สยามกลการ ถือเป็นบริษัทที่สร้างชื่อในประเทศไทย จากการร่วมธุรกิจ และบุกเบิกรถยนต์แบรนด์ Nissan ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน แต่หลังจากนี้ นี่อาจไม่ใช่แบรนด์เดียว ที่ทางบริษัทจะร่วมงานด้วย

สำนักข่าว Reuters ระบุว่า ในขณะนี้ ทาง “Siam Motors” หรือที่ชาวไทยโดยเฉพาะในแวดวงยานยนต์หลายคนรู้จักกันดี ในชื่อ “สยามกลการ” ได้มีการเจรจาทางธุรกิจกับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน เพื่อหวังเป็นคู่ค้าและร่วมกันเปิดตลาดในประเทศไทย

เหมือนอย่างที่บริษัทในเครือ Rever Automotive เป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ BYD ด้วยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของประเทศไทย ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2023 กับตัวเลข ทะลุหลัก 11,000 คัน และยอดการจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 7,300 คัน

แถมยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทผู้ผลิตสัญชาติจีนยักษ์ใหญ่รายนี้ หันมาลงทุนในประเทศไทย ด้วยเม็ดเงินเกือบ 18,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ของพวกเขาสำหรับส่งขายในตลาดภูมิภาคอาเซียน โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดสายการผลิตได้ในช่วงปี 2024 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ดี สิ่งที่แตกต่างจากบริษัทลูก อย่าง Rever Automotive ก็คือการที่ทาง สยามกลการ ไม่ได้เลือกที่จะเจรจากับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนในกลุ่มเน้นจับตลาดลูกค้าทั่วไป หรือ Mass Production แต่เป็นการพูดคุย หรือเจรจากับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับสูง หรือแบรนด์ระดับ High-End

โดยส่วนหนึ่งคาดว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดกันเองกับบริษัทลูก และเพื่อรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าระดับสูงในไทยที่ยังไม่มีใครมาเปิดตลาดอย่างจริงจังมาก่อน

ขณะเดียวกัน สาเหตุที่ทาง สยามกลการ ตัดสินใจที่จะเจรจากับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นผลมาจากการที่ในปัจจุบัน ผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทาง Nissan มีความล่าช้าในการเดินนโยบายเกี่ยวกับการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทย

สวนทางกับทิศทางการตลาดและความต้องการใช้รถยนต์ในไทย ที่เริ่มหันไปให้ความสนใจในรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆอย่างก้าวกระโดด อ้างอิงจากผลการสำรวจโดย Deloitte ที่ระบุว่าตอนนี้ มีคนไทยมากกว่า 31% ที่มองว่ารถยนต์คันถัดไปของพวกเขาจะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้า BEVs

(ผู้ที่มองว่าจะยังคงซื้อรถขุมกำลังเครื่องยนต์สันดาปภายในต่อไป มีอัตราส่วนจากผลสำรวจที่ 36% ส่วนผู้ที่จะซื้อรถยนต์ Plug-In Hybird กับ Hybrid มีอัตราส่วน 19% และ 10% ตามลำดับ ที่เหลืออีกราวๆ 3% คือขุมกำลังชนิดอื่น)

นั่นจึงทำให้ทาง สยามกลการ จำเป็นต้องมองทางเลือกเสริม นั่นคือการร่วมมือกับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า สัญชาติจีน เพื่อให้ธุรกิจของตนเองยังไปต่อ หรือเติบโต โดยสอดรับกับความต้องการของลูกค้าในอนาคต

ส่วนในกรณีที่ว่า หากสยามกลการ จับมือกับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่สัญชาติจีนสำเร็จ แล้วพวกเขาจะทิ้งความร่วมมือกับ Nissan ไปเลยนั้น

เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้ยากมาก ในความคิดเห็นของ Ridebuster มองว่า ความสัมพันธ์ทางธุรกิจของทั้ง สยามกลการ และ Nissan นั้นมีความผูกพัน และยึดโยงกันในหลายภาคส่วนอยู่พอสมควร

การเจรจากับผู้ผลิตสัญชาติจีน ของสยามกลการ ดูเหมือนจะเป็นเพียงการ หาช่องทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสด้านการลงทุนและการทำกำไรเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งปกติที่บริษัทส่วนใหญ่มักทำกัน

ดังนั้นการจะตัดขาดความสัมพันธ์กับ Nissan จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก แม้ทางฝ่ายหลังจะดำเนินการล่าช้าในเรื่องการขายรถยนต์ไฟฟ้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่ขายมันเลยในอนาคต

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่
Tags: