ผ่านเวลาไปเกือบ 6 ปี นับตั้งแต่ที่ Honda CBR250RR ได้ถูกเผยโฉมเป็นครั้งแรกเมื่อกลางปี 2016 และมีการปรับเล็กไปครั้งหนึ่งเมื่อกลางปี 2020 ก็ถึงเวลาที่มันจะได้รับการปรับโฉมอีกครั้งในปี 2023 ซึ่งในครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นการปรับโฉมที่ใหญ่ขึ้นมาอีกนิดด้วย

Honda CBR250RR 2023 มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่ผู้พบเห็นสามารถสัมผัสได้ในทันทีที่พบเจอ เพราะมันมาพร้อมกับชุดแฟริ่งเปลือกนอกใหม่แทบทั้งคัน ที่ถูกปรับให้ตัวรถดูใหญ่โต และเป็นสัดเป็นส่วนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

  • ชิ้นบังลมหน้า
  • ชิ้นข้างไฟหน้า
  • คางไฟหน้า
  • ชิ้นแฟริ่งรอบเรือนไมล์เปลี่ยนใหม่
  • ครอบถังชิ้นบนเปลี่ยนใหม่ มีสัญลักษณ์ RR อยู่ด้านท้าย
  • กาบแฟริ่งข้างที่ดูคล้ายกับรุ่นน้องอย่าง CBR150R และมีการปรับงานดีไซน์ช่องรีดอากาศออกจากห้องเครื่องใหม่
  • อกล่างไม่มีวิงเล็ท แต่เพิ่มช่องรีดอากาศระบายความร้อนออกจากห้องเครื่อง และไม่มีการอ้อมมาปิดแครงก์เครื่องยนต์อีกต่อไป
  • ชิ้นแฟริ่งใต้เบาะเปลี่ยนใหม่รับกับชิ้นแฟริ่งใต้ถังน้ำมัน
  • ชุดแฟริ่งท้ายใหม่ยกแผง กว้างขึ้น ช่องรีดอากาศใหญ่ขึ้น โดยมีชิ้นวิงเล็ทรีดอากาศอยู่ด้านใน และชิ้นพลาสติกเหนือไฟท้ายก็ปรับใหม่ ให้ยื่นยาวกว่าเดิม แถมยังเป็นงานพลาสติกดำด้าน ไม่ต้องกังวลเรื่องรอยจากปลายเท้าตอนขึ้นคร่อมหรือลงจากรถ

จากการปรับปรุงงานดีไซน์เปลือกนอกที่ว่ามา จึงทำให้มิติตัวรถของมันเปลี่ยนไปเล็กน้อย นั่นคือ

  • ความกว้าง : 724 มิลลิเมตร (เดิมในตัวรถรุ่นปี 2022 อยู่ที่ 724 มิลลิเมตร)
  • ความยาว : 2,061 มิลลิเมตร (เดิมในตัวรถรุ่นปี 2022 อยู่ที่ 2,060 มิลลิเมตร)
  • ความสูง : 1,114 มิลลิเมตร (เดิมในตัวรถรุ่นปี 2022 อยู่ที่ 1,098 มิลลิเมตร)
  • ความสูงเบาะ : 790 มิลลิเมตร (เดิมในตัวรถรุ่นปี 2022 อยู่ที่ 790 มิลลิเมตร)
  • ความสูงใต้ท้องรถ : 148 มิลลิเมตร (เดิมในตัวรถรุ่นปี 2022 อยู่ที่ 145 มิลลิเมตร)
  • ระยะฐานล้อ : 1,385 มิลลิเมตร (เดิมในตัวรถรุ่นปี 2022 อยู่ที่ 1,389 มิลลิเมตร)
  • ความจุถังน้ำมัน : 14.5 ลิตร (เดิมในตัวรถรุ่นปี 2022 อยู่ที่ 14.5 ลิตร)
  • น้ำหนักตัวรถเมื่อรวมของเหลว* : 168 กิโลกรัม (เดิมในตัวรถรุ่นปี 2022 อยู่ที่ 168 กิโลกรัม)

*เฉพาะรุ่น SP

ในส่วนการปรับปรุงชิ้นส่วนโครงสร้างหลักอื่นๆของตัวรถ เรียกได้ว่าแทบจะเดิมสนิท เพราะชุดเฟรมของมันยังคงเป็นเฟรมถักเหมือนเดิม หน้าตาเดิม ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนใดๆ, งานออกแบบแผงคอ แฮนด์บาร์ ตำแหน่งท่านั่งต่างๆยังคงเหมือนเดิมทั้งหมด

สวิงอาร์มหลังอลูมิเนียมเหมือนเดิม, ชุดล้อ Enkei อลูมิเนียมน้ำหนักเบา 7 ก้านตรงแบบเดิม รัดด้วยยางไซส์เดิมคือ 110/70-17 ทางด้านหน้า กับ 140/70-17 ทางด้านหลัง, ระบบเบรกดิสก์เดี่ยว ทำงานร่วมปั๊มโฟลทติ้งเมาท์ ทั้งด้านหน้า-ด้านหลัง, และโช้กหลังต้นเดี่ยวปรับพรีโหลดได้ 5 ระดับ พร้อมชุดกลไกกระเดื่องทดแรง ก็ยังคงเป็นชุดเดิมทั้งหมดเช่นกัน

จุดที่เปลี่ยนไปจริงๆ คือมีเพียงชุดระบบกันสะเทือนโช้กหน้าหัวกลับจาก Showa ขนาดแกน 37 มิลลิเมตร เท่าเดิม แต่ไส้ในถูกเปลี่ยนจากแบบ SFF (Seperate Function Fork) เฉยๆ ที่ใช้แกนแบบ Twin Tube เป็น SFF-BP (Seperate Function Fork – Big Piston) ที่ใช้แกนแบบ Monotube ทำให้ได้วาล์วที่ใหญ่กว่าเดิม แรงดันน้ำมันภายในโช้กมีความเครียดลดลง ส่งผลให้การควบคุมความหนืดในการยืดยุบมีประสิทธิภาพมากขึ้น การเข้าโค้งทำได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น

ด้านเครื่องยนต์ของมัน แม้จะยังคงเป็นบล็อค 2 สูบเรียง DOHC 4 วาล์วต่อสูบ ระบายความร้อนด้วยน้ำ ความจุ 249cc ลูกเดิม แต่เครื่องยนต์ในรุ่น SP และ SP QS ก็ได้ถูกปรับจูนใหม่ จนทำให้สามารถเค้นแรงม้าได้มากขึ้น จาก 41 PS เป็น 42 PS ที่รอบเท่าเดิมคือ 13,000 รอบ/นาที แต่แรงบิดยังคงเท่าเดิม คือ 25 นิวตันเมตร ที่ 11,000 รอบ/นาที ซึ่งการปรับจูนเครื่องยนต์ใหม่ที่ว่า ก็จะประกอบไปด้วย

  • ฝาสูบเปลี่ยนใหม่
  • แคมชาฟท์ใหม่ เพิ่มระยะเวลาในการเปิดวาล์ว
  • วาล์วไอดีใหญ่ขึ้น
  • เพิ่มอัตราส่วนกำลังอัด จาก 12.1 : 1 เป็น 12.5 : 1
  • เพิ่มอัตราการจ่ายน้ำมันให้รับกับอากาศที่เข้าสู่ห้องเผาไหม้มากขึ้น
  • แหวนลูกสูบใหม่ ลดแรงเสียดทานให้น้อยลง
  • เพลาข้อเหวี่ยงเบาลง

และเพื่อให้การเรียกอัตราเร่งเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง รับกับพละกำลังที่มากขึ้น ทาง Honda ยังได้ทำการปรับปรุงระบบส่งกำลังใหม่ด้วย ซึ่งหลักๆก็คือ

  • ปรับอัตราทดเกียร์ 1-6 ใหม่ (แต่ยังไม่มีการเปิดเผยว่าทำให้อัตราทดชิดกว่าเดิมหรืออย่างไร ?)
  • จำนวนฟันสเตอร์หน้า-หลัง เปลี่ยนใหม่ จาก 14-41 เป็น 14-42 เพื่อการเรียกอัตราเร่งที่จัดจ้านมากขึ้น

และสุดท้าย คือในด้านฟีเจอร์เสริมต่างๆ ตัวรถ CBR250RR รุ่นใหม่ล่าสุดนี้ก็ยังคงมีฟังก์ชันยิบย่อยเหมือนเดิม นั่นคือ มีระบบคันเร่งไฟฟ้า, ระบบ ABS ป้องกันล้อล็อคตายตอนเบรกหนักๆ,มีชุดกลไกสลิปเปอร์คลัทช์มาให้ เพื่อลดการกระชากของล้อหลังตอนลดเกียร์หนักๆ, มีระบบ Quick Shifter แบบ 2 ทางขึ้น/ลง มาให้ เพื่อความฉับไวในการต่อเกียร์ และลดเกียร์ (เฉพาะรุ่น SP และ SP QS)

แต่ในคราวนี้ ตัวรถมีระบบไฟผ่าหมากใส่มาให้ด้วย และยังมีการสลับตำแหน่งปุ่มปรับโหมดเครื่องยนต์ 3 ระดับ (Sport, Sport+, Comfort) จากตรงปลายนิ้วชี้ มาไว้ที่ข้างปุ่มปรับไฟสูงต่ำ ซึ่งเดิมเป็นปุ่มจัดเวลาต่อรอบ (Lap) ที่จะสลับตำแหน่งกันนั่นเอง โดยที่มันก็ยังคงไม่มีระบบ Traction Control มาให้เช่นเคย

โดย Honda CBR250RR 2023 ที่วางจำหน่ายในประเทศอินโดนีเซีย ก็จะมีทั้งหมด 3 รุ่นย่อยด้วยกัน นั่นคือ รุ่นพื้นฐาน (STD) กับราคาเริ่มต้น 62,850,000 รูเปียห์ หรือราวๆ 154,900 บาท ตามด้วย รุ่น SP กับราคาเริ่มต้น 75,150,000 รูเปียห์ หรือราวๆ 185,200 บาท และรุ่นสุดท้ายคือ SP QS กับราคาเริ่มต้น 79,200,000 รูเปียห์ หรือราวๆ 195,700 บาท

ส่วนกำหนดการเปิดตัวในไทย คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุด ภายในช่วงไม่เกินสิ้นปีนี้

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่