หลังการเปิดตัวเป็นครั้งแรกในไทยเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ในที่สุดทาง Thai Honda ก็ได้จัดกิจกรรม ให้สื่อฯ ได้ร่วมทดสอบ รีวิว CL300 และ CL500 สแครมเบลอร์เกิดใหม่ ที่ใช้ชื่อจากตำนานยุค 60’s ของค่ายสักที

อย่างที่เราได้เกริ่นไว้ในข้างต้น แท้จริงแล้ว Honda CL-Series ไม่ใช่รหัสใหม่ที่างค่ายปีกนกพึ่งคิดขึ้นมาแต่มันคือรหัสรถที่ทางค่ายเคยทำขายยุค 60’s ถึง 70’s เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ที่อยากได้รถสักคันไว้ลุยทางฝุ่น ซึ่งในยุคนั้น ยังไม่มีการสร้างรถเอนดูโร่อย่างเป็นจริงเป็นจังเหมือนในปัจจุบัน

ดังนั้นการเอารถมอเตอร์ไซค์ตระกูล CB ที่เปรียบเสมือนกับเป็นรถแกนหลักของแบรนด์ในช่วงเวลานั้นอยู่แล้ว มาดัดแปลงใหม่ ด้วยการยกสูงระบบกันสะเทือน แล้วเดินแนวคอท่อไอเสียใหม่ จึงเป็นอะไรที่ตอบโจทย์มากกว่า แล้วเพียงพอแล้วสำหรับความต้องการของลูกค้าในช่วงเวลานั้น และนั่นคือคอนเซปท์การสร้างรถ “สแครมเบลอร์” แบบดั้งเดิม ที่ผู้ผลิตอื่นๆในยุคเดียวกันทำเช่นกัน

แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป Honda CL-Series จึงไม่ได้ถูกสร้างขึ้นจากรถมอเตอร์ไซค์ตระกูล CB แต่ไปใช้พื้นฐานจากรถมอเตอร์ไซค์อีกรุ่นที่เหมาะกับการนำมาทำเป็นรถสแครมเบลอร์เผื่อคัสตอมมากกว่าอย่าง Rebel แทน

ทว่า หากมองจากหน้าตาภายนอกเพียงอย่างเดียว หลายคนอาจจะรู้สึกเหมือนว่ามันก็แค่การเอา Rebel มายกสูงก็เท่านั้น ไม่เห็นจะมีอะไรใหม่ แต่ความจริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย

เพราะมีแค่เพียงไม่กี่ชิ้นส่วนเท่านั้น ที่พวกมันสามารถใช้งานร่วมกัน หรือสลับสับเปลี่ยนกันไปมาได้ตรงๆ ได้แก่ ไฟหน้า, ไฟท้าย, ไฟเลี้ยว ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นแบบ Full-Led และเรือนไมล์ แบบ Full Digital เพียงเท่านั้น

นอกนั้นในส่วนชุดเฟรม แม้ช่วงครึ่งหน้าจะดูคล้ายเดิม โดยเฉพาะในส่วนกรอบสามเหลี่ยมรอบเครื่องยนต์ ตั้งแต่แผงคอ พาดมาจนถึงจุดยึดแกนสวิงอาร์ม

แต่ในส่วนของซับเฟรม หรือเปลหลัง จะถูกปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด โดยย้ายจุดเชื่อมใหม่ให้สูงขึ้น เพื่อรองรับกับเบาะนั่งแบบใหม่ที่เป็นแบบ Flat-Seat ตอนยาว หนาขึ้น กว้างขึ้น และสูงขึ้น จาก 690 มิลลิเมตร ใน Rebel เป็น 790 มิลลิเมตร ใน CL

อีกจุดที่เปลี่ยนไป แต่อาจจะต้องสังเกตสังกากันให้ดีๆสักหน่อย ก็คือถังน้ำมัน ที่แม้จะยังคงเป็นแบบ Tear Drop แต่เนื่องจากการวางแนวเมนเฟรม และซับเฟรมเปลี่ยนไป ให้มีความขนานกับพื้นโลกมากยิ่งขึ้น องศาของถังน้ำมัน และหน้าตาของมันจึงเปลี่ยนไปเล็กน้อย

แถมยังได้ความจุเพิ่มขึ้น จาก 11.2 ลิตร เป็น 12 ลิตร พร้อมกันนี้ยังมีการเพิ่ม Tank Pad ทางด้านข้างเข้ามาอีก เพื่อความกระชับช่วงหัวเข่าของผู้ขี่ในยามหนีบถังทั้งตอนยืนขี่ หรือนั่งขี่ที่ดียิ่งขึ้น

ส่วนอีกจุดที่เปลี่ยนไป คือระบบกันสะเทือนหน้า-หลัง ที่แม้ทางด้านหน้าจะยังคงเป็นแบบโช้กตะเกียบคู่หัวตั้ง ขนาดแกน 41 มิลลิเมตร หน้าตาเหมือนเดิม เพิ่มเติมชุดยางกันฝุ่นแกนโช้กมาให้, โช้กหลังก็เป็นแบบโช้กคู่ ปรับเซ็ทพรีโหลด 6 ระดับด้วยมือ เหมือนเดิม ทำงานร่วมกับสวิงอาร์มเหล็กท่อนกลมขนาดใหญ่ด้วยเศ้นผ่านศูนย์กลาง 45 มิลลิเมตรเหมือนเดิม

แต่ไส้ในของช่วงล่างได้ถูกปรับเซ็ทใหม่ พร้อมกันนี้ยังเพิ่มช่วงยุบให้มากขึ้นอีกฝั่งละราวๆ 30 มิลลิเมตร เพื่อให้รับกับรูปแบบการใช้งานที่เปลี่ยนไป นั่นคือการวิ่งแบบกึ่งถนนดำสลับทางฝุ่น

เช่นเดียวกับชุดล้อที่เปลี่ยนจากแบบขอบ 16 นิ้ว หน้า-หลัง เป็นขอบ 19 นิ้วด้านหน้า และขอบ 17 นิ้วด้านหลัง รัดด้วยยางเทรล Dunlop Mixtours ขนาด 110/80 R19 และ 150/70 R17 ตามลำดับหน้า-หลัง ซึ่งในความเป็นจริงชุดล้อที่ว่านี้ คือชุดล้อที่ยกมาจาก Honda CB500X นั่นเอง

ขณะที่ระบบเบรก แม้คาลิปเปอร์หน้า-หลัง จะยังคงเป็นของเดิมกับ Rebel แต่จานเบรกหน้าก็มีการขยายขนาดขึ้นจาก 296 มิลลิเมตร เป็น 310 มิลลิเมตร ส่วนจานเบรกหลังยังคงมีขนาดเท่าเดิม คือ 240 มิลลิเมตร ทว่าระบบ ABS ก็ได้ถูกปรับจูนการทำงานใหม่ เผื่อการใช้งานบนทางฝุ่นมากกว่าเดิม

และจุดสุดท้ายที่สามารถสังเกตได้ด้วยตา เพียงแค่มองปราดเดียว ก็คือ ชุดท่อไอเสีย ที่ไม่ได้เป็นแบบเดินยาวมานอนขนาบกับแนวสวิงอาร์มอีกต่อไป แต่เปลี่ยนเป็นเดินออกใต้ท้องรถแล้วยกขึ้นสูงตามแนวชุดเฟรมด้านหลังแล้วเดินแนวปลายท่อไว้ใต้แนวเบาะนั่งคนซ้อน

ซึ่งทาง Honda ระบุว่า ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องกังวลว่าคนซ้อนจะร้อน เพราะยังไงก็ร้อนแน่ๆ แต่ไม่ได้ร้อนถึงขึ้นทำให้ผิวแสบหรือไหม้ แค่อุ่นๆเท่านั้น เพราะการ์ดกันความร้อนสแตนเลสที่ให้มานั้นหนาพอสมควร และจากที่ผมได้ลองทดสอบจับการ์ดความร้อนด้วยมือเปล่าดู หลังขี่เสร็จหมาดๆเป็นระยะเวลากว่า 20 นาที ก็พบว่ามันแค่อุ่นมือเล็กน้อยเท่านั้นจริงๆ

นอกจากนี้ด้วยการยกปลายท่อขึ้นมาสูงในระดับดังกล่าว จึงทำให้ผู้ใช้ สามารถนำไปขี่ลุยน้ำทุ่ม ในระดับมิดล้อได้สบายๆ เพราะรูปลายท่อไอเสียอยู่สูงจากแนวบนสุดของล้อขึ้นมาอีกพอประมาณ และแนวปากกรองอากาศ ก็อยู่ใต้ระนาบล่างของแนวเบาะนั่งพอดิบพอดี

หรือว่าง่ายๆก็คือ ถ้าน้ำขึ้นไม่เลยช่วงใต้เบาะขึ้นมา ก็หายห่วงไปได้ (ถ้าจะเอามั่นใจคือ อย่าให้เกินความสูงล้อหน้านั่นแหล่ะครับ เผื่อระยะน้ำกระฉอกด้วย แต่นั่นก็ถือว่าสูงมากๆแล้ว สำหรับรถที่เน้นการาวิ่งทางดำเป็นหลักอย่างเจ้า CL ทั้งสอง)

เครื่องยนต์ แน่นอนว่าก็จะเป็นการใช้บล็อคยอดนิยม ที่โดดเด่นในเรื่องความถึกทนและความอเนกประสงค์ของ Honda ตามเดิม นั่นคือ

ในฝั่ง Honda CL300 ก็จะได้ใช้เครื่องยนต์บล็อคเดียวกันกับ Honda CRF300L/CRF300 Rally, Honda CB300R, Honda CBR300R, และแน่นอนที่สุด Honda Rebel 300 ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ สูบเดียว DOHC 4 วาล์ว ความจุ 286cc ส่งกำลังด้วยชุดเกียร์ 6 สปีด และมีการติดตั้งระบบ Assist&Slipper Clutch มาให้แล้วเป็นที่เรียบร้อย

โดยแม้ทาง Honda จะไม่ได้มีการเปิดเผยตัวเลขพละกำลังสูงสุดที่ได้จากเครื่องยนต์ลูกนี้ออกมา แต่คาดว่าอาจจะอยู่ในช่วงราวๆ 24-25 PS และแรงบิดสูงสุดก็อยู่ที่ราวๆ 24 นิวตันเมตร (อ้างอิงจาก Rebel)

และจากข้อมูลที่ทางวิศวกรให้ไว้ ระบุว่าพวกเขาได้มีการปรับจูนกล่อง ECU และไส้ในบางจุดของมันใหม่ ให้เน้นแรงบิดในย่านกว้าง โดยเฉพาะช่วงรอบต่ำ-กลางที่ติดมือยิ่งขึ้น แถมยังเพิ่มเติมในส่วนของฟันสเตอร์หลังให้มากขึ้นอีก 1 ฟัน โดยแม้กำลังช่วงรอบปลายจะหายไปบ้างเล็กน้อย (รอบปลายก็หายไปด้วย) แต่ก็เหมาะกับรูปแบบการใช้งานมากกว่า ให้ความสนุกสนานในการเติมคันเร่งมากยิ่งขึ้น

เช่นเดียวกัน ในฝั่ง Honda CL500 ก็จะได้ใช้เครื่องยนต์จากอนุกรม Honda 500-Series ซึ่งประกอบด้วย Honda CBR500R, Honda CB500F, Honda CB500X, และร่างต้น Honda Rebel 500 ซึ่งก็คือ เครื่องยนต์ 2 สูบเรียง DOHC 8 วาล์ว ความจุ 471cc ส่งกำลังด้วยชุดเกียร์ 6 สปีด พร้อมระบบ Assist&Slipper Clutch

และเช่นเดียวกับตัว CL300 ฝั่ง CL500 เอง ก็ถูกปรับจูนไส้ในบางจุด ปรับจูนกล่อง ECU และเพิ่มฟันสเตอร์หลังให้มากขึ้นกว่า Rebel 500 เพื้อความสามารถในการเรียกอัตราเร่งที่ติดมือกว่า ซึ่งแม้ทาง Thai Honda จะไม่ได้มีการเปิดเผยตัวเลขกำลังสูงสุดเอาไว้ แต่หากอิงตามรถที่ส่งไปขายในยุโรป ขุมกำลังของมันก็จะสามารถทำแรงม้าสูงสุดได้ 46.6 PS ที่ 8,500 รอบ/นาที กับแรงบิดสูงสุด 43.4 นิวตันเมตร ที่ 6,250 รอบ/นาที

และนั่นคือทั้งหมดในส่วนรายละเอียดทางเทคนิคแบบคร่าวๆ

แล้วการขี่ล่ะเป็นยังไง ?

ก่อนอื่น เนื่องจากหากว่ากันตามตรง ทั้ง Honda CL300 และ Honda CL500 จะมีจุดแตกต่างกันหลักๆ เพียงแค่ในส่วนของเครื่องยนต์ ความสูงใต้ท้องรถ และน้ำหนักเพียงนิดหน่อยเท่านั้น นอกนั้นในส่วนของตำแหน่งท่านั่ง ทั้งแฮนด์บาร์ พักเท้า หรือเบาะ นั่ง ล้วนเหมือนกัน และเท่ากันทั้งหมด

ดังนั้น หากให้สรุปรวบในส่วนท่านั่งของรถทั้งสองคัน เราคงต้องบอกว่า ด้วยแฮนด์บาร์ที่ถูกยกสูงขึ้น จนอยู่ในระดับที่เกือบจะเท่ากับ Honda CB500X และความกว้างที่มากกว่า จึงทำให้แม้ในตอนแรก อาจต้องใช้เวลาในการปรับตัวอยู่บ้าง แต่เมื่อเริ่มจัดท่าทางได้ มันก็ให้ความรู้สึกที่ค่อนข้างสบายในทุกจังหวะการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นตอนนั่งขี่ ตอนยืนขี่ หรือตอนที่ต้องซิกแซก ทุกจังหวะสามารถทำได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่ได้รู้สึกเก้งก้างจนเกินไปแต่อย่างใด

ในส่วนเบาะนั่งเอง แม้จะบอกว่าสูงขึ้นจาก Rebel ถึง 100 มิลลิเมตร แต่มันก็ยังอยู่ในระดับไม่เกิน 800 มิลลิเมตร ซึ่งด้วยความสูงเท่านี้ จึงทำให้การขึ้นคร่อมรถ ไม่ใช่ปัญหาเลยสำหรับผู้ชายที่สูงไม่ถึง 170 เซนติเมตร และถึงแม้ตัวเบาะจะไม่ได้มีการออกแบบให้เว้าหลบช่วงหว่างขา แต่เอาจริงๆตำแหน่งเบาะในจุดดังกล่าวก็ไม่ได้กว้างมากนัก ทำให้ผู้ทดสอบยังคงสามารถใช้เท้าทั้งสองข้างวางแตะพื้นตอนรถตั้งตรงได้สบายๆ แถมยังมีระยะให้หย่อนขาได้อีกเล็กน้อยด้วย

ส่วนตัวเบาะนั่งเอง ด้วยความที่มันเป็นเบาะแบบ Flat seat ที่ทั้งหนา และไม่ได้มีการแบ่งช่วงเป็นสองตอนอย่างเด่นชัดมากนัก จึงทำให้ผู้ขี่สามารถขยับตัวและจัดท่าทางของตนเองบนรถได้หลากหลาย และไม่อึดอัด จะนั่งติดถังเพื่อเอาศูนย์ถ่วงไปไว้ด้านหน้ารถตอนอยากจะสไลด์ท้ายบนทางฝุ่นก็ง่าย จะถอยหลังมานิดหนึ่งเพื่อให้น้ำหนักบนล้อหน้าเบาลง จะได้วิ่งผ่านทางทรายชิลๆหน่อย ก็ทำได้ดี ส่วนการวิ่งบนทางดำเอง ก็จัดได้หมด ทั้งในส่วนของการนั่งปกติ หรือการโหนโค้งแบบเอาขาพาด ก็ยังทำได้

จุดที่จะติดในเรื่องท่านั่ง มีเพียงเรื่องเดียวก็คือ ตัวพักเท้า ที่แอบรู้สึกต่ำไปหน่อย ซึ่งมองในมุมความสบายในการนั่งขี่ ก็ต้องยอมรับว่ามันทำได้ดี แต่เมื่อต้องเอียงรถเยอะๆจริงๆ ส่วนตัวผู้ทดสอบพบว่าพักเท้ามันขูดพื้นง่ายไปสักหน่อย แต่อย่างน้อยพักเท้าก็เป็นแบบพับได้ และคงน้อยครั้งที่ผู้ใช้ทั่วๆไปจะเอียงรถจนพักเท้าขูดพื้นได้ขนาดนั้น (แต่รถมันเอียงได้เยอะจริงๆนะ…)

ในด้านบาลานซ์และการควบคุม ณ จุดนี้ อาจจะต้องมีส่วนที่ไล่เรียงไว้ด้วยกัน และแยกกันสักเล็กน้อย ระหว่าง CL300 และ CL500

กล่าวคือ แม้รถทั้งสองคันจะใช้พื้นฐานจาก Rebel ที่เป็นรถบ็อบเบอร์ ซึ่งใครหลายคนที่เคยสัมผัสมักบอกว่ามันจะแอบมีอาการหน้าบานนิดๆตามรูปทรงของรถ และถึงแม้ CL300/CL500 จะมีฐานล้อที่สั้นกว่า Rebel เพียง 5 มิลลิเมตร แต่ด้วยการเซ็ทอัพทั้งช่วงล่าง ขนาดล้อ และแฮนด์บาร์ กับท่านั่ง กลับทำให้มันกลายเป็นรถมอเตอร์ไซค์อีกหนึ่งรุ่น ที่สามารถพลิกเลี้ยว และเข้าโค้งแคบๆได้คล่องตัว และเบามือเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับความเป็นรถที่ยังคงเน้นการใช้งานบนทางดำเป็นหลักอยู่

นอกจากนี้ ด้วยช่วงล่างที่มีช่วงยุบค่อนข้างเยอะ จึงทำให้การกระโดดจากพื้นดำ ไปอยู่พื้นฝุ่น เป็นเรื่องไร้กังวล และจากการทดลองขี่บนทางฝุ่นเล็กๆ ที่ขรุขระเล็กน้อย ช่วงล่างก็สามารถเก็บแรงได้ค่อนข้างดี มีความยืดหยุ่น และหนืดกำลังพอเหมาะ

ทว่าหากเป็นการวิ่งด้วยความเร็วสูงๆ ในจังหวะที่เข้าโค้งหนักๆ ตอนเบรก อาจจะรู้สึกว่าหน้ารถจมง่ายไปบ้าง เช่นเดียวกัน ตอนที่เติมคันเร่งออกจากโค้งก็จะรู้สึกท้ายแอบห้อยนิดๆเช่นกัน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ามันคือช่วงล่างที่เผื่อวิ่งทางฝุ่นด้วย ดังนั้นอาการนี้จึงเป็นสิ่งที่ทำความเข้าใจได้

ส่วนจุดที่แตกต่างกันจริงๆระหว่าง CL300 และ CL500 ในส่วนการควบคุม ก็คือ “ความฉับไว และความคล่องตัว” ที่ฝั่ง 500 อาจทำได้ช้ากว่าหน่อย เพราะน้ำหนักเครื่องยนต์ที่มากกว่ากันพอประมาณ แต่หากมองในมุมกลับกัน ในการวิ่งช่วงความเร็วสูงๆมันก็มั่นคงกว่านิดหน่อย และมองในภาพรวม มันก็ยังคงถือเป็นรถมอเตอร์ไซค์ระดับ 500cc เน้นวิ่งทางดำ(ลงฝุ่นนิดหน่อย)ที่มีความคล่องตัวในการพลิกเลี้ยวสูงอยู่ดี

สุดท้ายคือเรื่องของกำลังเครื่องยนต์

อย่างที่บอกไปว่า เครื่องยนต์ของรถทั้งสองคันนั้น แม้จะบอกว่าเป็นเครื่องยนต์ที่ชาวไทยรู้จักกันมานาน แต่มันก็ถูกปรับจูนใหม่ ให้รองรับกับบุคลิกของตัวรถมากขึ้น ซึ่งจากการทดสอบนั้น ผู้ทดสอบพบว่าในฝั่ง CL300 นั้น จะให้ความรู้สึกอัตราเร่งติดมือตั้งแต่ออกตัวกว่า CL500 เล็กน้อย ด้วยเหตุผลในเรื่องของน้ำหนักดังที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้

แต่ถ้าเทียบ CL300/CL500 กับรถมอเตอร์ไซค์รุ่นอื่นๆที่ใช้เครื่องยนต์บล็อคเดียวกัน ความสามารถในการเรียกอัตราเร่งของมัน ก็จะอยู่ในระดับที่ติดมือกว่า CBR300R/CBR500R อย่างเห็นได้ชัด และค่อนไปทางใกล้เคียงกับ CB300R/CB500F แต่อาจจะมีความนุ่มนวลกว่าเล็กน้อย เพราะแม้เครื่องยนต์ถูกปรับจูนให้เน้นแรงบิดในย่านกว้างมากกว่าเดิม จึงทำให้มันไม่ได้มีจังหวะ’รอบพุ่ง’ที่ชัดเจนเท่ากับตอนที่มันยังเป็นเครื่องยนต์ในรถตระกูล CB

แต่จุดที่สามารถจับสังเกตได้ในส่วนเครื่องยนต์ จากการทดสอบครั้งนี้ ยังสามารถจับได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะด้วยระยะทางของสนามที่ค่อนข้างสั้น และทาง Honda อยากให้เราจับความรู้สึกในเรื่องของระบบกันสะเทือนและความคล่องตัวของรถเป็นหลักมากกว่า

สรุปการ รีวิว Honda CL300 / Honda CL500 ผ่านการทดสอบแบบน้ำจิ้มๆในครั้งนี้ แม้จะน่าเสียดายที่เรายังไม่มีโอากสได้จับสัมผัสในส่วนเครื่องยนต์มากนัก แต่การจับอาการตัวรถ ในส่วนบาลานซ์ ท่านั่ง และช่วงล่าง ต้องบอกว่าแม้หน้าตารถจะดูย้อนยุค แต่สมรรถนะของมันกลับให้ความอเนกประสงค์ที่อาจตอบโจทย์ใครหลายๆคนได้เป็นอย่างดี

เพราะมันมีทั้งความคล่องตัว ที่หากได้วิ่งบนถนนซึ่งเต็มไปด้วยรถติด หรือมีซอยซอกแซกมากๆจริงๆ มันก็จะเป็นรถที่ตอบโจทย์ในจุดดังกล่าวได้ดี (อาจจะติดเรื่องระยะความกว้างแฮนด์ ที่ต้องขอนำรถมาทดสอบอีกครั้ง จึงจะบอกได้ว่ามันทำให้มีปัญหาในการมุดมากแค่ไหน ?)

และในส่วนช่วงล่าง ที่สามารถใช้งานบนสภาพถนนทางดำ ลาดยาง หรือคอนกรีต ได้อย่างครอบคลุม หรือถ้าใครมือตึงสักหน่อย เชื่อว่าการเอาเจ้ารถคันนี้ไปลุยป่าด้วย ก็อาจไม่ใช้สิ่งที่ยากเกินความสามารถของคุณ

โดยแม้ มองผ่านๆตา มันอาจจะดูเหมือนเป็นรถที่ถูกดัดแปลงจาก Honda Rebel เพียงเล็กน้อย แต่การดัดแปลงชิ้นส่วนต่างๆรถคันใหม่ ก็ช่วยให้มันกลายเป็นรถที่มีความน่าใช้ และตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลายยิ่งขึ้น เมื่อรวมกับหน้าตาตัวรถ ที่รองรับการคัสตอมโดยกำเนิดอยู่แล้ว เชื่อเลยว่าคุณจะสามารถสนุกกับมันได้อีกหลากหลายด้านแน่นอน

โดย Honda CL-Series ที่วางจำหน่ายในประเทศไทย จะมีการตั้งราคาวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการดังนี้

  • New Honda CL300 มีทั้งหมด 3 สี คือ สีส้ม (Candy Energy Orange) สีเทา (Pearl Grey) และสีขาว (Pearl White) ราคาแนะนำที่ 149,900 บาท
  • New Honda CL500 มีทั้งหมด 3 สี คือ สีเขียว (Mat Laurel Green) สีดำ (Mat Gunpowder Black Metallic) และสีส้ม (Candy Energy Orange) ราคาแนะนำที่ 226,800 บาท

หากเพื่อนๆท่าใดสนใจ สามารถรับชมตัวรถคันจริง และจับจองได้แล้ว ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ตัวแทนจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์ Honda และ ศูนย์บริการ Honda BigBike ทั่วประเทศ

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่