หลังประสบความสำเร็จกับการทำตลาด BYD Atto 3 พร้อมส่งมอบไปแล้วไม่น้อยกว่า 10,000 คัน เมื่อไม่นานมานี้ ทาง Rever Automotive ก็ได้มีการเชิญสื่อชาวไทย ไปร่วมทดสอบรถยนต์ไฟฟ้าของ BYD อีกหลายรุ่นที่พวกเขาอาจนำมันมาวางขายในบ้านเรา

และสำหรับตัวรถที่ทางทีมงาน Ridebuster เลือกที่จะทำการทดสอบ รีวิว ในครั้งนี้ ก็คือรถยนต์ไฟฟ้าจาก BYD ถึง 2 รุ่นด้วยกัน แถมอันที่จริง มันก็ได้เคยถูกนำมาเผยโฉมในไทยก่อนแล้วช่วงปลายปี 2022 ที่ผ่านมาแล้ว และนั่นคือ BYD Dolphin และ BYD Seal

โดยสำหรับการทดสอบในครั้งนี้ ต้องบอกก่อนว่า มันเป็นเพียงการทดสอบแบบสั้นๆ เพื่อให้เหล่าสื่อผู้เข้าร่วมงานได้ทำความรู้จักกับตัวรถแต่ละคันที่ถูกนำมาให้ทดสอบพอหอมปากหอมคอ ตามสถานีที่จัดเอาไว้แล้วเท่านั้น ซึ่งมันอาจจะทำให้เราไม่สามารถลงลึกถึงสมรรถนะของมันได้มากนัก แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เรากล้าบอกว่า รถแต่ละคันที่พวกเขาเตรียมจะนำมาขายในบ้านเรานั้น ล้วนมีความ “น่าสนใจ”

BYD Dolphin

ถือเป็นรถซิตี้คาร์ หรือแฮชท์แบกขนาดเล็ก ที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงาน Motor Expo 2022 ไปพอสมควร เนื่องจากมันมาพร้อมกับขนาดตัว และรูปทรงที่เป็นหนึ่งในกลุ่มตลาดยอดนิยมของประเทศไทย นั่นคือคอมแพ็ค-แฮชแบ็ค หรือใกล้เคียงกับรถแฮชท์แบคทั้งหลาย ที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการใช้งานในเมือง และในปัจจุบันก็มีคู่แข่งชิงส่วนแบ่งกันอยู่แล้วหลายคัน

แถมยังมีหน้าตาอันเป็นเอกลักษณ์ ด้วยเส้นสายที่บ่งบอกถึงความทันสมัย และโฉบเฉี่ยว ตั้งแต่งานออกแบบไฟหน้ากับกระจังหน้า และกันชนหน้าที่รับกันไปอย่างดี และที่โดดเด่นยิ่งกว่าคือเส้นตัวถังบริเวณบานนประตู ที่ดูพร้อมพุ่งทะยานไปด้านหน้า (ตามคำนิยามของ BYD)

และที่ขาดไม่ได้คือการออกแบบเสา C ทีท่มาพร้อมกับลายกราฟฟิก และไฟท้ายแบบ Cross Tail Light ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ได้กลิ่นอายเดียวกันกับ BYD Atto 3 มาแบบเต็มๆ

ส่วนงานตกแต่งภายในที่ดูแปลกตากว่ารถยนต์หลายๆคันที่ชาวไทยรู้จัก ตามฉบับของ BYD ด้วยแผงคอนโซลที่ใช้เส้นสายแบบมัดกล้ามเกือบจะคล้ายกับ Atto 3 แต่ใช้ช่องแอร์แบบกรอบกลม ซึ่งดูไปดูมาแอบคล้ายกับของรถจากแบรนด์หรูสัญชาติยุโรป และไม่ลืมที่จะใส่ชุดหน้าจอระบบอินโฟเทนนเมนท์ตรงกลางขนาด 12.8 นิ้ว ที่สามารถปรับแนวการแสดงผลได้ ว่าจะให้อยู่ในแนวตั้งหรือแนวนอน รวมถึงชุดหน้าจอแสดงผลข้อมูลตัวรถแบบลอยตัวอยู่บนคอพวงมาลัย

แน่นอนในส่วนชุดเบาะคู่หน้า ก็ยังคงเป็นเบาะทรง Gaming Seat ที่โอบกระชับผู้โดยสารเป็นอย่างดี ติดตรงที่ไม่สามารถปรับความสูง-ต่ำ ของหัวหมอนได้ ส่วนเบาะผู้โดยสารตอนหลัง ก็อยู่ในระดับที่สามารถนั่งได้สบาย ไม่อึดอัด แม้รถจะตัวเล็ก ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณพื้นที่วางขาที่ค่อนข้างกว้างและไม่มีอุโมงเกียร์ลอยขึ้นมา เหมือนรถสันดาปภายใน

และหากมุมมองจากกระจกทางด้านข้าง ยังทำให้รถดูโปร่งสบายตาไม่พอ หลังคาของมันยังมาพร้อมกระจกบานใหญ่ ที่สามารถปรับความขุ่นได้ ว่าจะให้มันไสจนเห็นสภาพท้องฟ้าด้านบน หรือขุ่นมัว เพื่อกรองแดดในวันที่อากาศร้อนสุดๆ

ขณะที่จุดสุดท้ายที่เรา (และ BYD) อยากจะนำเสนอ ก็คือ มือจับเปิดประตูภายในห้องโดยสาร ที่ถูกออกแบบมาให้มีกลิ่นอาย คล้ายกับครีบของปลาโลมา ตามชื่อรุ่น

โดยสำหรับตัวรถ BYD Dolphin ที่ทาง Rever Automotive นำมาให้เราได้ทดสอบกันนั้น คือตัวรถรุ่นท็อปสุด ที่มาพร้อมมอเตอร์ไฟฟ้าลูกเดียว ให้กำลังสูงสุด 177 แรงม้า กับ แรงบิดสูงสุด 290 นิวตัน-เมตร สำหรับขับเคลื่อนชุดล้อคู่หน้า พร้อมเคลมการทำอัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายใน 7.9 วินาที ความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ส่วนแบตเตอรีที่ให้มาก็แน่นอนว่าเป็น BYD Blade Battery (LFP) ขนาด 44.9 kWh ซึ่งรองรับระยะทางในการใช้งานสูงสุด 405 กิโลเมตร/ชาร์จ ตามมาตรฐาน NEDC

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่น่าสนใจก็คือ การที่มันถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานโครงสร้าง BYD e platform 3.0 ที่มีทั้งความแข็งแรง และจูดศูนย์ถ่วงต่ำ ซึ่งช่วยให้สมรรถนะการขับขี่ของรถดียิ่งขึ้น

และจากการทดสอบในเบื้องต้น ส่วนตัวผู้ทดสอบพบว่า BYD Dolphin นั้น เป็นรถแฮชท์แบกท์ที่ให้ความรู้สึกมั่นใจในการควบคุมพอสมควร ทั้งจากความคล่องตัวของรถ ที่สามารถเข้าโค้งแคบๆได้ค่อนข้างดี โดยไม่ต้องหักพวงมาลัยเยอะ และหน้ารถก็ไม่ได้มีอาการดื้อ หรือในขณะเดียวกัน ท้ายรถก็ไม่ได้พยายามจะขวางออกง่ายๆ (เวลาสาดโค้งคือรถจะหักเข้าไปทั้งลำเนียนๆ ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่น่าชม)

แต่หากมองอีกมุม ส่วนตัวผู้ทดสอบรู้สึกรถมีอาการให้ตัว หรือโคลงตัวจากแรงเหวี่ยงค่อนข้างเยอะ ซึ่งทั้งนี้ก็อาจเป็นเพราะช่วงล่างที่ค่อนข้างนุ่ม และนั่นก็เป็นสิ่งที่พอเข้าใจได้ และมันอาจจะถูกจริตคนส่วนใหญ่ที่เน้นใช้งานรถทั่วๆไป แถมยังต้องเจอกับถนนที่ไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไหร่ของเมืองไทยมากกว่า

ส่วนในเรื่องของการเบรกนั้น ก็ค่อนข้างทำได้ดีเช่นกัน หากเป็นการเบรกเพื่อชะลอรถแบบปกติ ค่อนข้างนุ่มนวล สามารถไล่แรงเบรกได้ง่าย ไม่มีอาการทื่อเลยสักนิด และระยะในการกดแป้นเบรกเพื่อให้เบรกทำงานก็อยู่ในระดับกำลังดี ไม่ตื้นจนเกินไป และไม่ได้ลึกจนเกินไปแต่อย่างใด (แต่ในด้านการเบรกฉุกเฉินยังไม่สามารถทดสอบได้ เนื่องจากผู้คุมการทดสอบอยากให้เน้นการทดสอบด้วยการขับขี่แบบใช้งานทั่วๆไปเป็นหลัก)

ด้านการเรียกอัตราเร่ง ในแต่ละจังหวะ ส่วนตัวผู้ทดสอบค่อนข้างประทับใจ แต่ก็ไม่แปลกใจเนื่องด้วยความเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่โดดเด่นในเรื่องความสามารถในการเรียกแรงบิดทันทีที่กดคันเร่งอยู่แล้ว โดยแม้มันอาจจะไม่ได้มีแรงดึงที่ดุดันมากนัก

แต่หากมองในด้วยโจทย์การใช้งานทั่วๆไป ด้วยความฉับไวในการสร้างอัตราเร่งเช่นนี้ ก็ต้องบอกว่าเหลือเฟือแล้วสำหรับการใช้งานในเมือง ทั้งในส่วนของการเรียกอัตราเร่งจากหยุดนิ่ง ที่หากอิงเวลาตามเคลม ก็ถือว่าไม่ได้อืด เมื่อเทียบกับรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน ที่มีไซส์ตัวถังเท่าๆกัน

หรือจะเป็นการเติมคันเร่งออกจากโค้งเอง ก็ทำได้อย่างต่อเนื่อง มีการหน่วงคันเร่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่มันก็เป็นจุดที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ตามโหมดการขับขี่ที่มีให้เลือกอีก 3 รูปแบบ คล้ายๆกับ BYD Atto 3 นั่นเอง

BYD Seal

คือหนึ่งในรถที่ได้รับความสนใจจากชาวไทยไม่แพ้รุ่นก่อนหน้า ในงานเดียวกันที่มันถูกเผยโฉมเป็นครั้งแรกในบ้านเรา ด้วยความเป็นรถยนต์ตัวถังซีดานขนาดยอดนิยม เทียบเท่ากับ Honda Civic, Toyota Corolla Altis หรือรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่พึ่งเปิดตัวในไทยไปได้ไม่นานอย่าง Tesla Model 3

นอกจากขนาดตัวที่อยู่ในไซส์กำลังนิยม สำหรับรถซีดาน หน้าตาของมันยังมาพร้อมกับเส้นสายที่ดูโฉบเฉี่ยว และสปอร์ตเป็นพิเศษ ตั้งแต่รูปทรงกรอบไฟหน้าและดีไซน์กันชนหน้า แบบมีช่องดักอากาศ(หลอก)ทางด้านข้าง ซึ่งเส้นแถบที่เห็นทางด้านข้างกันชนหน้านัน้น ไม่ใช่แค่แถบสีขาว แต่เป็นแถบไฟ LED ช่วยเพิ่มความสะดุดตาให้กับตัวรถได้เป็นอย่างดี

ขณะที่เส้นสายด้านข้างเอง ก็ยังคงเน้นเสริมภาพจำความสปอร์ตด้วย ชิ้นแผ่นปิดหลังซุ้มล้อหน้า ที่คล้ายกับครีบปลา ซึ่งตั้งใจออกแบบมาให้เป็นลักษณะหัวศรสำหรับเส้นสายตัวถังที่จะลากยาวผ่านไปตามแนวประตูด้านบน ส่วนชายล่างตัวถัง นอกจากการเล่นระดับให้ตัวรถดูโฉบเฉี่ยวขึ้นแล้ว ยังมีการทำครีบดักอากาศ 3 ช่อง เอาไว้ด้วยเพื่อความดุดัน โดยที่ชุดล้อ แม้จะเป็นแบบปิดเกือบทึบ แต่ก็มีการเล่นลวดลายให้ดูเข้ากับงานออกแบบในภาพรวมตัวรถพอสมควร

และท้ายสุดคือด้านหลังของตัวรถ ที่ดูสวยงามด้วยการวาดแนวหลังคาแบบเกือบๆจะเป็น Fastback และมีการทำลายเกล็ดปลาไว้ที่กระจกบานหลังสุด และยังคงมาพร้อมกับไฟท้ายแบบ Cross Tail Light ตามฉบับรถจาก BYD และกันชนท้ายก็ยังมีการทำช่องรีดอากาศ (ซึ่งก็เป็นช่องหลอกเช่นเดียวกับด้านหน้า) และไม่วายที่จะทำชายล่างของกันชนล่างให้เป็นแบบมีครีบดิฟฟิวเซอร์มาให้ด้วย

ภายในห้องโดยสารดูดีขึ้นกว่า Dolphin อย่างเห็นได้ชัด ด้วยแผงคอนโซลที่สะดุดตาจากกรอบช่องแอร์โครเมียม ที่จะลากเส้นนต่อกันจากด้านซ้ายไปด้านขวาแบบชิ้นเดียว แถมยังมีการเล่นลายกราฟฟิกสีฟ้าสลับสีถ่านคาร์บอนช่วงครึ่งล่าง นอกนั้นยังมีการใช้วัสดุหนังสังเคราะห์สีฟ้าอ่อน และสีดำ ตัดสลับกับหนังกลับสีเทา ที่ช่วยให้ตัวรถดูหรูหรายิ่งขึ้น

หากแค่นั้นยังไม่พอ งานออกแบบพวงมาลัยเอง ก็ให้ความรู้สึกที่หรูหราไม่แพ้กัน และนอกจากชุดห้าจอแสดงผลมาตรวัดของตัวรถจะใหญ่ขึ้นกว่าทั้ง Atto 3 และ Dolphin ตัวจอแสดงผลระบบอินโฟเทนเมนท์ และเอาไว้สำหรับปรับตั้งสั่งการระบบต่างๆภายในตัวรถเอง ก็ยังมีขนาดใหญ่ถึง 15.6 นิ้ว แถมยังคงมาพร้อมกับฟังก์ชั่นการปรับมุมการแสดงผล ให้เป็นแนวตั้งหรือแนวนอนก็ได้เช่นเดิม

และที่สำคัญก็คือ ที่คอนโซลกลาง นอกจากจะเป็นแบบดับเบิ้ลวอลลุ่ม คือมีช่องว่างด้านล่างไว้เก็บของจุกจิก สวิทช์หัวเกียร์ ยังเป็นแบบคริสตัลไสที่ทำให้รถดูหรูหราขึ้นอีกมาก และยังครบครันในเรื่องฟังก์ชันด้วยพอร์ทชาร์จไฟ USB-C อีก 2 หัว (+ทางด้านหลังอีก 2 หัว) โดยที่ถาดระบบไวร์เลสชาร์จด้านบน ก็เป็นแบบแยกฝั่ง หรือว่าง่ายๆคือรองรับการชาร์จไฟโทรศัพท์มือถือแบบไร้สายสองเครื่องพร้อมๆกันได้เลย

ขณะที่การนั่งโดยสาร ทั้งในฝั่งเบาะคู่หน้า และเบาะโดยสารตอนหลัง ด้วยเวลาการทดสอบเพียงน้อยนิด จึงทำให้เราไม่สามารถจับสังเกตุได้มากนัก แต่ในเบื้องต้น ตัวเบาะโดยสารทั้ง 5 (2+3) ตำแหน่งที่ให้มา ล้วนมีความหนานุ่มพอสมควร อาจจะติดในเรื่องหัวเบาะตอนหน้าที่ไม่สามารถปรับระดับได้บ้าง (เพราะยังคงเป็นเบาะแบบ Gaming-Seat) แต่ก็มีความกว้างที่เหลือเฟือสำหรับผู้ขับไซส์หมี

และเบาะตอนหลังเองก็สามารถนั่งเอนได้สบายๆ มีพื้นที่วางขาเหลือเฟือเช่นกัน โดยที่มุมมองจากกระจกรอบคันก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกอึดอัด ซึ่งหากแค่นั้นนยังไม่พอ มันยังมีหลังคากระจกบานใหญ่ ที่สามารถปรับความขุ่นให้เป็นแบบฝ้าเข้มๆ หรือไสจนมองเห็นวิวท้องฟ้าด้านบน (แต่อาจจะมืดนิดหน่อย เพราะกระจกต้องติดฟิล์มกันร้อน) เช่นเดียวกับ Dolphin

อ้อ ลืมบอกไป กระจกรอบคันของเจ้า Seal นั้น ในฝั่ง 3 บานหลัง (ประตูคู่หลัง และกระจกบานท้าย) จะถูกติดฟิล์มมาให้เลยตั้งแต่ออกโรงงานในแบบ Privacy Glass เพื่อความเป็นส่วนตัวของผู้โดยสารตอนหลังด้วย

ในด้านสมรรถนะของตัวรถ ต้องบอกว่าแท้จริงแล้ว เจ้า Seal นั้น มีรุ่นย่อยทั้งระดับขุมกำลัง ระบบขับเคลื่อน และระยะทางในการขับขี่ แต่ตัวรถที่เราได้ทดสอบ จะเป็นรุ่นกลาง RWD Long Range ซึ่งมาพร้อมกับแบตเตอรี่ขนาด 82.5 kWh ซึ่งรองรับระยะทางในการใช้งานสูงสุดราวๆ 700 กิโลเมตร

โดยตัวแบตเตอรี่ที่ว่า จะเป็นแบบ Blade ที่มีความสามารถในการจัดเก็บพลังงานได้ดีกว่า แต่ที่เหนือกว่านั้นก็คือ มันเป็นแบตเตอรี่ที่ติดตั้งเข้ากับตัวถังรถแบบ Cell To Body หรือติดตั้งเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับตัวถังเลย ไม่ได้เป็นถาดแยก แล้วยึดเข้ากับโครงสร้างตัวถัง ซึ่งข้อดีคือมันทำให้ตัวรถมีจุดศูนยน์ถ่วงที่ต่ำลง โครงสร้างตัวรถมีความแข็งแรง และยังทำให้มีพื้นที่ภายในห้องโดยสารมากขึ้น แต่ในส่วนของการซ่อมบำรุงยังเป็นคำถามที่ต้องไล่เรียงกันต่อไปในอนาคต

และในส่วนมอเตอร์ไฟฟ้าที่ให้มาเองก็น่าสนใจ เพราะเป็นมอเตอร์ขนาด 230 kW หรือราวๆ 313 PS และมีแรงบิดสูงสุดอีก 360 นิวตันเมตร ซึ่งก็อย่างที่เราระบุไว้ก่อนหน้านี้ ว่ามันเป็นมอเตอร์ที่มีไว้ขับเคลื่อนล้อหลังโดยเฉพาะ และแม้ความเร็วสูงสุดจะถูกล็อคไว้ที่ 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่การเรียกอัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั้น กลับสามารถทำได้ในเวลาเพียง 5.9 วินาที เท่านั้น

ส่วนระบบกันสะเทือนเป็นแบบอิสระทั้งสี่ล้อ และระบบเบรกก็เป็นดิสก์เบรกทั้งสี่ล้อเช่นกัน

โดยในส่วนของการทดสอบ ต้องบอกว่าน่าเสียดายเล็กน้อย ที่แม้รายละเอียดทางเทคนิคของตัวรถ จะดูน่าสนุกมากเพียงใด (เพราะเป็นรถขับหลัง และมีแรงม้าถึง 300 กว่าตัว) ทว่าเนื่องจากตัวรถที่ทาง Rever Automotive นำมาให้เราทดสอบนั้น เป็นรถที่ผ่านการทดสอบมาแล้วหลายวันโดยทางพี่ๆสื่อฯท่านอื่นที่ได้คิวก่อนหน้า และตัวรถคันนี้ ยังต้องถูกนำไปจัดแสดง และโชว์ตัวต่อ ในงาน Motor Show 2023 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้านี้

จึงทำให้เราถูกตีกรอบการทดสอบไว้ตอนขึ้นรถเลยว่า “ขอเบาๆนะครับ”

อย่างไรก็ดี แม้จะถูกขอให้ขับเบาๆ แต่เราก็พอจะจับอาการรถได้ว่า แม้ตัวรถจะมีขนาดที่ใหญ่พอประมาณ แต่ด้วยการออกแบบช่วงล่างที่เน้นความกระชับ กับด้วยลักษณะกลไกแบบอิสระทั้งสี่ล้อ จึงทำให้ตัวรถนั้นมีความมั่นคงพอสมควร หากเป็นการเลี้ยวโค้งด้วยความเร็วพอประมาณ

กล่าวก็คือตัวรถแทบไม่มีอาการโคลงตัวเลยแม้แต่น้อย เมื่อเทียบกับการเข้าโค้งเดียวกัน ด้วยความเร็วเท่ากันกับ Dolphin และในขณะเดียวกัน การบังคับเลี้ยวต่างๆ ก็สามารถทำได้ง่าย พวงมาลัยไม่แข็ง ไม่ไวจนเกินไป อาจจะติดเรื่ององศาการหักเลี้ยวที่เยอะไปหน่อย แต่ก็ไม่ได้น่าเกลียด และเข้าใจได้ว่ามันออกแบบมาเพื่อการใช้งานทั่วๆไปเป็นหลัก (จะให้หักนิดเดียวก็หันรถไปเลยแบบรถสปอร์ตจ๋าๆก็ใช่เรื่อง)

ขณะที่การซับแรงของตัวรถจากลูกระนาดแบบสลับฝั่งก็สามารถทำได้ค่อนข้างประทับใจ เพราะแม้มันอาจจะไม่ได้ซับแรงกระแทกจนหมดจดขนาดนั้น เมื่อล้อฝั่งใดฝั่งหนึ่งเจอกับลูกระนาดตัวผู้ที่นั่งอยู่บนล้อฝั่งเดียวกัน จะยังรู้สึกถึงแรงกระแทกนั้นอยู่ประมาณหนึ่ง แต่สำหรับผู้โดยสารที่อยู่บนล้อซึ่งไม่เจอกับลูกระนาด จะแทบไม่รู้สึกถึงแรงกระแทกจากล้ออีกฝั่งเลย

ส่วนการจับสัมผัสในนเรื่องอัตราเร่ง เราเองก็คงต้องบอกว่าน่าเสียดาย เพราะไม่สามารถเค้นรถได้ขนาดนั้น แต่ด้วยแรงบิดระดับ 360 นิวตันเมตร จึงทำให้การเติมคันเร่งเพียงนิดเดียว ก็สัมผัสได้แล้วว่ารถพร้อมจะไต่ความเร็วขึ้นแบบเนียนๆ ไม่มีการรอรอบแต่อย่างใด (ไม่ถึงกับพุ่ง แต่ก็ไม่มีคำว่าอืดให้รู้สึก)

และด้วยความสามารถในการเรียกอัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายในเวลาไม่ถึง 6 วินาที ซึ่งอาจจะไม่หนักมาก แต่ก็ทำให้หัวติดเบาะเล็กน้อยตอนกดคันเร่งออกตัว เพียงเท่านี้ก็คงต้องบอกเลยว่า มันเป็นอัตราเร่งที่เกินพอแล้วสำหรับการใช้งานในเมือง

ส่วนความเป็นรถขับเคลื่อนล้อหลัง ที่มีทั้ง้แรงม้าและแรงบิดให้ลงล้อระดับนี้ จะสนุก หรืออันตรายแค่ไหนนั้น ขอยกยอดไว้ก่อน เพราะตอนทดสอบ เราโดนตีกรอบไว้จริงๆ… (น่าเศร้า)

สรุปในภาพรวม จากการได้ลองขับ BYD Dolphin และ BYD Seal แบบน้ำจิ้มๆ

ต้องบอกว่าการทดสอบในครั้งนี้ แม้จะเป็นการทดสอบเพียงสั้นๆ (สั้นจริงๆ) แต่ในมุมมองของผู้ทดสอบ พบว่า ตัวรถทั้งสองคันนั้น สามารถทำได้ดี และมีสมรรถนะ กับหน้าตา รวมถึงภาพลักษณ์ที่น่าสนใจในแบบของตนเองทั้งคู่ ไม่ว่าจะเป็นฝั่ง Dolphin ที่โดดเด่นในเรื่องความคล่องตัว ความกระชับของการหักเลี้ยว

และฝั่ง Seal ที่ให้การควบคุมแบบมั่นใจ สามารถเข้าโค้งได้แบบไร้กังวล เสียดายแค่ตรงไม่สามารถเล่นกับระบบขับเคลื่อนและพละกำลังได้ ทั้งๆที่มันน่าจะเป็นอีกจุดขายหนึ่งของตัวรถรุ่นนี้ ซึ่งเราก็คงต้องขอติดเอาไว้ก่อน จนกว่าจะถึงวันเปิดตัวและวางขายจริง

โดยคาดว่าอย่างช้าที่สุดก็คงไม่เกินช่วงสิ้นปีนี้ (หรือดีไม่ดี อาจจะเร็วกว่านั้นเยอะก็ได้) แต่ราคาจะน่าสนใจ เหมือนกับ BYD Atto 3 ที่เคยสร้างกระแสฟีเวอร์ไปก่อนหน้านี้หรือไม่ ? ก็ต้องรอติดตามดูกันต่อไปครับ

ทดสอบ / เรียบเรียง : รณกฤต ลิมปิชาติ

ภาพ : Rever Automotive

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่