ปัญหาระยะทางในการใช้งานลดลงจากความหนาวของรถไฟฟ้า เป็นสิ่งที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่มักรับทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ถึงอย่างนั้นหากผู้ผลิตไม่มีการแจ้งข้อควรระวังนี้ไว้ก่อน หรือไม่แจ้งด้วยข้อความที่ชัดเจน พวกเขาก็ต้องโดนภาครัฐดำเนินคดีทางกฏหมายในเรื่องการโฆษณาอยู่ดี อย่างเช่น Tesla ในเกาหลี

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นข้อมูลที่ถูกรายงานโดยสื่อ Reuters ที่ได้ทำการเปิดเผยว่า Korea Fair Trade Commission (KFTC) หรือ คณะกรรมการการค้าที่เป็นธรรมของประเทศเกาหลีใต้ ได้มีการฟ้องและเรียกค่าปรับจาก Tesla ด้วยข้อหาการโฆษณาเคลมระยะทางการวิ่งในอากาศเย็นที่ผิดพลาด และอื่นๆอีกหลายกระทง

โดยในส่วนข้อหาแรกสุด เกิดจากการที่ทางหน่วยงานดังกล่าว ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกันมาตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม ปี 2019 และพบว่ารถยนต์ของ Tesla สามารถสูญเสียระยะทางในการใช้งานจากความหนาวเย็นได้มากสุดถึง 50.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่อัตราการลดของระยะทางที่หายไป(เท่าไหร่นัก) แต่เกิดจากการใช้สำนวนในการโฆษณาของ Tesla ประเทศเกาหลี ที่ผิดพลาด

เพราะแทนที่พวกเขาจะใช้ประโยคเคลมตัวเลขระยะทางในการใช้งานว่า “สูงสุดที่…กิโลเมตร” เหมือน Tesla ประเทศสหรัฐอเมริกา พวกเขากลับใช้ประโยคเคลมตัวเลขดังกล่าวว่า “มากกว่า…กิโลเมตร”

นั่นจึงทำให้หน่วยงานมองว่า หากมองตามรูปประโยคที่ Tesla ประเทศเกาหลีใต้ใช้แล้ว มันคือการยืนยันโดยทางแบรนด์ว่ารถยนต์ของพวกเขาจะไม่มีทางทำระยะทางในการวิ่งต่อชาร์จน้อยกว่าที่ระบุเลขไว้แน่นอน ซึ่งในทางปฏิบัติจริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น แถมยังหลุดไปไกลอีกด้วยเมื่อรถเจอสภาพอากาศหนาว และถูกตีว่าเป็ฯการโฆษณาเกินจริงในท้ายที่สุด

นอกจากนี้อีกการโฆษณาหนึ่ง ที่ทางหน่วยงาน KFTC พบว่า Tesla ประเทศเกาหลีใต้ ทำการโฆษณาผิดพลาดเช่นกัน ก็คือการเคลมความประหยัดค่าใช้จ่ายในการเติมพลังงาน(ชาร์จไฟ) เมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ยังคงใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในแล้วต้องเติมน้ำมัน (ในเว็บไซต์ประเทศไทยเอง ก็มีการเคลมตัวเลขตรงนี้บนเว็บไซต์เช่นกัน) เอาไว้เมื่อปี 2019

ซึ่งปัญหาในการเคลมตัวเลขที่ว่านี้ก็คือ เกิดจากการที่มันเป็นค่าซึ่งอ้างอิงโดยการเทียบค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ที่ใช้ขุมกำลังสันดาปภายใน กับรถยนต์ของ Tesla ที่ชาร์จไฟจากแท่นชาร์จ Superchargers V3 แต่กว่าที่ทางค่ายดังกล่าวจะติดตั้งแท่นที่ว่าในเกาหลี กลับล่วงเลยเวลามาถึงปี 2021

นั่นจึงทำให้หน่วยงาน KFTC มองว่า รถยนต์ของพวกเขาไม่ได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ซื้อรถมาตั้งแต่ก่อนปี 2021 ตามที่เคลมไว้

ส่วนอีกปัญหาที่ก่อให้เกิดการเรียกร้องค่าปรับเช่นกัน ก็คือการที่ทาง Tesla เกาหลีใต้ไม่ยอมคืนค่าจองรถจำนวน 100,000 วอน หรือราวๆ 2,700 บาท ให้กับลูกค้าที่ยกเลิกการจองรถผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งค่าปรับที่ค่ายรถต้องจ่ายในส่วนนี้ก็การเรียกสูงกว่าเลขตั้งต้น 10 เท่า

แต่เมื่อรวมค่าปรับจาก 2 ปัญหาข้างต้นแล้ว ท้ายที่สุดกลายเป็นว่าทาง Tesla ประเทศเกาหลีใต้ต้องเสียค่าปรับให้กับหน่วยงานดังกล่าวสูงถึง 2,850 ล้าน วอน หรือราวๆ 76.8 ล้านบาทเลยทีเดียว

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่