ปัจจุบันด้วยความหลากหลายของรถยนต์ที่มีมากมายจำหน่ายในท้องตลาด เชื่อเลยว่าคุณเริ่มมีปัญหาในการเลือกซื้อรถยนต์ยนต์ที่ถูกต้องในงบประมาณที่เหมาะสม ประเด็นหนึ่งที่ดูจะได้รับการไถ่ถามท่ามกลางความต้องการรถยนต์ที่ไม่มันรู้จบหนีไม่พ้นเรื่องเครื่องยนต์ ระหว่างเบนซินและเครื่องยนต์ดีเซล

การเปลี่ยนไปด้วยนวัตกรรมอันทันสมัยและเทคโนโลยีที่เหนือชั้นมากขึ้นกว่าในโลกยุคก่อน ปัจจุบันเครื่องยนต์ดีเซลจึงสามารถสนองความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะความประหยัดในการขับขี่  ความสามารถทางด้านพละกำลัง สำหรับบริษัทรถยนต์มันช่วยให้พวกเขาพัฒนารถยนต์ที่ทรงสมรรถนะแต่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น  กว่าที่ผ่านมา

เมื่อมาถึงมุมมองผู้ซื้อคนจำนวนไม่น้อยอาจจะคุ้นเคยกับการใช้งานเครื่องยนต์เบนซิน และมีคนอีกกลุ่มหนึ่งกำลังสนใจเครื่องยนต์ดีเซล ที่ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องพละกำลังการขับขี่อันเร้าใจ ทว่าด้วยราคาจำหน่ายที่แพงกว่าพอสมควร จึงทำให้หลายคนตั้งความว่า แล้วมันคุ้มหรือไม่ที่จะซื้อเครื่องยนต์ดีเซลมาใช้งาน

เครื่องยนต์ เบนซิน-ดีเซลต่างกันอย่างไร

ในแง่มุมการเปรียบเทียบก่อนจะไปไกลมากกว่านี้ คุณควรทราบถึงหลักการทำงานเบื้องต้นของเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล ซึ่งจะว่าก็ไปแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ในเครื่องยนต์เบนซิน การทำงานของเครื่องยนต์จะอาศัยจังหวะการทำงานจุดระเบิดโดยใช้ตัวเหนี่ยวนำเพื่อทำให้น้ำมันเบนซินที่เราเติมเข้าไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเกิดการเผาไหม้ ด้วยอุปกรณ์ ที่เรียกว่า “หัวเทียน” เจ้าหัวเทียนนี้จะให้ประกายไฟเมื่อส่วนผสมน้ำมันและอากาศ ถูกบีบอัดในระดับหนึ่ง เมื่อหัวเทียนทำงาน จึงจะเกิดการจุดระเบิดให้กำลังของเครื่องยนต์ ทำให้เครื่องยนต์เบนซิน มีอัตรากำลังอัดค่อนข้างน้อยกว่าเครื่องยนต์ดีเซล แต่ก็มีรอรอบเร่งมากกว่า เกือบครึ่งด้วย

ทางด้านเครื่องยนต์ดีเซลการทำงานแตกต่างจากเครื่องยนต์เบนซินโดยสิ้นเชิง เครื่องยนต์ดีเซลจะจุดระเบิดโดยน้ำมันดีเซล โดยอาศัยกระบวนการเผาผลาญตัวเองของเชื้อเพลิง ในกรณีนี้เครื่องยนต์จะทำการบีบอัดอากาศจนมีความร้อนสูงมากพอที่จะทำให้เกิดการระเบิด เมื่อเชื้อเพลิงถูกฉีดเข้าสู่ห้องเผาไหม้ ในเครื่องยนต์

แล้วดีเซลมีข้อดี – ข้อเสียอย่างไร???

กล่าวมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนคงจะเริ่มสนใจเครื่องยนต์ดีเซลมากขึ้นไม่มากก็น้อย แต่ก็คงอยากจะทราบว่าข้อดีข้อเสียของเครื่องยนต์ดีเซล เป็นอย่างไร

ก่อนอื่นเลย เครื่องยนต์ดีเซลมีเสียงในการทำงานดังกว่า เนื่องจากใช้การจุดระเบิดจากการบีบอัดอากาศจนเกิดความร้อน ทำให้เสียงของเครื่องยนต์ดีเซลไม่ว่าอย่างไร จะพัฒนาด้วยเทพวิศวกรแค่ไหนก็ยังมีเสียงดังกว่าเครื่องยนต์เบนซินในระดับหนึ่ง เครื่องยนต์บางตัวดังมากถึงขนาดว่ารถเลี้ยวเข้าซอยมาขับยังไม่ถึงบ้านยังได้ยิน จนคุณไม่มีทางที่จะหนีเมียออกไปเที่ยวยามค่ำคืนได้

เครื่องยนต์ดีเซล

รวมถึงด้วยการจุดระเบิดที่ค่อนข้างรุนแรงในห้องเผาไหม้ ทำให้ต้องมีการออกแบบบล็อกเครื่องยนต์หนาแน่นกว่า ส่งผลทางด้านน้ำหนักของเครื่องยนต์มากกว่า นี่ยังไม่นับรวมอุปกรณ์เสริมที่จำเป็นต้องติดตั้งเข้าไป โดยเฉพาะระบบอัดอากาศ ประเภทเทอร์โบชาร์จ

ตลอดจนด้วยการวิศวกรรมยุคใหม่ อาทิ การติดตั้งระบบเทอร์โบชาร์จ การใช้หัวฉีดน้ำมันประสิทธิภาพสูง และ การออกแบบเครื่องเป็นระบบ  Common Rail  ทำให้ผู้ใช้อาจจะรู้ตัวอีกทีก็พบว่า ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาก็ค่อนข้างสูงพอสมควร และราคาตัวรถก็สูงกว่าด้วย

อย่างไรก็ดี แม้เราจะเหลาข้อด้อยของเครื่องยนต์ดีเซลมาแล้ว แต่คุณงามความดีของเครื่องยนต์ดีเซลก็ยังมีมากพอที่จะตอบว่าทำไมควรเลือกเครื่องยนต์ดีเซล ไม่ว่าจะสมรรถนะของเครื่องยนต์ในด้านพละกำลังที่มีแรงบิดสูงกว่าเครื่องยนต์เบนซิน แถมยังมาให้ใช้ในรอบต่ำตั้งแต่ช่วง 1,500-2,000 รอบต่อนาที ช่วยให้รถออกตัวดี ตอบสนองแง่การใช้งานหนัก เช่น ต้องบรรทุกผู้โดยสารจำนวนมากบ่อยครั้ง และปัจจุบันยังมีการพัฒนาให้ปลดปล่อยแรงบิดสูงออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงรอบใช้งาน  ส่งผลให้สามารถเร่งแซงได้ดีขึ้นด้วย

และด้วยการมีแรงบิดสูงในรอบต่ำทำให้ผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องใช้คันเร่งมาก เมื่อเทียบเครื่องยนต์เบนซินเพื่อรีดแรงบิดหรือกำลังเครื่องยนต์ ส่งผลให้มีความประหยัดมากกว่า

สำหรับบ้านเรา อีกเรื่องที่เราจะไม่เอ่ยถึงไม่ได้ คือราคาน้ำมันถูกกว่าเบนซิน หาเทียบระหว่างน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 95  และน้ำมันดีเซลเกรดปกติ เราจะพบว่าน้ำมันดีเซลถูกว่า 1.86 บาท แม้ว่าจะน้อยกว่าเมื่อก่อนที่ถูกกว่าราวๆ 3 บาท แต่ก็ยังถูกกว่าอยู่ดี

 

เบนซิน… เก๋าครองใจคนใช้รถนั่ง

ทางด้านเครื่องยนต์เบนซินเอง แม้ว่าทางบริษัทรถยนต์ชั้นนำส่วนใหญ่จะดูไม่สนใจใยดีเครื่องยนต์เบนซินมากเท่าที่ควร แต่ศักยภาพของเครื่องยนต์เบนซินตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ก็ได้รับการพัฒนาต่อเนื่องจนเต็มขีดความสามารถในการใช้งาน

เครื่องยนต์เบนซินปัจจุบัน เปี่ยมด้วยเทคโนโลยีมากมายไม่แพ้เครื่องยนต์ดีเซล ไม่ว่าจะการพยายามลดน้ำหนักเครื่องยนต์ให้ต่ำลง, การติดตั้งระบบวาล์วแปรผันเป็นมาตรฐานช่วยในการรีดอากาศมากขึ้น ในบ้านเรายังมีการเสริมสร้างศักยภาพในการขับขี่  ด้วยพลังงานทางเลือกต่างๆมากมาย และที่เคียงข้างกันคงไม่พ้นระบบส่งกำลังที่พัฒนาให้ ตอบสนองดีขึ้นต่อเครื่องยนต์เบนซิน โดยเฉพาะเรายิ่งเห็นเครื่องยนต์บล็อกเล็กมากขึ้นตามลำดับในปัจจุบัน

เครื่องยนต์เบนซิน

ศักยภาพอันเต็มเปี่ยมของเครื่องยนต์เบนซิน ส่งผลให้บริษัทรถยนต์ไม่ค่อยโฆษณาพวกมันมากมายนัก แต่ข้อดีของเครื่องยนต์เบนซิน ก็คณานับไม่แพ้เครื่องยนต์ดีเซลเช่นกัน

ไม่ว่าจะความเรียบง่ายในการดูแลรักษา เนื่องจากเครื่องยนต์เบนซินในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังเป็นเครื่องยนต์แบบปกติ ไม่ติดตั้งระบบเทอร์โบชาร์จหรือส่วนควบเสริมกำลังเหมือนเครื่องยนต์ดีเซล พละกำลังแรงม้า ที่มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด หากนับว่า เครื่องยนต์ดีเซลยังต้องติดตั้งระบบอัดอากาศเสริมกำลัง

ตลอดจนความสามารถในเรื่องทางเลือกพลังงานที่มีมากกว่า สามารถใช้น้ำมันได้หลายประเภท ตามกำลังทรัพย์ของผู้ใช้ ที่สำคัญ ความจุกจิกในการใช้งาน และความทนทานมีมากกว่า เนื่องจากเครื่องยนต์เบนซินส่วนใหญ่ยังคงเป็นเครื่องยนต์แบบไม่มีเทอร์โบชาร์จ เรียกว่าสตาร์ทติดขับได้ก็โอเค

แต่เมื่อมากล่าวถึงข้อเสียต้องยอมรับว่า เครื่องยนต์เบนซินมีอายุการใช้งานสั้นกว่า โดยมากเพียง 2-3 แสนกิโลเมตร ก็ได้เวลาที่จะต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ภายในเครื่องยนต์แล้ว เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ดีเซล ที่มีอายุการใช้งานยาวนานกว่ามาก ถือว่าอายุเครื่องเบนซินค่อนข้างสั้น แต่เมื่อนับระยะทางในการใช้งานโดยทั่วไป จนกระทั่งเราเบื่อหรือต้องการเปลี่ยนรถ  ถือว่าสมน้ำสมเนื้อ

แล้วเลือก เบนซิน หรือดีเซล ดีกว่ากัน ???

มาถึงตรงนี้หลายคนคงเริ่มอยากได้คำตอบประกอบการสินใจซื้อรถใหม่ ที่มีหลายรุ่นหลายยี่ห้อเริ่มทำรถนั่งด้วยเครื่องยนต์ดีเซล ยิ่งบรรดารถอเนกประสงค์สมัยนี้มีจำนวนไม่น้อยที่ติดตั้งขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซล สนองความต้องการ

ก่อนจะเปรียบเทียบ ผมอยากให้คุณสำรวจตัวเองในเรื่องการใช้รถสักหน่อย โดยเฉพาะแง่มุมในการใช้งานว่าคุณต้องการอะไรจากรถยนต์คันใหม่ที่กำลังตัดสินใจเลือก

1.เดินทางยาวหรือไม่ หากเดินทางยาวเป็นประจำเครื่องยนต์ดีเซลอาจจะตอบโจทย์กว่า เนื่องจากมีกำลังแรงบิดสูงกว่า

2.ใช้รถบ่อยแค่ไหน รถดีเซลมีราคาจำหน่ายมากกว่ารถเครื่องยนต์เบนซิน และนั่นหมายความว่าคุณมีส่วนต่างในการใช้งานเกิดขึ้น ประเด็นหนึ่งคือเครื่องดีเซลมีน้ำมันชนิดเดียวไม่มีแบบอื่น ยกเว้นเกรดพรีเมียมที่สูงกว่า  ราคาแพงกว่า ถ้าคุณต้องจ่ายราคารถที่แพงกว่า เพื่อน้ำมันที่ถูกกว่า ก็สมควรจะต้องใช้งานรถเยอะกว่า เพื่อให้คุ้มค่าเมื่อเทียบกับส่วนต่างที่เกิดขึ้นในแง่ของราคาจำหน่าย

3.ต้องการใช้รถนานแค่ไหน คำถามนี้หลายคนไม่เคยถามตัวเอง แต่เป็นคำถามที่สมควรจะถามอย่างยิ่ง เนื่องจากรถยนต์มีการเสื่อมสภาพ และรถเครื่องดีเซล มีข้อดีเรื่องการใช้งานที่ทนทานยาวนานกว่าเบนซิน แน่นอน ถาคุณคิดว่า ซื้อครั้งเดียวอยากจะใช้ไปเกือบ 10 ปี ก็ถือว่าคุ้มค่า และอนาคตรถเครื่องดีเซลอาจจะเป็นรถยนต์เครื่องสันดาปภายใน แบบเดียวที่เหลืออยู่ เนื่องจากเครื่องเบนซิน กำลังถูกแทนที่ด้วยไฮบริด และระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า

 

เปรียบเทียบความคุ้มค่าให้ชัดเจน

หลายคนคงพอจะได้โจทย์สำหรับการตัดสินใจบ้างแล้ว แต่ถ้าเครื่องยนต์ดีเซลยังเป็นตัวเลือกที่ทุ้มอยู่ในใจว่าเราควรจะเลือกหรือไม่ ลองมาดูการเปรียบเทียบของเราครับ

รถที่เราจะยกตัวอย่างมาเปรียบเทียบความคุ้มค่า นั้น คือรถใหม่ล่าสุด MAZDA CX-5 ที่เพิ่งจะเปิดตัวทำตลาดไปหมาดๆ ลองมาดูสิว่า ในแง่มุมต่าง ๆ จะเป็นอย่างไรบ้าง

2017 Mazda CX-5

ตอนซื้อรถใหม่ … ราคาจำหน่าย

แง่มุมแรก ผมขอนำเรื่องราคาจำหน่ายมาเปรียบเทียบกันเลย โดยขอนำรถยนต์   Mazda CX-5  ตัวท๊อปของเครื่องยนต์เบนซินและดีเซลมาเปรียบเทียบกันครับ

 

รุ่น ราคาจำหน่าย  (บาท) ส่วนต่าง
Mazda CX-5 2.0 SP 1,530,000 240,000  บาท
MAZDA Cx-5 2.2 XDL 1,770,000  

 

เมื่อเปรียบเทียบราคาจำหน่าย จะเห็นว่า   Mazda CX-5   มีราคาส่วนต่างระหว่างรุ่นเบนซินและรุ่นดีเซล อยู่ที่ 240,000 บาท  (ก่อนหน้านี้   Honda  CR-V   ที่เปิดตัวรุ่นเครื่องยนต์ดีเซลออกมาก็มีส่วนต่างอยู่ที่ 150,000 บาท เช่นกัน )

 

ตอนผ่อน !!!

ปัจจุบันเชื่อว่า คงมีคนจำนวนน้อยมากที่ยังซื้อรถด้วยเงินสด แน่นอนการผ่อนรถย่อมเป็นภาระที่หนักหน่วงสำคัญในการตัดสินใจซื้อ ในกรณีนี้ผู้เขียน ขอยกการผ่อนชำระที่ 5 ปี (60 งวด) โดยวางดาวน์ร้อยละ 25 ของราคารถ คิดอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อต่อปีที่ร้อยละ 4

  Mazda CX-5 2.0 SP MAZDA Cx-5 2.2 XDL ส่วนต่าง
ราคาจำหน่าย   1,530,000  บาท 1,770,000  บาท 240,000 บาท
วางดาวน์ 25% 382,500 บาท 442,500 บาท 60,000 บาท
ยอดจัด 1,150,5000 บาท 1,327,500 บาท  
ดอกเบี้ยต่อปี 46,020 บาท 53,100 บาท 7,080 บาท
ดอกเบี้ยรวมตลอดการผ่อนชำระ 230,100 บาท 265,500 บาท 34,900 บาท
ค่างวดต่อเดือน (บาท) 23,100 บาท 26,550 บาท 3,450  บาท

 

จากการคำนวณ คุณคงจะเห็นว่า ในยามเช่าซื้อรถยนต์เครื่องดีเซล แม้จะมีราคาส่วนต่างทางด้านราคาจำหน่าย 240,000 บาท แต่เมื่อแตกรายละเอียดการผ่อนออกมา จะพบว่า มีค่างวดต่างกันเพียงเดือนละ 3,450 บาท แต่จะหนักกว่าก็คงเงินดาวน์ที่ต้องหาเงินมากกว่าราว ๆ 60,000 บาท ส่วนดอกเบี้ยการผ่อน ถือว่าต่างกันไม่มากนัก …

จุดคุ้มทุน..

จากข้อมูลข้างต้น หลายคนคงเริ่มใจชื้นกับการตัดสินใจเครื่องยนต์ดีเซลมากขึ้น แต่เรื่องยังไม่จบ เพราะเมื่อคุณจ่ายแพงกว่า หมายความว่าจุดคุ้มทุนในการใช้รถย่อมสูงกว่าด้วย

2017 Mazda CX-5

2017 Mazda CX-5

ตามการเปิดเผยของมาสด้า เครื่องยนต์ Mazda Sky Activ D 2.2 มีอัตราประหยัดสูงสุด 17.5 กิโลเมตร/ลิตร ส่วนเครื่องยนต์เบนซิน Mazda Sky Activ G มีอัตราประหยัดที่ 13.9 ก.ม./ลิตร หรือเปรียบเทียบแล้วแตกต่างกันอยู่ที่ 3.6 ก.ม./ลิตร

การหาจุดคุ้มทุน ผมจะหาว่า เราจะต้องขับรถระยะทางเท่าไร จึงจะคุ้มที่จ่ายส่วนต่างเพิ่มตั้ง 240,000 บาท การคำนวนครั้งนี้ ผมขอใช้การเปรียบเทียบระหว่างรถทั้ง 2 รุ่น แล้วนำระยะทางที่เราใช้งาน จนถึงระยะทาง 50,000 กิโลเมตร มาเป็นโจทย์สำคัญ โดยวางให้รถเบนซินเติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เพื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่า

  Mazda CX-5 2.0 SP MAZDA Cx-5 2.2 XDL ส่วนต่าง
อัตราประหยัดของเครื่องยนต์ 13.9 ก.ม./ลิตร 17.5 ก.ม./ลิตร 3.6 ก.ม./ลิตร
ราคาน้ำมันต่อลิตร  (บาท) 28.25 26.39 1.86 บาท/ลิตร
ราคาน้ำมันต่อถัง  (บาท) 1,528 1,530*  
ระยะเดินทางต่อถัง 778.4 กิโลเมตร 1,015 กิโลเมตร 236.6 กิโลเมตร
ค่าใช้จ่ายเติมน้ำมันระยะทาง 10,000 ก.ม. 19,619 15,070 บาท เบนซินจ่ายมากกว่า 4,549 บาท ตั้งแต่เริ่มใช้รถ
ค่าใช้จ่ายเติมน้ำมันระยะทาง 20,000 ก.ม. 39,254 30,141 บาท เบนซินจ่ายมากกว่า 9,113 บาท ตั้งแต่เริ่มใช้รถ
ค่าใช้จ่ายเติมน้ำมันระยะทาง 30,000 ก.ม. 58,889 45,211 บาท เบนซินจ่ายมากกว่า 13,678 บาท ตั้งแต่เริ่มใช้รถ
ค่าใช้จ่ายเติมน้ำมันระยะทาง 40,000 ก.ม. 78,508 60,282 บาท เบนซินจ่ายมากกว่า 18,226 บาท ตั้งแต่เริ่มใช้รถ
ค่าใช้จ่ายเติมน้ำมันระยะทาง 50,000 ก.ม. 98,143 75,367 บาท เบนซินจ่ายมากกว่า 22,776 บาท ตั้งแต่เริ่มใช้รถ
สรุป ค่าใช้จ่าย 10,000 กิโลเมตรละ 19,635 บาท  โดยประมาณ ค่าใช้จ่าย 10,000 กิโลเมตรละ 15,070 บาท โดยประมาณ เบนซินเติมน้ำมันมากกว่าในระยะเดินทางที่เท่ากัน   ค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมันทุก 10,000 กิโลเมตร ต่างกัน ประมาณ 4,500 บาท

 

*หมายเหตุ ถังน้ำมัน รุ่น   XDL  มีความจุ 58 ลิตร

จากการลองเปรียบเทียบ พบว่าน้ำมันดีเซล มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางทุกๆ 10,000 กิโลเมตร ถูกกว่า ประมาณ 4,500 บาท หรือทุก 1,000 กิโลเมตร คุณประหยัดกว่า 450 บาท  ซึ่งหากเปรียบเทียบกับค่าผ่อนรถที่มีส่วนต่างแต่ละงวดสูงกว่ารุ่นเครื่องยนต์เบนซิน  3,450 บาท ถือว่าผู้ซื้อได้กำไรในแง่การใช้พลังงานลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับยอดผ่อนที่มากขึ้น 

แต่หากเราประเมินว่าคุณใช้รถ 10,000 กิโลเมตร ทุก 4 เดือน คุณประหยัดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันไปได้ 4,500 บาท ทุก 4 เดือน  แต่ต้องส่งยอดผ่อนมากกว่า  3,450 บาท ต่อเดือน เมื่อนำมาดูความคุ้มค่าแล้ว จะพบว่า ผู้ใช้ขาดทุนมากกว่าได้กำไร หากนำยอดผ่อนที่มากกว่า 3,450 บาท มาคุณ ด้วยจำนวนเดือนที่ถึงระยะทาง 10,000 กิโลเมตร ในกรณีนี้ 4 เดือน เท่ากับ คุณต้องจ่ายยอดผ่อนมากกว่าเครื่องยนต์เบนซิน 13,800 บาท เพื่อแลกความประหยัดน้ำมันเพียง 4,500 บาท เท่านั้น 

กรณีเดียวกัน ถ้านำยอดผ่อนที่จ่ายน้อยลงของเครื่องเบนซิน โดยนำส่วนต่างจากยอดผ่อน มาเติมน้ำมันใช้งานแทนที่จะเลือกเครื่องดีเซล ยอดจำนวนเงิน 13,800 บาท สามารถเติมน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 ได้ถึง  488 ลิตร หรือเทียบเป็นระยะทางได้ 6,790 กิโลเมตร 

หากทุก 10,000 กิโลเมตร มีค่าใช้จ่ายเติมน้ำมัน 19,616 บาท และเงินส่วนต่างค่าผ่อน 13,800 บาท สามารถเติมน้ำมันวิ่งได้  6790 กิโลเมตร หมายความว่า คุณจะต้องจ่ายค่าน้ำมันเอง อีกเพียง 3210 กิโลเมตร เท่านั้น คิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 6,000 บาท  โดยประมาณ

เช่นเดียวกันในกรณี นำส่วนต่าง 240,000 บาท มาหาระยะทางที่เครื่องยนต์เบนซินจะใช้งานได้ เสมือนฟรีค่าน้ำมัน เมื่อเทียบกับราคาจำหน่ายจากเครื่องยนต์ดีเซล จำนวนเงินดังกล่าว สามารถเติมน้ำมันเดินทางได้ถึง 118,080 กิโลเมตร หรือพอกล่าวได้ว่าเหมือนคุณขับรถฟรีระยะแสนกิโลเมตรแรก แต่ส่วนต่างราคานี้แทบไม่มีความหมายหากคุณไม่ได้มีเงินก้อนไว้ซื้อรถ แต่เน้นผ่อนใช้งานไปเรื่อย

อย่างไรก็ดี ในแง่มุมการบำรุงรักษาเราอาจจะไม่ได้พูดถึง เนื่องจากไม่มีข้อมุลมากพอ ที่จะนำมาเรียบเรียงให้ผู้อ่านได้ แต่แน่นอน ด้วยการใช้เทคโนดลยีชั้นสูง ระบบอัดอากาศช่วยในการทำงาน ในระยะยาวเมื่อเทียบกับเครื่องยนต์เบนซืน ย่อมจะต้องสูงกว่า เนื่องจากต้องตรวจซ่อมระบบส่วนควบของเครื่องยนต์ด้วย 

การซื้อรถเบนซินและดีเซล เป็นโจทย์ที่หลายคนคิดไม่ตกมาก ๆในยุคนี้ เนื่องจากราคาเครื่องยนต์ดีเซลค่อนข้างสูงกว่ารถยนต์เครื่องยนต์เบนซินพอสมควร  แม้ว่าจะทราบดีว่าเครื่องยนต์ดีเซล ขับดี แรง ประหยัดกว่าก็ตาม

ท้ายที่สุดแล้ว ผู้เขียนว่า โจทย์สำคัญของการซื้อรถใช้งาน ยังสำคัญตรงโจทย์การใช้งาน ระยะเวลาที่อยากครอบครอง เพราะเมื่อคุณรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร การหาสิ่งที่คุ้มค่าตอบโจทย์ความต้องการ จะยังมาซึ่งความคุ้มค่ามากที่สุดสำหรับคุณเอง

หมายเหตุ การเปรียบเทียบด้วย   Mazda CX-5   เนื่องจากเป็นรถเครื่องยนต์เบนซินใหม่ที่สุดในตลาดตอนนี้ 

เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง นักทดสอบรถยนต์ และ คอลัมนิสต์ เว็บไซต์   Ridebuster.com  ติดตามผลงานการเขียน และข้อมูลที่น่าสนใจได้ทาง  Facebook 

ช่วยเป็นกำลังใจให้ทีมงาน



แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่