“ดีทรอยท์แห่งเอเชีย” คือฉายาของประเทศไทย ที่ได้มาจากการเป็นประเทศฐานการผลิตรถยนต์อันดับต้นๆของเอเชียมานานหลายทศวรรษ แต่ฉายานี้ อาจไม่ได้คงอยู่กับเราตลอดไป เมื่อเรามีประเทศอินโดนีเซีย กำลังจ้องจะชิงตำแหน่งนี้ของเราอยู่อย่างชัดเจน

ย้อนไปช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ในงานประชุมสุดยอดผู้นำประเทศ “Group of Seven” ที่เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น

นาย Joko Widodo นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศอินโดนีเซีย ที่มีโอกาสได้รับเชิญให้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศ G7 ครั้งนี้ ได้มีการประกาศอย่างชัดเจนว่า ประเทศของตนเอง มีความต้องการเป็นอย่างยิ่ง ที่จะขยับขึ้นมาเป็นประเทศฐานการผลิตรถยนต์เบอร์ต้นของเอเชียแทนประเทศไทย

โดยเฉพาะกับการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ที่กำลังมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง ซึ่งประเทศอินโดนีเซีย ถือว่ามีความเป็นต่อในด้านนี้เป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับบ้านเรา จากการที่พวกเขามีแหล่งเหมืองแร่นิคเกิลซึ่งจำเป็นต่อการทำแบตเตอรี่ที่มากมายมหาศาล

นอกจากนี้ทางอินโดนีเซียยังมีการปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มของรถยนต์ไฟฟ้าลงจาก 11% เหลือ 1% นับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีการตั้งข้อกำหนดว่าสำหรับรถที่ผลิตในประเทศ จะต้องใช้ชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์ในประเทศของตนเองอย่างน้อย 40% ของส่วนประกอบรถทั้งคัน

ด้วยความน่าสนใจข้างต้น ทำให้ตอนนี้ Ford ก็ยังให้ความสนใจ และผู้ผลิตยักษ์ใหญ่อันดับต้นๆของโลกอย่าง Volkswagen ก็ได้เดินทางไปพูดคุยถึงการสร้างความร่วมมือและสนับสนุนโปรเจ็กท์เหมืองแร่ที่ว่านี้มาแล้ว เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ไม่เพียงเท่านั้น ในฝั่ง Hyundai Motor ที่มีฐานการผลิตรถยนต์ของตนเองในประเทศอินโดนีเซียเป็นฐานการผลิตหลักสำหรับส่งขายในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว ก็ได้ก่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของตนเองเพิ่มในประเทศนี้เพิ่มอีกมาตั้งแต่ปี 2022 เช่นเดียวกับ SAIC (บริษัทแม่ของ MG) แม้แต่ Tesla เอง ก็กำลังอยู่ในช่วงเจรจาการตั้งโรงงานผลิตของตนเองในประเทศนี้เช่นกัน

ฝั่งบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่อย่าง LG Energy Solution ก็มีการจับมือกับ Hyundai Motor เพื่อก่อตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่แล้วเป็นที่เรียบร้อย โดยคาดว่าโรงงานจะแล้วเสร็จพร้อมเดินสายพาน ภายในปี 2024 แม้แต่บริษัท CATL ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็ยังเตรียมแผนที่จะก่อตั้งโรงงานในอินโดนีเซียเช่นกัน

ในด้านข้อมูลยอดการผลิตรถยนต์ภายในประเทศของอินโดนีเซียเอง ก็มีความน่าสนใจในสายตาของเหล่าผู้ผลิตเช่นกัน เพราะในปี 2022 ที่ผ่านมา พวกเขาสามารถผลิตรถยนต์ได้ทั้งหมด 1.47 ล้านคัน ซึ่งคิดเป็น 80% ของยอดการผลิตรถยนต์ในไทยปีเดียวกัน ที่สามารถทำตัวเลขได้ราวๆ 1.88 ล้านคัน

และแม้ตัวเลขการผลิตรถยนต์ในประเทศจะยังคงน้อยกว่าของประเทศไทย แต่หากเทียบตัวเลขอัตราการเติบโตแล้ว จะพบว่า ในขณะที่ประเทศไทยมีกราฟลดลงถึง 23% เมื่อเทียบตัวเลขยอดการผลิตรถยนต์ในปี 2022 กับตัวเลขยอดการผลิตสูงสุดเมื่อปี 2013 ที่เคยผลิตได้ทั้งหมด 2.45 ล้านคัน

ฝั่งประเทศอินโดนีเซียกลับมีอัตราการเติบโตด้านปริมาณการผลิต ตั้งแต่ปี 2013-2022 เพิ่มขึ้นถึง 30%

นั่นจึงเท่ากับว่า แม้ยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศอินโดนีเซียทั้งสำหรับส่งออกและขายในประเทศของตนเอง จะน้อยกว่าไทย แต่พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ส่วนไทยเราเอง กลับหดตัวลงเรื่อยๆในระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา

จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่นัก ที่อินโดนีเซียจะมองว่าพวกเขาอาจก้าวขึ้นมาเป็น “ดีทรอยท์แห่งเอเชีย” แทนประเทศไทยได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าหลังจากนี้ โดยเฉพาะในจังหวะที่โลกกำลังมีอัตราการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งมีการตั้งฐานการผลิตในไทยมากที่สุด ยังคงล่าช้าในการทำรถยนต์ไฟฟ้า เช่นเดียวกับภาครัฐของไทย ที่ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราไม่มากพออย่างที่ควรจะเป็น

ข้อมูลจาก Nikkei Asia

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่