บ่อยครั้ง เวลาที่ผู้ใช้รถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ พูดคุยกันถึงเรื่องเทคนิคการขับขี่ เรามักจะได้ยินกันอยู่เสมอว่า “ควรใช้ Engine Brake ในจังหวะกำลังชะลอความเร็วก่อนเข้าโค้ง หรือตอนจะหยุดรถด้วย” แต่มันคืออะไรล่ะ ?

Engine Brake หากแปลแบบสั้นๆ คือ “แรงเบรก ที่เกิดจากเครื่องยนต์”

หรือ หากให้แปลแบบยาวๆ มันก็คือ “แรงหน่วงที่คอยฉุดรถให้ช้าลงเรื่อยๆ ซึ่งเกิดจากการปิดคันเร่ง แล้วเครื่องยนต์พยายามจะลดรอบตัวเองลงไปอยู่ในจุดที่ควรจะเป็น นั่นคือตอนรอบเดินเบา”

โดยแรงหน่วงที่เกิดขึ้น จะมากจะน้อย ก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบอัตราการการจ่ายน้ำมันเมื่อปิดคันเร่ง ของผู้ผลิต, รูปแบบเครื่องยนต์, ย่านกำลังเครื่องยนต์ (ซึ่งประเด็นเหล่านี้ จะขอยังไม่ลงลึก เพราะเดี๋ยวผู้อ่านมือใหม่จะงงเอา)

และท้ายที่สุดคืออัตราทดเกียร์ ณ ขณะเวลานั้นๆ ยิ่งใช้เกียร์สูง แรงหน่วงจากเครื่องยนต์ก็จะน้อย เพราะอัตราทดรอบต่ำ แน่นอน ถ้าใช้เกียร์ต่ำ แรงหน่วงก็จะยิ่งสูง เพราะอัตราทดรอบมีสูง

แล้วเราใช้ประโยชน์อะไรจาก Engine Brake ได้บ้าง ?

แน่นอน ในเมื่อชื่อคำก็บอกอยู่แล้วว่า “Engine Brake” ดังนั้น เราจึงสามารถใช้ประโยชน์จากแรงหน่วงตรงนี้ในการช่วยเบรกก่อนเข้าโค้ง หรือก่อนหยุดชะลอรถได้ ยกตัวอย่างเช่น

สำหรับรถยนต์ เราก็สามารถลดเกียร์ลงต่ำ แล้วให้แรงหน่วงนี้ที่เกิดขึ้นตอนเราผ่อนคันเร่ง ช่วยเสริมแรงเบรกด้วยเท้าแบบปกติของรถอีกขั้น ช่วยดึงรถไว้ไม่ให้ไหลลงโค้งเร็วเกินไป

หรือจะปล่อยให้เอนจิ้นเบรกทำงานเพียงอย่างเดียว โดยที่เราแทบไม่ต้องใช้เบรกเลยก็ยังได้ สำหรับคนที่ช่ำชองในการลงเขาจริงๆ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจ ว่าทำไมคนที่ลงเขาเก่งๆ ทำไมรถของพวกเขาถึงแทบไม่เคยมีอาการเบรกไหม้เลย เพราะพวกเขาใช้แรงเอนจิ้นเบรกเป็นตัวช่วยนั่นเอง

ซึ่งอันที่จริงการใช้แรงเอนจิ้นเบรกนี้ สามารถทำและใช้ได้หมด ทั้งรถที่ใช้ระบบส่งกำลังแบบเกียร์ประปุก หรือเกียร์อัตโนมัติ ทั้งแบบ CVT หรือ Planary ปกติ แต่จะแตกต่างกันเรื่องของความแรงการหน่วงที่เป็นไปตามลักษณะกลไก หรือการออกแบบของผู้ผลิต

รถมอเตอร์ไซค์ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน ทั้งรถเกียร์มีคลัทช์มือ หรือรถเกียร์ที่ใช้คลัทช์แรงเหวี่ยง (Honda Wave, Yamaha Finn) รวมถึงรถออโตเมติก (Honda Click/Forza/ADV 350, Yamaha Aerox/Nmax/Xmax, ฯลฯ) ก็ใช้ได้ เพียงแต่ในจังหวะที่ความเร็วต่ำมากๆ ด้วยความเป็นคลัทช์แรงเหวี่ยง ทำให้ในช่วงที่รอบเครื่องยนต์ลงต่ำมากๆ คลัทช์อาจจะหยุดจับไปดื้อๆ

ดังนั้นสำหรับผู้ที่ใช้รถมอเตอร์ไซค์เกียร์อัตโนมัติจึงอาจจะต้องใช้วิธีเบิ้ลเครื่องฯช่วยสักหน่อย เพื่อให้คลัทช์กลับมาจับกันใหม่อีกครั้ง

และในการเบรกก่อนเข้าโค้ง หลายคนอาจจะเคยเห็นดราม่าว่าไม่จำเป็นต้องใช้ แค่ใช้เบรกหน้าหลังของรถที่เรามีทำหน้าที่ไปอย่างเดียวก็พอ แต่อย่าลืมว่า “เหลือ ดีกว่าขาด”

เพราะอย่าลืมว่า แม้เบรกของรถหลายๆคันจะมีประสิทธิภาพมากจนหากคุณกดไม่ดูตาม้าตาเรือ มันก็สามารถทำให้ล้อล็อคได้ง่ายๆ จนเกิดความคิดที่ว่างั้นไม่ต้องใช้แรงหน่วงจากเครื่องยนต์มาช่วยก็ได้ เนื่องจากแรงเบรกอย่างเดียวก็พอ แค่คุมเบรกให้อยู่ในจุดที่ใกล้ๆจะล็อคก็พอ นี่ก็ได้ประสิทธิภาพในการเบรกสูงสุดแล้ว

แต่คุณจะรู้ได้ยังไงว่าคุณต้องเบรกแค่ไหน ถึงจะอยู่ในจุดดังกล่าว ? ถ้าคณไม่ได้ฝึกมันมามากพอ ? เพราะแม้แค่นักแข่งระดับกลางเอง การจะควบคุมเบรกให้อยู่ในจุดที่เกือบจะล็อค ก็ยังใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ ?

ดังนั้น ขณะที่คุณต้องมาคอยเครียดตลอดว่าจะคุมเท้า คุมมือ เพื่อเบรกยังไงให้เป้ะ ทั้งๆที่ตอนนั้นคุณอาจจะกำลังไร้สติเพราะตกใจกับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นตรงหน้าอยู่

แล้วเปลี่ยนมาเป็นใช้การเบรกแค่พอดีๆ โดยให้แรงหน่วงจากเครื่องยนต์มาผ่อนภาระสมองของคุณในแบบที่ควรจะเป็นมันไม่ง่ายกว่าหรือ ?

หรือต่อให้บอกว่ารถของคุณมีระบบ ABS ยังไงก็เบรกๆแน่นๆไปเลยเถอะมันไม่ล็อคหรอก

แต่ถ้าเกิดระบบ ABS ทำงานขึ้นมา นั่นก็หมายความว่าในจังหวะที่ระบบกำลังผ่อนแรงเบรกอยู่ แทนที่จะยังคงมีแรงหน่วงจากเครื่องยนต์มาช่วยเบรกสลับอีกชั้น กลายเป็นว่าระยะเบรกของคุณก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นมา ให้เสี่ยงประสบอุบบัติเหตุเพิ่มเติมอีกอยู่ดี

อีกอย่างคือ ถ้าคุณเบรก แล้วล้อมันล็อคได้ง่ายๆ สิ่งหนึ่งที่คุณต้องระลึกไว้จริงๆก็คือ มันอาจไม่ใช่ความผิดของเบรก แต่นั่นอาจหมายถึงพื้นถนนมันลื่นจริงๆ หรือยางของคุณอาจใกล้หมดอายุแล้วต่างหากก็ได้ ไม่ใช่ความผิดของแรงหน่วงจากเครื่องยนต์เลย

และจากประสบการณ์ของผู้เขียน หากเป็นในฝั่งรถมอเตอร์ไซค์ มีเพียง BMW แบรนด์เดียวเท่านั้น ที่กล้าบอกให้ลูกค้ากำคลัทช์รถตอนเบรกฉุกเฉินไปเลย แต่ไม่ใช่เพราะ พวกเขาไม่อยากให้เราใช้แรงหน่วงเครื่องยนต์ตรงนี้ ทว่าเพื่อป้องกันการเผลอล็อคคันเร่ง แล้วแทนที่จะมีแรงหน่วงจากเครื่องยนต์ กลับกลายเป็นมีแรงส่งผลักรถให้ไปข้างหน้าแทน (แม้ว่าจริงๆรถมอเตอร์ไซค์เกือบทุกรุ่นของ BMW จะมีระบบตัดคันเร่ง ทันทีที่ผู้ใช้กำ หรือกดก้านเบรกอยู่แล้วก็ตาม)

ซึ่งทั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะพวกเขามั่นใจจริงๆว่า แค่เบรกของรถมอเตอร์ไซค์พวกเขาเพียงอย่างเดียวก็เอาอยู่แล้ว และระบบ Dynamic ABS ของพวกเขาก็ฉลาดมากพอจริงๆ ที่จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถรอดจากเหตุฉุกเฉินไปได้ เว้นเสียแต่ว่าจะสุดวิสัยจริงๆ (แบรนด์อื่นก็อาจจะทำได้ แต่ทางค่ายเหล่านั้นก็ไม่ได้แนะนำแบบย้ำชัดเหมือน BMW)

ว่าแต่ มันมีข้อเสียของการใช้ Engine Brake อะไรมั้ย ?

จริงๆแล้วมันไม่ถึงกับเป็นข้อเสีย แต่ควรเรียกว่าเป็นข้อควรระวัง เพียงเล็กน้อยเท่านั้นพอ สำหรับผู้ที่ใช้รถยนต์มีเกียร์ ทั้งเกียร์กระปุกในรถยนต์ หรือเกลียร์คลัทช์มือ กับคลัทช์ออโตเมติกในรถมอเตอร์ไซค์ ที่ยังฝึกการใช้วิธีเบิ้ลเครื่องสวน ตอนจะตบเกียร์ลงเร็วๆยังไม่คล่อง

เพราะในจังหวะที่คุณพยายามลดเกียร์ลงเร็วเกินไป แต่ไม่มีการเปิดคันเร่งส่วนเพื่อชดเชยรอบเครื่องยนต์ให้สัมพันธ์กับความเร็ว และอัตราทดเกียร์ที่เปลี่ยนไป (เรียกกันสั้นๆว่าการทำ Rev Matching ซึ่งถ้ามีโอกาส ไว้เราจะค่อยมาว่ากันเรื่องนี้แยกทีหลัง)

มันก็อาจจะทำให้เกิดอาการแรงหน่วงเยอะเกินจนล้อหลัง หรือล้อหน้าสำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า สามารถล็อคได้ง่ายๆ แต่มันก็จะเป็นจังหวะเพียงสั้นๆเท่านั้น เพราะเมื่อความเร็วตกลงไปสักครู่หนึ่ง แรงหน่วงก็จะลดลงตามเองโดยธรรมชาติ

ซึ่งมันก็ยังดีกว่าการไม่ใช้ แล้วปล่อยให้ลดไหลไปตามยถากรรม โดยที่คุณต้องมานั่งเพ่งสมาธิกับการคุมเบรกเกินไปอยู่ดี

ส่วนเรื่องของการสึกหรอต่อเครื่องยนต์ หรือกลไกระบบส่งกำลัง การใช้แรงหน่วงเครื่องยนต์เหล่านี้ ก็ไม่ได้สร้างภาระมากไปกว่าตอนที่คุณเติมคันเร่งให้รถเคลื่อนไปข้างหน้าเลยสักนิด (เอาจริงๆก็น้อยกว่าด้วยซ้ำ)

เว้นเสียแต่คุณจะลดเกียร์ลงหนักเกินไป ซึ่งนั่นอาจทำให้เกียร์เสียหาย หรือเครื่องยนต์หมุนเร็วเกินจนสูบทะลุได้ แต่ถ้าคุณกลัว คุณก็แค่ยังไม่ต้องรีบลดเกียร์ จนกว่าจะถึงจังหวะที่เหมาะสมแค่นั้นเอง

สุดท้ายคือเรื่องอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ใครสักคนอาจบอกไว้ว่า อย่าใช้ Engine Brake เลย มันเปลืองน้ำมัน เพราะรอบเครื่องยนต์ไม่ยอมลงให้

เราก็ขอให้คุณอ่านบทความนี้แต่แรกใหม่ ว่าแรงนี้ เกิดตอนที่คุณปิดคันเร่งเครื่องยนต์ หรือผ่อนคันเร่งเครื่องยนต์ ดังนั้น ถ้าคุณเปิดคันเร่งน้อยลง หรือไม่ได้เปิดคันเร่งเลยสักนิด แล้วน้ำมันที่ไหนจะจ่ายเข้าห้องเครื่องยนต์ ? นอกไปเสียจากน้ำมันที่ค่ายรถตั้งไว้ให้จ่ายไว้บ้าง เพื่อไม่ให้เครื่องยนต์ดับสนิทในทันทีที่ปิดคันเร่งก็แค่นั้น

หรือก็คือ การใช้ Engine Brake ก็เปลืองน้ำมันเท่าๆกัน หรือมากกว่าเพียงเล็กน้อย กับตอนที่เครื่องยนต์หมุนด้วยรอบเดินเบา ตอนที่ใครบางคนเลือกจะปิดคันเร่ง แล้วกำคลัทช์ไม่ให้แรงหน่วงเครื่องยนต์มากวนการเบรกในอุดมคติ อันแสนอันตรายของพวกเขาเลยนั่นเอง…

ดังนั้น คุณก็ลองพิจารณาแล้วกันครับ ระหว่างยอมเสียค่าน้ำมันมากขึ้นเพียงเล็กน้อย (น้อยยยย น้อยจริงๆ) และค่าสึกหรอเครื่องยนต์ที่มากขึ้น (เพียงนิดเดียว แบบ นิดดดดดด มากๆ)

กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการไม่ยอมใช้แรง Engine Brake มาช่วย จนรถเบรกไม่อยู่ แล้วไหล และเกิดประสบอุบัติเหตุ แล้วเสียทั้งค่ารักษาพยาบาลตนเอง(รวมถึงคนอื่น ?) ยังไม่นับรถที่อาจจะพังเพราะเพียงแค่คุณไม่ยอมใช้แรงตรงนี้ เพราะกลัวรถจะพัง จะกินน้ำมัน แค่นิดเดียว…

คุณจะเลือกอะไร ?

เพิ่มเติมอีกสักนิด รถยนต์ไฟฟ้า ก็มี Engine Brake นะ !

แต่เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้ใช้เครื่องยนต์ ดังนั้นแรงหน่วงที่เกิดขึ้นตอนปิดคันเร่ง จึงเกิดจากแรงหน่วงของมอเตอร์ไฟฟ้า ที่พยายามดึงกระแสไฟฟ้ากลับเข้าแบตเตอรี่ ด้วยการอาศัยพลังงานจลน์ของตัวรถ หรือที่เรียกกันแบบเข้าใจในภาษาคนใช้รถยนต์ไฟฟ้าว่า “ระบบ KERS” นั่นเอง

ซึ่งวิธีการใช้ก็คล้ายๆกับรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน นั่นเอง

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่