เมื่อโลกของการพัฒนารถยนต์ในปัจจุบัน สิ่งที่ผู้ผลิตต้องแข่งขันกัน ไม่ได้มีแค่เพียงเรื่องสมรรถนะของตัวรถเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของระบบซอฟท์แวร์ที่ต้องฉลาดล้ำ เพื่อความสะดวกสบายของผู้ใช้ และทาง Honda เอง ก็มองว่ามันคือสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญขึ้นอีกมากในอนาคต

สาเหตุที่เราระบุไว้เช่นนั้น ก็เป็นเพราะจากการให้ข้อมูลล่าสุดโดยสื่อญี่ปุ่นสายธุรกิจ Nikkei Asia เปิดเผยว่าตอนนี้ ทาง Honda บริษัทแม่ จากแดนอาทิตย์อุทัย ได้มีการวางแผนเอาไว้ว่าพวกเขาตั้งใจที่จะจ้าง “วิศวกรซอฟท์แวร์” กว่า 10,000 คน ให้ได้ภายในปี 2030

เพื่อที่จะได้ให้วิวกรฯเหล่านี้ เป็นแรงงานสำคัญในการพัฒนาและผลักดันเทคโนโลยีระบบซอฟท์แวร์ต่างๆให้มีความทัดเทียมหรือสูงกว่าคู่แข่งในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเจ้าพ่อลูกเล่นในตัวรถที่สาวกรถยนต์ไฟฟ้าหลายคนยกย่องอย่าง Tesla

ไม่เพียงเท่านั้น ทาง Honda ยังได้มีการจับมือกับบริษัทผลิตซอฟท์แวร์สำหรับรถยนต์เจ้าใหญ่ของโลกจากอินเดียอย่าง KPIT Technologies ให้ช่วยก่อตั้งทีมพัฒนาระบบซอฟท์แวร์สำหรับรถยนต์ของตนเองโดยเฉพาะออกมา

และเช่นเดียวกันผู้ผลิตรถยนต์รายนี้ยังมีการจับมือกับ Sony บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงขั้นสูง ในการร่วมกันพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าออกมาขายในอนาคตอีก ซึ่งทางฝั่ง Honda ก็จะต้องมีการนำเอาเทคโนโลยีซอฟท์แวร์บางส่วนที่ได้จากความร่วมมือนี้ มาดัดแปลงใช้กับรถของตนเองด้วยแน่นอนเป็นการแลกเปลี่ยน

ฝั่ง Toyota เอง ก็ได้มีการประกาศแผนเกี่ยวกับความจริงจังในเรื่องการพัฒนาระบบซอฟท์แวร์สำหรับรถยนต์ของตนเองเช่นกัน แถมดูเหมือนว่าพวกเขาจะเร่งรัดกว่า Honda ขึ้นไปอีกขั้น เพราะนั่นคือการตัั้งเป้าว่าจ้างวิศวกรซอฟท์แวร์ให้ได้ราวๆ 18,000 คน ภายในปี 2025 ด้วยเป้าหมายเดียวกันกับเพื่อนร่วมชาติ คือการเป็นหนึ่งในด้านเทคโนโลยีระบบในรถยนต์ของตนเอง

โดยสาเหตุที่ทำให้ทั้ง Honda และ Toyota หันมาจริงจังในเรื่องการพัฒนาระบบซอฟท์แวร์สำหรับรถยนต์เป็นอย่างมาก ก็ไม่ใช่แค่เพราะ ลูกค้าในปัจจุบัน และอนาคต เริ่มนำเอาเรื่องของระบบซอฟท์แวร์มาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจซื้อรถยนต์คันใหม่ของตนเองมากขึ้น จนแม้แต่ Volkswagen ยังต้องชะลอการขายรถยนต์รุ่นใหม่ของตนเองออกไป เนื่องจากพบปัญหาในการพัฒนาระบบซอฟท์แวร์เท่านั้น และกังวลว่าลูกค้าอาจเมินรถของพวกเขาไปทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

แต่ระบบซอฟท์แวร์ยังกลายเป็นอีกส่วนสำคัญในปัจจุบัน ที่ทำให้ตัวรถหลายๆรุ่น สามารถขายต่อได้ แม้มันจะไม่ได้รับปรับปรุงเรื่องของสมรรถนะตัวรถ ได้รับการอัพเดทแค่ในส่วนระบบซอฟท์แวร์ให้ทันสมัยอยู่สม่ำเสมอแค่นั้นก็ตาม

ยกตัวอย่างเช่น Tesla ที่มีแค่การปรับสเป็คแบตเตอรี่ แล้วเน้นที่การอัพเดทระบบซอฟท์แวร์รถยนต์ของตนเองผ่านระบบ OTA อยู่ตลอด ซึ่งอาจจะดูเล็กน้อย แต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้มันกลายเป็นหนึ่งในจุดขาย ให้ลูกค้าหน้าใหม่หลายๆคนเลือกซื้อ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้มองเรื่องสมรรถนะตัวรถเพียวๆมากมายขนาดนั้น แต่มองที่เรื่องความฉลาดของระบบช่วยเหลือผู้ขับต่างๆ ที่สามารถใช้งานได้จริงมากกว่านั่นเอง

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่