ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นโยบายการใช้ฟีเจอร์ หรือออพชันต่างๆ แบบที่ผู้ใช้ต้องเสียเงินเพิ่ม เพื่อให้ค่ายรถปลดล็อคการทำงานของชิ้นส่วนเหล่านั้น ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตพยายามนำเสนอ และล่าสุด ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้รถ Tesla รายหนึ่ง ที่พบว่ารถของตนเอง สามารถใช้ไฟได้แค่ 2/3 จากความจุจริงเท่านั้น เพราะค่ายตั้งซอฟท์แวร์กั๊กเอาไว้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นกรณีที่ถูกพบโดยผู้ใช้รถยนต์ Tesla รายหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่าตัวรถ Tesla Model S P60 ที่ตนซื้อมือสองมา คือรถที่มีรายละเอียดทางเทคนิคระบุว่า มันจะสามารถใช้กระแสไฟในแบตเตอรี่ สำหรับการเดินทาง และการทำงานของระบบส่วนควบต่างๆ ได้เพียง 60 kWh

แต่เมื่อเจ้าตัวลองตรวจเช็คจริงๆ กลับพบว่าแบตเตอรี่ที่ถูกติดตั้งเอาไว้ใต้ท้องรถ คือแบตเตอรี่ที่สามารถจุไฟได้สูงสุดถึง 90 kWh แต่ที่รถ Model S (มือสอง)คันใหม่ของเจ้าตัวสามารถใช้กระแสไฟได้เพียง 2/3 ของความจุแบตฯจริงๆ เป็นเพราะมันถูกซอฟท์แวร์ของ Tesla จำกัด หรือ Software Lock เอาไว้ก็เท่านั้น

– โพสต์ต้นเรื่อง ถูกอัพโหลดขึ้น Reddit เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2023 ที่ผ่านมา

ปัญหาสำคัญก็คือ เมื่อเจ้าของรถรายนี้ นำรถเข้าไปสอบถามกับทาง Tesla ว่าเจ้าตัวสามารถทำอะไรกับมันได้บ้าง หรือทางค่ายมีเงื่อนไขในการปลดล็อคอย่างไร ? ทางศูนย์ก็แจ้งกลับมาว่า พวกเขามีบริการปลดล็อคความจุไฟในแบตเตอรี่อยู่แล้ว แต่ลูกค้าจะต้องจ่ายเงิน 4,500 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือราวๆ 1.6 แสนบาท เพื่อเข้ารับบริการนี้

แน่นอนค่าใช้จ่ายในการปลดล็อคซอฟท์แวร์ดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง แต่ในขณะเดียวกัน เจ้าของรถ Tesla คันนี้ มองว่า จริงๆแล้วตนเองก็สามารถใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าที่มีความจุแบตฯ 60 kWh ได้อย่างเพียงพอแล้ว (ถึงได้ซื้อมาใช้แต่แรก)

แต่ในเมื่อตนเองใช้รถที่มีความจุแบตฯ 60 kWh ได้ แล้วจะให้รถต้องมาแบกแบตเตอรี่ขนาด 90 kWh ไปมาให้เสียเปล่าทำไม เพราะมันทั้งหนัก ซึ่งมีผลต่อการควบคุมรถ กับอัตราสิ้นเปลืองพลังงาน และหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ค่าใช้จ่ายในการซื้อแบตฯลูกใหม่ ก็สูงเกินจำเป็นอีก

อย่างไรก็ดี ในการเปิดเผยข้อมูลครั้งนี้ของเจ้าของรถต้นเรื่อง บนเว็บไซต์ Reddit ก็ได้มีผู้อ่านรายอื่น เข้ามาตอบความเห็นว่า หากมองในด้านข้อเสีย ก็ไม่มีใครแย้งสิ่งที่เจ้าของรถต้นเรื่องคิด

แต่หากมองในแง่ดี การได้แบตเตอรี่ฯลูกใหญ่กว่าความจุจริง ก็หมายความว่า มันจะสามารถชาร์จไฟกลับ ด้วยความแรงเหมือนกับตัวรถรุ่นที่ได้สเป็คแบตฯใหญ่ เพราะจริงๆมันก็คือแบตฯแบบเดียวกันกับรุ่น P75 ซึ่งถูกระบุว่าให้แบตฯความจุ 90 kWh ตั้งแต่ออกโรงงาน แค่ถูกกั๊กปริมาณไฟเอาไว้ด้วยซอฟท์แวร์ใน P60

และอาจทำให้อายุการใช้งานของแบตฯยาวนานกว่า เพราะมันไม่ได้ถูกใช้งานหนักเมื่อเทียบกับแบตที่ต้องเก็บประจุเต็มที่อยู่ตลอดเวลา

หรือหากผู้ใช้รถอยากให้แบตฯที่อยู่บนรถ สามารถใช้ความจุเต็มตามที่ควรจะเป็นได้จริงๆ แต่ไม่อยากเสียเงินหลักแสนกว่าบาท ก็ให้โปรแกรมเมอร์ หรือร้านซ่อมรถ Tesla นอกศูนย์ ปลดล็อคซอฟท์แวร์ตรงนี้ให้แทนก็ได้ เพราะยังไงพวกเขาย่อมคิดค่าบริการย่อมเยากว่าอยู่แล้ว (แต่นั่นอาจส่งผลถึงการรับประกัน หรือสร้างความเสียหายให้กับระบบซอฟท์แวร์ของรถที่ค่อนข้างซับซ้อนได้)

ทั้งนี้ ความจริงของการกั๊กความจุแบตเตอรี่ ในรถยนต์ Tesla ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาได้พักใหญ่เกือบ 10 ปีได้แล้ว เพราะก่อนหน้านี้พวกเขาก็เคยขายรถที่มาพร้อมกับแบตเตอรี่ขนาด 60 kWh แต่ตั้งซอฟท์แวร์ไว้ให้มันสามารถใช้ไฟได้จริงๆเพียง 40 kWh และหากลูกค้าอยากใช้ความจุของแบตฯเต็มๆก็ต้องเสียเงินซื้อเพิ่ม

ส่วนกรณีของตัวรถ Model S P60 ที่เป็นคันต้นเรื่องในคราวนี้ อาจเป็นเพราะดั้งเดิม ตัวรถเป็นรุ่นที่มาพร้อมกับแบตเตอรี่ขนาด 60 kWh แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ถึงคราวที่ต้องเปลี่ยนแบตฯ กลายเป็นว่าแบตฯรุ่นเดิม อาจจะไม่มีการผลิตอีกต่อไปแล้ว

ทาง Tesla จึงต้องติดตั้งแบตฯลูกใหม่ ขนาด 90 kWh ซึ่งดูเหมือนจะเป็นแบตฯเริ่มต้นของรถ Model S ในช่วงเวลาปัจจุบันให้กับลูกค้าเข้าไปแทน แต่ก็ยังกั๊กซอฟท์แวร์เอาไว้ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสการขาย(บริการปลดล็อค)ให้กับลูกค้าในอนาคต

ส่วนในกรณี ความเป็นไปได้ที่ว่า การกั๊กปริมาณไฟไว้ คือการกั๊กกระแสไฟเพื่อให้แบตฯยังคงไฟเลี้ยงระบบสำรอง หรือไฟบัฟเฟอร์

ความจริงก็คือโดยปกติแล้วผู้ผลิต จะมีการตั้งค่าไฟบัฟเฟอร์ สำหรับเลี้ยงระบบรถไว้ หากปริมาณไฟในแบตฯเหลือไม่เพียงพอสำหรับการใช้เดินทางต่อ ที่ราวๆ 10-20% จากความจุจริงเท่านั้น ซึ่งนั่นก็ยังถือว่าน้อยกว่าอัตราการใช้งานไฟตามความจุแบตฯ ที่ทาง Tesla กั๊กเอาไว้ สำหรับกรณีข่าวต้นเรื่องในครั้งนี้อยู่ดี….

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่
Tags: