นับตั้งแต่กลางปีเป็นต้นมา วงการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ต่างถูกตั้งคำถามถึงภาวะวิกฤติ อย่างกว้างขวางจากบรรดาผู้ผลิตที่ชี้ให้เห็นว่า ยอดขายรถยนต์ในปีนี้ตกต่ำลง และอาจจะต่ำที่สุด นับตั้งแต่ วิกฤติการณ์ น้ำท่วมใหญ่ ที่เคยเกิดขึ้นมา

ข้อมูลจาก โตโยต้า มอเตอร์ ที่ออกมาล่าสุด ได้ชี้ชัดถึงภาวะตกต่ำตลาดรถยนต์ในไทย มีรายงานว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มียอดขายรถยนต์ใหม่ ลดลงเหลือเพียง 308,207 คันเท่านั้น ตกต่ำสุดที่สุดในรอบ 14-15 ปี เลยก็ว่าได้ ยิ่งถ้าพูดถึงว่า ยอดขายปีนี้เทียบกับปีที่แล้วลดลง กว่า 24.2%

ตลอดจน ตลาดยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับขึ้นมาในระดับก่อนหน้าเหตุการณ์โควิด-19 ได้ การเดินโรงงานออกจากเมืองไทย ของ 2 ผู้ผลิตจากญี่ปุ่น อย่าง ซูบารุ คอร์เปอร์เรชั่น และ ซูซูกิ มอเตอร์ ทั้งคู่ต่างขอกลับไปใช้บทนำเข้า เป็นทางออกธุรกิจ อาจไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้

รถยนต์ไฟฟ้า ถูกมองว่า เป็นแพะ

อันที่จริง ตั้งแต่ที่ประเด็นนี้ เริ่มถูกตีแผ่โดยสื่อมวลยานยนต์ และแขนงต่างๆ หลายคนต่างมองว่าเจ้าปัญหาเรื่องนี้ น่าจะไม่พ้นผู้ผลิตชาวจีน และรถยนต์ไฟฟ้าของพวกเขา ที่เดินหน้าดันยอดตัดราคา กินเรียบแทบทั้งวงการ

โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ด้วย อานิสงค์ การส่งเสริมภาครัฐ ตามแผน 30/30 โดยมุ่งให้คนไทย ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วน ร้อยละ 30 ของทั้งหมด และดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค และ ระดับโลก ในปี 2030

การส่งเสริมภาครัฐมาพร้อมนโยบายให้ส่วนลดเงินสนับสนุน EV 3.0 และ EV 3.5 ที่ต่อยอดต่อเนื่อง ทำให้คนไทย หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเยอะขึ้น จนความคิดคนไทยในวันนี้ จะซื้อรถใหม่ ต้องซื้อรถยนต์ไฟฟ้า

ถ้ามาดูตัวเลข ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า 6 เดือนแรก จะมีสัดส่วนแบ่งทางการตลาด อยู่ 36,593 คัน หรือ ราว 9.4% ของตลาด จากการรวบรวมข้อมูล ของทาง โตโยต้ามอเตอร์

จะเห็นว่าตลาด Battery Electric Vehicle หรือ BEV ก็ไม่ได้เติบโตปังมาก เหมือนในช่วง 1-2 ปีก่อน อาจเรียกว่าคนที่อยากได้ ส่วนใหญ่ก็ซื้อใช้กันหมดแล้ว

ซึ่งแม้แต่ นาย วัลลภภ ตรีฤกษ์งาม รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังกล้าพูด ในระหว่างการแถลงข่าวว่า ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่มาจากรถยนต์ไฟฟ้า ที่เข้ามาทำตลาด ตอบลูกค้าชาวไทย

กระบะทรุดหนัก เหตุสำคัญ

ถ้าจะเจาะว่า ตลาดกลุ่มไหน ยอดขายดิ่งลงหนัก ก็มีข้อมูลชัดเจน อยู่ในรายงานของ โตโยต้า มอเตอร์ ที่ออกมาล่าสุดเช่นกัน

กลุ่มตลาดที่มีการเติบโตลดลงมากที่สุด กลับกลายเป็นรถกระบะ ใน 6 เดือนแรกของปีนี้ มียอดขายตลาดกระบะเพียง 89,581 คัน ลดลงจากปีที่แล้ว 40.2%

ถือว่า เป็นกลุ่มที่มียอดตกมากที่สุด จากปี พ.ศ. 2566 ช่วงเวลาเดียวกัน จะมียอดขายอยู่ที่ระดับ 149,685คัน

ยิ่งกระบะ น่าจะเรียกว่า เป็นตลาดที่สำคัญที่สุดของ วงการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และไม่เคยเกิดเรื่องเช่นนี้มาก่อน หากไม่นับภาวะสำคัญ อย่างเหตุน้ำท่วมใหญ่ เมื่อ 10 กว่าปีก่อน

โควิด ยังหลอกหลอน คนไทยยังไม่ฟื้น

ถ้าจะมุ่งไปที่ปัญหา ยอดขายรถกระบะตกต่ำ ว่าเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

นาย รัฐการ จูนตะเสน กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย หนึ่งในบริษัทยานยนต์ เน้นค้าขายกระบะ ได้ชี้ให้เราเห็นว่าเรื่องนี้ มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวเนื่อง

ต้องยอมรับก่อนว่า คนจะซื้อกระบะในวันนี้ ก็โดนแย่งยิงตลาดไปบ้าง จากรถยนต์ไฟฟ้าก็ดี ,​รวมถึง กลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์ครอสโอเวอร์ นอกจากนี้ ยังมีการลดราคารถยนต์สันดาปในบางรุ่น สร้างความน่าสนใจ แก่กลุ่มกระบะเดิม

แต่อีกส่วนหนึ่งก็น่าสนใจ เมื่อ คุณ วัลลภ ตรีฤกษ์งาม ได้เปิดเผยว่า เรื่องนี้ เราต้องยอมรับว่ามาจากภาวะหนี้ครัวเรือน ที่พุ่งสูงขึ้น

โดยส่วนหนึ่ง ก็มาจากความเป็นจริงว่า คนจำนวนไม่น้อย ยังบอบช้ำจากภาวะโควิด ก่อนหน้านี้ภาคสถาบันการเงิน ได้เคยออกมาตรการช่วยเหลือไปแล้วในช่วงวิกฤติ

มาวันนี้ผ่านวิกฤติมา ถึงเวลาที่ต้องเผชิญความจริง หลายคนยังไม่กลับมาได้ 100% จึงก่อให้เกิดปัญหาตามมา

เริ่มมีการปล่อยรถยึด , คืนไฟแนนซ์ สร้างผลกระทบไปยังสถาบันการเงิน ส่งผลทำให้ไฟแนนซ์ เริ่มเข้มงวดขึ้น กับผู้เช่าซื้อรายใหม่ มากขึ้น

ซับดาวน์ ก่อพิษ

ด้าน นาย รัฐการ ชี้ให้เราเห็นปัญหาว่า อีกข้อที่ต้องพูดกันตามจริง คือ การซื้อรถแบบซับดาวน์

เมื่อก่อน จะมีกระบวนการซื้อรถในแบบ ซับดาวน์ กล่าวคือ การซื้อรถโดยไม่ต้องใช้เงินดาวน์ ซึ่งเป็นเงินก้อนในการออกรถ

ระบบวิธีการ ก็คือ เอาเงินดาวน์ที่เราจะต้องจ่ายจริงๆ ไปรวมในยอดจัดไฟแนนซ์ แล้วใช้กระบวนการผ่อนนานเข้าช่วย ทำให้ลูกค้า แทบไม่ต้องจ่ายเงินก้อนในการออกรถ จ่ายแค่พอเป็นพิธี

ถูกใจคนที่มีรายได้ไม่มากนัก ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ ของตลาดกระบะ โดยเฉพาะตลาดตัวเริ่มต้นที่มีราคารถ ตั้งแต่ 7 แสนบาท เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ตลาดกระบะยอดหดตัว

โดยเฉพาะ เมื่อสถาบันการเงินมีนโยบายใหม่ ที่ต้องตรวจสอบที่มารายได้ของลูกค้าอย่างชัดเจน เพื่อรับรู้รายได้ ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้ ถูกกวดมากเป็นพิเศษ ในการขอสินเชื่อใหม่ๆ

ขายต่อยาก ราคาไม่ดี คนใช้ รถต่อเพียบ

ที่จริง อีกประเด็นหนึ่ง ที่มีการถกกันอย่างหนัก ท่ามกลางในหมู่ผุ้ผลิตยานยนต์ หนีไม่พ้นข้อเท็จจริงว่า ลูกค้าอาจจะมีศักยภาพในการซื้อลดลง น่าจะเป็นความจริง ที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้

ประการแรก ,​การคืนรถไฟแนนซ์ แม้ว่าจะเหมือนการมอบตัว แต่ท้ายสุด ก็ต้องคิดตามต่อกันว่ารถเหล่านี้ จะไปอยู่ไหน ในมุมไฟแนนซ์ จะต้องนำไปขายทอดตลาด เอาเงินกลับมาสู่พอร์ท เพื่อ นำเงินไปต่อเงิน

แล้วคนที่รับช่วงรถจากลานประมูล ก็คือ บรรดาพ่อค้ามือสองนั่นเอง

เมื่อมีรถออกมาประมูลมาก พ่อค้าส่วนใหญ่ก็กวาดรถไปถือครองจำนวนมาก ทำให้รถมือสองมีตัวเลือกมาก หรือพูดให้ถูกต้อง รถมือสองล้นตลาด , ส่งผลต่อตลาดรถใหม่ ในแง่ของการซื้อรถจากลูกค้าที่ต้องการรถใหม่

นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม ชี้ให้เห็นในเรื่องนี้ว่า ปกติแล้ว คนไทยจะมีการเปลี่ยนรถยนต์ทุกๆ 5-7 ปี แล้วแต่ช่วงเวลา ในตอนนี้เต๊นท์รถจำนวนมากให้ราคาตีเทิรน์ กับลูกค้าค่อนข้างต่ำ

หากลูกค้าขายรถไปแล้ว ยังต้องโป้วดาวน์ เป็นเงินจำนวนมาก บางคนอาจจะมองว่าไม่คุ้มราคา ใช้รถคันเดิมต่อไปดีกว่า หรือ พูดง่ายๆ ลูกค้า ยืดอายุรถคันเก่า เนื่องจากรู้สึกขายแล้วไม่คุ้ม เป็นอีกเหตุสำคัญ ที่ทำให้ยอดขายตก

นโยบายใหม่ แบงค์ชาติ บีบไฟแนนซ์ เค้นหัวกะทิ คนกู้

อย่างไรก็ดี , ถ้ามองต้นตอสำคัญ ของเรื่องนี้ จะพบว่า ส่วนสำคัญ มาจากนโยบายของสถาบันการเงินทั้งหลาย ที่เริ่มไม่ปล่อยกู้ง่ายๆ เหมือนเดิม

ต้นตอเรื่องนี้ถ้า มองลึกไปอีก จะพบว่า มาจากการพยายามจัดการหนี้ครัวเรือน ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงค์ชาติ ซึ่งได้ออกเอกสารเผยแพร่ แก่สถาบันการเงิน และสินเชื่อ “แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน” ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เพื่อสะท้อนปัญหา และหาแนวทางในการแก้ไขหนี้ครัวเรือน อย่างยั่งยืน ถูกต้อง และ มีธรรมภิบาล

ในมุมของแบงค์ชาติในฐานะคนที่ควบคุม และออกนโยบายทางการเงิน เห็นถึงอัตราเติบโตของสินเชื่อ ที่มีการพุ่งเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ย้อนไปสมัยน้ำท่วมใหญ่

แนวทางของแบงค์ชาติ ออกมา 3 ส่วนสำคัญ คือ หนี้เสียแก้ได้ , หนี้เรื้อรัง มีทางเลือก , ส่วนหนี้ใหม่ มีคุณภาพ

โดยหนึ่งในแนวทางสำคัญ คือ การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ และเป็นธรรม หรือ Resonsible Lending มีผล เริ่มบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นมา นับเป็นปัจจัยหลัก นำมาสู่ ความเข้มข้นในการปล่อยสินเชื่อ

ทาง ธปท. แนะนำสถาบันการเงิน และกลายเป็นมาตรการสำคัญ ในการพิจารณา สินเชื่อ คือ เมื่อผ่อนชำระการกู้ใดๆ แล้ว ลูกค้า (ผู้กู้) จะต้องมีเงินคงเหลือสำหรับการดำรงชีวิตประจำวันได้ ราวๆ ร้อยละ 20 หลังจาก พิจารณา ยอดกู้ใหม่ และรวมถึงบัญชีอื่นๆ ที่เป็นภาระผูกพันอยู่

ส่งผล ให้สูตรการคำนวน มาตรฐานการผ่านสินเชื่อ หรือ Ranking Score ถูกปรับสูตรใหม่ กลายข้อสอบใหม่ ที่มีการจูนให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น ในการพิจารณา อนุมัติสินเชื่อ

ส่งผลสำคัญ ต่อกลุ่มผู้มีรายได้อิสระ ที่ไม่ได้มีรายได้ประจำ ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ในการซื้อรถกระบะ อาจทำอาชีพอิสระ มีรายได้จากการค้าขาย ซึ่งอาจไม่ใช่ทุกคนที่ทำระบบบัญชีครัวเรือน เป็นระบบระเบียบ

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า เงื่อนไขบางอย่าง เดิมทีเคยสามารถทำได้ เช่น การกู้ร่วมในการซื้อรถยนต์ ในกรณีที่อาศัยอยู่ด้วยกัน แต่งงาน แต่ไม่จดทะเบียนสมรส (เป็นสามีภรรยา โดยพฤตินัย) ยังกลายมาเป็นสิ่งต้องห้าม

หรือในกรณี ลูกค้าเก่า ที่เคยเช่าซื้อรถไปแล้ว กลับมาซื้อซ้ำ ก็ต้องถูกพิจารณาใหม่ เทียบเท่า เคสใหม่ผู้ที่ยังไม่เคยซื้อ ล้วนส่งผลกระทบ ต่อยอดขายรถใหม่

นายรัฐการ กล่าวว่า การออกระเบียบใหม่ ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย Resonsible lending มีระเบียบให้ ไฟแนนซ์ จะต้อง รับผิดชอบในการออกสินเชื่อมากขึ้น

ลูกค้า ต้องมีเงินเหลือสำหรับการดำรงชีวิต หลังจากหักภาระหนี้เก่า และ ภาระหนี้ใหม่ ทำให้สร้างผลกระทบ ต่อลูกค้าบางกลุ่ม โดยเฉพาะ อาชีพอิสระ ที่เป็นกลุ่มหลัก ของรถกระบะในตลาด

ฟอร์ดเรา ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากตลาดใหญ่ของเราคือรถกระบะที่มีราคา 9 แสนขึ้น ในตอนนีเราทำงานร่วมกับ พันธมิตรไฟแนนซ์ ของเรา ในการคัดกรองลูกค้าที่มีศักยภาพ ก่อนส่งไปถึงไฟแนนซ์

ชี้ชัด ปีนี้ อาจจบ 6 แสนคันต้นๆ เท่านั้น

ด้วยสถานการณ์ ที่บีบบังคับในการปล่อยสินเชื่อ แบบมุ่งเน้นคั้นหัวกระทิ เท่านั้น ทำให้ ยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยปีนี้อาจจะหดตัวลงอย่างรุนแรง และ อาจจะเป็นปีที่ยอดขายขายรถยนต์ เพียงราวๆ 6 แสนคันเท่านั้น

ตามที่ได้ร่วมในงานแถลงข่าวของ ทั้งทาง Suzuki และ Ford ต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ยอดขายรถยนต์ปีนี้ จะอยู่ในช่วง 650,000 คัน เท่านั้น

นาย วัลลภ ตรีฤกษ์งาม กล่าวตอบคำถาม กับผู้สื่อข่าวว่า โดยส่วนตัว คิดว่ายอดขายรถใหม่ในปีนี้ จะจบที่ราวๆ 650,000 คัน น่าจะเป็นตัวเลขที่คาดว่า จะขายได้มากสุดในปี พ.ศ. 2567

การคาดการณ์นี้ ตรงกับ คุณ รัฐการ จากทางฟอร์ด ที่มองในทิศทางเดียวกันว่าน่าจะจบ เพียง 6 แสนกลางๆ เท่านั้น โดยมีปัจจัยว่า ต่อจากนี้อีก 5 เดือนที่เหลือ ยอดขายรถยนต์รวมของทุกค่ายในประเทศไทย ต้องทำได้ในระดับ 55,000 คัน อย่างต่อเนื่องจนสิ้นปี ซึ่งนับว่าท้าทายอย่างมาก ต่อตลาดในประเทศไทย

อย่างไรก็ดี คุณรัฐการ ชี้ว่า ตอนนี้ท่าทีของแบงค์ชาติ ต่อความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เริ่มอ่อนลงบ้าง ในบางเคส เช่นการกู้ร่วม ก็ดูจะมีแนวโน้มที่กลับมาทำได้ และเป็นสัญญาณที่ดี ต่อตลาดมากขึ้น

ตลาดรถยนต์ไทย 2567 นับเป็นอีกปี ที่มีความท้าทาย ต่อผู้ผลิต ที่ต้องร่วมฝ่าฟัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มกระบะ ฐานหลักยอดขายรถยนต์ในไทย ที่วันนี้ถูกท้าทาย ด้วย หนี้ครัวเรือน และความบอบช้ำ จากภาวะพิษเศรษฐกิจ โควิด 19 ทิ้งเอาไว้

อาจถึงเวลาที่ภาครัฐ ต้องกลับมา กระตุ้น อุตสาหกรรมที่สำคัญในไทย ด้วยมาตรการบางอย่าง และทีท่า น่าจะออกไปที่รถไฮบริด

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่