ช่วงสัปดาห์ทีผ่าานมา วงการยานยนต์ไฟฟ้า มีประเด็นร้อน เมื่อมีการถกเถียง กันในหมู่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ว่า ในการใช้บริการตู้สาธารณะแบบชาร์จเร็ว หรือ Direct Charge (DC) ควร ชาร์จ เพียงแค่ 80% เพื่อให้ผู้ที่เข้าคิวต่อ รอชาร์จ มีโอกาสได้ใช้บริการ และไม่ควรชาร์จมากกว่านั้น หรือ 100% ที่สาธารณะ

จนกลายเป็นประเด็น ในระหว่างหมู่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าว่า เรื่องนี้เจ้าได้แต่ใดมา ใครเป็นคนกำหนดว่า ชาร์จตู้สาธารณะ ต้องชาร์จได้เพียง 80% เท่านั้น ทั้งที่ผู้ให้บริการ ตู้ชาร์จทุกราย ไม่มีใครออกกฏระเบียบดังกล่าวขึ้นมา มีเพียง กลุ่มผู้ใช้ หรือสนใจรถยนต์ไฟฟ้า เจ้าเก่าเจ้าประจำ ที่ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ซ้ำไปซ้ำมา และกลายเป็นที่จดจำ ของคนใช้รถยนต์ไฟฟ้าหน้าใหม่ที่เพิ่งหันเข้าสู่วงการ

โหวตแล้ว เสียงแตก

หลังจากดราม่าเกิดขึ้น ในกลุ่ม มีการโหวตภายในกลุ่มกันเอง โดยเสียงจากการโหวต แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ด้วยกัน

กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ได้ยกเหตุผล ว่า ควรชาร์จแค่เพียง 80% เท่านั้น เนื่องจาก หลังการชาร์จ 80% ไปแล้ว ระบบชาร์จแบบ DC จะอัดไฟช้าลง เพื่อปรับสมดุลในแบตเตอร์รี่ รวมถึง จัดเรียงประจุ เสียเวลาค่อนข้างมาก กว่า การชาร์จ จากช่วง0-80%

จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้ ตู้ชาร์จแออัด และเสียเวลากว่าการเดินทาง โดยชาร์จ 80% ในแง่มุมคนชาร์จ อีกด้าน คนรอ ก็เสียเวลารอนานมากขึ้น โดยไม่จำเป็น ยิ่งกับตู้ชาร์จ ที่ไม่ระบบจองล่วงหน้าให้บริการ ณ ปัจจุบัน มีจำนวนมากมายหลายเจ้า

กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย และเป็นส่วนใหญ่ ให้เหตุผลว่า แม้ว่า จะเป็นความจริงที่รถยนต์ไฟฟ้า จะชาร์จช้าลง เมื่อแบตเตอร์รี่ 80% ไปแล้ว

แต่ในการใช้งานจริง บางครั้ง ระยะทาง 80% ของรถบางรุ่น ( โดยเฉพาะรถที่มีขนาดเล็ก) อาจไม่สามารถไปถึงที่หมายปลายทาง หรือจุดชาร์จต่อไป จำเป็นต้องชาร์จมากกว่านั้น เผื่อเอาไว้ก่อน

ตลอดจนรถบางรุ่น ที่มีแบตเตอร์รี่ขนาดใหญ่ ศักยภาพสูง สามารถชาร์จ DC ในช่วงดังกล่าวได้เร็วกว่า รถปกติทั่วไป จึงไม่เสียเวลา

ดังนั้น การชาร์จ DC เกิน 80% ก็ไม่น่ามีปัญหา ถ้าการชาร์จยังเป็นสิทธิ์ของผู้ใช้บริการ เว้นว่าใช้บริการเกินจากเวลาที่จองเอาไว้ หากไม่เกินเวลา ก็ถือเป็นสิทธิการชาร์จของผู้ใช้ก่อนหน้า เขาจะชาร์จเท่าไร ยังไง ไม่มีสิทธิไปกะเกณฑ์เขา ถ้าเขาไม่ได้ล้ำเส้น

แล้วจริง หรือ DC ควรชาร์จได้แค่80% ?

เรื่องนี้ ต้องบอกกันตามตรงครับว่า มันมีที่มาที่ไป จากข้อเท็จจริงบางประการ ของรถยนต์ไฟฟ้า ครับ

ตามปกติแล้ว เวลาเราชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าด้วยกำลังไฟฟ้าแรงสูง จากตู้ชาร์จ DC กำลังไฟฟ้าที่จ่ายมาแรงเต็มพิกัด จะนำมาซึ่งความร้อนกับชุดแบตเตอร์รี่

ด้วยเหตุนี้ เมื่อระบบชาร์จในตัวรถ ตรวจพบว่าแบตเตอร์รี่มีความร้อน ในระดับหนึ่ง จึงมักจะลดความเร็วในการชาร์จลงตามลำดับ ทำให้ความเร็วในการชาร์จลดลง

ในทางปฏิบัติ ระบบชาร์จจะวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดในช่วงที่แบตเตอร์รี่อยู่ในระดับต่ำมากๆ และ ค่อยๆ ลดความเร็วในการชาร์จเรื่อยๆ จนถึงในช่วงที่แบตเตอร์รี่เต็ม 100% รถยนต์ไฟฟ้าทุกรุ่น ไม่ว่าจะถูกหรือแพง จะทำงานเหมือนกันหมด แตกต่างเพียง จะชาร์จช้าลงมากน้อย เพียงใด อาจแตกต่างกัน

ด้วยเหตุนี้ รถยนต์ไฟฟ้าทุกรุ่น เมื่อชาร์จมาในระดับหนึ่งแล้ว โดยมากคือ ช่วง 80% ขึ้นไป มักจะลดกำลังชาร์จลง เพื่อระบายความร้อนและจัดเรียงประจุไฟฟ้าไปพร้อมกัน ทำให้ระยะเวลาในการชาร์จ ช่วง 80-100% ใช้เวลาค่อนข้างมาก

จึงเป็นที่มาของสาเหตุว่า ทำไม ผู้ใช้บางคนมองว่า การชาร์จสาธารณะ ไม่ควรชาร์จเกิน 80% ขึ้นไป เพราะจะเสียเวลาในการอยู่หน้าตู้มากกว่า เมื่อเทียบกับ การขับรถไปหา ตู้ชาร์จข้างหน้า เมื่อชาร์จได้ระดับนี้

กฏหมู่ ไม่ควรเหนือความต้องการ

แต่อย่างที่เราเห็นรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน มีความสามารถแตกต่างกัน โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาค่อนข้างสูง จะมาพร้อมกับแบตเตอร์รี่ที่มีความสามารถมากว่ารถทั่วไป ทั้งในเรื่องขนาดความจุแบตเตอร์รี่ และความสามารถในการระบายความร้อน รวมถึง ความเร็วในการชาร์จ

ด้วยเหตุนี้ แม้ว่า ความเร็วหลัง 80% จะถูกปรับทอนลงในรถยนต์ไฟฟ้าทุกคัน แต่หากเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีความสามารถ ในการชาร์จสูง มักจะมีความเร็วในการชาร์จ ช่วงสุดท้ายมากกว่า อาจใช้เวลาเร็วกว่า รถทั่วไป

รวมถึง เมื่อรถมีแบตเตอร์รี่ขนาดใหญ่ บางครั้งระดับแบตฯ อาจจะยังลดต่ำลงไม่มากนัก แต่เมื่อผู้ใช้รถต้องการจะชาร์จ กลับถูกคนที่ตั้งกฏหมู่ในสังคมมองว่า ไม่ควรชาร์จ ทั้งที่เขาก็อาจจะมีความต้องการในการใช้บริการ ซึ่งก็ดูจะไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้เหล่านี้

และ อย่าว่าเพียงรถยนต์ไฟฟ้าราคาแพง มากความสามารถ รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่มีแบตเตอร์รี่ไม่ใหญ่ หากถูกกฏหมู่ ว่าควรชาร์จ DC 80% เท่านั้น จำกัด จะทำให้ระยะเดินทางน้อยลงตามไปด้วย จนอาจไปไม่ถึงที่หมายที่ตั้งใจไว้ มันไม่เป็นผลดีอย่างแน่แท้

จนถ้ามองในทิศทางใดก็ตาม การที่ คนโซเชี่ยล (ทั้งที่อาจจะไม่ได้ใช้ รถยนต์ไฟฟ้า) มาตั้งกฏ ว่า ตู้ DC ควรชาร์จ 80% เท่านั้น มองทางไหน ก็ไม่ได้สร้างประโยชน์ต่อผู้ใช้งานจริง

การชาร์จ DC ผู้ใช้ควรได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ตามสิทธิที่ควรมี ไม่ใช่มาสร้างกฏระเบียบทางสังคม บ้าบอ โดยใช้คำไทยๆ อย่าง”น้ำใจ” เป็นตัวกำหนด ให้ทุกคนต้องทำตาม

ด้วยความต้องการแต่ละคนต่างกัน , ความสามารถของรถต่างกัน และ รวมถึงจุดหมายปลายทางที่จะไปต่างกัน

จริงที่ การชาร์จ 80% อาจเสียเวลาน้อยกว่า หรือ เท่ากับการชาร์จ จนถึงระดับที่ต้องการ (ที่เกิน 80%)

แต่หากเอาความหลากหลายมาคุย สิ่งที่ถกเถียงในเวลานี้ ผู้ใช้รถตัวจริงได้ตอบไปแล้วว่า

ไม่ควรจำกัดจำเขียดว่า ตู้ DC ต้องชาร์จแค่ 80%

แต่ใช่ ถ้ามีคนรอชาร์จ DC แล้วคุณยังไม่รีบจะไปไหนต้องการไฟเพิ่ม การชาร์จ AC หลังจาก 80% อาจเป็นอีกคำตอบ ในการเอื้อเฟื้อ ต่อผู้ใช้งานร่วมกัน

กลับกัน หากจะฟันไปเลยว่า DC ใช้ชาร์จได้แค่ 80% เท่านั้น ก็เหมือนกับ การบังคับทุกคน โดยไม่ได้ดูความแตกต่าง ทั้งปลายทาง รวมถึง ความสามารถตัวรถ ซึ่งไม่ว่ารถจะถูก หรือ แพง ควรมีสิทธิในการใช้งานเท่ากัน ครับ

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่