นับตั้งแต่ที่ Subaru Forester ถูกนำมาทำตลาดในไทย หลายคนอาจมองว่ามันเป็นเพียงรถอเนกประสงค์ประกอบญี่ปุ่นที่มีดีแค่เพียงในเรื่องระบบการขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่ไว้ใจได้ในทุกการเดินทางเพียงเท่านั้น แต่ถ้าเราจะบอกคุณว่ามันมีมากกว่านั้นอีกเยอะล่ะ ?

Subaru Forester 2023 มาพร้อมกับการปรับโฉมใหม่ในระดับ Minor Change ซึ่งหากเทียบกับโฉมเก่าแล้ว มันก็จะมาพร้อมกับหน้าตาเปลือกนอก ที่ถูกปรับใหม่เล็กน้อย ให้ดูมีความทันสมัยยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับในส่วนของกรอบไฟหน้า ที่ถูกหั่นส่วนดวงไฟเลี้ยวฮาโลเจนออกไป แล้วย้ายไปเป็นแถบไฟ LED ใต้ดวงไฟโปรเจคเตอร์

กระจังหน้าออกแบบใหม่ ให้ดูวิบวิบน้อยลง เพิ่มความทันสมัยมากขึ้น, กรอบไฟตัดหมอกแบบใหม่ เหลือเพียงโคมเดี่ยว และลดการใช้ชิ้นงานโครเมียมลง, และแผ่นกันกระแทกกันชนหน้าด้านล่างแบบใหม่ เช่นเดียวกับทางด้านกันชนหลัง, ปิดท้ายด้วยชุดล้อใหม่ที่เน้นการปิดทึบ เพื่อความลู่ลมที่มากกว่าเดิม

นอกนั้นในส่วนของรายละเอียดทางเทคนิคต่างๆล้วนยังคงเดิมแทบทั้งหมด โดยเฉพาะจุดขายหลักอย่างเครื่องยนต์ 4 สูบนอน Boxer ขนาด 2.0 ลิตร กำลังสูงสุด 156 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที กับแรงบิดสูงสุด 196 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบ/นาที ทำงานร่วมกับระบบเกียร์อัตโนมัติ Lineartronic CVT และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Symmetrical All-Wheel Drive

ระบบกันสะเทือนก็ยังคงเป็นแบบอิสระทั้งด้านหน้า MacPherson Strut และด้านหลัง Double Wishbone ส่วนระบบเบรกก็เป็นแบบดิสก์เบรกทั้งสี่ล้อ พร้อมระบบเบรกมือไฟฟ้า เหมือนเดิมทั้งหมด

แต่การปรับเปลี่ยนในเรื่องหน้าตาภายนอก เป็นเพียงน้ำจิ้มของเจ้า Forester รุ่นใหม่ล่าสุดนี้เท่านั้น เพราะอาหารจานหลักของมัน คือระบบความปลอดภัย EyeSight 4.0 ซึ่งมาพร้อมกับ ระบบกล้องเลนส์คู่ ที่ช่วยเพิ่มมุมในการรับภาพของระบบเพื่อใช้ในการประมวลผล ช่วยให้ฟังก์ชันยิบย่อยต่างๆที่ถูกปรับปรุง สามารถทำงานได้อย่างชาญฉลาดขึ้น และใช้งานได้จริงกว่าเดิม ทั้ง

  • Autonomous Emergency Steering ระบบบังคับพวงมาลัยฉุกเฉินอัตโนมัติ ช่วยหักหลบจากรถหรือวัตถุที่อยู่ด้านหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงการชน โดยระบบทำงานที่ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะมีให้เฉพาะในรุ่น S เท่านั้น

    ซึ่งจากการทดสอบลองใช้จริงกับหุ่นยางแบบมนุษย์จำลอง พบว่าระบบช่วยหักเลี้ยวได้ในระยะที่ปลอดภัยจริง แต่มีข้อจำกัดคือหากหุ่นมีแสงสะท้อน ตัวกล้องอาจจับตำแหน่งวัตถุไม่ได้ แต่หากเป็นมนุษย์ หรือวัตถุจริงๆที่ไม่ได้เงาทั้งตัว ระบบจะยังคงสามารถตรวจจับวัตถุนั้นได้ตามปกติ

    นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตอีกประการคือ จากการทดสอบระบบจะหักเลี้ยวรถหลบไปทางด้านขวาเท่านั้น ซึ่งทางผู้ควบคุมการทดสอบระบุว่าเป็นเพราะระบบตรวจจับว่าด้านหลังของรถทางด้านขวาไม่มีรถอีกคันตามมา ระบบจึงเลือกที่จะหักหลบในทิศทางดังกล่าว

    จึงทำให้ตัวผู้ทดสอบยังคงตั้งข้อสงสัยอยู่ว่า และถ้าเกิดมีรถตามอยู่ทางเลนขวาของตัวรถขึ้นมา รถจะยอมหักหลบไปด้านขวาหรือไม่ ? หรือระบบสามารถวิเคราะห์ทิศทางการหลบได้ซับซ้อนแค่ไหน ? ซึ่งคงต้องขอเก็บข้อสงสัยไว้ไปทดสอบแบบจัดเต็มด้วยตนเองอีกครั้ง
  • Adaptive Cruise Control (ACC) with Lane Centering Function ระบบไปและหยุดตามคันหน้าอัตโนมัติ พร้อมระบบควบคุมรถให้อยู่กลางเลน ช่วยรักษาทิศทางของรถ ให้อยู่ตรงกลางเลนจราจร ทั้งถนนทางตรงและทางโค้ง เป็นฟังก์ชันที่เพิ่มเติมขึ้นมา เพื่อช่วยรักษาระยะห่างจากรถคันหน้า พร้อมลดหรือเพิ่มความเร็วอัตโนมัติตามรถคันหน้า ให้ความสะดวก โดยเฉพาะการขับบนถนนไฮเวย์

    จากการทดสอบขั้นต้น ผู้ทดสอบพบว่าระบบนี้ต้องใช้เวลาในการตรวจจับรถคันข้างหน้าสักพัก และหากผู้ใช้ยังเป็นมือใหม่ อาจต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจถึงเงื่อนไขการตรวจจับรถทางด้านหน้าสักหน่อย ทั้งเรื่องระยะห่าง และระยะเวลา

    นอกจากนี้ระบบดังกล่าว จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อใช้งานบนถนนที่ค่อนข้างตรงหรือมีทางโค้งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะหากเจอกับทางโค้งที่มีองศาหักเลี้ยวมากๆ จนรถคันข้างหน้าเลี้ยวพ้นแนวกล้องที่ใช้ในการตรวจจับไป ระบบจะตัดการทำงานทันที (แต่ทั้งนี้ก็เข้าใจได้ เพราะยังไงมันก็ไม่ใช่ระบบช่วยขับแบบ 100% แต่แรกอยู่แล้ว)
  • Lane Departure Warning include Lane Departure Prevention ระบบเตือนเมื่อรถออกนอกเลนพร้อมระบบบังคับรถกลับเข้าเลน หากระบบตรวจจับว่ารถกำลังคร่อมเส้นแบ่งเลน จะดึงพวงมาลัยนำรถกลับเข้ากลางเลนโดยอัตโนมัติ (ระบบทำงานที่ความเร็วตั้งแต่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป)

    จากการทดสอบ ตัวผู้ทดสอบพบว่า หากเส้นถนนจางเกินไป ระบบอาจมีอาการตรวจไม่พบเส้นแบ่งถนน และไม่ยอมช่วยหักเลี้ยวเป็นบางจังหวะ และถึงแม้ทางค่ายจะระบุว่ามันจะทำงานเมื่อขับด้วยความเร็วที่ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป แต่ใช่ว่ามันจะทำงานในทันทีที่รถวิ่งไปถึงความเร็วดังกล่าว เพราะดูเหมือนระบบยังต้องใช้เวลาในการอ้างอิงเส้นแบ่งถนนอีกราวๆ 3-5 วินาที
  • Pre-Collision Braking ระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ ช่วยปกป้องความปลอดภัยได้ในสถานการณ์การขับขี่ ตามสี่แยกจราจร จุดที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ พัฒนากล้องสเตอริโอคู่หน้าให้มีระยะตรวจจับวัตถุกว้างกว่าเดิม (จากมุมซ้ายถึงมุมขวา) ถึงเกือบสองเท่า รวมทั้งจากมุมบนถึงมุมล่าง

    จากมุมซ้ายถึงมุมขวา กล้องจะตรวจจับวัตถุหรือสิ่งกีดขวางได้กว้างและไกลขึ้น อันช่วยลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนได้มาก ตรวจจับวัตถุได้ไม่เพียงเฉพาะในเลนที่อยู่เท่านั้น ยังกว้างไปครอบคลุมเลนข้างๆด้วย ตัวอย่างเช่น รถในเลนสวน และคนข้ามถนนจากทั้งทิศทางซ้ายและทิศทางขวาของสี่แยกจราจร

    จากการทดสอบ ผู้ทดสอบพบว่าระบบสามารถทำงานได้ดี ยังไม่พบการติดขัดใดๆในจุดนี้ ซึ่งถือว่าค่อนข้างน่าประทับใจเป็นอย่างมาก
  • Subaru Rear Vehicle Detection (SRVD) ระบบตรวจจับวัตถุด้านหลัง ระบบเรดาร์เซ็นเซอร์จะตรวจจับวัตถุที่อยู่ด้านหลังรถ และส่งสัญญาณเตือนผู้ขับหากจะเปลี่ยนเลนบนถนนหรือถอยหลังในที่จอดรถ

    *ระบบนี้ทาง Subaru ไม่ได้มีการจัดสถานีให้ทดสอบแต่อย่างใด
  • High Beam Assist (HBA) ไฟหน้าอัจฉริยะปรับสูง-ต่ำอัตโนมัติ เป็นฟังก์ชันใหม่ที่ให้มาเพื่อเพิ่มทัศนวิสัยที่ปลอดภัย โดยเฉพาะเวลากลางคืน หรือบนถนนที่มืด ลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุ ทำงานคู่กับกล้องสเตอริโอคู่หน้า ไฟหน้าอัจฉริยะจะปรับไฟหน้าสูง-ต่ำให้อัตโนมัติ โดยไม่ต้องรอให้ผู้ขับสั่งการ และไม่ต้องกังวลว่าไฟหน้าจะรบกวนการขับขี่ของรถคันอื่น  

    ลักษณะการทำงานคือ เมื่อกล้องสเตอริโอคู่หน้าจับได้ว่าแสงบนถนนสว่างพอ เช่น มีแสงจากไฟถนน หรือเมื่อมีรถอยู่ข้างหน้าในเลนที่ตรงกัน และเลนด้านข้าง ไฟหน้าจะปรับเป็นไฟต่ำโดยอัตโนมัติ ระบบนี้มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะการขับขี่บนถนนนอกเมืองในประเทศไทย เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา เพราะผู้ขับไม่ต้องกังวลเรื่องการปรับไฟหน้า และเห็นทางข้างหน้าได้ชัดขึ้น ทำให้การขับเวลากลางคืนมีความปลอดภัยมากขึ้น

    *ระบบนี้ทาง Subaru ไม่ได้มีการจัดสถานีให้ทดสอบแต่อย่างใด

นอกจากระบบความปลอดภัย เจ้า Forester รุ่นใหม่ ยังได้รับการปรับปรุงระบบควบคุมการขับเคลื่อน “X-Mode” ใหม่ ให้ทำสามารถทำงานได้อย่างชาญฉลาด และมีสเถียรภาพยิ่งขึ้นเช่นกัน ด้วยโหมดย่อย 3 รูปแบบ ได้แก่ Normal, Snow/Dirt, และ Deep Snow/Mud

โดยหากเป็นตัว S ซึ่งเป็นรุ่นบน ยังมีการเพิ่มระบบสแตนด์บายรอ เพื่อให้ระบบควบคุมการขับเคลื่อนที่ว่านี้ สามารถเปิด-ปิดการทำงานของตนเองได้ ตามความเร็ว และสภาพผิวถนนด้วย

แน่นอน ในส่วนของการทดสอบรอบสื่อมวลชน ทาง Subaru ก็ได้มีการจัดสถานีทดสอบพิเศษให้พวกเราได้ลองสมรรถนะและเปรียบเทียบความแตกต่างของโหมดระบบขับเคลื่อนในตัวรถ Forester รุ่นใหม่นี้ด้วย

โดยตัวสถานีสำหรับทดสอบการขับขี่ที่ว่านี้ จะเป็นการทดสอบบนทางดิน ที่มีทั้งการวิ่งสลาลอมบนพื้นดินแข็งมีหญ้าปกคลุมเล็กน้อย เพื่อดูความสเถียร ตามด้วยการไต่เนินสลับ เพื่อดูความสามารถในการออกจากอุปสรรคเมื่อมีล้อแขวน และสุดท้ายคือการวิ่งลุยโคลนที่ไม่ใช่แค่ทางตรง แต่เป็นทางโค้งที่ทำให้รถมีโอกาสเสียการทรงตัวมากกว่าเดิมไปอีกขั้น

และในส่วนสถานีแรกสุดหากเป็นการใช้งานด้วยโหมดขับเคลื่อน 4 ล้อ Symmetrical All-Wheel Drive ปกติ ด้วยความเร็วราวๆ 40-50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนตัวผู้ทดสอบพบว่าตัวรถนั้นสามารถรักษาอาการ และการทรงตัว รวมถึงความมั่นคงได้ดี อาจจะมีอาการเป๋ๆไปมาบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในขั้นที่สามารถแก้อาการได้ง่าย ไม่หวิวเกินไป ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณในเรื่องจุดศูนย์ถ่วงตัวรถที่ไม่ได้สูงมากนัก จึงทำให้ตัวรถไม่ค่อยโคลงสักเท่าไหร่ แม้ว่าภายในจะมีผู้โดยสารถึง 4 คนก็ตาม

แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ เมื่อปรับไปใช้ X-Mode แล้ว ในคราวนี้ ผู้ทดสอบพบว่าตัวรถจะมีความกระฉับกระเฉง และเฉียบคมในการหักเลี้ยวมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับช่วงท้ายรถที่มีอาการขวางออกน้อยลง และมั่นคงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งทางผู้ควบคุมการทดสอบก็ให้คำอธิบายไว้ว่าเป็นเพราะลักษณะการถ่ายแรงบิดของระบบขับเคลื่อนที่เปลี่ยนไป จากเดิม โดยเน้นการเฉลี่ยแรงบิดไปยังล้อต่างๆที่ฉับไวยิ่งขึ้น จึงทำให้รถมีความมั่นคงมากกว่าในทางฝุ่นนั่นเอง

ด้านสถานีไต่เนินสลับ ในส่วนนี้ แท้จริงแล้วสำหรับการขับเจ้า Forester ด้วยโหมดการขับเคลื่อนแบบปกติ มันก็สามารถผ่านอุปสรรคดังกล่าวได้สบายๆอยู่แล้ว คืออาจจะมีจังหวะที่ต้องรอระบบประมวลผลอยู่บ้าง แต่ก็ยังถ้าจับจังหวะในการใช้คันเร่งดีๆ มันก็จะสามารถค่อยๆไต่ผ่านอุปสรรคไปได้ทีละนิดๆพร้อมกับเสียงเครื่องที่อื้ออึงนิดหน่อย (เพราะล้อที่แขวนลอยอยู่สามารถหมุนได้เยอะ)

ทว่าพอได้ลองกลับมาที่อุปสรรคดังกล่าวอีกครั้ง ด้วยการใช้ X-Mode เข้าช่วย ในคราวนี้กลายเป็นว่าตัวรถสามารถไต่ผ่านอุปสรรคได้โดยที่แทบไม่ต้องลุ้น แทบไม่ต้องรอให้ระบบประมวลผลตัวมันเอง เพราะทันทีที่ระบบพบว่ามีล้อใดล้อหนึ่งหมุนฟรีมากเกินไป มันก็จะรีบถ่ายแรงบิดไปยังชุดล้อฝั่งตรงข้ามอย่างรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่ามันอาจจะไม่เท่ากับพวกรถที่มีระบบดิฟฟ์ล็อคไฟฟ้า แต่เท่านี้ก็ถือว่าเกินพอแล้ว สำหรับรถที่ไม่ได้เกิดมาเพื่อลุยมากมายขนาดนั้น

สุดท้ายสำหรับการทดสอบบนทางฝุ่น คือทางโคลน ที่ในความเป็นจริงแล้ว ทาง Subaru จัดเตรียมสถานที่ไว้ค่อนข้างโหดพอสมควร และเชื่อว่าคงมีผู้ใช้รถ Forester จะกล้าขับรถของตนเองลงไปเจอสถานการณ์เช่นนี้ เพราะมันคือพื้นดินชุ่มน้ำ แล้วเละจนเป็นโคลนลึก และยังถูกปกคลุมไปด้วยต้นหญ้าที่พึ่งตัดใหม่ๆ

ทว่าหากทางค่ายไม่มั่นใจว่ารถไปได้ พวกเขาก็คงไม่จัดสถานีนี้ไว้ ซึ่งจากการทดสอบโดยตัวผู้เขียนเอง ก็พบว่ามันสามารถไปได้จริง ทั้งที่ยางติดรถคือยาง H/T เสียด้วยซ้ำ โดยแม้จะพบกับบางจังหวะที่รถล้อหมุนฟรีทั้งสี่ล้อจนแทบไม่สามารถวิ่งด้วยความเร็วเกินหลัก 10 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้ แต่มันก็ยังคงสามารถค่อยๆไหลจากอุปสรรคดังกล่าวไปทีละนิดๆได้ในที่สุด

เช่นเดียวกัน หากเปิดไปใช้ระบบ X-Mode สิ่งที่เราสัมผัสได้ชัดเจนคือ ในคราวนี้ตัวรถจะสามารถตะกรุยผ่านอุปสรรคได้อย่างต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น โดยที่การหักเลี้ยวรถไปทางร่องโคลนต่างๆก็มีความกระชับ และตามสั่งขึ้นมาก หรือว่าง่ายๆคือมีอาการพวงมาลัยหลงน้อยลงเยอะ

นอกจากนี้เหมือนเป็นการเกทับนิดๆ ทาง Subaru ยังได้มีการนำรถ PPV ของแบรนด์ตลาดมาให้สื่อฯได้ทดสอบเปรียบเทียบกันด้วย ซึ่งหลายฝ่ายต่างมองว่าเจ้า Forester ดันให้ความรู้สึกในการข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆได้อย่างมั่นใจมากกว่าจริง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการซับแรง หรือการรักษาการทรงตัว แม้แต่ความฉลาดในการทำงานของตัวระบบขับเคลื่อน

และถึงแม้ทาง Subaru จะมีการวางเป้าเอาไว้ว่า Forester รุ่นใหม่ล่าสุด สามารถสู้ในเรื่องของตะลุยในทางฝุ่นที่ผู้ใช้รถ PPV ส่วนใหญ่ชอบไปกันได้สบายๆ ทางค่ายก็ยังมั่นใจในเรื่องความสะดวกสบายและสเถียรภาพในการควบคุมบนทางดำของตัวรถที่เหนือกว่ารถเอสยูวีแบรนด์ตลาดที่มีราคาใกล้เคียงกันอีกด้วย

ซึ่งจากการทดสอบทั้งการวิ่งแบบสลาลอมอ้อมกรวย และการหลบหลีกแบบฉุกเฉิน (Moose Test) ผู้ทดสอบพบว่าตัวรถมีทั้งความนิ่ง และสามารถรักษาการทรงตัว หรือรักษาความเร็วขณะหลบหลีกอุปสรรคไปมาได้อย่างมั่นใจกว่ารถคู่แข่งเป็นอย่างมาก หรือว่าง่ายๆก็คือ ตัวรถนั้นมีความหนึบ และแน่นไปกับพื้นถนนดำที่มากกว่าคู่แข่งจริงๆ

นั่นจึงทำให้เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในภาพรวมนั้น Subaru Forester ถือเป็นรถยนต์ที่ให้สมรรถนะในการขับขี่และควบคุมที่มั่นใจ และไว้ใจได้กว่าคู่แข่งอย่างครอบคลุมจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถการลุยทางฝุ่น แบบที่ใครหลายคนคาดหวังจากรถ PPV หรือความสะดวกสบาย และความมั่นคงของตัวรถบนทางดำ เมื่อเทียบกับรถ SUV รุ่นยอดนิยมของใครหลายๆคน

ที่เหนือกว่านั้นคือระบบความปลอดภัยที่ใส่มาให้ครบครัน ทันสมัย และใช้งานได้จริงในทุกฟังก์ชั่น ซึ่งแม้ว่ามันอาจจะมีข้อจำกัดบางจุดให้เราต้องทำความเข้าใจอยู่บ้าง แต่ถ้าเทียบกับคู่แข่งในราคาใกล้เคียงกันแล้ว มันก็ถือว่าเป็นระบบความปลอดภัยที่ครบครันที่สุดเป็นอันดับต้นๆของกลุ่มอยู่ดี

ส่วนในเรื่องของการทดสอบสมรรถนะต่างๆของตัวรถ ทั้งระบบขับเคลื่อน ระบบช่วงล่าง ระบบการทำงานของเครื่องยนต์ หรือการทดสอบลูกเล่นต่างๆที่ถูกเพิ่มเข้ามา บนถนนจริงๆ ด้วยสถานการณ์การใช้งานจริง อาจจะต้องขอเก็บไว้ก่อน จนกว่าเราจะมีโอกาสได้นำมันมาทดสอบกันอีกครั้ง ในรูปแบบของพวกเราทีมงาน Ridebuster…

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่