กลายเป็นภาพยนตร์ที่หลายคนชื่นชอบรถคอความเร็วพูดถึงอย่างหนาหูอย่างรวดเร็ว กับภาพยนตร์สุดตระการตาในชื่อ  Ford V Ferrari   เรื่องราวพูดถึงตำนานบทหนึ่งในช่วงยุค 60  ตำนาน Ford GT 40 มีชัยในสนาม เลอมังค์ การแข่งขันระดับโลกที่ถือว่าหินที่สุดรายการหนึ่งในยุคนั้น การแข่งขันดังกล่าวได้สร้างชื่อเสียงให้กับเฟอร์รารี่มายาวนาน จนขึ้นชื่อเรื่องสมรรถนะการขับขี่

ตำนานบทนี้มีคนจำนวนน้อยมากจะพูดถึง สำหรับในภาพยนตร์เรื่องนี้อาจจะจับเอาเพียงส่วนหนึ่งมาเล่าคลุกเคล้าความบันเทิงอย่างสนุกสนาน แต่วันนี้เราอยากจะพูดถึงเรื่องราวจริงๆ ที่เกิดขึ้น และ ความสำคัญของแต่ละตัวละครที่มีบทบาทสำคัญ จนความดราม่าในความจริงอาจเหนือกว่าหนังจอเงินด้วยซ้ำไป

///

เรื่องนี้เริ่มจาก แครอล เชลบี้ ชายที่ชื่อว่าเป็นตำนานระดับโลกวงการความเร็วอเมริกัน ,เชลบี้ เป็นผู้สร้างตำนานความเร็วจากดินสู่ดาว เขาเกิดมาในครอบครัวบุรุษไปรษณีย์ห่างไกล ในเลสเบิร์ก เท็กซัส  เขาไม่ใช่เด็กปกติเหมือนคนอื่ มีปัญหาสุขภาพลิ้นหัวใจรั่วมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ นั่นไม่ได้ทำให้เขาหักห้ามตัวเองเข้าสู่โลกความเร็ว

อันที่จริงเชลบี้พยายามจะเข้าศึกษาวิศวกรรมการบิน ที่  School of technology   จอร์เจีย เมื่อสงครามมาเคาะหน้าบ้านอเมริกา ทำให้เขาต้องเข้าร่วมสงครามในฐานะ นักบินทดสอบ และครูฝึกการบิน หลังสงครามจบ เชลบี้ก้าวเข้าสู่วงการความเร็ว เริ่มจากเป็นมือสมัครเล่นโดยใช้รถเพื่อน MG TC  รวมถึง CAD  Allard  เขาได้พัฒนารถ  Allard   ด้วยการติดตั้งเครื่องยนต์   V8 ยอดนิยมในอเมริกา จนเป็นสูตรเฉพาะสร้างชื่อเสียง

ความสำเร็จของเขาทำให้ในปี 1950 ได้รับเชิญเข้าร่วมทีมโรงงานของ Aston Martin   และ  Maserati  เขาเข้าร่วมการแข่งรถสูตร 1 (Formula 1 ) ด้วยราว ๆ 8 สนาม ที่สร้างชื่อเสียงให้ที่สุด คือการขับแข่งในสนามสุดโหด การแข่งรถเลอมังค์ 24 ชั่วโมง และมีชัยชนะในฐานะนักขับร่วมกับ รอย ซาวาโดรี่

แครอล เชลบี้ ในการแข่งขัน Leman 1959 ที่ทำให้เขามีชื่อเสียง

ชื่อเสียงของแครอล มาพร้อมราคาสูง ปัญหาโรคหัวใจตั้งแต่เด็กทำให้เขาต้องยอมถอยจากการแข่งรถ หากยังอยากมีชีวิตต่อ ในเวลานั้นเขาแข่งทราบดีว่า  Ferrari จะเป็นบริษัทรถยนต์รายสำคัญ เข้ามายึดครองสนามเลอมังค์ เขาอยากสู้กับเฟอร์รารี่แต่ไม่ใช่การขับด้วยตัวเอง

///

เคน เฮนรี่ ไมล์ส ,เด็กรุ่นใหม่ ไม่ค่อยรู้จักเขา เพราะเขาเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 1966 แต่ถ้าเขายังอยู่ ก็น่าจะเรียกว่าเป็นนักขับตำนานอีกคน

เคน มีเส้นทางคล้ายเชลบี้ เขาเข้าร่วมสงครามในอังกฤษ ประจำอยู่ในหน่วยรถถังต่อสู้อากาศยาน มีบทบาทในการยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี เมื่อจบสงคราม เขาเริ่มแข่งรถในหลายรายการ ในประเทศอังกฤษ มีชื่อเสียงจากรถ Frazer-Nash  ติดตั้งเครื่องยนต์ V8

เขาตัดสินใจเหมือนชาวอังกฤษหลายคนย้ายมาหาชีวิตใหม่ในอเมริกา เริ่มจากการเป็นผู้จัดการศูนย์บริการ MG   ในแคลิฟอร์เนีย ก่อนกลับสู่เส้นทางสายรถแข่ง เมื่อความสามารถของเขาเป็นที่ต้อนรับสำหรับทีมและนักแข่งจำนวนมาก

เคนเริ่มมาแข่งเองในปี 1953 ภายใต้การสนับสนุนของ   Gough  industry  เริ่มจากรถ  MG TD  มาจนกระทั่งเขาได้สร้าง   MG R-1 ปรับช่วงล่างด้านหน้าเป็นอิสระ ใช้ดรัมเบรกอัลฟิน 2 พอท ใต้เรือนร่างเป็นเครื่องยนต์พิเศษ 1,466 ซีซี  2 คาร์บูเรเตอร์ ภายหลังมีข้อมูลหลุดออกมาว่า มีกำลัง 83 แรงม้า  ส่วนตัวรถเองพัฒนาใหม่ หันมาใช้โครงสร้างอลูมิเนียม น้ำหนักตัวเปล่าเพียง 1,230 ปอนด์เท่านั้น เคนเริ่มมีชื่อเสียงจากการชนะการแข่งขัน SCCA  14 ครั้งติด ในปี 1953 ด้วยรถยนต์  MG  ที่เขาลงมือลงแรงด้วยตัวเอง

เคนเก่งในการสร้างรถซิ่งขนาดเล็ก เขาขึ้นชื่อว่าเป็นนักขับที่มีพรสวรรค์ และยังเข้าใจในการพัฒนารถซิ่ง

เคน ไมล์ส ในรถแข่ง Ford GT 40 การแข่งขัน เลอมังค์ ปี 1966

///

เรื่องราวจากภาพยนตร์ อาจทำให้หลายคนงง แต่ทั้งหมด เกิดขึ้นในช่วงปี 1963 ,ฟอร์ด มีแผนเข้าซื้อ เฟอร์รารี่ ด้วยบริษัทเจอเชฟโรเล็ตเข้าทำตลาดและต้องการหาแนวคิดในการทำรถใหม่ๆ ออกมาตอบลูกค้า ฟอร์ดไม่มีรถสปอร์ตในไลน์อัพ จนกระทั่งเริ่มวางจำหน่าย  Ford Mustang

ฟอร์ด กับเฟอร์รารี่ มีความเป็นไปได้ควบรวมกิจการ มีการเข้าเยี่ยมชมโรงงานฟอร์ด และเฟอร์รารี่หลายครั้ง โดย  Don Frey  หัวหน้าวิศวกรรมของฟอร์ด ความเป็นไปได้ของฟอร์ดจะเข้าซื้อเฟอร์รารี่มีมากขึ้น ฟอร์ด ทุ่มเงินหลายล้านดอลล่าร์ ตรวจสอบโรงงาน และทรัพย์สินต่างๆ ของม้าลำพอง

ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี จนกระทั่งในขั้นตอนสุดท้ายการซื้อขาย ในเรื่องตกลงการควบรวม เอนโซ่ เฟอร์รารี่ หวง ทีมเฟอร์รารี่ ของเขา ซึ่งมีชื่อเสียงในสนามเลอมังค์ มาตั้งแต่ปี 1960 (หลังจาก เชลบี้ชนะ 1959)  เอนโซ่ ต้องการเป็นผู้ควบคุมส่วนงานดังกล่าวด้วยตัวเอง เขามีความต้องการเข้าถึงการแข่งขันรถล้อเปิด มาตั้งแต่ตอนนั้น (ก่อนภายหลังจากการควรวม เฟียต ปี 1970 ได้ นิกิ เลาด้า พาเฟอร์รารี่มาถึงรถสูตร 1 ในยุค 70)

ในอเมริกามีการแข่งขันที่เรียกว่า  Indy Car   มีการแข่งขันสำคัญ Indianapolis  500 ฟอร์ดเกรงว่า ถ้าเฟอร์รารี่เข้ามาสร้างผลกระทบกับฟอร์ดมากกว่า จะเป็นผลดี ในเวลานั้นฟอร์ดผลิตเครื่องยนต์สำหรับรถแข่งในรายการดังกล่าว

การปฏิเสธเข้าถึงการแข่งขันดังกล่าวของฟอร์ด ทำให้ เอนโซ่ไม่พอใจ และตัดสินใจยุติการซื้อขาย ไม่ได้เป็นคำพูดของเพียงผู้บริหารบางคน อย่างที่ภาพยนตร์สร้างให้เราเข้าใจ

///

Ford GT 40  … รู้หรือไม่ มันไม่ใช่ ฟอร์ดแท้

หลังโดนปฏิเสธในปี 1963 ,  เฮนรี่ ฟอร์ด 2 ไม่พอใจอย่างมาก เนื่องจากมันทำให้เขาสูญเงินหลายล้านบาท และทำให้เขาเสียหน้ากับสื่อ รวมถึง เฟอร์รารี่ ยังเป็นข่าวครึกโครมทางยุโรป เขาไม่ฉุนกับสิ่งที่เกิดขึ้น ที่แน่ชัดเฟอร์รารี่ไม่ได้ถูกเฟียต ซื้อทันทีอย่างในภาพยนตร์ ดีลเฟอร์รารี่กับเฟียต เกิดขึ้นในปี 1969 ภายหลังจากเรื่องราวในภาพยนตร์ 3 ปี

การตัดสินใจไปสนามเลอมังค์ ของ ฟอร์ด สั่งตรงจาก เฮนรี่ ฟอร์ด 2 จริง เพื่อไปเตะตูดเฟอร์รารี่ ในสนามที่พวกเขามีชัย (เฟอร์รารี่ชนะเลอมังค์ตั้งแต่ 1960-1963)  ฟอร์ดมีเป้าหมายชนะการแข่งขันในปี 1964 ถือว่ามีเวลาน้อยมากในการเตรียมตัว

หลังจาก แครรอล ชนะสนามเลอมังค์ เขาต้องจำใจหันสู่ธุรกิจรถสมรรถนะสูง ก่อตั้ง   Shelby American  ด้วยความเชี่ยวชาญทำรถสมรรถนะสูง เขาหันมาทำรถแรงขายคนทั่วไป เวลานั้นไม่มีใครแข่งกับเขา แต่เนื่องจากรถ Allard  ไม่มีขายแล้วตั้งแต่หลังสงครามโลก เขาจึงหันมาใช้รถ AC Ace  เป็นพื้นฐาน เนื่องจากพื้นฐานของรถดีมากเป็นคู่แข่งตัวกาจตั้งแต่สมัยเขายังแข่งรถ

รถ AC Cobra

โครงการใหม่นี้ยังคงแนวคิดเดิมใส่เครื่องยนต์  V8   , ทาง Ac Car   ผู้ผลิตชอบความคิดนี้ เนื่องจากเครื่องยนต์ 6 สูบแถวเรียง 2.0 ลิตร ของบริษัท จาก BMW ใช้มาตั้งแต่ก่อนสงครามโลก เริ่มด้อยศักยภาพในการแข่งขัน พวกเขาต้องการเครื่องยนต์ใหม่ จึงส่งตัวรถและแชสซี ให้กับเชลบี้ สร้างตามโครงการของเขา

ตอนเริ่มโครงการ เขาอยากได้เครื่องยนต์ของเชฟโรเล็ต มันขึ้นชื่อในสมรรถนะการขับขี่ ทางเชฟวี่กลับคิดว่า จะไม่เป็นการดีกับรถ  Chevrolet Corvette  ที่กำลังเฟื่องฟู มันจะเป็นหอกข้างแคร่ในอนาคต ขณะที่ฟอร์ดพยายามจะหารถโค่นความรุ่งเรืองของคอร์เวท จึงตกลงส่งเครื่องยนต์   Ford Windsor 221 cubic  เครื่อง   v8   บล็อกเล็กรุ่นใหม่ มาให้ 2 เครื่อง สร้างต้นแบบในชื่อว่า  AC Cobra   นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่าง เชลบี้และฟอร์ด

///

เชลบี้ พัฒนารถ  AC Cobra  มีเป้าหมายสำคัญในใจ คือไม่อยากเห็นเฟอร์รารี่ ครองแชมป์ต่อกันหลายปี ความพยายามของเขาเป็นผลต่อ AC Car  บริษัทตัดสินใจส่งรถ  Ac Cobra  รุ่นเครื่องยนต์   V8 4.7   ลิตร เข้าแข่งในรายการนี้ปี 1963 ขับโดย  นินเนียน แซนเดอร์สัน และปีเตอร์ โบลตัน ส่งให้ผล เชลบี้ เป็นอเมริกันคนเดียวที่มีประสบการณ์ทั้งแง่มุมในสนาม และการพัฒนารถยนต์ให้พร้อมแข่งสนามเลอมังค์

ความต้องการไปสนามเลอมังค์ของฟอร์ดค่อนข้างแรงกล้า แต่มันไม่ง่ายอย่างที่คิด ฟอร์ด เริ่มคุยกับพาร์ทเนอร์ที่ทำงานด้วยได้แก่ Cooper  , Lotus   และ Lola

Cooper   ปฏิเสธ ฟอร์ดตั้งแต่ต้น เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ทำรถ GT มาก่อน แถมสมรรรถนะในสนามรถสูตร 1 ก็กำลังถดถอย , Lotus   เอง มีผลงานดีในสนามอินดี้ 500 ค่ายเมืองเดียร์บอนน์ กังวลว่าให้โครงการใหม่ไปเพิ่มจะทำให้ค่ายรถรายนี้งานล้นมือ ท้ายที่สุด ผลจึงมาตกอยู่ที่   Lola

Lola ไม่ใช่บริษัทรถยนต์ พวกเขาเป็นบริษัทวิศวกรรมยานยนต์ ของ อีริค แบรดลี่ย ก่อตั้งในปี 1958  แม้จะเป็นบริษัทน้องใหม่ก็มีความสามารถน่าสนใจ Lola เน้นสร้างรถแข่ง ในปี 1963 พวกเขาสร้าง   Lola  Mk 6 รถแข่งเครื่องยนต์วางกลาง มันเป็นความคิดมาจาก Cooper Car  มองว่ารถยนต์เครื่องยนต์วางกลางจะเป็นแนวคิดรถแข่งในอนาคต

Lola Mk 6 เข้าร่วมการแข่งขัน เลอมังค์ในปี 1963 เช่นกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากรถเกิดอุบัติเหตุ  ตัวรถ  Lola  เองมีความพร้อมสำหรับการแข่งด้วยแชสซีที่ดี และยังใช้เครื่องยนต์   V8  4.7  ลิตรของฟอร์ดด้วย

ความพร้อมตัวรถเรียกว่าเหมาะสมสำหรับการแข่งขันมาก ฟอร์ด เริ่มโครงการพัฒนารถสำหรับการแข่งขันได้ทันที หน่วยงาน   High Performance and Special Models Operation Unit หรือ  บางคนอาจรู้จัก   Ford Advance Vehicle (FAV) ก่อตั้งเริ่มต้นในอังกฤษ ฟอร์ด ทำข้อตกลงความร่วมมือ กับ อีริค แบรดลีย์ 2 ปี เต็ม เขาสร้างรถ  Lola GT Mk 6  ให้ ฟอร์ด 2 คัน

Royy Lund  ในฐานะ ผู้เคยฝันว่าฟอร์ดจะสร้างรถสปอร์ตเครื่องยนต์วางกลาง ใน  Ford Mustang MK 1  เป็นคนที่เหมาะกับงาน เขาถูกดึงเข้ามาร่วมโครงการนี้ เช่นเดียวกับ จอห์น วิน ถูกจ้างเข้ามาเป็นผู้จัดการทีม และ แครอล เชลบี้ เข้ามาเป็นคนคุมเรื่องต่างในยุโรป

รถเริ่มพัฒนาในบรอมเลย์ ทางใต้ของลอนดอน ในโรงงานของ Lola ก่อนย้ายออกมา ยัง สลอจ เมืองใหญ่ทางตะวันตกของลอนดอนใกล้สนามบินฮีทโทรล ลุนได้ปาดความสูงของรถลงอีก 50 มม. จากดีไซน์เดิมของรถ จนมีความสูง 40.5 นิ้ว เป็นที่มาของชื่อ GT 40

///

สู่การแข่งขันแรก 1964

รถคันแรกจากโครงการนี้ เป็นรูปเป็นร่างในวันที่ 16 มีนาคม 1964 และ ตัวรถทำจากไฟเบอร์กลาส 14 วันหลัง มันถูกส่งข้ามไปนิวยอร์ค ตัวรถมีความยาว 4,064 มม. กว้าง 1,778 มม. สูง 1,029 มม. มีฐานล้อ 2,413 มม. มันใช้เครื่องยนต์  V8 260 ขนาดปริมาตร 4.2 ลิตร ขับโดยชุดเกียร์ Colotti  5 สปีด

1964 Ford GT 289 engine

ศักยภาพรถไม่น้อยหน้า ติดอย่างเดียวหลังจากมาทดสอบขับในแบบเดียวกับที่จะต้องเจอในสนามเลอมังค์ พบปัญหาทางด้านหลักอากาศพลศาสตร์รถควบคุมยากในช่วงความเร็วสูง การทดสอบของบรูซ แม็คลาเรน ทำให้ทีมเพิ่มสปอร์ยเลอร์ ช่วยรีดอากาศในหลายจุด เช่นเดียวกันทีมต้องเสีย รอย ซาววาดอฟ หลังเขาขอลาออกด้วยตัวเอง เขากล่าวภายหลังจกาการลาออกโครงการสำคัญ อันอาจสร้างประวัติศาสตร์นี้ว่า

“ ผมลาออกเพื่อรักษาชีวิตของผมเอง”

รอยชี้ว่าที่ความเร็ว 200 ไมล์ ต่อชั่วโมงรถเหมือนจะบินได้ ขณะที่ปัญหาเรื่องเบรกเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่ง และรถ GT40   คว่ำในสนามทดสอบ 2-3 ครั้ง มันอันตรายมาก (popular machanic)

1964 Ford GT
Ford GT 1964

การเมืองภายใน  Ford   ได้แต่งตั้ง Leo Beebe   ขึ้นมาเป็น Special Vehicle Manager ในเดือน พฤษภาคม 1964  ประจำการที่อังกฤษ

การแข่งขันปี 1964 เป็นครั้งแรก ฟอร์ดเข้าร่วมการแข่งขันเลอมังค์ บริษัทส่ง   Ford GT40 MK I   จำนวน 3 คัน ผลการแข่งขันล้มเหลวไม่เป็นท่า รถของ ริชาร์ด แอทวู๊ด และ โจ เชลสเซอร์ ไฟไหม้  ส่วนที่เหลือ อีก 2 คัน พบปัญหาทางด้านระบบเกียร์ จนต้องออกจากการแข่งขัน ขับนานสุด 12 ชั่วโมง

Ford GT40s entered in the 1964 24 Hours of Le Mans.

อย่างไรก็ดี แครรอล เชลบี้เอง ก็ได้ส่งทีม   Shelby America   เข้าร่วม ด้วยเช่นกัน  พวกเขาใช้รถรุ่นใหม่  Shelby Daytona cobra coupe  ที่พัฒนาขึ้นมา แข่งเลอมังค์โดยเฉพาะ ตัวรถออกแบบหลักการอากาศพลศาสตร์ โดย พีท บล็อก ลูกมือของเชลบี้ และ สร้างช่วงล่างพิเศษ โดย บ๊อบ เนกสแตด

รถคันนี้จบการแข่งขันในลำดับที่ 4 ในการแข่งขันเลอมังค์ปี 1964 ใช้เครื่องยนต์  Ford V8 4.7 ลิตร ที่มีศักยภาพมากกว่าของทีมโรงงาน พิสูจน์แล้วว่า เครื่องยนต์ 4.7 ทนทานกว่า ตัว 4.2 ลิตร ส่วนเฟอร์รารี่ ยังชนะใสๆ 3 คันรวด

///

การก้าวมาของเชลบี้ 1965

ปี 1965 ฟอร์ดได้ขอให้เชลบี้ทุ่มเทกับการพัฒนารถยนต์ไปชนะเฟอร์รารี่ ขณะที่ ลีโอ บีบี ตัดสินใจยกเรื่องให้ เชลบี้ หลังเขานำรถไปลงแข่งในสนามนาซอร์ แล้วค้นพบสัจจะธรรมว่า ตัวเองไม่เก่งเรื่องมอเตอร์สปอร์ต  ,นักออกแบบชาวมะกัน ผละจากการพัฒนา   Shelby Daytona   มาทำรถ   Ford GT 40X  มากขึ้น

1964 Shelby Daytona

รถแข่ง 2 คัน ( GT103 และ  GT 104) มาถึง   Work Shop  ของ เชลบี้ ในลอส แองเจลเลส เดือนธันวาคม (1964) หลังจากผ่านสนามแข่งที่นาซอร์

ทางเชลบี้ได้มอบหมายให้ เคน ไมล์ส ในฐานะหัวหน้านักขับทดสอบ เริ่มโครงการทันที ไมล์ส เริ่มงานด้วยการปรับเซทช่วง และเขาพบว่า เซทติ้งระบบกันสะเทือนดั้งเดิมที่มากับรถดีกว่าที่ปรับปรุงใหม่  ขณะที่ ฟิล เรมิงตัน พบว่า ระบบเบรกของรถต้องทำงานอย่างหนักระหว่างการขับขี่ด้วยความเร็ว จนไหม้และไร้ประสิทธิภาพ การเปลี่ยนผ้าเบรกก็ไม่ช่วยให้รถดีขึ้น เขาจึงคิดหาวิธีเปลี่ยนเบรกยกชุดทั้งจาน ปั้มและดิสก์ ยกเซท จาก 20 นาที เหลือเพียง 2-3 นาที เท่านั้น ( Ford GT40: Production and Racing History, Individual Chassis Records : Trevor Legate) ปัญหาสำคัญ ระบบเบรกของ  GT40  มาจาก น้ำหนักรถมากเกินไป  Lola  พยายามให้รถคันนี้มีน้ำหนักไม่เกิน 1800 ปอนด์ แต่การพัฒนาเพิ่มเติมจาก  Ford   ทำให้รถไม่เคยเบากว่า 2,200 ปอนด์

ทีมเริ่มพัฒนาตัวถังรถให้ตรงตามหลักการอากาศพลศาสตร์มากขึ้น ทั้งอาศัยคอมพิวเตอร์เครื่องยึดวางติดตั้งไว้ในรถ รวมถึงการใช้เทปปิดกับตัวถัง แล้วตรวจสอบระหว่างขับขี่ในสนาม ตลอดจนอุโมงค์ลมในสำนักงานที่เมืองเดียร์บอน

การปรับปรุงการไหลเวียนอากาศทำให้รถดูเหมือนรถแข่งมากขึ้น ไม่เพียงเท่านี้ ฟิล เรมิงตั้น วิศวกรของ  เชลบี้ อเมริกัน ยังปรับปรุงการดักอากาศ เข้าเครื่องยนต์ เพิ่มกำลังได้อีก 79 แรงม้า โครงสร้างตัวถังทำจากอลูมิเนียม แล้วติดตั้งล้อแมกนิเซียม

ฟอร์ดเริ่มเอารถคันนี้ลงแข่งรายการเดย์โทน่า มันสามารถคว้าที่ 1 และ 3 โดยมี   Shelby Cobra  แทรกหว่างกลางในอันดับที่ 2 ความสำเร็จนี้ทำให้ทีมค่ายวงวรีสีน้ำเงินชื่นใจ เดือนเมษายน 1965 บริษัทลองส่งรถไปจับเวลา ยังสนามเลอมังค์ ,เฟอร์รารี่ยังเร็วกว่า และครองเวลาในสนาม ทีมงานฟอร์ดทดลองหลายอย่าง ทั้งเปลี่ยนเครื่องยนต์และชุดเกียร์ เพื่อให้ได้รถที่มีสมรรถนะพร้อมแข่งมากขึ้น

การทดลองที่ฝรั่งเศส นำมาสู่การตัดสินใจไปใช้เครื่องยนต์ V8  ขนาด 7.0 ลิตร (427 คิวบิค) รอย ลุน และทีมงาน ฟอร์ด ทำงานขนานใหญ่ ยัดเครื่องยนต์มหึมาเข้าไปในรถ โดยไม่ทำให้หลักการพลศาสตร์เดิมเสีย

เชลบี้ , ไมล์ และ ฟิล เรมิงตัน บินมายังสนามทดสอบ โรมีโอ ที่เมืองเดียร์บอนน์  , ไมล์ ลองขับเวอร์ชั่นเครื่องยนต์ 7.0 ลิตรพบว่ามันสามารถทำความเร็วทางตรงได้ถึง 210 ไมล์ต่อชั่วโมง

ลุนถาม ไมล์ส ว่าเป็นอย่างไร เขาบอก “นี่แหละ รถที่ผมอยากขับในสนาม เลอมังค์ปีนี้”

Ford GT   เครื่อง  V8 7.0   ลิตร ใช้เกียร์เดินหน้า 4 สปีด ในรหัสว่า   GT40X   ถูกผลิตขึ้น 2 คัน ลงแข่งในนาม  Shelby American รถทั้ง 2 ตกเป็นของ เคน ไมล์ส ขับร่วมกับ บรูซ แมคลาเรน และ ฟิล ฮิล ขับกับ คริส เอมอน รถรุ่นนี้มีรหัสเป็นที่รู้จักว่า   MK II  ส่วนอีกคัน เป็นของ Ford Advance Vehicle  ทีมจากประเทศอังกฤษ

ตัวรถในเวอร์ชั่นปกติคันอื่น หันมาใช้ เครื่องยนต์   V8 289   ขนาด 4.7  ลิตร เปลี่ยนจากเกียร์   Colotti  มาใช้ ZF   ยังมี 5 จังหวะ เดินหน้าเหมือนเดิม

ฟอร์ดมีงานต้องทำ คือ ขายรถ  GT40  ปกติ ให้ได้ 50  คัน โชคดีที่รถทั้งหมดส่งมอบทันก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น จึงเข้าตามกฎการแข่งขัน

////

การแข่งขัน เลอมังค์ ปี 1965  Ford GT40X  ทำให้เฟอร์รารี่มีเสียวหลังวาบ เมื่อ เคน ไมล์ส บี้คันเร่งสร้างเวลาต่อรอบสนาม เลอมังค์ เพียง 3.33 นาทีต่อรอบ เร็วกว่าเฟอร์รารี่ 5 วินาที การเตรียมรถอย่างรวดเร็ว ทำให้  GT40X   มีข้อผิดพลาดเล็กๆ ใน ชุดเกียร์

24 Hours of LeMans, LeMans, France, 1965.
Ken Miles/Bruce McLaren Ford Mark II prototype.

รอย ลุนด์ มายอมรับภายหลังว่า เขาได้สั่งให้วิศวกรถอดประกอบเกียร์อีกครั้งก่อนส่งไปฝรั่งเศส

ส่วนเครื่องยนต์ 289 V8 4.7   ปีนี้ก็ไม่ได้ลงในสนามอินเดียน่า 500 ทำให้เครื่องยนต์ไม่สเถียร มีปัญหาในหลายทีม อาทิประเก็นปริ , ข้อเหวี่ยงพัง , มีรถคันเดียวที่รอดจากทุกปัญหา เป็นรถ Cobra Daytona  จาก  AC Car   ซึ่งคาดกันว่าใช้เครื่องยนต์ตัวเดิม ไม่ใช่เครื่องรุ่นปีใหม่

แม้จะล้มเหลวในปีนั้น แต่ ลีโอ บีบี คนที่เราถูกทำให้เชื่อว่าเป็นตัวร้าย ในภาพยนตร์  Ford V Ferrari  กลับเรียกประชุมทีมหลังความล้มเหลว ว่า “ปีหน้าเราจะกลับมาที่นี่ ,นี่คือการประชุมแห่งชัยชนะ เราเริ่มต้นทุกอย่างได้ดีแล้ว”

ในเดือนกันยายน ปี 1965  Henry Ford II   ได้เรียก เชลบี้ , Leo Beebe ในฐานะผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ และการแข่งขัน ,ดอน เฟรย์ และ เรย์ เกดด์ เข้าพบ , จากข้อมูลของการให้ สัมภาษณ์ แครอล เชลบี้  ในหนังสือ  Mustang Forty Year  ของ Randy Luffing Well เขาจำได้ว่า เฮนรี่ ฟอร์ด 2 เริ่มการสนทนาว่า “ฟอร์ด จะชนะการแข่ง เลอมังค์ในปี 66” นั่นทำให้ทั้ง 4 ตกใจเล็กน้อย ฟอร์ด กล่าวต่อว่า “อย่าทำให้ผมเป็นคนพูดปดแล้วกัน”

นั่นเป็นสิ่งสุดท้ายที่ฟอร์ด บอกก็คณะทำงานแข่งเลอมังค์ ก่อนที่ ดอน เฟรย์ จะถาม ฟอร์ด ก่อนออกจากห้องทำงานบอสว่า “แล้วการจำกัดงบประมาณล่ะครับท่าน”  ฟอร์ดตอบว่า “ถ้ามีการจำกัดงบผมจะบอก”

///

ความลงตัวจากปี 1965 ,ฟอร์ด เหลือเพียงการบริหารจัดการให้ทุกอย่างลงตัว ความตั้งใจอย่างแรงกล้า เปิดปี 1966 มา ทางทีมผู้บริหารได้จัดตั้ง คณะกรรมการ  Le man   มีเป้าหมายบริหาร จัดการให้ฟอร์ด ชนะการแข่งขันให้ได้ บางแหล่งข้อมูลชี้ว่า  Leo Beebe ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการทำงาน ทำให้เขาเข้ามามีบทบาทอีกครั้ง

ทีม Nascar  ถูกโยกมาให้ทำงานกับ  Shelby American  กระจายความเสี่ยงเพื่อนำชัยชนะกลับแดนลุงแซม ทีม   Holman&Moody  เข้ามามีบทบาทร่วมในการพัฒนา รถยังถูกทดสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดย ฟิล ฮิล และเคน ไมล์ส เพื่อหาข้อบกพร่องที่อาจจะเกิดขึ้น

ตัวรถมีการปรับปรุงอีกหลายรายการเช่นทางเดินน้ำมัน , ระบบเบรก , ระบบช่วงล่างจนสมบูรณ์กว่าเดิม เคน ไมล์ส ยังเพิ่มสไตล์หน้าสั้น เพิ่มความเร็วได้อีก 13 ก.ม./ช.ม.

Ford GT40 MKII
1966 GT40 Mark II

ความสมบูรณ์ของรถ ช่วยให้ เชลบี้ และฟอร์ดมั่นใจขึ้น ถ้ายังจำได้ มีฉากในภาพยนตร์ที่เชลบี้พา เฮนรี่ ฟอร์ด 2 นั่งรถที่เขาพัฒนาแล้ว ข้อเท็จจริงเรื่องนี้จากหน้าประวัติศาสตร์ ชี้ว่า เคน ไมล์ส เป็นผู้พาท่านประธานใหญ่นั่ง ใช่เขาทึ่งกับสมรรถนะของตัวรถ และไม่เคยคิดว่าบริษัท สามารถสร้างรถแบบนี้ได้มาก่อน (แต่ไม่ได้ร้องไห้)

อันที่จริง ภาพยนตร์ ยังโกหกคุณอีกเรื่อง คือ  แครอล ไม่ได้เดิมพันอะไร กับ เฮนรี่ และทีมงานฟอร์ด ไม่ได้เกลี่ยด เคน ไมล์ส แต่ใช่ เขามีบุคคลิกบุ่มบ่าม , การแข่งรถ เดย์โทน่า ในปี 1966 เป็นเหมือนการทดสอบรถที่มีการปรับปรุงใหม่ รายการแข่งปี 66 เพิ่มจาก 12 เป็น 24 ชั่วโมง มากพอจะโชว์ผลให้ฟอร์ดเตรียมความพร้อมก่อนลงศึกใหญ่

ฟอร์ดส่งทีมร่วมการแข่งเดย์โทน่า 5 ทีม 3 ทีมดูแลโดย เชลบี้ อเมริกัน อีก 2 ทีม เป็นของ Holman & Moody มีการทดลองหลายอย่างในสนาม อาทิ ระบบเกียร์ออโต้ งานแข่งในบ้าน ฟอร์ด เคี้ยวหมู เพียงชั่วโมงเดียว ไมล์ส และ รอย รูบี้ ขึ้นนำ และอยู่อย่างนั้นจนจบการแข่งขัน

ความสำเร็จจากเดย์โทน่ายังไม่พอ คณะกรรมการเลอมังค์ ของฟอร์ด อยากทำให้แน่ใจมากขึ้น จึงส่ง  รถ  GT40 Mark II   2 คัน เข้าร่วมการแข่งขัน ซีบริง งวดนี้เป็นการดีมีเฟอร์รารี่ 330P3 มาลงแข่งด้วย การขับแข่งในสนามนี่ เคนไมล์ส ขับคู่ แดน เกอร์นี่  สามารถตามบดม้าลำพองได้สบาย

ทีมเฟอร์รารี่ออกจากการแข่งขันซีบริง หลัง 7ชั่วโมงผ่านไป แต่ในสนามรถยังต้องวิ่งต่อไป  เคน ไมล์ส เริ่มเอาอารมณ์ส่วนตัวมาใช้ในรถแข่ง เขาพยายามทำเวลาต่อรอบ เร็วกว่าที่เกอร์นี่ และโชว์ว่าเขาก็มีศักยภาพ การเล่นเกินจำเป็นของ เคนทำให้ แครอล เชลบี้ ถึงกับต้องเอาค้อนโบก ให้นักขับทดสอบมือหนึ่งของเขาหยุดการกระทำดังกล่าว  เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นอุบัติเหตุ

เคน ทำตามสัญญาณ ขณะที่ เกอรนี่ นำเขาอยู่ในรอบสุดท้าย ปรากฏว่า รถของเกอร์นี่ พังก่อนเข้าเส้นชัย 100 หลา จนต้องลงมาเข็นเข้าเส้นชัย ภายหลังโดนกรรมการตัดสิทธิ เนื่องจากนักขับเข็นรถเพื่อหลบข้างทางได้เท่านั้น ส่งให้ เคน ชนะการแข่งขันซีบริง เป็น เมเจอร์ความเร็ว รายการที่ 2 ของปี 66

การพังคาสนามก่อนเส้นชัยที่ซีบริง ทำให้ทีมพัฒนาเครื่องยนต์ต้องกลับมาขบคิดเรื่องความทนทาน และรองรับการทำความเร็วหนักตลอดหลายชั่วโมง เคน ไมล์ส ก้าวเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ เขาช่วยทีมพัฒนาเครื่องยนต์ สร้าง  Tape of Leman   มันเป็นการบอกว่า รถจะเร่งมากเท่าไร ตามลักษณะเส้นทางการแข่งขัน

วิธีการดังกล่าว ทำให้ ทีมวิศวกรฟอร์ดเข้าใจการขับในสนามมากขึ้น กัส กุสเซล หนึ่งในทีมวิศวกรรมบอกว่า มันเหมือนกับไมล์ส อยู่กับเราตลอดเวลา

ในเมื่อมีโอกาสปรับปรุงเครื่องยนต์จึงมีการพัฒนาขนานใหญ่ให้เครื่องยนต์ 7.0 ลิตร บล็อกนี้ ไม่ว่าจะฝาสูบอลูมิเนียม,ปั้มน้ำใหม่ เป้าหมายการพัฒนาเพิ่มเติมคือ ลดน้ำหนักชิ้นส่วนเครื่องยนต์ลงเล็กน้อย การพัฒนาเครื่องยนต์เสร็จในเดือนพฤษภาคม ขุมพลังใหม่ ให้กำลัง 485 แรงม้า ที่ 6,400 รอบต่อนาที กุสเซล แนะนำให้ทีมแข่งขับมันที่ 6,200 รอบต่อนาที และสามารถลากขึ้นไปสูงสุด 7,400 รอบต่อนาที ได้ในช่วงเวลาสั้นๆ  (Road and Track) มันสามารถขับได้โดยไม่ต้องพัก 48 ชั่วโมง มากกว่าการแข่งขัน 2 เท่าตัว  เครื่องยนต์ใหม่ ถูกสร้างขึ้น 12 ตัว และส่งให้ เชลบี้ อเมริกา รวมถึงทีมแข่งอื่นๆด้วย

1966 Ford GT40 Mk II is prepared for Le Mans at the Advanced Vehicles factory in Slough, England.

อย่างที่กล่าวปัญหา ของ  GT40 MKII  หนีไม่พ้นเรื่องน้ำหนักตัวรถ การแข่งสนามเลอมังค์ ในช่วงทางตรง มูลซาน (Mulsann Straight)  สามารถทำความเร็วได้มากกว่า 200 ไมล์ ต่อชั่วโมง(320 ก.ม./ช.ม.)  ต้องเบรกหนักก่อนเข้าโค้งแฮรพิน ความเร็วขนาดนั้นมีแนวโน้มสร้างปัญหาให้กับระบบเบรก จนจานไหม้ น้ำมันเบรกเดือด และผ้าเบรกหักได้ วิศวกรคำนวณว่า เบรกอาจจะร้อนถึง 1,500 องศาฟาเรนไฮท์ ในไม่กี่วินาที

ฟอร์ด พยายามหาวัสดุทำผ้าเบรกที่ดีที่สุดในยุคนั้น พวกเขาพอมีหนทางออกบ้าง แต่โรงหล่อเดียวไม่พอความต้องการ ฟอร์ดจึงเข้าซื้อโรงหล่อจำนวนมาก ด้าน เชลบี้อเมริกันพัฒนาระบบที่จะช่วยให้เปลี่ยนปั้มเบรก(ล่าง)ได้ง่ายขึ้น ส่วน จอห์น ฮอลแมน  จาก   Holman and Moody พัฒนาวิธีการเปลี่ยนจานเบรกได้ง่ายขึ้น

ในหน้าร้อนปี 66  Ford   มีทัพนักแข่ง และทีมงานมหาศาล และรถพร้อมมากที่สุดเท่าที่ฟอร์ดเคยมีมา การลงทุนมหาศาลประกอบประสบการณ์เขาโดยตรงกับรถแข่งเริ่มสร้างแรงกดดันไปยังหัวหน้าคณะกรรมการ Leman ในวันที่ 18 มิถุนายน1966 (วันเริ่มแข่งขัน) ,Leo Beebe   ได้รับกระดาษโน้ตสั้นๆ จาก Henry Ford II   ข้อความเขียนว่า  “You Better Win”   หรือ คุณควรจะชนะ หมายความว่า ถ้าฟอร์ดไม่ชนะปีนี้ ลีโอ อาจต้องรับผิดชอบ

24 Hours of LeMans, LeMans, France, 1966.
Start of race.

การแข่งขันปีนี้   Ford GT 40 MK II   พกเครื่อง  V8 7.0 ลิตร  เข้าร่วมการแข่งขัน 8 คัน แบ่งเป็นในนาม  Shelby American 3 คัน   Holman & Moody  3คัน  ที่เหลือเป็นของทีม  Alan Man  Racing  นอกจากนี้ยังมีรถ   GT40   อีกหลายคันจากทีมอิสระในภูมิภาคยุโรปด้วย

ไมล์สเข้าร่วมการแข่งขัน เขาขับคู่กับ แดนนี่  ฮัลม์ นักขับชาวนิวซีแลนด์ เขามาแทนที่ รอย รูบี้ ทีมเมทของไมล์ส ผู้ประสบเหตุเครื่องบินตก ได้รับบาดเจ็บ 1 เดือนก่อนหน้าการแข่งขัน

ปีนี้ เฮนรี่ ฟอร์ด ได้รับเกียรติให้เป็นผู้ทำพิธีเริ่มการแข่งขัน  นับเป็นฤกษ์ยามดี สำหรับทีมฟอร์ด ไมล์คว้าตำแหน่งคัดเลือกที่ 2 รองจาก แดน เกอร์นี่  ส่วนบรูซ อยู่ห่างออกไป

ตอนออกสตาร์ท ประตูรถแข่งของไมล์ส มีปัญหาติดกับหมวก ปิดไม่สนิท จนต้องวกเข้าพิทตั้งแต่รอบแรก สมรรถนะเหนือชั้นของฟอร์ด เริ่มแสดงศักยภาพในสนาม Paul Hawkins จากทีม  Holman &Moody   ทำความเร็วทางตรงในช่วงมูซานได้สูงถึง 350 ก.ม./ช.ม. ตั้งแต่รอบแรก จนทำให้เขาลื่นไถลในโค้งดังกล่าว และต้องใช้เวลาซ่อมอีกกว่า 70 นาที ก่อนกลับมาแข่งอีกครั้ง

เพียง 3 รอบ เกอร์นี่ สามารถขึ้นนำในการแข่งขัน และเพียง 4 ชั่วโมงแรก ฟอร์ด ก็ครอง 3 อันดับแรก มี เฟอร์รารี่ ของโรดิเกซ จาก   NART (North America Racing Team) Ferrari  ใช้รถ  Ferrari 330 P3   มาพร้อมเครื่องยนต์  V12 4.0 ลิตร รั้งในอันดับที่ 4 , ไมล์พยายามอย่างหนัก เขาทำเวลาต่อรอบดีที่สุด เพื่อขึ้นอันดับที่ 5

พอถึงช่วง 2 ทุ่ม ไมล์ , เกอร์นี่ และ โรดิเกซ พยายามบี้กัน ในรอบ ที่ 64 เพื่อ ขึ้นเป็นผู้นำการแข่งขัน เวลาเริ่มพลบค่ำ ความสามารถจากเครื่องยนต์ 7.0 ลิตรเริ่มไม่มีประโยชน์  แรงไปอาจได้ลงไปทานหญ้า ทำให้ เฟอร์รารี่ไล่กวดขึ้นมาสำเร็จ

Ford GT40 MKII
1966 Le Mans Winning GT40 in action

6 ชั่วโมงระหว่างการแข่งขัน ปรากฏว่าฝนตกหนัก  เฟอร์รารี่ที่นำอยู่ ถูกไมล์ส และ เกอร์นี่ไล่ตามมาทัน และเมื่อฝนซา ปรากฏว่ารถ ฟอร์ดทั้ง 2 คันสามารถแซงเฟอร์รารี่ได้สำเร็จ ขณะที่รถของ บรูซ แมคลาเรน อยู่หลังห่างออกไป อีกรอบสนาม ค่ำคืนดังกล่าว เป็นฝันร้ายของเฟอร์รารี่ รถ ตัวท๊อป   Ferrari 330 P 3   เกียร์พัง  ผ่านไป 12  ชั่วโมง ฟอร์ด ครองสนามในตำแหน่งผู้นำ ก่อนที่รถของ เกอร์นี่จะมาพังในชั่วโมงที่ 18 ด้วยปัญหาความร้อนหม้อน้ำ ส่วนเฟอร์รารี่คันสุดท้าย จาก  Spa Ferrari SEFAC   ต้องออกจากการแข่งขันด้วยปัญหาเครื่องยนต์ในชั่วโมงที่ 17

เวลาที่เหลือ เรียกว่า ชิลๆ สำหรับค่าย วงรีสสีน้ำเงิน แต่มันกลับเป็นแรงกดดันไปยังนักขับของแต่ละทีม ที่ต้องมาห้ำหั่นกันเอง  เจอร์รี่ แกรนท์ คู่หูนักขับ แดน เกอร์นี่ กล่าวในหนังสือ  Twice Around the Clock: The Yanks at Le Mans ภายหลังถูกตีพิมพ์ลงนิตยสาร   Motorsport Magazine ว่า

“การแข่งขันที่แท้จริง คือการวัดฝีมือกันเองของนักแข่งในสังกัดทีมฟอร์ด จากค่ายอื่น ถ้าเฟอร์รารี่แซงคุณไป มันหมายถึง นั่นศัตรู พวกเขาคือเฟอร์รารี่ กลับกันถ้าฟอร์ดแซงคุณ มันหมายความว่า นักขับคนนั้นอาจจะเก่งกว่าคุณ”

ความตึงเครียดระหว่างนักขับฟอร์ดด้วยกัน นับเป็นเรื่องน่ากลัวนำมาสู่หายนะต่อฟอร์ด ทั้งที่มาทรงดี ตลอดจนยังไร้คู่แข่งแล้วด้วย ทั้งหมดถูกสั่งให้ลดความเร็ว ลงเพื่อให้รถทั้งหมดถึงเส้นชัย ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรือได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะการชนกันเอง

Leo Beebe  มีไอเดียสำคัญในช่วงสุดท้ายการแข่งขัน เขาอยากเห็นรถ ฟอร์ด 3 คัน วิ่งเรียงกัน เข้ารับธงตราหมากรุกในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน  เพื่อสร้างรูปประวัติศาสตร์สำคัญของฟอร์ด บิล ไรเบอร์ หัวหน้าฟอร์ด ฝรั่งเศส คุยกับผู้จัดการและกรรมการการแข่งขัน หรือ  ACO แล้วบอกว่าเป็นไปได้

ลีโอ บีบี บอกกับนักแข่งเองทั้งหมด ไม่ว่า เคน ไมล์ส , บูซ แมคลาเรน รวมถึง ฮัทเชอร์สัน ลดระยะทางต่อรอบให้เท่ากัน แต่เขาก็ไม่ได้รู้มาก่อนว่า กรรมการจะตัดสินแบบนั้น จนกระทั่งนาทีสุดท้าย เมื่อ ไรเบอร์ กลับมาพร้อมข่าวร้ายว่า ผู้จัดการแข่งขัน จะต้องให้รางวัลผู้ชนะกับรถที่มีระยะทางในการแข่งมากที่สุด ถ้ารถแข่งทั้งหมดมีจำนวนรอบเท่ากัน การตัดสินว่าใครชนะ จะดูจากจุดสตาร์ท และด้วยรถของบรูซแมคลาเรน ทำเวลาคัดเลือกช้ากว่าไมล์ส เขาจึงมีกริดไกลกว่า เมื่อจบการแข่งขัน จะเป็นบรูซ ที่ได้รับชัยชนะ

Ford GT 40 Lemans 1966
Trio of Ford GT40 Mk IIs cross finish line at Le Mans 1966
Ford GT 40 Lemans 1966
Trio of Ford GT40 Mk IIs cross finish line at Le Mans 1966

อันที่จริง เชลบี้รู้เรื่องกฎนี้ เขากล่าวในภายหลังกับผู้เขียนชีวประวัติเขาว่า เขาผิดพลาดมากที่เพิกเฉย ต่อการตัดสินใจดังกล่าว และเสียใจมาถึงวันนี้ แต่ผมก็ต้องทำตามสิ่งที่พวกเขาต้องการ ผมไม่ได้แก้ตัวแทนเคนเลย แม้ว่าจะมีโอกาส ขณะที่ลีโอ บีบี ถูกกังขาว่า เขาต้องการให้บรูซชนะ หรือเปล่า เนื่องจาก บรูซอยู่กับโครงการ   Ford GT 40   มาตั้งแต่เริ่มต้น

ชัยไม่ชนะของ เคน ไมล์ส กลายเป็นเรื่องถกเถียงในวงการมอเตอร์สปอร์ตยุคนั้น เขาได้รับการชื่นชมจากคอความเร็ว ด้วยครองตำแหน่งผู้นำ เกือบตลอดการแข่งขัน แม้คนจะสนใจผู้ชนะอย่างบรูซ แต่เคน ไมล์ส ก็เรียกว่า เป็นตำนาน

ในความเป็นจริง เขาเข้าที่ 1 แค่ไม่ได้รับชัยชนะ เขานำมาตลอดการแข่งขัน ถ้า คุณอ่านมาถึงตรงนี้ จะทราบว่าในปี 1966 เคน ไมล์ส แข่งจบ 3 รายการเมเจอร์ ใหญ่ คือ เดย์โทน่า ซีบริง และ เลอมังค์ แถมชนะรายการ 2 ใน 3 เมเจอร์ใหญ่ ถ้าเคน ชนะเลอมังค์ด้วย เขาจะเป็นนักขับในประวัติศาสตร์คนเดียว ที่ ชนะ 3 รายการในปีเดียว

เคน อาจไม่ได้มีถ้วยรางวัล และมีชื่อเสียงอย่างบรูซ แต่เขาชนะใจคนทั่วโลก ด้วยประวัติศาสตร์ที่เขาทำ สำหรับ แครอล เชลบี้ เขายิ่งเสียใจมากที่สุด ที่ไม่มีโอกาสแก้ตัวให้เพื่อนรัก  เคน ไมล์ส เสียชีวิต 2 เดือน ให้หลังจากการแข่งขัน สนาม เลอมังค์ ในปี 1966

การเสียชีวิตของเคน ไมล์ส คล้ายกับภาพยนตร์บอกเล่า เขากำลังขับทดสอบรถ  GT40   รุ่นใหม่ ที่เรียกว่า  J Car รถคันนี้ถือเป็นรถที่ครบสุดยอดเทคโนโลยี ด้วยการมีพาร์ทเนอร์ใหม่   Brunswick Aircraft Cooperation เข้ามาสร้างโครงสร้างใหม่ Aluminum honey Comb   มีความแข็งแกร่งและเบาพิเศษ มันยังบางมากด้วย ใช้การติดกาวแบบที่ใช้ในโครงการอวกาศ และ อากาศยาน

1965 Ford GT J-Car rendering

เคน ไมล์ส ทดสอบรถคันนี้ หลังจากกลับมาจากการแข่งขัน เลอมังค์ 66  เขาขับในสนามที่คุ้นเคย  Riverside International Raceway   ที่นี่จะมีทางตรงยาว 1 ไมล์ ลงเขา  ตรงนี้รถสามารถทำความเร็วได้มากกว่า 200 ไมล์ต่อชั่วโมง เพียงพอจะจำลองความเร็วในเลอมังค์

รายงานส่วนใหญ่ตรงกันว่า โครงสร้างเกิดเปราะด้วยเหตุผลบางประการ เคนไม่สามารถควบคุมรถได้ หลุดออกนอกสนามแล้วเกิดอุบัติเหตุไฟลุกท่วม โดยตัวรถไม่เหลือชิ้นดี บ้างว่าเคน ติดอยู่ในรถ แต่บางรายงานชี้ว่าโครงสร้างรถที่เปราะบางทำให้เขากระเด็นออกจากตัวรถจนเสียชีวิตจากแรงกระแทก เรื่องนี้น่าเศร้ายิ่งกว่า เมื่อลูกชายของเขาวัย 14 ปี เป็นพยานในเหตุการณ์พ่อเสียชีวิต ด้วย

ทีมพัฒนา   J Car ภายหลังรู้จักในนาม  Mark IV  เชื่อว่า ส่วนหนึ่งของอุบัติเหตุ มาจาก หลักอากาศพลศาสตร์ที่ไม่ดี ของตัวรถ และมีการปรับปรุงขนานใหญ่ (จากภาพร่างด้านบน มาสู่รถจริงภาพล่าง)

1967 Ford GT Mark IV
1967 Ford GT Mark IV
1967 Ford GT Mark IV
1967 Ford J-Car in wind tunnel

เคน ไมล์ส ไม่ใช่นักทดสอบคนเดียวที่เสียชีวิต ในการพัฒนารถรุ่นดังกล่าว แฮนส์เกน นักขับทดสอบอีกคน ก็เสียชีวิตด้วยเช่นกัน ในเวลาเพียง 5 เดือน เท่านั้น ทำให้ทีมพัฒนารถตัดสินใจติดตั้ง  Roll Cage   ในรถ เพื่อปกป้องนักแข่ง บ้างว่า กรงเหล็กใหม่นี้ ช่วยชีวิต มาริโอ้ แอนเดรทติ ในการแข่งขัน เลอมังค์ ปี 67

ทางด้าน ลีโอ บีบี ได้รับการแต่งตั้ง เป็นผู้บริหารส่วนงานการตลาด   Lincon Mercury   ในปี 1967 จากการพาฟอร์ดสู่ชัยชนะสนามเลอมังค์ ส่วนฟอร์ดเอง เอารถกลับไปแข่งเลอมังค์ 67 และมีชัยชนะด้วยฝีมือของแดน เกอร์นี่ ส่วนบรูซ แมคลาเรน กลับมาเช่นกัน แต่ทำได้เพียงอันดับที่ 4 เท่านั้น  ด้วยฟอร์ดต้องการพิสูจน์ว่า ปี 66 เราไม่ได้ชนะแบบฟลุ๊คๆ หรือโชคช่วย

ฟอร์ดไม่ได้กลับไปแข่งอีก ในปี 1968 -1969 แต่ รถ ฟอร์ด จีที 40 ยังชนะสบายๆ ด้วยการเปลี่ยนแปลงกฎขนาดเครื่องยนต์รุ่น  Group 6   ให้เหลือเพียง 5.0 ลิตร ด้วยความกังวลเรื่องความปลอดภัย  2 ปีที่เหลือ จึงไม่ใช่รถสร้างพิเศษ แต่เป็น   Ford GT 40  รุ่นเครื่องยนต์ 4.9 ลิตร สร้างชัยชนะ โดยทีมอิสระ ไม่ใช่จาก ฟอร์ด มอเตอร์ หรือ เชลบี้ อเมริกัน

เชลบี้ ยังมีชื่อเสียงในการสร้างรถสมรรถนะสูง เขามาโด่งดังอีกครั้งใน   Ford Mustang GT 350   ขณะที่ชื่อ เคน ไมล์ส ถูกลืมเรือน ก่อนมีการพูดคุยให้เกียรติแก่นักแข่งในตำนาน มีชื่อใน Motor Sport Hall of Frame America ใน ปี 2001

ประวัติศาสตร์ของฟอร์ด ต่อสนามเลอมังค์ ถูกพูดถึงหลายครั้งในหลายแง่มุม ความบากบั่นของ ฟอร์ด ในการสร้างรถยนต์   GT 40   นับเป็นประวัติศาสตร์สำคัญอย่างยิ่ง ที่คอความเร็วควรรู้  Ford GT  ไม่ได้ผลิตขายอีกนับตั้งแต่ ปี 1960  จนกระทั่ง 2004 จึงมีรุ่นใหม่วางขาย

แต่ด้วยตำนานของมัน ทำให้รถ ปี 65-66 เป็นรถที่นักสะสมหลายคนอยากได้  ปัจจุบัน เชื่อว่ามีราคาซื้อขายในตลาดนักสะสมถึงคันละ 1 ล้านดอลล่าร์ อาจเพิ่มเป็น 2 ล้านดออล่าร์ สำหรับรถปี 66 และถ้าคุณรู้เรื่องราวพัฒนาของมัน คงรู้ความทรงคุณค่าของรถคันนี้ ที่สร้างจากความตั้งใจ และวิศวกรรมชั้นนำต่างๆ มากมาย

 

////

ภาพ โดย   Ford / Wikipedia

เรื่องโดย ณัฐยศ ชูบรรจง แปล และเรียบเรียง

ข้อมูลอ้างอิง

Ford Vs Ferrari- Cooperate.ford.com

Ford GT40: Production and Racing History, Individual Chassis Records

By Trevor Legate

Road and Track  :  Ford GT40 Leman Analysis  https://www.roadandtrack.com/motorsports/a29798198/ford-gt40-mk-ii-le-mans-analysis/

The Feud that Created America’s Greatest Race Car – Popular Mechanic

Ford GT: How Ford Silenced the Critics, Humbled Ferrari and Conquered Le Mans

By Preston Lerner

kenn Miles , Lemann GP Result 1966-1969– Wikipedia

Ford vs. Ferrari: The Real Story Behind The Most Bitter Rivalry In Auto Racing – Forbes

 

 

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่