ปลุกกระแสมาตั้งแต่ต้นปี กันเลยทีเดียว สำหรับงานแข่งขันรถมอเตอร์ไซค์ทางเรียบระดับโลก ที่มีกำหนดการมาแข่งขันในประเทศไทยเป็นปีแรก รายการแข่งขัน   Moto GP   นับเป็นรายการแข่งรถมอเตอร์ไซค์ระดับโลกครั้งแรกในประเทศไทย ที่หลายคนต่างลุ้นให้มา บิดชิงแชมป์ในบ้านเราเสียที

การเซ็นสัญญา ระหว่าง ดอร์น่า มอเตอร์สปอร์ต และ ทางการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่มีหน่วยงานเอกชนชั้นนำเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันผลักดันฝันคนไทยให้เป็นจริง โดยเฉพาะ ปตท. บริษัทพลังงานของคนไทยอันดับ 1 ในประเทศ ทุ่มทุนมหาศาลเซ็นสัญญาการแข่งขัน 3 ปี ติดต่อกัน ตั้งแต่ปีนี้ (2018) ไปจนถึงปี  2020 ในการพาทัพนักแข่งระดับโลกมาเยือนประเทศไทย ซึ่งหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะทางด้านการท่องเที่ยวมั่นใจว่าท้ายที่สุดจะเชิญชวนให้คนเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น

หากความหวังของคนจัดงานโมโตจีพี ในประเทศไทย ทางสนาม ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต กลับมองภาพในมุมของการปั้นวงการมอเตอร์สปอร์ตไทยให้โตก้าวหน้า เป็นการกีฬาที่คนไทยยอมรับ เฉกเช่นกีฬาอื่นๆ ที่ได้รับความนิยม อาทิ ฟุตบอล

นายเนวิน ชิดชอบ ประธาน บริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ได้กล่าวถึง เรื่องค่อนข้างชัดเจน ว่า  

“ผมลำบากมา 3 ปี พยายามทำทุกอย่างให้คนในประเทศไทยรู้จักและรักมอเตอร์สปอร์ต กีฬามีหลายประเภท แต่มอเตอร์สปอร์ตเป็นกีฬาประเภทเดียวที่สร้างงานสร้างรายได้ให้ประเทศมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ฮอนด้า หรือ ยามาฮ่า ที่ตั้งโรงงานและสร้างงานให้คนนับแสน  วันนี้ผมดีใจที่ 3 ปี ของผมที่ร่วมกันต่อสู่เคียงข้างผู้สนับสนุนทั้งหลาย ทำให้รัฐบาลเข้าใจมอเตอร์สปอร์ต และยอมจัด โมโตจีพี ให้คนไทยได้ดูแล้ว”

ถ้อยแถลงดังกล่าว ค่อนข้างชัดเจนว่า เป้าหมายสูงสุดของ การนำ โมโต จีพี รายการระดับโลกมาสุ่เมืองไทย คือการปั้น กีฬาที่คนไทยชื่นชอบชนิดใหม่ ขึ้นมาเสริมกำลังปั้นรายได้ เข้าสู่ประเทศ แถมประเทศไทย ก็ยังมีประเทศที่มีชื่อเสียง และมีอุตสาหกรรมยานยนต์ นำหน้าในระดับภูมิภาค

กอปรกับที่ผ่านมา ประเทศไทยมีนักแข่งที่มีชื่อเสียงหลายคน ทั้งในการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบ และการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ ตั้งแต่อดีต อย่าง พระองค์เจ้า พีระพงษ์ภาณุเดช หรือ เจ้าดาราทอง จนมาถึงนักแข่งในโลกยุคใหม่ อาทิ ต๊อด ปิติ ภิรมณ์ภักดี ,กีกี้ ศักนานา , รัฐภาค วิไลโรจน์ และอีกมากมายหลายคน ที่จะสาธยายคงยาวเป็นหางว่าว เล่าได้ 3 วัน 7 วัน

ก่อนจะเริ่มการแข่งขัน ใน วันที่ 5-7 ตุลาคม ศกนี้ เป็นธรรมเนียมของทางรายการแข่งขันโมโต จีพี ที่จะเดินสาย เช็คสภาพความพร้อมของประเทศที่จัดงานแข่งขัน ตรวจสอบสภาพสนาม และถือโอกาสพาทีมแข่ง มารู้จักสนามแข่ง ลงทดสอบสนามเพื่อเตรียมรถแข่งให้พร้อม โดยใช้นักแข่งจริง เก็บข้อมูลไปใช้ในช่วงระหว่างฤดูการแข่งขันต่อไป

Moto GP Winter Test   จึงเป็นดั่งงานทดสอบหลายสิ่งหลายอย่างกับผู้จัดในประเทศไทย โดยเฉพาะความพร้อมของฐานะผู้จัดงาน ว่า จะมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นหรือไม่ และจะผ่านไปด้วยดีหรือเปล่า หากจะต้องรองรับคนจากทั่วโลก ที่จะพรั่งพรูมายังจังหวัดบุรีรัมย์

ใครที่เคยมาจังหวัดบุรีรัมย์ แม้นจะไม่มาเยือนช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต คงจะทราบดีว่าการเดินทางมาบุรีรัมย์ ค่อนข้างเอาเรื่องพอสมควร ด้วยระยะทางขาละ 400 กิโลเมตรจากกรุงเทพ หากขับรถด้วยความเร็วตามที่กฎหมายกำหนดให้ใช้บนทางหลวงที่ 90 ก.ม./ช.ม. จะต้องใช้เวลาถึง  5 ชั่วโมง เกือบ 6 ชั่วโมง โดยประมาณกว่าจะถึงที่หมาย หากเดินทางแบบไม่จอดแวะพักปั้มน้ำมันเลย (เป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง)

   

ในกรณีการเดินทางด้วยวิธีอื่นๆ จังหวัดบุรีรัมย์ มีทั้งสนามบินและรถไฟ รวมถึงรถทัวร์  โดยมีเที่ยวบินขึ้นลง 4 เที่ยวต่อวัน มี 2 สายการบิน  ที่ทำการบินระหว่าง ดอนเมืองไปยังจังหวัดบุรีรัมย์ โดยไฟลท์แรกสุด จะบินออกจากดอนเมือง เวลา  5.55 น. ของทุกเช้า และไฟลท์บินเช้าจะมีเพียงไฟล์ทเดียวเท่านั้น  

เที่ยวบินต่อๆ ไป ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงบ่ายของวัน มีให้บริการทั้งนกแอร์ และแอร์เอเชีย โดยเครื่องบินของแอร์เอเชีย จะใช้เวลาบินเพียง 55 นาที  ของนกแอร์ใช้เวลาบิน 1 ชั่วโมง 15 นาทีโดยประมาณ (เครื่องใบพัด) ซึ่งทั้ง 2 ไฟล์ จะออกจากกรุงเทพในเวลา บ่าย 2 โมง และถึงปลายทางช่วง บ่าย 3 โม งและบ่าย 4 โมง ตามลำดับ

ที่เหลือจะเป็นไฟลท์เย็น มีบริการเพียงสายการบินนกแอร์เท่านั้น ออกบินจากกรุงเทพ เวลา 17.25 น. ถึงบุรีรัมย์ 18.40 น. โดยไฟล์ทบินเดียวกันนี้ เป็นไฟลท์สุดท้ายสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร  ออกบินจากบุรีรัมย์ 19.40 น. และถึงกรุงเทพ  20.55 น. 

แถมการขึ้นเครื่องบินที่บุรีรัมย์ก็ใช่จะสะดวกมากมาย เนื่องจากสนามบินของจังหวัดอยู่ที่ อำเภอสตึก ห่างออกไปจากตัวเมืองบุรีรัมย์ 40 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 40 นาที ถึงสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต 

ส่วนการเดินทางโดยรถไฟ ก็ค่อนข้างใช้เวลาพอสมควร รถไฟออกจากชุมทางบางซื่อ ปลายทางภาคอีสานส่วนใหญ่ จะผ่านสถานีบุรีรัมย์อยู่แล้ว ยังดีที่ขบวนรถที่ให้บริการส่วนใหญ่เป็นทั้งรถด่วนและรถเร็ว ที่มีปลายทางไปยังจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้มีรถไฟกว่า 9 ขบวน ที่พร้อมพานักท่องเที่ยวสาวกความเร็วเดินทางจากกรุงเทพไปยังบุรีรัมย์

ส่วนการเดินทางโดยรถทัวร์ ก็มีให้เลือกหลายบริษัท มีความหลากหลายช่วงเวลามากขึ้น แต่ทั้งหมดก็เดินทางอย่างน้อย 6 ชั่วโมง กว่าจะถึงบุรีรัมย์ ค่าตัวยกกรณีของนครชัยแอร์ อยู่ที่ 300 กว่า บาทและมากสุด 400 กว่าบาทเท่านั้นเอง

การเดินทางที่ค่อนข้างยาวไกล นับเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับจังหวัดบุรีรัมย์ ในการเป็นเจ้าภาพงานแข่งระดับโลก และเป็นปราการด่านแรกที่ทำเอาหลายคนเริ่มรู้สึกถึงอุปสรรคที่เกิดขึ้น แถมถนนหนทางไปบุรีรัมย์ มีเพียง 2 สาย เท่านั้น

สายหนึ่งวิ่งตัดจากมิตรภาพเข้าถนนที่จะวิ่งจังหวัด อุบลราชธานี ก่อนมาแยกเลี้ยวเข้าไปยังตัวเมืองบุรีรัมย์  ช่วงผ่านจากอำเภอนางรอง เป็นถนนสายหลักที่ทุกคนมักจะใช้เดินทาง เนื่องจาก สภาพถนนขับง่าย วิ่งเป็นเส้นตรงยาว ไม่ยุ่งยาก ส่วนอีกทางเหมาะมากสำหรับคนอยู่ทางฝั่งกรุงเทพตะวันออก สามารถวิ่งมายังจังหวัดสระแก้ว ก่อนตัดออกขึ้นบนทางแยกอำเภอวัฒนานคร แล้วมุ่งขึ้นมายังบุรีรัมย์ โดยเส้นทางหลวงหมายเลข 348

แต่ไม่ว่าคุณจะมาทางไหน ไม่ได้เปลี่ยนความจริงที่ว่าไปบุรีรัมย์ ต้องขับรถด้วยระยะเวลามากกว่า 5 ชั่วโมงอยู่ดี ….

ประเด็นต่อมา หลีกหนีไม่พ้นเรื่องการโปรโมทการแข่งขัน ซึ่งภายหลังจากที่มีการแถลงข่าวเซ็นสัญญากับ ดอร์น่า มอเตอร์สปอร์ต จนถึงการเตรียมความพร้อมการแข่งขัน หลายสื่ออาจจะมีการตีข่าวเรื่องรายการแข่งขันระดับโลกที่จะมาเยือนไทย แต่ยังขาดความต่อเนื่องในแง่ของการรับรู้จากภาคประชาชน

ในมุมหนึ่งกระแสมาแรงของมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ ถูกทำให้เชื่อว่าจะเป็นตัวจุดประกายสำคัญให้การแข่งขัน   Moto GP   เป็นที่นิยม และรับรู้มากขึ้น ผ่านการบอกแบบปากต่อปาก หรือที่นักการตลาดอาจจะเรียกว่า   Buzz Marketing   การลงโฆษณาโปรโมทกิจกรรม รายได้ไปอยู่ที่บรรดาสื่อใหญ่ ซึ่งแทบจะไม่เคยเห็นโฆษณาการแข่งขันรายการ   Moto GP   กันเลย โดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ ที่ถือว่ากลายเป็นสื่อที่สำคัญไปแล้วในยุคนี้ 

อาจจะจริงที่บัตรชมการแข่งขันรายการใหญ่ที่สุดระดับโลกในตำแหน่งที่นั่งหลัก หรือ  Grand Stand   ขายหมดเกลี้ยง เหลือเพียงที่นั่งเลือกข้างระหว่าง   Rossi Stand และ  Marquez  Stand   และ สแตนด์อื่นๆ ที่ยังเหลือมากพอจะให้จับจอง

ถึงจะพูดว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในแง่การขายบัตรเข้าชม แต่การรับรู้ของคนไทยต่อ   MOTO GP   มีมากแค่ไหน ยังเป็นคำถามที่น่าสนใจ เมื่อเปรียบเทียบกับมาเลเซีย เจ้าภาพในอาเซียนที่จัดมานาน 9 ปี จนกลายเป็นวัฒนธรรมของประเทศ เนื่องจากมาเลเซีย มีผู้ใช้รถจักรยานยนต์มากพอๆ กับไทย  และพวกเขารักโมโตจีพี

แต่ในบ้านเราคนที่สนใจ   Moto GP   แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง คนที่มาดูงานนี้ส่วนใหญ่เป็นคนที่เล่นและชอบบิ๊กไบค์แทบทั้งสิ้น และไม่มีความรู้มากในตัวนักแข่งในรายการ ซึ่งอาจจะยังต้องปลูกฝังให้คนรู้สึกรักตัวนักแข่ง จนเกิดเป็นกระแสแฟนคลับขึ้นมา ในหมู่ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั่วไป ซึ่งทางบริษัทห้างร้านเจ้าของแบนด์ ต่างก็เดินหน้าปั้นกันเต็มที

มีเพียง ยามาฮ่า และฮอนด้า ที่ดูรุดหน้ากว่าเพื่อน เนื่องจากพวกเขามีนักแข่งชื่อดังฝีมือในทีม ทั้ง   วาเลนติโน่ รอสซี เจ้าของ ฉายา “พ่อหมอ” (ทีมยามาฮ่า) ส่วนทางฮอนด้า มีมาร์ค มาเกส ที่มีฝีมือฉกาจฉกรรณ์ ก็ดูเหมือนคนไทยจะรู้จักเพียง  2 คนนี้ ณ เวลา

หากมองในภาพ คนไปดูคือคนใช้รถบิ๊กไบค์ ก็เท่ากับว่า   Moto GP  เป็นงานแข่งไกลเกินเอื้อม กลายเป็นยิ่งเสริมความเชื่อของคนทั่วไป ที่มองว่ามอเตอร์สปอร์ตเป็น “กีฬาคนรวย” และยิ่งถูกตอกย้ำเมื่อมีการประกาศราคาบัตรเข้าชมออกมา

ราคาบัตรต่อ 3วัน ที่  Side Stand   เริ่มที่ 2,000 บาท  Grand Stand   ที่หมดไปแล้วขายในราคา 4,000 บาท ที่เหลือ น่าจะยังเป็น วีไอพี ที่มีราคาระหว่าง 20,000-40,000 บาท (ไม่รู้ว่าต่างจาก บัตรชมทั่วไปอย่างไร และ ราคาบัตร   VIP  ที่ต่างกัน นี่ยังไง)   แต่ชี้ให้เห็นว่า ราคาบัตรนั้นไม่ได้ถูกเลย นี่ไม่นับ บัตรขายแยกต่างหากเข้าโซนกิจกรรม ตรงหน้าสนาม อีก 500 บาท
เบ็ดเสร็จถัวเฉลี่ย ถ้าเดินทางไป 2 คน (ส่วนใหญ่แบบนี้ไปกับเพื่อน ไม่ก็แฟน)  ดูแบบที่นั่ง  Side Stand   ราคา 2,000 บาท ต่อ คน ตกแล้วต้องมี 4,000 บาท เฉพาะค่าเช่าชม ทั้ง 3 วัน ผมยังไม่นับ ค่าเดินทาง , ค่าที่พักในตัวเมืองบุรีรัมย์ หรือสุรินทร์ (เนื่องจากโรงแรมในบุรีรัมย์ อาจจะถูกจองเต็มโดยชาวต่างชาติ) และค่าอาหารในระหว่างที่พำนักตลอดจนจบการแข่งขัน 3 วัน

สรุปแล้ว ผมลองคิดแบบคร่าวๆ การชม Moto GP   จะต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างน้อย คนละ 7,000 บาท

 ในจำนวนนี้เป็นค่าเข้าชมการแข่งขัน 2,000 บาท ยิ่งถ้าเราคิดว่าค่าที่พักต่อคืน เฉลี่ยนอนโรงแรมคืนละ 2,000 บาท หาร 2 คน ก็ตกคนละ 1,000 บาท นอน 3 คืน เป็นเงินคนละ 3,000 บาท  ที่เหลือ คือค่าเดินทาง ซึ่งระยะทาง 400 กิโลเมตร สามารถเดินทางโดยใช้น้ำมัน ขาละ 1 ถังอยู่แล้ว สำหรับรถขนาดเล็ก พวกอีโค่คาร์ หรือ คอมแพ็คคาร์ เครื่องเบนซิน(บิ๊กไบค์ 500 ซีซี ประมาณ 3 ถัง) …

 รถเครื่องดีเซล อาจสามารถพอจะไปกลับใน 1 ถังได้อยู่บ้าง  ยิ่งรถกระบะถังเดียววิ่งชิวๆ ไปกลับได้สบาย 

ผมจึงขอตีเฉลี่ยค่าใช้จ่ายน้ำมันในการไปชม  Moto GP   ที่คนละ 1,000 บาท ถือว่าสมเหตุสมผล กับความเป็นจริง แต่ถ้าคุณต้องไปนอนที่ จังหวัดสุรินทร์ หรือนอกตัวเมืองบุรีรัมย์ (เช่นที่อำเภอที่ห่างไกล เพื่อเอาค่าที่พักถูก) ค่าเดินทางก็จะเพิ่มขึ้น และเสียเวลาในการเดินทางมากขึ้นด้วยครับ  

ดังนั้นสรุปแล้วทริป   Moto GP   ที่บุรีรัมย์ ต้องมีค่าใช้จ่ายตกคู่ละ (2คน) 14,000 บาท เป็นอย่างน้อย ยิ่งใครซื้อบัตร   Grand Stand   ก็ยิ่งมีค่าใช้จ่ายสูงถึง  16,000 บาท เลยทีเดียว ซึ่งถ้าไม่ได้ชอบการแข่งขันจริงๆ แบบแฟนตัวยง อาจจะรู้สึกเสียดายเงินก็ได้ เพราะเงินขนาดนี้ มากพอจะเที่ยวต่างประเทศแถวอาเซียน ได้อยู่เหมือนกัน ..

หลังจากการทดสอบ  Winter Test   ของ  Moto GP   ผมชักเริ่มเป็นห่วงในแง่ของความพร้อมการจัดงาน ต่อการรองรับทัพนักกีฬา นักข่าว รวมถึงบรรดาต่างชาติ  ที่จะเข้ามาชมโมโตจีพี ในประเทศไทย  และกระแสความนิยม   MOTO GP   ในหมู่คนไทย 

ถ้าให้ผมมอง เรื่องการเดินทางยังพอจะปรับปรุงได้ แม้ว่าในช่วงก่อนเข้าบุรีรัมย์บนถนนมิตรภาพ จะยังระเกะระกะ ด้วยการก่อนสร้างทางหลวงระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์ ที่วิ่งไปบรรจบที่โคราช

แต่ที่น่าเป็นห่วงมากกว่า คือศักยภาพความพร้อมของที่พักในบุรีรัมย์ แม้ว่าจะมีโรงแรมใหม่ๆ ระดับ 3-4 ดาว เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เปิดสนามเป็นต้นมา ทว่าอาจจะยังไม่พอต่อการรับทัพคนต่างชาติที่มาดูรายการนี้โดยตรง  แถมในเมืองรอบๆ อาทิ จังหวัด สุรินทร์ ก็มีโรงแรมใหม่เกิดขึ้นไม่มาก บางคนว่าไปนอนโคราช การเดินทางมาก็ใช่ว่าจะใกล้อย่างที่หลายคนคิด ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมงจนถึงสนาม   

ละท้ายสุดใครที่ไปดูการแข่งขันแล้วหวังว่าจะทำแบบไทยสไตล์  Live สด ให้ทางบ้านชม  สุ่มสี่สุ่มห้าต้องพึงระวังให้ดี ดอร์น่า มอเตอร์สปอร์ตค่อนข้างจริงจังมากกับการถ่ายทอดภาพ ประเภทวีดีโอ สู่สื่อสังคมออนไลน์นื่องจากพวกเขาเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์การแข่งขัน และถ่ายทอดสดด้วย จนกลายเป็นประเด็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งว่า  จะมีทางใดที่จะโปรโมทให้  Moto GP   กลายเป็นรายการแข่งขันที่คนไทยชื่นชอบ

ด้วยปัจจุบัน คนไทยเสพสื่อสังคมออนไลน์ เยอะกว่าสื่อหลักๆ อย่าง ทีวีด้วยซ้ำไป แล้วจะทำอย่างไรให้คนรู้สึกว่า   Moto GP   เป็นรายการแข่งมอเตอร์ไซค์ที่น่าสนใจ พวกเขาต้องร่วมไปชม หรือเป็นเจ้าภาพที่ดีดั่งความภาคภูมิใจ ที่ได้สิทธิในการแข่งขันมาจัดเมืองไทย ก็ไม่สมควรทำให้เสียเปล่า ….  

คำถามที่เป็นโจทย์สำคัญ ต่อผู้จัดในเวลานี้ คือ จะปลุกกระแสให้  โมโต จีพี ยืนในใจคนไทยได้อย่างไร ภายใต้กรอบเวลาที่เหลืออีกเพียง 7 เดือน ต่อจากนี้

ในรอบทดสอบอาจจะผ่านพ้นไป ผมก็ได้แต่หวังว่า ทางทีมงานคณะจัดงาน น่าจะได้เรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงาน สำหรับสื่ออย่างผม และหลายๆ ท่านที่เข้าร่วมงานครั้งนี้ ก็ได้รับทราบปัญหาและแนวทางที่สมควรจะปฏิบัติร่วมกันด้วย

หน้าที่สื่อ คือการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร อย่างต่อเนื่อง และวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่สมควรเพื่อก่อประโยชน์ต่อประชาชนคนไทย ในฐานะสื่อหนึ่งที่ร่วมไปงานทดสอบฤดูหนาวในครั้งนี้ อยากให้กำลังใจทีมผู้จัดงาน ซึ่งต้องใช้ความสามารถและความพยายามในการปลุกคนไทยใกล้ชิด  โมโตจีพี มากขึ้นกว่านี้

 มันไม่ใช่เพียงทุ่มทุนซื้อสื่อ แต่ควรคิดไปไกลว่า จะทำอย่างไร ให้คนไทย รู้สึกว่ารายการนี้ไม่ไกลตัว เหมือนที่คนไทยรู้สึกว่าจะต้องเป็นคอบอลจากเกาะอังกฤษ แม้นจะอยู่คนละซีกโลก หรือยกกรณีบอลไทยระดับสโมสร มาลองศึกษาหาแนวทางดู ….   

เพราะอย่างที่ ท่านเนวินฯ คิดมาถูกต้องแล้ว การทำให้ โมโตจีพี เกิดในประเทศไทย ไม่เพียงแค่เป็นการปลุกการแข่งขันเท่านั้น แต่ยังปลุกความชื่นชอบมอเตอร์สปอร์ตในใจคนไทยต่อไปอีกด้วย ถ้าไม่ทุ่มทุนวันนี้ แล้วจะต้องรอโอกาสไหนกัน 

 

เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง

 

ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเรา Ridebuster.com



แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่