หนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ผู้คนส่วนมาก ยังไม่พร้อมที่จะหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100% ก็คือเรื่องราคา ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนในการผลิตที่ค่อนข้างสูง แต่จากงานศึกษาล่าสุด กลับระบุว่าปัญหานี้จะหมดไปภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทว่ามันอาจไม่ได้ส่งผลดีไปทั้งหมดเลยเสียทีเดียว

จากข้อมูลงานศึกษาโดยบริษัทวิเคราะห์การตลาด “Gartner” ระบุว่า ต้นทุนการผลิตของรถยนต์ไฟฟ้า มีแนวโน้มที่จะถูกลงจนใกล้เคียงกับการผลิตรถยนต์ขุมกำลังสันดาปภายใน ในปี 2027 โดยเป็นผลมาจากการคิดค้นทางด้านวิศวกรรม และการพัฒนาระบบโครงสร้างในการผลิตด้านต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องชิ้นส่วนตัวรถ ไม่ว่าจะเป็น โครงสร้างหลัก หรือโดยเฉพาะการผลิตแบตเตอรี่ ที่ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด

“เหล่าผู้ผลิตชิ้นส่วน OEM ต่างต้องการที่จะพลิกเปลี่ยนสถานะของตนเองในโลกยานยนต์ (ไม่อยากเป็นคนที่ผลิตตามสั่งของแบรนด์อีกทีเพียงฝ่ายเดียว)” Pedro Pacheco รองประธานของบริษัท Gartner กล่าว “พวกเขานำเสนอนวัตกรรมที่ช่วยลดต้นทุนในการผลิต อย่างเช่น การใช้แพลตฟอร์มเป็นศูนย์กลางในการสร้างรถ หรือการนำเสนอเทคโนโลยี Gigacastings ซึ่งต่างช่วยลดเวลาและต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี”

“และเหล่าผู้ผลิตเองก็ไม่มีทางเลือก จึงจำเป็นจะต้องปรับตัวทำตามเพื่ออยู่รอดให้ได้”

อย่างไรก็ดี แม้การใช้ “เทคโนโลยีแพลตฟอร์ม” จะเป็นตัวช่วยในเรื่องการลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อตัวรถถูกสร้างขึ้นด้วยวิธีนี้ ทำให้รถคันนั้นๆมีแนวโน้มที่จะสามารถใช้งานชิ้นส่วนหลายๆอย่างร่วมกับตัวรถรุ่นอื่นๆได้ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนค่าอะไหล่ต่างๆถูกลง

ทว่าในส่วนเทคโนโลยีการขึ้นรูปแบบ Gigacasting นั้น แม้จะทำให้ต้นทุนในการผลิตลดลงได้มากกว่าการผลิตแบบดั้งเดิม เพราะมักเป็นการขึ้นโครงสร้างตัวรถ พร้อมชิ้นส่วนตัวถังในคราวเดียว ทำให้ประหยัดทั้งเวลา และจำนวนชิ้นส่วนในการประกอบ ส่งผลให้มันช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้มาก และทำให้ผู้ผลิตสามารถวางจำหน่ายราคารถในราคาที่ถูกลงได้ เหมือนอย่างที่ Tesla กำลังทำอยู่ในช่วงขวบปีที่ผ่านมา จนเกิดการ กระหน่ำหั่นราคารถของตัวเองลงได้เรื่อยๆ ชนิดที่ไม่เกรงใจว่าลูกค้าเก่าของตนเองจะหลังหักซ้ำซ้อนมากแค่ไหน

แต่การผลิตตัวรถในลักษณะดังกล่าว กลับสร้างผลเสียในยามที่รถเกิดอุบัติเหตุเล็กๆน้อยๆไปจนถึงหนัก เพราะแทนที่ผู้ใช้จะสามารถเลือกเปลี่ยนชิ้นส่วนแค่เท่าที่จำเป็น หรือเท่าที่เสียหายได้เหมือนในอดีตที่ผ่านๆมา

กลับกลายเป็นว่าพวกเขาต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนรถทั้งแผง ซึ่งนอกจากค่าชิ้นส่วนจะแพงกว่าปกติแล้ว ด้วยกรรมวิธีการผลิต จึงทำให้การซ่อมแซม หรือการประกอบกลับยิ่งมีความยุ่งยากมากกว่าเดิมในมุมของช่างด้วย ซึ่งนั่นย่อมทำให้ช่างซ่อมอาจมีการคิดค่าแรงจากการรับงานนี้มากกว่าเดิม

และจากผลพวงในข้างต้น ทาง Gartner ประเมินว่า มันอาจจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมตัวรถยนต์ไฟฟ้ายุคใหม่ อาจมีมูลค่าสูงขึ้นกว่าการซ่อมรถแบบดั้งเดิมถึง 30% และอาจทำให้มันเกินวงเงินความเสียหายที่บริษัทประกันให้เอาไว้กับลูกค้า และหมายความว่าลูกค้าอาจจะต้องออกเงินเพิ่มเติมเองในบางส่วน เพื่อซ่อมรถของตนเองให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม หรือไม่เช่นนั้น ก็อาจจะเกิดกรณี “การตีขายซาก” ง่ายขึ้น แม้ว่ารถจะไม่ได้เสียหายมากเท่าไหร่นักก็ตาม

ถึงกระนั้น ทางบริษัทต้นเรื่อง ก็ยังมองว่ายอดขายของรถยนต์ไฟฟ้าจะสามารถเติบโตต่อไปได้ในปีถัดๆไปจากนี้ โดยจากที่ในปี 2023 รถยนต์ไฟฟ้าสามารถสร้างยอดขายทั่วโลกได้ 15.4 ล้านคัน ในปี 2024 ก็คาดว่าจะเพิ่มเป็น 18.4 ล้านคัน และในปี 2025 ก็คาดว่าจะเพิ่มเป็น 20.6 ล้านคัน

แต่จากตัวเลขแนวโน้มในข้างต้น จะเห็นได้ว่าท้ายที่สุดแล้ว อัตราการเติบโตด้านยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้า ก็ไม่ได้เป็นไปแบบก้าวกระโดดดังที่ใครหลายคน โดยเฉพาะในหมู่ผู้ผลิตเคยคาดหวังเอาไว้ จึงทำให้ในตอนนี้การจะรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หรือต้องวางแผนกันให้ดี จนชนิดที่ว่าบริษัทสตาร์ทอัพหน้าใหม่ อาจไม่เหมาะที่จะเข้าร่วมอุตสาหกรรมนี้ ถ้าไม่มีเงินเพื่อแบกรับความเสี่ยงที่หนาพอ

“จากความเข้าใจที่ว่าตลาดสามารถเติบโตได้ง่าย (ในอดีตที่พึ่งผ่านไปไม่นาน), หลายบริษัทสตาร์ทอัพต่างสนใจที่จะเข้ามาร่วมวงตลาดรถยนต์ไฟฟ้า, จากผู้ผลิตรถยนต์ สู่ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า, และบางรายอาจยังต้องพึ่งพาในเรื่องของการระดมทุนจากภายนอกอย่างหนัก (เพราะเงินทุนในบริษัทมีไม่มากพอ), และนั่นทำให้พวกเค้ายิ่งต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาด” Pacheco กล่าว

“ถ้าให้บอกเพิ่ม, ความน่าสนใจในรถยนต์ไฟฟ้ายังมีแนวโน้มที่จะค่อยๆหมดไปในบางประเทศ, ซึ่งนั่นจะทำให้ตลาดยิ่งท้าทายมากขึ้นไปอีกในมุมของผู้ผลิต” และจากข้อมูลที่ว่านี้ ทาง Gartner จึงมองว่ามันอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในโลกอุตสาหกรรมยานยนต์ นั่นคือ อาจมีผู้ผลิตน่าใหม่ล้มละลายไปกว่า 15 เปอร์เซ็นท์ หรือไม่เช่นนั้น พวกเขาอาจถูกบริษัทใหญ่ฮุบไป ภายในปี 2027

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่