ท่ามกลางบรรดากระแสสังคมที่กร่านด่ารถแต่ง ในเรื่องการติดตั้งไฟต่างๆ เสริมจากโรงงาน ที่ทั้งไม่มีประโยชน์ บ้างก่อความเดือนร้อนรำคาญ และผิดกฎหมาย ตำแหน่งไฟส่องยามขับขี่เวลากลางวัน หรือ  Day Time Running Light บ้างอาจะเรียกว่า “ไฟเดย์ไลท์”  กลายเป็นเรื่องราวกลับตาลปัตร เมื่อเทียบบรรดาไฟอื่นๆ พวกมันไม่เคยถูกพูดถึงในเชิงลบในวงสังคม ซ้ำยังมีประโยชน์ในแง่ความปลอดภัยด้วย

แนวความคิดการติดตั้งไฟ   Day Time Running Light   เริ่มขึ้นจากบรรดารถยุโรป มาตั้งแต่ช่วงปี 1990 เมื่อมีการค้นพบว่า การเปิดไฟหน้าขับขี่ในเวลากลางวัน สามารถช่วยลดอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในสภาพอากาศขมุกขมัว ทัศนวิสัยย่ำแย่ ในช่วงฤดูหนาว  และเริ่มกลายเป็นวัฒนธรรมประจำถิ่นในหลายประเทศทางตอนเหนือแถบสแกนดิเนเวีย

สวีเดนเป็นประเทศแรกๆ ที่ให้ความสำคัญในการเปิดไฟหน้ารถเวลากลางวัน เนื่องจากประเทศอยู่ทางตอนเหนือของยุโรปในช่วงฤดูหนาวจะเกิดภาวะอากาศขุ่นมัวบ่อยครั้ง จึงเริ่มใช้นโยบายเปิดไฟหน้าขับขี่ยามกลางวันมาตั้งแต่ปี 1977 ก่อนประเทศอื่นในเขตเหนือจะเอาบ้าง อาทิในนอร์เวย์เริ่มใช้ในปี 1986 ก่อนจะขจรไปไกลถึงในแคนาดาในปี 1989

ในยุคแรกๆ ไฟ   DRL (Day Time running Light)  ใช้สัญญาณไฟหน้าในตำแหน่งไฟต่ำ และด้วยการเป็นที่สังเกตชัดเจนทำให้มีการขยายผลจากรถยนต์ไปสู่รถมอเตอร์ไซค์ จนกลายเป็นที่มาของการเปิดไฟหน้าขับมอเตอร์ไซค์ ทั่วโลก เนื่องจะเป็นจุดสังเกตต่อรถยนต์มากขึ้น

แต่เนื่องจากหลอดไฟหน้าฮาโลเจนมีอายุการใช้งานที่จำกัด และค่อนข้างขาดได้ง่าย  เมื่อใช้งานต่อเนื่องนานๆ  จึงเริ่มมีการคิดค้นไฟที่ออกแบบมาใช้ใช้ส่องสว่างเพื่อเป็นที่สังเกต และ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เพื่อการส่องสว่างเพิ่มทัศนวิสัย หากเพียงต้องการให้เป็นที่สังเกตแก่เพื่อนร่วมทางยามขับขี่ จึงเริ่มมีการติดตั้ง  Ambient Light  สีเหลืองเกิดขึ้น หลายคนเข้าใจว่า นี่เป็นตำแหน่งเดิมของไฟตัดหมอก เนื่องจากมักถูกติดตั้งทางด้านหน้าตรงกันชนรถ

จนเมื่อโลกเริ่มก้าวเข้าสู่ความทันสมัย บริษัทรถยนต์จึงเริ่มคิดค้นไฟที่ส่องสว่างกว่าการใช้ไฟสีเหลือ ซึ่งเป็นที่สังเกตได้ขึ้นมา พวกเขาเลือกใช้ไฟ LED   สีขาว มาสร้างจุดสังเกตให้ตัวรถ โดยใส่ไว้ในโคม ซึ่งนอกจากจะมีประโยชน์แล้วยังเพิ่มความสวยงาม จนเริ่มกลายเป็นที่นิยมในหมู่รถยนต์ยุโรป

ในปี 2008 มีความกังขาเกิดขึ้นในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ ว่าไฟ  DRL   ให้ความปลอดภัยมากขึ้นจริงหรือไม่  รายงานการวิจัยจาก   NHTSA   หน่วยงานความปลอดภัยทางถนนในอเมริกาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการถกเถียงกันในหมู่รัฐบาลถึงความเหมาะสมการติดตั้งไฟ  DRL   ในรถยนต์อเมริกา

จากผลการศึกษาดังกล่าวชี้ว่า การติดตั้งไฟ DRL   ไม่ได้ช้วยลดอุบัติเหตุอย่างมีนัยยะสำคัญ หากช่วยเพิ่มการเป็นจุดสังเกตของผู้ขับขี่รายอื่นบนถนน ในกรณีรถสีขาว ซึ่งอาจจะมีการสะท้อนแดดในเวลากลางวัน ไฟ  DRL   ช่วยให้เป็นที่สังเกตได้ดี รวมถึงในรถบรรทุก ภายหลังจึงมีกฎให้รถส่งของสีขาวและรถบรรทุกต้องติดไฟเหล่านี้

และกลายเป็นข้อบังคับที่ทางคณะกรรมการยุโรป นำมาใช้บังคับในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปด้วย โดยระบุให้รถบรรทุก,รถโดยสารต้องมีไฟเหล่านี้ แต่ในบรรดาสมาชิกประเทศในยุโรป ก็ออกกฎภายในประเทศเองตามแต่สมควร บางประเทศเห็นความสำคัญของ  DRL   มาก จนสั่งให้รถทุกรุ่นที่ขายในประเทศต้องมีไฟที่สังเกตได้ในตำแหน่งไฟต่ำ หรือติดตั้ง  DRL   จากโรงงาน

จนเป็นเหตุผลว่า ทำไมรถที่มีไฟ  DRL   ส่วนใหญ่จะเป็นรถมาจากผู้ผลิตยุโรป หรือเป็นรถยนต์ยอดนิยมและต้องวางในอเมริกา 

ไฟส่องสว่างขับขี่ยามกลางวัน อาจไม่ได้มีการวิจัยชี้ชัดถึงความปลอดภัยเมื่อคุณมีหรือใช้มัน แต่อย่างหนึ่งที่ชัดเจน คือคุณเป็นที่สังเกตของเพื่อนร่วมทางมากขึ้น พวกเขาจะเห็นคุณแต่ไกล แล้วแบบนี้เราควรติดตั้งไฟ  DRL   หรือเลือกซื้อรถที่มีไฟนี้จากโรงงานหรือไม่ นั่นก็สุดแท้แล้วแต่คุณจะเลือก  …

 

ติดตามข่าวสารและบทความดีๆ จากพวกเรา Ridebuster.com



แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่