผลิต ประเทศจีน ที่เข้ามามีบทบาทในตลาดระดับล่างมากขึ้น

แถมในขณะที่ความต้องการของลูกค้าในตลาดส่วนหนึ่ง มองว่าพวกเขาอยากได้รถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า แต่ Toyota ยังเน้นการแนะนำ รถยนต์ไฮบริด

และในขณะเดียวกันเดียวกัน Toyota ก็เลือกที่จะพยายามก้าวข้ามการขายรถยนต์ไฟฟ้า สู่ยุครถยนต์ไฮโดรเจนไปเลย ซึ่งหลายคนมองว่า ยังไกลเกินไป ในแง่การทำให้เทคโนโลยีถูกพอที่จะครอบครอง และสะดวกในการใช้งาน

นั่นจึงทำให้ใครหลายๆคนมองว่าถ้าหากเป็นอย่างนี้ต่อไป ยังไงสักวัน Toyota คงมีปลายทางที่ไม่ต่างจาก Nokia และ Kodak เป็นแน่แท้…

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ Toyota แตกต่างจาก Kodak และ Nokia คือ พวกเขาไม่ได้มองที่ความสำเร็จ หรือกำไรของตนเองเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการมองถึงผู้บริโภคเป็นสำคัญ แม้ว่ายุคนี้ เสียงจากโซเชี่ยล จะมองว่า รถยนต์ไฟฟ้า สิใช่ …​นี่แหละคำตอบอนาคต

แต่ในแง่ความจริง เมื่อเราได้ลองศึกษาตัวเลขยอดขายจริงๆ รถยนต์ไฟฟ้ากลับยังมียอดขายไม่มากมายนัก อย่างที่หลายคนคิด

เช่นในฝั่ง Tesla ยังมียอดขายเพียง 1.31 ล้านคัน ในสิ้นปี 2022 ขณะที่โตโยต้า มีการเปิดเผยว่า บริษัท ขายรถยนต์ไปแล้ว 9.56 ล้านคัน ในช่วงเดือน มค.-พย. 2022 โดยในจำนวนดังกล่าว แทบไม่มีรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากการสะดุดของการแก้ปัญหาล้อหลุดใน bZ4X และเพิ่งกลับมาขายในเดือนเดียวกัน

แม้ว่าตัวเลข ยอดขายรถยนต์ในปี 2022 จะยังไม่มีที่ไหนสรุป รวบรวมชัดเจน ว่า ยอดขายทั้งอุตสาหกรรม เท่าไร ทว่าค่ายที่ขายควบกัน อย่าง Volkswgen ผยว่าปีที่แล้ว มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้า 325,000 คัน เติบโต 7% ขณะที่รถยนต์ทั้งหมดของบริษัท มียอดรวม 4.56 ล้านคัน (เฉพาะของโฟล์คเอง) หรือรถยนต์ไฟฟ้ามียอดเพียง 7% ของทั้งบริษัทเท่านั้น

เมื่อกลับมาที่ Toyota ที่อาจจะมองประเด็นนี้ จึงไม่ได้รีบเร่งในการขายรถยนต์ไฟฟ้า แต่ก็จะมีให้ลูกค้าเลือกในอนาคต ทว่าประเด็นสำคัญ ในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า ต่างจากกล้องดิจิตอล หรือ มือถือ ตรงการต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น โดยเฉพาะสถานี ประจุไฟฟ้า ที่ต้องมีความกว้างขวาง และสามารถใช้งานสะดวกมากขึ้นด้วย

จากวิสัยทัศน์ ของ นาย Akio Toyoda ว่าที่อดีต ประธานบริหารของ Toyota Motors (จะลงจากตำแหน่งจริงๆในวันที่ 1 เมษายน) เคยเผย ในระหว่างการจัดงานฉลองวาระ 60 ปี Toyota ประเทศไทย กล่าวว่า

การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นหน้าที่ของคนทุกระดับชั้น ทาง Toyota จึงมอง แนวทางในการมุ่งสู่ ทางเลือกที่หลากหลายมากกว่า จะยึดติดกับเทคโนโลยีใด เทคโนโลยีหนึ่ง เพียงอย่างเดียว ภายใต้แนวคิด “Toyota Multi Path Way” นั่นคือ รถยนต์ Toyota หลายรุ่น จะมีทั้ง รุ่นที่ให้ความสามารถในการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าได้ และ ในรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป อย่างเดียว ก็จะต้องเป็นเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพสูง

สาเหตุสำคัญ มาจาก ข้อเท็จจริง ว่าทาง Toyota เข้าใจกลุ่มลูกค้า ที่ซื้อรถของแบรนด์ ว่ามีความหลากหลาย ตั้งแต่คนระดับบน ที่อาจจะพร้อมสำหรับเทคโนโลยีใหม่ จนถึงคนรายได้ปานกลางถึงต่ำ ที่ยังต้องการจะใช้รถยนต์เครื่องสันดาปภายในอยู่

Toyota GR Corolla  Hydrogen concept

นอกจากนี้ ด้วยปรัชญา ในการพัฒนารถที่ต้อง ทนทาน มั่นใจในการใช้งาน ทำให้ Toyota ต้องพยายามอย่างยิ่งในการสร้างรถยนต์ BEV ให้ออกมาดีที่สุด ให้ผู้ใช้วางใจอย่างเต็มเปี่ยมสมกับชื่อแบรนด์ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่ใครหลายคนคิด

Toyota จึงปูทาง สู่การเป็นบริษัทที่จะเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยวิธีที่หลากหลาย ทั้ง รถไฮบริด , รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึง เริ่มมีโครงการทดสอบรถยนต์ไฮโดรเจน ทั้งในญี่ปุ่น และในประเทศไทย เพื่อทำให้การลดโลกร้อนสัมฤทธิ์ผล

นาย Akio ชี้ ว่า การเอาชนะปัญหาทางสิ่งแวดล้อม มิควรจำกัด ในเรื่องของว่า รถคันดังกล่าวขับด้วยระบบอะไร แต่ควรมองที่เราจะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้อย่างไร

ส่วนที่ Toyota ต่างจาก Kodak และ Nokia คือ การมีเทคโนโลยีที่ใหม่กว่ารถยนต์ไฟฟ้าแล้วในมือ และ พร้อมจำหน่าย และ อยู่ในระหว่างการพัฒนา ให้มีราคาถูกลง จนพร้อมสำหรับคนทั่วไป ในเร็ววัน

นอกจากนี้ Toyota ยังตัดสินใจเร่ง ถ่ายโอนความคิดการบริหารให้ใหม่สดเร็วขึ้น ด้วยการลงจากตำแหน่ง ของ นาย Akio และ แต่งตั้ง นาย Koji Sato ขึ้น ดำรงตำแหน่งแทน ในเร็วๆนี้ เพื่อทำให้ Toyota มีความก้าวหน้าในการทันโลกมากขึ้น

อีกสิ่งที่ Toyota ไม่สามารถพลิกตัวไปสู่การเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% ได้เลย ก็การที่พวกเขา ต้องไม่ทิ้ง ซัพพลายเออร์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่สนับสนุนกันมาในอดีต จะมาทิ้งไว้กลางทางไม่ได้ เพราะจะสร้างความเสียหายเศรษฐกิจมหาศาล ทั่วโลก ทั้งในญี่ปุ่น ,​อเมริกา รวมถึงไทย เป็นโจทย์ที่ยากกว่าการสร้าง หรือพัฒนา ผลิตภัณฑ์ใหม่

นอกจากนี้การเป็นการกลางคาร์บอน มิใช่ มองแค่ตอนใช้รถ แต่ต้องมองไปถึงเมื่อรถสิ้นอายุขัย การกำจัดแบตเตอร์รี่ต้องทำอย่างไร ซึ่งแม้ Toyota จะมีแผนการไว้อยู่แล้ว แต่ถ้าในวันหนึ่งจำนวนเยอะมาก มันก็ยังเป็นคำตอบที่ต้องวิเคราะห์กันให้ละเอียดอีกครั้งกันอยู่

ที่สำคัญ รถยนต์ไม่เหมือนสินค้าดิจิตอล อย่างกล้อง หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ที่ผู้คนชอบนำมาเปรียบเทียบ เพราะ ไม่ว่ารถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถยนต์ไฮโดรเจน ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เพื่อความสะดวกในการใช้งาน ไม่ใช่เพียง ซื้อกลับบ้าน ใส่แบตฯหรือเสียบชาร์จใช้งานได้ทันที หรือ ถ้าไม่พึงพอใจ สามารถเปลี่ยนได้เมื่อต้องการ โดยไม่เสียดายเงิน เพราะมันคือสินค้าที่มีราคาหลักหลายแสน ถึงหลายล้านบาท ไม่ใช่แค่ไม่กี่พัน หรือไม่กี่แสนบาทเช่นนี้

ถ้าจะให้ชี้ ชะตาค่ายรถยนต์ยักษใหญ่ Toyota ในมุมคนทั่วไป อาจจะมองว่า เดี๋ยวก็เหมือนกับแบรนด์ใหญ่ในอดีตไหม

ถามผู้เขียน ก็คงตอบว่า ไม่น่าจะเป็นแบบนั้น เพราะ Toyota ไม่ได้ยึดติดความสำเร็จของตัวเอง เพียงแต่ รู้ว่าลูกค้าที่เข้ามาสู่แบรนด์เป็นแบบไหน อะไรทำให้พวกเขาซื้อรถไปใช้

อาจจริงที่คนจำนวนหนึ่งพร้อมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า แต่ก็ยังไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่ หรือ Majority และ ที่จริงพฤติกรรมการซื้อรถคนยุคต่อไป ยังมีในแง่มุมอื่นๆอีก เช่น คนรุ่นใหม่ เริ่มมองว่ารถเป็นภาระ ไม่ใช่ ยานพาหนะ

ทำให้ แบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota ต้องมองรอบด้าน และ ถ้าถามผม สำหรับพวกเขารถยนต์ไฟฟ้า แค่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น

Toyota วันนี้ อาจใช่ที่ล่าช้า ไม่ทันเกมรถยนต์ไฟฟ้า แต่จากที่มอง ในวันหน้ายุคไฮโดรเจน พวกเขาพร้อมมาก และ รอดักทางไว้แล้ว เมื่อเทคโนโลยีพร้อมสำหรับคนทั่วไป เมื่อนั้นจะเข้าทางพวกเขาทันที ซึ่งคงไม่นานเกินรอ

ที่มาข้อมูล บางส่วน

Nokia – wiki
ยอดขาย Volkswagen
ยอดขายรถยนต์ EV ปี 2022

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่